วันพุธ, มิถุนายน 29, 2559

‘นกเงือกสีน้ำตาล’ ส่องใต้พรมวงการค้าสัตว์ป่า กับ ‘นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์’ หมอนักอนุรักษ์





ที่มา มติชนออนไลน์
25 มิ.ย. 59

ผู้เขียน วจนา วรรลยางกูร


ปัญหาขบวนการค้าสัตว์ป่าเกิดขึ้นตลอดมายาวนาน และเป็นความสนใจของสังคมในช่วงสั้นๆ เมื่อมีกรณีรุนแรงเกิดขึ้น แต่ไม่นานก็จะหายไปจากความสนใจของผู้คน

วงจรเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อาจเพราะรู้สึกว่าไกลตัว เมื่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใน “ป่า” ไม่ใช่ใน “เมือง”

หลังเกิดข่าวสะเทือนใจคนทั่วโลกเมื่อพบซากเสือและเครื่องรางของขลังที่วัดหลวงตาบัวแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพบหลักฐานมีแนวโน้มเกี่ยวพันขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ

เป็นสิ่งที่น่าจะยืนยันความเข้มข้นรุนแรงของวงการค้าสัตว์ป่าในไทยได้ดี ซึ่งที่ผ่านมาวัดนี้ถูกปกปิดอยู่ใต้ภาพความดีของศาสนา

ไม่นานนักก็ตามมาด้วยกระแสดราม่า เมื่อ วิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจชื่อดัง เจ้าของหนังสือ “ผมจะเป็นคนดี” โพสต์ภาพตนเองคู่กับนกตัวหนึ่งที่เกาะพนักเก้าอี้อย่างใกล้ชิด

เป็นเรื่องราวทันทีเมื่อชาวเน็ตสังเกตว่านกตัวนั้น คือ “นกเงือกสีน้ำตาล” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไม่สามารถครอบครองได้ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

วิกรมจึงชี้แจงว่านกตัวนี้ถูกพบข้างไร่ซึ่งติดกับอุทยานเขาใหญ่ บินไม่ได้ น้องชายตนจึงนำมาเลี้ยงดูจนนกไม่ยอมไปไหน ตนไม่เคยครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้น

หนึ่งในนักอนุรักษ์ที่ออกมาตั้งคำถามและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ให้กระจ่าง คือ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์ประจำหน่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตำแหน่งในงานอนุรักษ์ คือ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา, เลขาธิการมูลนิธิธรรมนาถ และกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก

หลังการตรวจสอบกรมอุทยานฯได้มีการดำเนินคดีกับวิฑูรย์ กรมดิษฐ์ น้องชายวิกรม ส่วนวิกรมที่ถ่ายรูปคู่นั้นถือว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์

ซึ่งยังคงสร้างความค้างคาใจให้คนในสังคม จนน่าตั้งคำถามต่อถึงแฟชั่นการเลี้ยงสัตว์แปลกๆ ของคนรวยคนมีอำนาจ ขยายภาพต่อไปถึงขบวนการค้าสัตว์ป่าที่นักอนุรักษ์ต้องสู้รบตบมือกันมานาน

เพราะสิ่งที่ไม่เห็นด้วยตา ใช่ว่าจะไม่มี เพียงแต่ไม่ถูกเปิดเผยในวงกว้าง หรือต่อให้เปิดเผยออกมาแล้วก็ถูกผู้คนลืมหายไปในเวลารวดเร็ว

นกเงือกสีน้ำตาลมีความสำคัญอย่างไรบ้าง?

นกเงือกทุกชนิดมีจำนวนน้อย ประชากรลดลงเพราะปัญหาพื้นที่อาศัยที่ลดลงและการล่าของคน นกเงือกหน้าตาประหลาด ตัวใหญ่ ปากใหญ่ น่าดู จึงมีความต้องการทางตลาดในการเลี้ยงสัตว์แปลกๆ เป็นที่ต้องการของสวนสัตว์ต่างๆ ส่วนจำนวนนกเงือกสีน้ำตาลน่าจะประมาณระดับพันตัว ในไทยเจออยู่ 2 กลุ่ม คือ นกเงือกสีน้ำตาลมี 2 ชนิด อาศัยอยู่ในป่าดิบ เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า

