วันอาทิตย์, มิถุนายน 05, 2559

อุบัติการณ์ทรั้มพ์ในอเมริกา ไม่ใช่ ‘ชะตากรรม’ อย่างผู้นำรัฐประหารไทย

โดยที่บัดนี้แน่นอนว่านาย ดอแนลด์ ทรั้มพ์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ชาวนิวยอร์คจะเป็น ‘presumptive’ ตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน

ทั้งๆ ที่บทบาทและคำพูดคำจาตลอดการหาเสียงของเขาที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนเบือนหน้า แม้แต่ภายในแวดวงแกนนำพรรคของเขาเอง

“การกระหน่ำโจมตีหนังสือพิมพ์ ก่นว่าระบบตุลาการ และอ้างอำนาจของตำแหน่งประธานาธิบดีดังได้มีการวาดด้วยโลกทัศน์ทางรัฐธรรมนูญ ที่แสดงถึงการก้าวล้ำสิทธิพื้นฐานในบทแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่ง ระบบแบ่งแยกอำนาจ และหลักนิติธรรม”

เหล่านั้นเป็นสิ่งที่บทความในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์โดยแอดัม ลิปแท็ค ยกขึ้นมาอ้างว่านายทรั้มพ์คุกคามต่อหลักนิติธรรม ตามความเห็นพ้องกันของนักวิชาการด้านกฎหมายข้ามฝักฝ่ายทางการเมือง

“แม้ว่าบรรดาแกนสำคัญในพรรครีพับลิกันพากันเรียงหน้าเข้าสนับสนุนว่าที่ตัวแทนพรรคผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนนี้ นักวิชาการด้านกฎหมายทั้งสายอนุรักษ์นิยมและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด libertarians ต่างเตือนว่า
การเลือกนายทรั้มพ์จะเป็นดั่งเครื่องปรุงสำหรับวิกฤตทางรัฐธรรมนูญ”
“ใครเลยจะรู้ได้ว่าดอแนลด์ ทรั้มพ์ ที่มีปากกาและโทรศัพท์อยู่ในมือ จะทำอะไรบ้าง” อิเลีย แช็ปปิโร ทนายประจำสถาบันไลเบอร์แทเรียน เคโต ตั้งปุจฉา
“อีกแค่ห้าเดือนจะถึงวันเลือกตั้ง นายทรั้มพ์ได้พูดแล้วว่าเขาจะ ผ่อนผันกฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อให้การฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ง่ายขึ้น เขายังขู่จะไล่จี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางให้เอาเรื่องกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เขา เขายังได้ผลักดันการตอบโต้อย่างหนักกับพวกที่ประท้วงเขา
ข้อเสนอห้ามพวกมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐของเขา ท้าทายหลักประกันเสรีภาพในรัฐธรรมนูญต่อการเลือกนับถือศาสนา กระบวนการทางกฎหมาย และสิทธิได้รับการปกป้องอย่างเท่าเทียม
และ ในจุดที่ทำให้บางคนรับไม่ได้ เป็นการโจมตีผู้พิพากษา กอนซาโล พี. คิวเรียล แห่งศาลรัฐบาลกลางในซานดิเอโก ผู้นั่งบัลลังก์พิจารณาการฟ้องร้องมหาวิทยาลัยทรั้มพ์สองคดี ซึ่งนายทรั้มพ์กล่าวหาว่าลำเอียง และอ้างอย่างผิดๆ ว่าผู้พิพากษาเป็นคนแม็กซิกัน”
“ควรจะต้องมีการตรวจสอบผู้พิพากษาคิวเรียล เพราะสิ่งที่ผู้พิพากษาคนนี้ทำเป็นเรื่องน่าละอายสุดๆ” ทรั้มพ์กล่าวหาแล้วยังแสดงความอาฆาต “เอาเถอะ เราจะได้ดูกันตอนเดือนพฤศจิกา มันคงจะมันส์ทีเดียวถ้าผมได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แล้วกลับมาฟ้องคดีแพ่ง”
เดวิด โพสต์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่บัดนี้เกษียณแล้วเขียนบทความบนเว็บไซ้ท์อนุรักษ์นิยมชื่อ เดอะโวล็อกซ์ คอนสปิเรซี่ชี้ว่าคอมเม้นต์ของทรั้มพ์เกี่ยวกับผู้พากษานั้น ล้ำเส้นความเหมาะสมแห่งวุฒิภาวะ
