วันเสาร์, มิถุนายน 25, 2559

นิมิตหมายดียิ่งของ "เบร็กสิท" หากคะแนนจากการออกเสียง ‘ไม่รับ’ มากกว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรที่จะเอาอย่างนายกฯ อังกฤษ ‘ลาออก’ บ้าง





ท่ามกลางกระแสพลิกผันเฉียบพลัน เบร็กสิท เงินปอนด์หล่นเร็ว หุ้นร่วงแรง และความผิดหวังแบบ ‘ไสว่าที่บ่ถิ้มกั่น’* ที่ซึมซับไปถึงในไตแลนเดีย วานนี้

(*นี่เพลงของ ก้องหล้า ยอดจำปา จิ๊กไอเดียมาจาก Natthawut Roongwong @NatthawutR https://www.youtube.com/watch?v=Bf69Cb7GWu4)

มีผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติในสหราชอาณาจักร ๓๓ ล้านครึ่งกว่า ถึง ๗๒ เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ คะแนนนับสุดท้าย ๑๗ ล้านเกือบครึ่ง หรือ ๕๑.๙ เปอร์เซ็นต์ ให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป เสียงที่ต้องการอยู่ต่อน้อยกว่า มีเพียง ๑๖ ล้านต้นๆ หรือ ๔๘ เปอร์เซ็นต์


ผลก็คือนายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมรอน ประกาศว่าถึงแม้ประชามติจะไม่ได้ผูกพันประเด็นอื่นใดนอกจากการถอนตัวจากยุโรป แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะต้องใช้กัปตันจากฝ่ายนิยมโดดเดี่ยว นำพานาวายูเคฝ่ากระแสคลื่นแปรปรวนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมโลกมาแทน

(http://finance.yahoo.com/…/english-voters-choose-brexit--ca…)

นั่นหมายความว่านายแคเมรอนจะลาออกจากตำแหน่งเปิดทางฝ่ายเบร็กสิทเข้าไปบริหารแทน

อันเป็นนิมิตหมายดียิ่งต่อกำหนดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทยวันที่ ๗ สิงหาคมนี้

ในเมื่อโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เสธ.ไก่อู แก้วกำเนิด ออกมาสรรเสริญเบร็กสิทว่าเป็น “สิ่งที่น่าชื่นชมและนำมาเป็นแบบอย่าง”





ทั้งที่เจตนาเบื้องหลังถ้อยแถลงอยู่ที่เหน็บแนมฝ่าย ‘ไม่รับ’ ร่างฯ ด้วยการกล่าวหา “ยิ่งเข้าใกล้ช่วงลงประชามติ จะยิ่งพบการพยายามสร้างความวุ่นวายในสังคมของขบวนการเคลื่อนไหวและกลุ่มการเมืองบางกลุ่มถี่ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ”

(http://www.matichon.co.th/news/187709)

สิ่งที่ พล.ต.สรรเสริญอ้างว่าเป็นการสร้างความวุ่นวายนั้น เป็นสิทธิอันควรมีควรได้ของประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับทิศทางของรัฐบาล เฉกเช่นฝ่ายต้องการแยกตัวจากอียูในอังกฤษ

เช่นนั้น หากว่าหลังวันที่ ๗ สิงหา ทั้งๆ ที่ฝ่ายรับร่างฯ ได้เปรียบท่วมท้นด้วยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ (ทั้ง พรบ.ประชามติและคำสั่งคณะรัฐประหารต่างๆ) ห้ามรณรงค์ ห้ามวิจารณ์คัดค้าน








ผลการนับคะแนนจากการออกเสียง ‘ไม่รับ’ มากกว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรที่จะเอาอย่างนายกฯ อังกฤษ ‘ลาออก’ บ้าง

เปิดทางให้ฝ่าย ‘ไม่รับร่างฯ’ เข้าไปนำประเทศฝ่ามรสุมเศรษฐกิจที่กำลังจะล่มเพราะการครองอำนาจของคณะรัฐประหาร และแก้ปมความแตกแยกจมลึกในสังคมอันเกิดจากความลำเอียงในฝ่ายนิยมยึดอำนาจ