ความพิเศษคือมีหน้าที่สำคัญมากในการช่วยกระจายพันธุ์พืชในป่า ต้นไม้หลายชนิดในป่าวิวัฒนาการมาให้นกเงือกเป็นตัวกระจายพันธุ์ เพราะมีลูกขนาดใหญ่ นกเงือกปากใหญ่จะกินได้ อย่างมะเกิ้ม ตาเสือ ถ้านกเงือกหมดไปจากป่า ต้นไม้เหล่านี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะกระจายพันธุ์ได้ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญในระบบนิเวศป่าเขตร้อน

นกเงือกสีน้ำตาล 2 ชนิด ถิ่นที่อยู่อาศัยต่างกันไหม?

มีนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (Austen’s Brown Hornbill) อยู่แถวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขาใหญ่ ภูเขียวที่ชัยภูมิ และอาจมีทางพนมดงรักบ้าง อีกชนิดคือ นกเงือกสีน้ำตาล (Tickell’s Brown Hornbill) อยู่ตั้งแต่ทาง จ.ตาก กาญจนบุรี จนถึงเพชรบุรี ลักษณะชีววิทยาต่างๆ จะคล้ายคลึงกัน แต่เป็นคนละสายพันธุ์กันชัดเจน

ที่ปรากฏในภาพคุณวิกรมคือนกเงือกสีน้ำตาล มีโอกาสบินข้ามถิ่นไหม?

ไม่มีเลยครับ นกเงือกส่วนใหญ่ไม่ใช่นกอพยพ แต่ในการศึกษาวิจัยเพิ่งพบว่ามีนกเงือกชนิดหนึ่งอพยพ เป็นเรื่องตื่นเต้นมากของโลก คือ นกเงือกกรามช้างปากเรียบ อพยพจากอุทัยธานีไปถึงนราธิวาส ส่วนนกเงือกสีน้ำตาลเราทำวิจัยมา 20-30 ปี ชัดเจนว่าไม่เปลี่ยนถิ่น ไม่ใช่นกอพยพ บินหากินในบริเวณหากินได้ แต่จะไม่บินข้ามหลายจังหวัดหลายร้อยกิโลเมตร

นกเงือกสีน้ำตาลจึงมี 2 ชนิด ถ้าบินมาเขาใหญ่ได้จะไม่เป็น 2 ชนิดแล้ว เพราะจะมีโอกาสผสมพันธุ์กัน เป็นพันธุ์ผสม แต่ 2 ชนิดนี้ไม่มีการผสมข้ามสายพันธุ์กันมานานแล้ว เป็นไปไม่ได้ในการที่จะบินมาบริเวณนั้น

ปกตินกเงือกเชื่องไหม?

ไม่เลยครับ สัตว์ป่าทุกชนิดไม่เคยไว้ใจมนุษย์เราเข้าไปในป่าจะพบว่าสัตว์หนีเราหมดเลย จะมีนกระวังไพรร้อง ทุกตัวหลบหมด สัญชาตญาณสัตว์ป่าเป็นอย่างนั้น ถ้ามันหลงมาในป่าจริง แม้ว่าเราจะรักษาดูแลมัน แต่สัญชาตญาณนี้ไม่ได้หายไปง่ายๆ ถ้ามานั่งแปะอยู่ก็ต้องเลี้ยงตั้งแต่เด็ก คงโดนเอามาจากรังโดยตรง พฤติกรรมของนกจะคิดว่าสิ่งที่เห็นแรกๆ ในชีวิตเป็นพ่อแม่ จะเกิดความเชื่องและคุ้นเคย ศัพท์ของคนเลี้ยงนกเรียกว่า ลูกป้อน ต้องเอามาป้อน เลี้ยงแต่เล็ก

การครอบครองโดยถูกกฎหมายมีวิธีการใดบ้าง?

นกเงือกสีน้ำตาลเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ถ้าเป็นสัตว์ป่าสงวนไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น แต่สัตว์ป่าคุ้มครองต้องทำเรื่องขออนุญาตโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะที่ชัดเจน เช่น ทำสวนสัตว์เอกชน ซึ่งกระบวนการเปิดสวนสัตว์ก็มีระเบียบข้อบังคับอยู่ หรือเพื่อการศึกษาวิจัยบางอย่างเฉพาะ แต่คนทั่วไปเอามาเลี้ยงดูเล่นไม่ได้ กฎหมายไม่ได้ให้ทำอย่างนั้น

สามารถเพาะพันธุ์ได้ไหม?

