วันจันทร์, มิถุนายน 13, 2559

ประชามติสอดไส้อำนาจเผด็จการนี้รับไม่ได้เด็ดขาด ถ้ารับไปประชาธิปไตยจะต้องถูกบีบเส้นโลหิตในหัวใจตีบตัน กลายเป็นผัก ให้พวก สว.ลากตั้ง องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ชักคะเย่อเอาอำนาจมากุมไว้ในกลุ่มตน พลเมืองไม่ได้ลืมตาอ้าปากเป็นแน่





อีกไม่ถึงสองเดือนจะถึงวันเสียงแตก ๗ สิงหา ขณะที่โพลต่างๆ ชี้ทางว่าประชาชนยังไม่รู้สีรู้สา จะโหวตโน โหวตเยส หรือว่าไม่ไปโหวตเสียเลย ยังไงดี

ขณะที่ คสช. ก็เริ่มลุยกรุยทางสะดวก ด้วยการกำจัดเสียงค้านสำคัญ

มีข่าวออกมาว่าจะปิดพีชทีวีของนปช. ด้วยการใช้อำนาจของ กสท. หรือสั้นๆ กรรมการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สั่งระงับใบอนุญาตประกอบการอีกครั้ง ทำให้บรรดาพนักงานพากันไปยื่นหนังสือคำร้องขอความยุติธรรมจากคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กรุณาปราณี

ไม่เท่านั้นข่าวว่าจะมีการปิดศูนย์ปราบโกงฯ ของ นปช. ด้วยเหมือนกัน เห็นบิ๊กตือคนที่บอกว่ากลาโหมเป็นกระทรวงใช้เงินไม่ต้องหาเงินน่ะ ยันว่าปิดแน่





อันนี้ชัวร์เนื่องเพราะไม่สบอารมณ์จากทั้ง คสช. และลิ่วล้อ มาแต่เริ่มแรก เพราะออกมาโวยวายว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติสอดไส้อำนาจเผด็จการนี้รับไม่ได้เด็ดขาด

ถ้ารับไปประชาธิปไตยจะต้องถูกบีบเส้นโลหิตในหัวใจตีบตัน กลายเป็นผักให้พวก สว.ลากตั้ง องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ชักคะเย่อเอาอำนาจมากุมไว้ในกลุ่มตน พลเมืองไม่ได้ลืมตาอ้าปากเป็นแน่

นั่นแหละโพลสามแหล่งที่ออกมาตอนนี้ ชี้แนะให้ยืดกำหนดออกเสียงไปอีกหน่อยเพราะคนยังไม่พร้อม โพลที่ชี้นำโดดเด่นกว่าใครหนีไม่พ้น ม.กรุงเทพ ฟันธงว่าร้อยละ ๖๗.๒ ต้องการให้เลื่อน

แถมเพิ่มประเด็นอ่อยเหยื่อ ว่าถ้าไม่เลื่อนแล้วประชามติไม่ผ่าน คนก็ยังอยากให้ทั่นนายกฯ ‘เขามาเอง’ อยู่ต่อไป ถึงร้อยละ ๖๓

(http://hilight.kapook.com/view/138003)

ส่วนโพลสวนดุสิตอ้างว่า ๕๓.๓ เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบสำรวจ ยังไม่รู้ดีรู้ร้ายว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านออกมาบังคับใช้แล้ว จะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนอย่างไรบ้าง

ข้ออ้างที่จำนวน ๕๓ เปอร์เซ็นต์ไม่รู้เรื่อง บอกว่าการประชาสัมพันธ์น้อยไป และเรื่องอย่างนี้ยากที่ทำความเข้าใจ

แต่ก็ยังดีมีจำนวนผู้ตอบสำรวจที่แสดงว่ารู้เรื่องเกี่ยวกับร่างฯ ที่นำมาให้ประชามตินี้แล้วถึง ๔๖.๗ เปอร์เซ็นต์ ห่างจากพวกไม่รู้ไม่มากนัก แต่ก็น่าจะเป็นพวกที่รู้ไม่จริงนักเสียละมาก

เพราะจำนวนคนตอบสำรวจที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้สวยหรู กำหนดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม (สว.ลากตั้ง มีสิทธิเลือกนายกฯ ทหารขอใช้ยุทธศาสตรืกำกับต่อไปอีก ๒๐ ปี เนี่ยละ) มีถึง ๗๘.๓๙ เปอร์เซ็นต์

