วันอังคาร, มิถุนายน 07, 2559

ถ้า คสช. คว่ำประชามติคราวนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยจะตกไปด้วย

ประเมินได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรีบตีความวินิจฉัยมาตรา ๖๑ วรรค ๒ ของ พรบ. ประชามติขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญโดยไว
ทั่นรองฯ ฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ออกมาโต้กระแสลุ้นเลื่อน (หรือกระทั่งยกเลิก) การออกเสียงประชามติ ว่าคำร้องของกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง นายเสรี สุวรรณภานนท์ เกี่ยวกับคำสามคำ ‘ก้าวร้าว รุนแรง และหยาบคาย’ นั้นจิ๊บจ้อย
“เป็นเพียงคำบางคำที่อยู่บางวรรคของบางมาตรา ซึ่งหลักการก็มีอยู่แล้วว่าถ้าหากคำใดที่ไม่เป็นสาระสำคัญจนผูกกับกฎหมายทั้งฉบับ คือแค่เฉพาะคำนั้นที่เสีย...
เพราะการขัดก็ขัดเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้ขัดทั้งฉบับ ซึ่งการวินิจฉัยคำที่ขัดศาลได้วินิจฉัยมาหลายครั้งแล้ว เราก็ไม่มีการไปเลิกอะไรทั้งนั้น แต่เพียงแค่ตัดคำนั้นทิ้งไป”
นายวิษณุบอกด้วยว่าวันประชามติล้อคอยู่แล้วทั้งในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ที่ให้ทำใน ๑๒๐ วัน ยังมีล็อคที่ตัว พรบ. ประชามติเองกับประกาศ กกต. และโร้ดแม็พ คสช. รวมเป็นสามลั่นดาน
“ดังนั้นเราควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการปกติ” ไม่ว่าสื่อยักษ์ ‘ไทยรัฐ’ จะแนะ “ลงประชามติส่อแววยกเลิก เชื่อว่าผลจะแพ้ยับ ต่างฟันธงมีล้มโต๊ะ” ก็ตาม
ทั้งที่ นปช. จตุพร พรหมพันธุ์ ชี้ชัด “จับอาการของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช....สะท้อนพฤติกรรมยกเลิกทำประชามติไว้ชัดเจน” ก็เถอะ
กรณี ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) Thanapol Eawsakul อ้างคำพูดทั่นผู้นัมพ์เมื่อ ๒๕ เมษายน “บอกวุ่นวายกันนักทำประชามติไม่ได้ก็ไม่ทำ ทุกอย่างกลับที่เดิม”
แต่วันนั้นไม่ใช่วันนี้ ใครไม่รู้ทั่นผู้นัมพ์อารมณ์เปลี่ยนง่ายเป็นลิงจับหลัก
ถึงจะ ‘เลื่อนได้’ หากเป็นดังความเห็น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ พูดไว้ “ปัญหาที่ผ่านมามีการบิดเบือนกฎหมายประชามติ จำกัดเสรีภาพผู้ที่เห็นต่างแสดงความเห็น จนประชาชนไม่ได้รับข้อมูลทั้งสองด้าน ไม่เป็นไปตามหลักสากล
จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้แสดงความเห็นอย่างเพียงพอเสียก่อน”
ก็เลยอาจจะเห็นควรรวบลัด ตัดคำแรงออกไปจากมาตรา ๖๑ แล้วเดินเรื่องไปสู่เลือกตั้งตามโร้ดแม็พ
เพราะหัวหน้าใหญ่เบื่อรออยากไปให้ถึงเลือกตั้งไวไว (อันนี้ตามแนวอียิปต์โมเดล อดีตนายใหญ่กองทัพลงเลือกตั้งหลังรัฐประหารปัดกวาดภราดรภาพมุสลิมแล้วได้คะแนนเกิน ๙๐)
จะได้ทำตัวอย่างที่สอนเกาหลีเหนือไว้ให้ใช้วิธีปรับทัศนคติแก้ปัญหาวุ่นวายไม่ต้องคอยจับปูใส่กระด้ง ยิ่งหมู่นี้ ‘ปู’ เดินสายบ่อย เข้าไคล้
(ดูบทความ โจนาธาน เฮด BBC News ‘Yingluck Shinawatra steps back into Thailand's political arena’ http://www.bbc.com/news/world-asia-36422838)
ถ้าไม่ต้องประชามติ ยิ่งดีสำหรับ คสช. ทั้งบทเฉพาะกาล ทั้งคำถามพ่วง เหมารวมสะดวก จึงเป็นอันว่าเรื่องคว่ำประชามติ น่าจะจริง
ถึงอย่างไรคงต้องมองด้วยสายตานักกฎหมายมหาชนแบบ ศจ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่เขียนตอบคำวิจารณ์ของ วาด รวี กรณีที่เขากล่าวไว้ในการเสวนาหนังสือ ‘รัฐธรรมนูญ’ ของ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าการไปออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถึงจะแพ้ก็แพ้เพราะกติกาไม่เป็นธรรม
ดร.วรเจตน์เขียนว่า “ประชามติ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่สร้างความชอบธรรม และประชามติที่ไม่ใช่ประชามติแท้จริง ยิ่งไม่อาจเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมได้เลย
เราไม่ควรถูกผูกมัดว่าต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติเป็นรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม ยิ่งถ้าเป็นประชามติที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นประชามติที่แท้จริงแล้ว ยิ่งจะถือว่าเป็นแบบนั้นไม่ได้”
เช่นนี้ต้องระดมกัน ‘คว่ำรัฐธรรมนูญ’ ไม่ว่าจะมีประชามติหรือไม่ ถ้ามีก็ไปออกเสียงไม่รับ ถ้าไม่มีก็ร่วมกันรณรงค์ต่อ ย้ำหัวตะปูว่าร่างกฎหมายที่จะไปเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ นี้ไม่ต้องมีได้ 
ยังมีอีก ๑๙ ฉบับให้กลับไปหาตามหลักเกณฑ์คำสั่ง คสช. จะเลือกฉบับไหนมาปรับใช้ก็ได้
เมื่อถึงจุดนั้นช่วยกันดันให้ปรับแก้ของเก่าโดยเอาฉบับ ๒๕๔๐ หรือ ๒๔๘๙ หรือจะย้อนไปถึงฉบับ ๒๔๗๖ ที่เรียกว่าฉบับปฐมมาเป็นกระดูกงูเรือเสียเลยยิ่งดี
หมายเหตุ บรรทัดข้างบน มาจากแนวคิดรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีที่มาจากประชาชน ปนกันอยู่ในคลิป https://www.youtube.com/watch?v=uINls5wSdzo&feature=youtu.be