การเพาะนกเงือกทำได้ยากมาก แม้เข้าใจชีววิทยาการสืบพันธุ์ แต่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาหารที่หลากหลายเช่นในธรรมชาติ ลักษณะโพรงรังต้องเป็นต้นไม้ที่มีชีวิต ไม่ใช่ต้นไม้ตาย การสร้างกล่องขึ้นมาไม่ใช่ว่าจะออกลูกออกหลานได้ ที่ผ่านมามีความพยายามตามสวนสัตว์ แต่ทำได้สำเร็จน้อยมาก

แม้วันหนึ่งทำได้สำเร็จก็ต้องถามว่า ทำไมเราอยากเพาะเลี้ยงมัน หลายคนอ้างว่าเอามาเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์ ต้องการขยายพันธุ์ จะได้มีนกเงือกเยอะๆ ต้องถามว่าวัตถุประสงค์สูงสุดของการอนุรักษ์สัตว์คืออะไร เราต้องการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ สัตว์ไม่ได้มีเพื่อประดับป่าบินไปบินมาสวยงาม แต่เป็นกลไก เป็นชีพจรหนึ่งของป่า นกเงือกช่วยในการขยายพันธุ์ต้นไม้ป่าบางชนิดซึ่งสัตว์อื่นทำแทนไม่ได้ ตราบใดที่มันไม่สามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติได้ การอนุรักษ์สัตว์ชนิดนั้นก็ไม่มีประโยชน์ แค่เป็นตัวของมันแต่แปลกแยกออกจากระบบนิเวศ

มีสัตว์ป่าที่เพาะพันธุ์แล้วนำกลับคืนสู่ธรรมชาติ?

การเพาะพันธุ์สัตว์ป่าแล้วพยายามเอากลับเข้าไป (Ex situ conservation) จะมีประโยชน์กับสัตว์ที่โดนล่า แต่พื้นที่อาศัยยังมีเพียงพอ เช่น นกกระเรียนที่อาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำตามท้องนา โดนล่าเยอะ แต่ทุกวันนี้มีการเพาะพันธุ์และคืนสู่ธรรมชาติ เมื่อพื้นที่อาศัยยังไม่หมดไป ไม่ใช่เพาะไว้เลี้ยงดู การเพาะไว้เลี้ยงดูไม่มีประโยชน์ เป็นการเพาะเพื่อตัวเอง ถ้าคุณบอกว่าทำเพื่อจะอนุรักษ์ กรงไม่ใช่บ้านของมันแน่นอน

การเพาะเพื่อใส่กลับในป่า ต้องเป็นมาตรการสุดท้ายที่เราไม่สามารถรักษามันในธรรมชาติได้ แต่ถ้าป่าถูกทำลายจนหมดไปแล้ว ก็ป่วยการที่เราจะอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้ แม้เราจะเอาไดโนเสาร์หรือแมมมอธกลับมาได้ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ไม่มีถิ่นอาศัยที่มันอยู่อีกต่อไป ต้องการให้คนเข้าใจว่า วัตถุประสงค์หลักของการอนุรักษ์สัตว์ป่า คือการรักษาระบบนิเวศหรือรักษาสมดุลของธรรมชาติ

การอนุรักษ์สมดุลธรรมชาติจะยั่งยืนกว่า?

การเพาะสัตว์ตัวหนึ่งแล้วพยายามเอามันกลับเข้าสู่ธรรมชาติ เป็นกระบวนการซึ่งใช้ทรัพยากรมโหฬาร และส่วนใหญ่ล้มเหลว ถ้าเราใช้เงินจำนวนเดียวกัน มามุ่งเน้นการอนุรักษ์สัตว์ในถิ่นอาศัย (In situ conservation) ป้องกันการทำลายป่า ป้องกันการล่า ให้มีการลาดตระเวนให้ดีขึ้น ทำให้ชุมชนภายนอกมีอาชีพมีรายได้ ไม่เข้าไปล่าสัตว์ คนอยู่ได้สัตว์อยู่ได้ เป็นทางออกที่ยั่งยืน

การอนุรักษ์ในถิ่นอาศัยมีข้อดีอีกข้อ คือ ถ้าเราเลือกเพาะพันธุ์สัตว์จะมีอคติ ปฏิบัติแบบไม่เท่าเทียม เราจะเพาะตัวขนฟู ตาโต น่ารัก อย่างแพนด้า ตัวไหนหน้าตาไม่ดีน่าขยะแขยง กิ้งกือ ไส้เดือน ตุ๊กกาย (ตุ๊กแกป่า) สัตว์เหล่านี้แทบไม่ได้รับการเหลียวแล ทั้งที่คุณค่าต่อระบบนิเวศไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าแพนด้า ถ้าเราอนุรักษ์สัตว์ในถิ่นอาศัยคือเรารักษาทั้งระบบ สัตว์พวกนี้จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย การอนุรักษ์ที่เลือกปฏิบัติไม่ได้ส่งผลดีกับระบบนิเวศโดยรวม สมดุลของธรรมชาติระบบนิเวศโดยรวมที่มั่นคงนั่นแหละ จะส่งผลให้มนุษย์ได้รับประโยชน์ในรูปแบบต่างๆมากมาย

คิดว่าทำไมกรณีคุณวิกรมเป็นกระแสรุนแรง?

เข้าใจว่าเพราะตอนนี้สังคมกำลังอึดอัดเรื่องความเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคม มองว่ามีคนมีอภิสิทธิ์ในสังคมเยอะ กฎหมายใช้ไม่เท่ากัน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของคนดี คนที่เป็นผู้นำทางความคิดในสังคม เกิดการตั้งคำถามว่าแล้วคุณทำผิดกฎหมายหรือเปล่า ผมเองเขียนไปว่าอยากให้ตรวจสอบว่าผิดไหม ถ้าผิดก็อยากให้ดำเนินการเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ใช่ว่าคนที่มีอำนาจคนยากจนโดนดำเนินคดี แต่คนเหล่านี้หลุดรอดไป

ผมเองจะมองประเด็นเรื่องธรรมชาติ คุณวิกรมมาโชว์ว่ามีสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์เลี้ยง เหมือนค่านิยมว่ามีเสือในบ้านเป็นความเก๋ไก๋ ความเท่ ยิ่งสร้างการแข่งขันที่จะครอบครองสัตว์เหล่านี้ ใครมีตัวประหลาดกว่ากัน คุณวิกรมเป็นคนมีชื่อเสียง ถ้านำไปในทางที่ผิดจะก่อให้เกิดกระแสที่ผิด ปัญหาเรื่องการค้าสัตว์ป่าหนักมากทุกวันนี้ จะเห็นกลุ่มซื้อขายสัตว์ป่าเต็มเฟซบุ๊กไปหมดเลย กลุ่มคนทำงานอนุรักษ์กำลังต่อสู้กันมาก เหตุการณ์อย่างนี้เป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น คือ คนมีชื่อเสียงในสังคมสร้างค่านิยมที่ผิด

อะไรเป็นสาเหตุหลักที่หยุดกระบวนการค้าสัตว์ป่าไม่ได้?

หลายส่วนมาก เรื่องความนิยม บางคนแยกสัตว์แปลกกับสัตว์ป่าผิดกฎหมายไม่ค่อยได้ สัตว์แปลกพวกนี้บางตัวมีราคาสูงมาก คนไม่มีเงินพออยากมีบ้างก็จะไปเอาตลาดมืดมาจากป่าไม่มีใบอนุญาต กระบวนการนี้มีเรื่องราวเจ็บปวดมาก เป็นสินค้าที่มีทั้งคราบน้ำตาคราบเลือดตลอดทาง ที่น่ากลัวมากคือเมืองจีนตอนนี้กำลังซื้อมหาศาล