“ตรงนี้แหละที่ระบบอำนาจนิยมเริ่มต้น ด้วยประธานาธิบดีที่ไม่เคารพต่อตุลาการ” นายโพสต์เสริม
“คุณจะวิพากษ์ระบบตุลาการ คุณวิจารณ์เฉพาะคดีใดคดีหนึ่งได้ คุณโจมตีผู้พิพากษาที่ตัวบุคคล แต่การเป็นประธานาธิบดีจะต้องชัดเจนว่ากฎหมายคือกฎหมาย และคุณมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย นี่เป็นพันธะผูกพันของการเป็นประธานาธิบดี”
ปัญหาของทรั้มพ์นอกเหนือจากการล่วงล้ำความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เขายังขาดความมุ่งมั่นต่อระบบแบ่งแยกอำนาจและหลักการของระบบรัฐบาลกลาง หรือ federalism ด้วย
แรนดี้ อี. บาร์เน็ตต์ ศาสตราจารย์ทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยจ๊อร์จทาวด์ ผู้ซึ่งเป็นคนสร้างรากฐานให้กับการต่อต้านระบบประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบาม่า บอกว่าเขาเองยังกังขาว่าทรั้มพ์จะไม่มีในทั้งสองกรณี
“คุณอยากได้ประธานาธิบดีซึ่งมีวิสัยทัศน์บ้าง เกี่ยวกับข้อจำกัดโดยรัฐธรรมนูญต่ออำนาจของประธานาธิบดี ต่ออำนาจของสภาคองเกรส และต่ออำนาจของรัฐบาลกลาง และผมข้องใจว่าเขาจะมีจิตสำนึกถึงข้อจำกัดเหล่านั้น”
เวลานี้ผู้นำพรรครีพับลิกันหลายคนออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า ถ้าหากได้รับเลือกตั้งแล้วทรั้มพ์จะเคารพหลักนิติธรรม
“เขาจะมีที่ปรึกษากฎหมายประจำทำเนียบขาว” วุฒิสมาชิก มิตช์ แม็คคอนเนิล หัวหน้าเสียงข้างมากในสภาสูงให้ความเห็นแก่โฆษกรายการสนทนาทางวิทยุ “จะมีคนที่คอยชี้แนะว่าอะไรทำได้อะไรไม่ได้”
อีกคนที่เคยท้วงติงการพูดจาสามหาวของทรั้มพ์ระหว่างการหาเสียง วุฒิสมาชิกจอห์น แม็คเคน แห่งรัฐอริโซน่าที่เคยเสนอตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบของพรรครีพับลิกันเหมือนกัน หันมาให้การสนับสนุนทรั้มพ์อย่างลังเล เชื่อว่า
“เรามีสถาบันทางการปกครองที่จะยับยั้งไม่ให้ใครบางคนหาทางยืดอำนาจออกไปนอกเหนือกรอบแห่งรัฐธรรมนูญ เรามีคองเกรส เรามีศาลสูงสุด เราไม่ใช่โรมาเนีย” แม็คเคนให้ความเห็น
“เรามีสถาบันต่างๆ รวมทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ ที่ยังเข้มแข็งพอทัดทานบทบาทที่ไม่ต้องตามรัฐธรรมนูญได้”
ทว่า ศจ.โพสต์แย้งว่าความเห็นเช่นนั้นหวังดีไปหน่อย ในเมื่อฝ่ายบริหารเป็นส่วนที่เด่นเหนือกว่าแขนงอำนาจอื่นๆ “ประธานาธิบดีมีอำนาจโดยตรงในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นอำนาจหนึ่งในสามแขนงที่มีปืนอยู่ในมือ”
ผู้นำการเมืองฝ่ายรีพับลิกันเคยกล่าวหาประธานาธิบดีโอบาม่าว่าขยับกล้ามมากไปในการใช้อำนาจทางการบริหาร แต่นักวิชาการกฎหมายบางรายอย่างเช่น ริชาร์ด เอ็ปสไตน์ ของสถาบันฮูเวอร์ ซึ่งสอนอยู่ที่นิวยอร์คยูและยูออฟชิคาโก คิดว่ากับประธานาธิบดีทรั้มพ์ ปัญหานี้จะหนักไปใหญ่
“ผมไม่คิดว่าเขาแคร์กับการแบ่งแยกอำนาจแม้สักนิด” ศาสตราจารย์เอ็ปสไตน์เปรียบเทียบว่าประธานาธิบดีจ๊อร์จ ดับเบิ้ลยู “มักจะทำอะไรเกินไปกว่าที่เขาควรทำ ผมคิดว่าประธานาธิบดีโอบาม่ายิ่งแย่กว่าที่ทำอย่างนั้นบ่อยๆ...