ส่วนที่คิดว่ารัฐธรรมนูญจะสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น (โดยอาจไม่รู้ว่าเกิดแก่ คสช. เป็นหลัก) น่ะ มีในระดับ ๗๒.๗ เปอร์เซ็นต์เชียวละ

ซ้ำหนักพวกที่เห็นว่าร่างฯ นีสุดยอดเยี่ยมกระเทียมดองกว่าใดๆ ในสากลโลก นั่นก็มีถึง ๖๖.๓๗ นั่นเลย

(http://www.bangkokpost.com/…/most-people-do-not-know-about-…)

ทางด้านโพลนิด้า แม้นว่าจะชี้ให้เห็นผู้ตอบคำถาม ๖๒.๙๖ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่มีคำตัดสินในใจ จะเยสหรือโน

รวมถึงประเด็นย่อย เช่น เรื่องให้วุฒิสมาชิกสรรหา ๒๕๐ คนร่วมเป็นองค์กรเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจกันไว้ล่วงหน้ากว่าครึ่ง ๕๒.๗๐ เปอร์เซ็นต์

ถึงอย่างไรอัตราผู้ที่ตอบว่าจะรับร่างฯ มีมากกว่าผู้จะไม่รับกว่าสี่เท่าตัว คือ ๒๗.๗๑ ต่อ ๗.๑๓ เปอร์เซ็นต์

(http://www.matichon.co.th/news/170311)





ถ้างั้นต้องดูอีกที หัวดีก้อยดี แนะให้ไปถาม ชำนาญ จันทร์เรือง อธิบายง่ายๆ ไม่สับสนเรื่อง ‘โหวตเยส โหวตโน หรือโนโหวต’ เขาเขียนไว้ที่ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันพุธที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๙

ว่าถ้าไปโหวตเยสกันมาก ร่างฯ ผ่านทั้งสองประเด็น ‘หลัก’ และ ‘พ่วง’ (ให้ สว. เลือกนายกฯ ด้วย) กรรมการร่างก็ต้องไปเพิ่ม รธน.จากประเด็นพ่วงให้เป็นบทถาวร แต่ถ้าพ่วงไม่เพิ่มก็ใช้ตามร่างเดิม

กรณีร่างหลักตกไปทั้งพวง “ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี ๕๗ ว่าจะเอาอย่างไรดี

เช่น ตั้งคนมา ๒-๓ คนแล้วร่างออกมาใช้เลย หรือหยิบรัฐธรรมนูญเดิมฉบับใดฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับมารวมกันแล้วประกาศใช้ แต่ที่แน่ๆคงไม่มีการลงประชามติอีกแล้วล่ะ (หุ หุ)”

หากว่าถ้าผ่านเฉพาะประเด็นพ่วง อาจถือว่า “ในเมื่อประเด็นหลักหรือแม่มันมันตายแล้ว ลูกในท้องมันก็ต้องตายไปด้วย

นัยที่สอง บางคนเห็นว่าไม่เกี่ยวกัน สามารถนำไปใส่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลยเพราะผ่านการลงประชามติมาแล้ว”

แต่ถ้าโนโหวตเกิดชนะ โดยมีคนไปออกเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนละก็ ชำนาญบอกว่า

“ประเด็นนี้ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้เลย เพราะ พรบ.ประชามติให้นับเฉพาะผู้ที่มาออกเสียงเท่านั้นไม่นับผู้ไม่มาออกเสียง และไม่นับบัตรเสียซะด้วยสิครับ

ยกตัวอย่างว่ามีผู้มาใช้สิทธิแค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ บัตรเสียไป ๕ เปอร์เซ็นต์ เหลือที่จะต้องมานับ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายไหนได้เกิน ๗.๕ เปอร์เซ็นต์ก็ชนะเลย”

แม้จะเป็น ๗.๕ เปอร์เซ็นต์จากจำนวนเต็มของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดก็ตาม

นี่หละประชามติเที่ยวนี้จะเสียงแตก เสียงต่ำ (งุมงำมะงาหรา ไม่รู้สีรู้สา นึกว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกบิ๊กตู่ เหมือนสมัยคณะราษฎร ชาวบ้านคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ) หรือเสียงต้อย (ตามทั่นผู้นัมพ์ ชาติพ้นภัย) ละก็ เขานานแน่ (ยี่สิบปี)

ฉะนี้ เห็นทีต้องช่วยกันทำให้มันเป็น 'เสียงโต้' ตีตกไปดีกว่า