1.กำลังซื้อเยอะขึ้นมากกว่าเดิม มีการทำการตลาดให้คนหันมานิยมของเหล่านี้มากขึ้น 2.จุดอ่อนของกฎหมายเราและการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มแข็ง หลายเรื่องที่เราทำ ที่จริงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่กลายเป็นว่าประชาชนทั่วไปต้องมาโวยวายว่าเจ้าหน้าที่ไปจับหน่อยสิ เรามองว่าคนที่มีหน้าที่ก็ต้องขยันช่วยกัน ผมรู้ว่าข้อจำกัดมีเยอะ เจ้าหน้าที่น้อย งานเยอะ แต่กรณีคนมีชื่อเสียงจำเป็นต้องทำ เพราะส่งผลกระทบวงกว้าง

กรณีเสือวัดหลวงตาบัวสะท้อนภาพการซื้อขายสัตว์ป่าในไทยได้ไหม?

ผมว่าเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ไปเปิดดูแล้วผงะว่ามากมายขนาดนั้น สวนเสือที่มีมากมายในประเทศไทย ผมไม่เชื่อว่ารายได้หลักคือการให้นักท่องเที่ยวไปถ่ายรูปกับเสือ ผมคิดว่าเขามีรายได้อย่างอื่นที่ทำให้ร่ำรวยและขยายไปมากมาย นักการเมืองบางท่านก็ส่งเสือไปนอก เป็นคดีกันอยู่ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าไปถึงไหน ไม่ได้รับการลงโทษ

เมืองไทยเราไม่ใช่แค่ซื้อขายในประเทศ เราเป็นทางผ่าน จุดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ธุรกิจค้าสัตว์ป่า ถือเป็นธุรกิจผิดกฎหมายอันดับ 3 ของโลก รองจากค้ายาเสพติดและอาวุธ

กรณีคุณวิกรมบทสรุปจะเป็นยังไง?

เจ้าหน้าที่เขาก็ทำให้ดูว่าเขาทำหน้าที่แล้วนะ ไปตรวจสอบแล้ว ตอนนี้นกก็หายไป ในที่สุดก็คงจะรอเวลาให้สังคมลืมๆเรื่องนี้ไปแล้วทุกอย่างก็เงียบไป เหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา คุณวิกรมอาจได้บาดแผลเล็กๆ ไม่กี่วันก็หาย แต่ก็เป็นจังหวะที่ดีที่ทำให้คนหันมาสนใจปัญหาเรื่องนี้และมองว่าไม่ใช่ปัญหาเล็ก ไม่ใช่คุณวิกรมคนเดียว แต่ผู้มีอิทธิพลในบ้านเรามีแบบนี้เยอะแยะไปหมด มีสัตว์ประดับบารมีมากมาย เสือในบ้านก็มีเยอะแยะ นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นปัญหาทั้งโลก

ในฐานะนักอนุรักษ์สามารถทำอะไรได้ไหม?

สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือพยายามปิดช่องทางหากินของคนเหล่านี้ ในเฟซบุ๊กภาพโป๊ยังถูกปิดได้ ซึ่งในความเห็นผมก็ไม่ได้เป็นภัยกับสังคมอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับการค้าสัตว์ป่าที่กระทบต่อความมั่นคงของทรัพยากรโลก ที่ผ่านมาเรารีพอร์ตไปเฟซบุ๊กประเทศไทย เขายังไม่เข้าใจ แต่ที่มาเลเซียเฟซบุ๊กก็ปิดการประกาศขายให้แล้ว สำคัญว่าประชาชนต้องเข้าใจและเปลี่ยนทัศนคติว่า การเอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงไม่ใช่การอนุรักษ์ การอนุรักษ์ในถิ่นอาศัยมีความสำคัญกว่าการเพาะพันธุ์ คนต้องเข้าใจว่าการค้าสัตว์ป่าเป็นตัวเร่งให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก

ทางรัฐมีการสนับสนุนบทบาทการอนุรักษ์แค่ไหน?