แต่กับทรั้มพ์ ผมว่าเขาไม่แม้แต่จะคิดว่านี่เป็นประเด็นต้องคำนึง เขาเอาแต่บอกว่าอะไรที่อยากจะทำก็จะทำ ทรั้มพ์เองพุดว่าเขาจำทำแบบโอบาม่านี่แหละ แต่ทำให้ดีกว่า ในการใช้อำนาจทางการปกครองแบบเกินพิกัด โดยเฉพาะกับกรณีคนต่างด้าวเข้ามาหากินในประเทศอย่างผิดกฎหมาย
ทรั้มพ์ไม่ต่างกับผู้นำคณะรัฐประหารไทยที่ชอบบ่นว่าหนังสือพิมพ์เมื่อถูกวิจารณ์ในทางเห็นต่าง (ไม่รู้ใครเอาอย่างใคร น่าจะเป็นการบังเอิญในเรื่องจิตสำนึกทางอำนาจ) เขาขู่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์และนิวยอร์คไทมส์
เขาพูดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายเป็นเงินมหาศาล ต่อการที่หนังสือพิมพ์เหล่านี้ตีพิมพ์บทความทางลบต่อเขา เป็นหนทางตีกลับได้ชงัดในเมื่อพวกนี้ได้รับการปกป้องจากบทแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่ง
อิเลีย โซมิน ศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาวิทยาลัยจ๊อร์จ เมสัน เห็นว่าการพูดอย่างนั้นเป็นการทรยสละเลยต่อสิทธิในการแสดงความเห็นเสรี “เขาแสดงถึงการละเมิดเสรีภาพหนังสือพิมพ์และสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในบทแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่ง”
เท่าที่ผ่านมาบทบาทของทรั้มพ์ในการหาเสียง อันเต็มไปด้วยคำพูดก้าวร้าว (น.ส.พ.นิวยอร์คไทมส์รวบรวมไว้ได้ ๒๒๔ รายการ) ใครต่อใคร เขาว่าคู่แข่งในพรรคว่าโหกบ้าง แหยบ้าง ดูถูกลาติโน่เป็นพวกอาชญากร กล่าวหามุสลิมทุกคนติดเชื้อก่อการร้าย หยามเหยียดเพศหญิงว่าแค่อ้าง ‘women card’ แต่กลับได้รับเสียงสนับสนุนในพรรครีพับลิกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถกำชับคะแนนนิยมขาดลอยสำหรับการได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรค
ทำให้ฝ่ายแกนนำในพรรคต้องยอมรับทรั้มพ์ แม้ตระกูลบุสช์จะแถลงไม่สนับสนุนทรั้มพ์ แต่พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนที่โต้แย้งกับทรั้มพ์มาตลอด ท้ายที่สุดจำต้องประกาศให้การสนับสนุนเพื่อความสมานฉันท์ในพรรค โดยมิวายต้องออกมาโจมตีทรั้มพ์ในวันรุ่งขึ้นเมื่อปรากฏความไม่ชอบมาพากลเรื่องเงินบริจาคทหารผ่านศึก
ทางด้านสื่อ โดยเฉพาะฟ็อกซ์นิวส์ สื่อในสายอนุรักษ์นิยมที่กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทรั้มพ์ เพราะเขาตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์หลังจากที่แสดงความโกรธต่อผู้ประกาศหญิงเมกิน เคลลี่ ระหว่างการโต้วาทีผู้เสนอตัวรีพับลิกันครั้งแรกที่เธอเป็นหนึ่งในคณะผู้ตั้งคำถาม