เขาก็มีหน่วยงานอยู่ แต่ก็ยังมีกำลังคนน้อย ถ้าประชาชนให้ความสนใจเยอะๆ ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะขยันกว่านี้ แต่เรื่องสัตว์ป่าคนรู้สึกว่าไกลตัวสูญพันธุ์ไปก็เท่านั้น แต่เป็นเรื่องสำคัญ รุ่นลูกหลานจะอยู่ยังไง ไม่ใช่แค่ว่าไม่ได้เห็นสัตว์เหล่านี้ มรดกทางธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่เรารับจากพ่อแม่อย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เราไปหยิบยืมมาจากรุ่นลูกใช้จนหมดเกลี้ยง ไม่เหลือ เราจะทิ้งโลกแบบไหนให้เขา

ถ้าคนให้ความสำคัญกับเรื่องการเก็บมรดกทางธรรมชาติมากกว่านี้ เชื่อว่ากฎหมายที่มีอยู่ แม้อาจไม่เพอร์เฟ็กต์ แต่จะถูกใช้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ใช่ทุกวันนี้ที่โดนจับแล้วก็ปล่อยๆ กันไปเพราะคนไม่ได้สนใจ


การดูนกคือรางวัลพิเศษจากธรรมชาติ

นพ.รังสฤษฎ์เล่าว่า วันธรรมดาเขาจะเป็นอาจารย์แพทย์สอนนักศึกษาแพทย์ดูแลคนไข้โรคหัวใจ ซึ่งเป็นงานที่ตัวเองรัก ส่วนเสาร์-อาทิตย์ที่ชมรมจะจัดกิจกรรมเดินชมนก พาเด็กๆ เรียนรู้สัมผัสธรรมชาติ

“ตัวผมเองอาศัยว่าได้รับการถ่ายทอดจากคุณแม่ (ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์) ในองค์ความรู้และมุมมองความรักที่เรามีต่อธรรมชาติ ผมเชื่อว่าเราถ่ายทอดให้กับคนอื่นๆ ได้ เป็นงานที่สำคัญเท่ากับชีวิต ทุกวันนี้เยาวชนห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้น เขาต้องดูแลโลกใบนี้ต่อไปตอนเราไม่อยู่ ผมจึงคิดว่าเป็นหน้าที่หนึ่งของผมที่จะดึงสิ่งเหล่านี้กลับมา เชื่อว่าดีต่อตัวเขา ดีต่อสังคมเมื่อเขาได้รื้อฟื้นสายสัมพันธ์กับธรรมชาติ”

ถามถึงสิ่งที่ทำให้หลงใหลการดูนกมากที่สุด หมอหม่องยิ้มแล้วบอกว่าตอบยาก

“หลงใหลความมหัศจรรย์เวลาเราได้เห็นมัน การดูนกในธรรมชาติต่างจากนกในกรงมาก เหมือนเราไปดูเสือในสวนสัตว์ เดินไปมา เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ เราเห็นทั้งตัวแต่ไม่ตื่นเต้นเลย เพราะเสือตัวนั้นไม่มีราศีความเป็นเจ้าป่า ถ้าคุณเห็นเสือในธรรมชาติ ผมเคยเข้าป่าเจอแค่หางผ่านไปแว้บเดียว ขนลุกหมดเลย (หัวเราะ)

“การได้เจอเขาในธรรมชาติเหมือนเราได้รับรางวัลพิเศษ เป็นพรพิเศษที่เราได้มีโอกาสเจอเขาในบ้านของเขา เราไม่ได้ครอบครองเขา เราออกไปเขาก็ยังอยู่ที่นั่น เขาเป็นอิสระ เป็นตัวตนของเขาอยู่ ไม่รู้ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องจิตวิญญาณมากไปหน่อยหรือเปล่า (ยิ้ม) การดูนกเป็นเรื่องเกินความคาดเดาได้ตลอดเวลา บางตัวหายากมาก เวลาไปเห็นยิ่งกว่าความสุข เป็นความปลื้มปีติว่าเราทำบุญอะไรมาถึงได้เห็นตัวนี้”

เขาบอกอีกว่า การดูนกพาเขาไปในที่ธรรมชาติหลายแห่ง ชายทะเล ป่าเต็งรัง ป่ายอดเขาดิบสูง

“มันพาเราไปหลายที่ หลงใหลบรรยากาศรอบๆ ด้วย มิตรภาพของนักดูนกด้วยกันก็เป็นส่วนประกอบที่ทำให้สิ่งนี้พิเศษ”

นพ.รังสฤษฎ์เล่าพร้อมรอยยิ้มและแววตาฉายประกาย