ครั้นเมื่อรอเจอร์ ไอลร์ นายใหญ่ฟ็อกซ์นิวส์เห็นว่าจำเป็นต้องจูบปากกับทรั้มพ์ ส่งเมกินไปขอโทษแล้วนัดหมายให้เธอสัมภาษณ์ทรั้มพ์ตัวต่อตัวออกไพรม์ไทม์ ผลออกมาด้วยบรรยากาศถ้อยทีถ้อยสนทนา ลดภาพห้าวของทรั้มพ์ลงไปได้บ้าง ส่วนทางเมกินยิ่งเด่นขึ้นไปอีก ขนาดอีกไม่กี่วันต่อมาเธอสามารถวิพากษ์ทรั้มพ์ใหม่อย่างตรงไปตรงมา
ท่าทีปากเปราะ ก้าวร้าว ห้าวเหิมของทรั้มพ์ในการหาเสียง ได้รับการวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะ สะใจฐานเสียงพรรครีพับลิกันในส่วนที่เป็น บลูคอลลาร์ระดับผู้ใช้แรงงาน ที่เปรียบประดุจดังข้าวนอกนาในกระแสการเมืองภายในพรรค
หลังจากเวลาเกือบแปดปีที่ความพยายามหักล้างผลงานต่างๆ ของประธานาธิบดีโอบาม่าไม่สำฤทธิ์ผล โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพถ้วนหน้า หรือข้อกล่าวหาโอบาม่าเป็นมุสลิมสังคมนิยม ทำให้พรรครีพับลิกันเริ่มระส่ำ แม้กระทั่งขบวนการ ทีพาร์ตี้ก็ยังเปลี้ยแรง พรรคขาดแกนนำเด่นในปีเลือกตั้งประธานาธิบดี
ความสามหาวของทรั้มพ์ และท่าทางอย่าง ‘renegade’ ห่ามห้าวของเขาถูกตีความว่าเป็นจุดขายของบุคคลิกผู้นำแนวใหม่ ซึ่งเมื่อถึงเวลาได้เป็นประธานาธิบดีแล้วเขาจะสามารถดำเนินนโยบายอย่างสมเหตุสมผลได้ แม้นว่าที่ผ่านมาเขาไม่เคยแสดง คม ลึกใดๆ ในวิสัยทัศน์ทางนโยบาย
อุบัติการณ์ทรั้มพ์ในอเมริกาไม่ใช่ ชะตากรรม เหมือนการเกิดขึ้นของผู้นำจากการรัฐประหารในประเทศไทย แม้นว่าจุดขาย (ไม่ออก) จะเหมือนกันที่ ปากเสียทรั้มพ์ยังจะต้องเผชิญคู่แข่งสำคัญจากพรรคเดโมแครท ที่ค่อนข้างแน่ว่าจะเป็นนางฮิลลารี่ คลินตัน
ซึ่งขณะนี้ประเมินว่าผู้เสนอตัวหญิงจะเอาชนะทรั้มพ์ด้วยคะแนนผู้เลือกตั้ง หรือ electoral votes จำนวน ๓๔๗ ต่อ ๑๙๑ เว้นแต่เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ทรั้มพ์สามารถทำคะแนนนิยมเพิ่มให้แก่ตนเองอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์
หากแต่แบบบทอย่างทรั้มพ์ที่เป็นอยู่ไม่น่าที่จะเรียกคะแนนเพิ่มได้อีกกี่มากน้อย เมื่อฤดูการหาเสียงเบื้องต้นกำลังจะสิ้นสุดลง หลังการออกเสียงไพรมารี่ในแคลิฟอร์เนียวันอังคารนี้
การจะเปลี่ยนจุดขายหรือท่าทีใหม่ก็ยังช่วยไม่ได้ ในเมื่อสัดส่วนคะแนนเสียงที่ทรั้มพ์กีดกันเสียเองแต่แรกด้วยการจ้วงจาบ คือลาติโน่หรืออิสแปนิค นั้นอยู่กับพรรคเดโมแครทเป็นส่วนใหญ่
ในแง่ demographic หรือภูมิภาพประชากรของการเลือกตั้ง ชนอิสแปนิคเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วมากจนมีขนาดเป็นอันดับสองของประเทศไปแล้ว
เทียบได้กับกลุ่มชนในภาคอีสานและเหนือของไทยที่ส่วนมากเป็น เสื้อแดงซึ่งคณะทหาร ฮุนต้าชอบทำตำบอนหยามเหยียดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน