วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 23, 2559

โมเดลจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของชุมชน อิสราเอล สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ และฟังท่านผู้ว่ากทม.สาธยายธรรมชาติน้ำของไทย (บังคับมากไม่ได้)




Dr.Weinberger Gavriel, Director of the Hydrological Service, The Governmental Authority for Water and Sewage


22 มิถุนายน 2016
Thai Publica

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” ประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ สู่หนทางป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน โดยแลกเปลี่ยนประสบการบริหารจัดการน้ำจาก 3 ประเทศต้นแบบ ได้แก่ อิสราเอล สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์

อิสราเอลในวันที่ชุ่มน้ำ กับสโลแกน “Always been a drop ahead”

อะไรที่ทำให้ประเทศอิสราเอล ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศค่อนข้างแห้งแล้งห้อมล้อมด้วยทะเลทราย มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีเพียง 20-50 นิ้ว หรือน้อยกว่า 33 มิลลิเมตร/ปี และมีอัตราการระเหยของน้ำสูง เคยประสบภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำถึงขั้นต้องสั่งซื้อน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างตุรกีในปี 2547 สามารถอยู่ได้โดยมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอีกในปัจจุบัน

Dr.Weinberger Gavriel ผู้อำนวยการสถาบันอุทกวิทยา อิสราเอล กล่าวว่า “น้ำ” ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามีความสำคัญมากเพราะน้ำเป็นสมบัติสาธารณะ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดสรรสิ่งนี้ให้เพียงพอต่อความต้องการของคนทั้งประเทศ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมานโยบายการจัดการน้ำของอิสราเอลมีคีย์เวิร์ดอยู่ที่ “จะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้ และเกิดความยั่งยืน”

“น้ำในความหมายของเราคือ น้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน น้ำทะเล น้ำในชั้นหิน น้ำบาดาล น้ำที่ใช้แล้ว น้ำเสียที่ต้องบำบัด การวางนโยบายจึงต้องทำความเข้าใจวัฏจักรน้ำทั้งระบบ และจัดการให้สัมพันธ์กัน เพราะน้ำในชั้นหิน น้ำที่ซึมซับสู่พื้นดิน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน การใช้น้ำบาดาลต้องมีการวิเคราะห์แร่ธาตุและสารเคมีในดินด้วย หากนำน้ำใต้ดินมาใช้มากๆ ก็อาจส่งผลให้ความเค็มซึมเข้ามาจนเกิดผลกระทบตามมา ซึ่งหากเข้าใจวัฏจักรของน้ำทั้งระบบก็จะทำให้สามารถใช้น้ำได้อย่างถูกวิธีแลยั่งยืน”

จากวิกฤติการขาดแคลนน้ำในปี 2547 อิสราเอลได้รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งองค์กรที่จัดการน้ำโดยเฉพาะขึ้น มีกฎระเบียบชัดเจน การจัดการน้ำทุกประเภทในประเทศต้องผ่านองค์กรนี้ ในภาพรวมอิสราเอลพึ่งพิงน้ำใต้ดินเป็นส่วนใหญ่ ได้พัฒนานำเทคโนโลยีวิศวกรรมด้านการจัดการน้ำเข้ามาช่วย ทำให้ปัจจุบันปริมาณน้ำ 50% ที่ใช้ในประเทศมาจากน้ำที่เขาผลิตใช้เองโดยอาศัยภูมิประเทศที่ติดทะเล มีชายฝั่งยาว 230 กิโลเมตร ผันน้ำจากทะเลมาแปลงเป็นน้ำจืดใช้ภายในประเทศ

Dr.Weinberger กล่าวว่า มีการบริหารจัดการเชื่อมโครงข่ายน้ำจืดด้วยระบบท่อใต้ดิน เพื่อนำน้ำจืดจากทางเหนือลงมาทางใต้ของประเทศ รวมระยะทางประมาณ 6,500 กิโลเมตร ปริมาณน้ำทั้งระบบประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการอุปโภคบริโภคและผลิตกระแสไฟฟ้า และเชื่อมกับแหล่งผลิตน้ำตามชายฝั่งต่างๆ โยงเป็นผังใยแมงมุมเพื่อส่งน้ำให้ทั่วถึงทุกพื้นที่

“น้ำเสียและน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดทั้งจากโรงบำบัดขนาดใหญ่และโรงบำบัดระดับชุมชน จะถูกเติมน้ำลงสู่ใต้ดินบริเวณพื้นที่ทะเลทรายช่วงฤดูหนาว ช่วยป้องกันการระเหย คืนน้ำสู่ชั้นดินและนำกลับมาใช้เป็นน้ำชลประทาน เรียกว่าไม่เสียน้ำสักหยด และเราจะลดสัดส่วนการใช้น้ำดีในภาคเกษตรลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบันสัดส่วนน้ำเสียที่เอามาใช้ในภาคเกษตรมีถึง 86%”

นอกจากนี้ อิสราเอลได้ปรับวิถีเกษตรเป็นแบบใช้น้ำน้อย โดยพื้นที่เพาะปลูกกว่า 70% ของประเทศ เป็นระบบชลประทานแบบน้ำหยด (Drip Irrigation) และอีกร้อยละ 30 เป็นการปลูกพืชด้วยระบบสปริงเกอร์ ซึ่งระบบชลประทานน้ำหยดสามารถจ่ายน้ำให้กับพืชไร่ได้มากกว่า 90% เมื่อเทียบกับการสูบน้ำเข้าไร่นา ช่วยลดปัญหาการแย่งน้ำในภาคเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จัดการน้ำอย่างสิงคโปร์ ทุกหยดต้องไม่เหลือทิ้ง

สิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขาดแคลนน้ำ คุณภาพน้ำไม่ดี ต้องนำเข้าจากต่างประเทศสำหรับอุปโภคและบริโภค ขณะที่ลักษณะภูมิประเทศ 2 ใน 3 เป็นที่ลุ่ม มีทางระบายน้ำเพียง 50% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ทำให้เมื่อถึงฤดูฝนต้องประสบปัญหาน้ำท่วมเสมอ

Mr.Ridzuan Bib Ismail ผู้อำนวยการด้านแหล่งน้ำและลุ่มน้ำของหน่วยงาน PUB สิงคโปร์ กล่าวว่า จากปัญหาที่ประเทศประสบ ภาครัฐจึงตั้งนโยบายที่จะเก็บน้ำฝนให้ได้ทุกหยด รวมถึงน้ำที่ใช้ไปแล้วก็ต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 1 ครั้ง โดยหน่วยงาน PUB จะทำหน้าที่จัดการน้ำทั้งวัฏจักรไม่ให้เหลือทิ้ง (คลิกภาพเพื่อขยาย)






คลองที่ถูกขุดขึ้นใหม่สำหรับเป็นทางระบายน้ำในสิงคโปร์ รวมทั้งมีการปรับทัศนียภาพเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อน


เมื่อรัฐบาลเล็งเห็นว่าน้ำคือความมั่นคงของประเทศ จึงได้ประกาศลดการซื้อน้ำจากต่างประเทศ และหันมาดำเนินนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยมาตรการการอนุรักษ์น้ำ 3 กลยุทธ์ คือ 1) กำหนดกลไกสร้างราคาและเพิ่มมูลค่าน้ำ เช่น ค่าบริการส่วนเพิ่มของการใช้น้ำ (Water Tariff) และภาษีอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation Tax) เพื่อบวกรวมเข้ากับค่าน้ำ เมื่อใช้น้ำมากยิ่งมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าบริการและภาษีที่สูงขึ้น 2) กำหนดข้อบังคับ อาทิ ต้องมีฉลากประหยัดน้ำ (Water Efficiency Labeling Scheme: WELS) ติดกำกับเครื่องใช้และอุปกรณ์ภายในครัวเรือนทุกชนิด และ 3) ใช้ความสมัครใจ โดยให้ประชาชนคิดหาวิธีประหยัดน้ำในชุมชน ใช้การจูงใจโดยให้รางวัลชุมชนที่สามารถประหยัดน้ำได้มากที่สุด รวมทั้งสนับสนุนทุนให้นำไปสร้างโครงการในแต่ละพื้นที่ที่สนใจ

“น้ำที่นี่ยังคงต้องมีราคาสูง มีการเก็บภาษี เพื่อคนจะได้เห็นคุณค่าของน้ำ และใช้อย่างประหยัด เพราะหากเขารู้สึกว่าได้น้ำมาง่ายๆ ทุกคนก็จะไม่ให้ความสำคัญกับน้ำ”

และดังที่กล่าวไปข้างต้น สิงคโปร์ประสบปัญหาน้ำท่วมเพราะที่ลุ่มอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล Mr.Ridzuan กล่าวว่า ประเทศของเขาแก้ปัญหาดังกล่าวโดยพัฒนาพื้นที่อ่างเก็บน้ำจากเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติเพียง 3-4 แห่ง ปัจจุบันมีถึง 17 แห่ง พื้นที่ใหญ่ที่สุดบริเวณปากแม่น้ำครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 6 ของประเทศ (Marina Reservoir) และกำหนดให้การก่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยทุกแห่งต้องก่อสร้างตามมาตรฐานป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งทำเส้นทางระบายน้ำไว้โดยเฉพาะ

“เราทำทั้งการปรับปรุง บำรุงรักษาระบบระบายน้ำ สร้างเพิ่ม และทำแก้มลิง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ทุกวันนี้ยังมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ภายใน 1 ชั่วโมงก็สามารถระบายน้ำออกได้ทั้งหมด เราทุ่มทุนไปในเรื่องบริหารจัดการน้ำกว่า 470 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาและทำวิจัยเรื่องน้ำผ่านบริษัทเอกชนจำนวน 180 แห่ง และสถาบันวิจัยอีก 26 แห่ง”

นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้นำเทคโนโลยีรีไซเคิลน้ำเสียมาใช้ ภายใต้ชื่อ NEWater โดยนำน้ำเสียจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมาผ่านกรรมวิธีการกรองแบบ Microfiltration, Reverse Osmosis และฆ่าเชื้อด้วยอัลตราไวโอเลต จนได้น้ำดิบคุณภาพดี และนำกลับเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตและการหล่อเย็นของภาคอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือถูกนำไปรวมกับแหล่งน้ำดิบเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาสู่ประชาชนอีกครั้ง รวมทั้งทำระบบแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืด (Desalination) ซึ่งมีโรงผลิตขนาดใหญ่อยู่บริเวณเขื่อนปากแม่น้ำโดยสร้างคู่กับโรงงานเผาขยะ เพื่อนำพลังงานที่ได้จากการเผาขยะไปใช้ในโรงงานแปลงน้ำทะเลดังกล่าว ซึ่งยุทธศาสตร์การจัดหาแหล่งน้ำนี้ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรน้ำของภาคอุตสาหกรรมกับประชาชนได้เป็นอย่างดี

เนเธอร์แลนด์กับระบบรับมือน้ำท่วมแบบครบวงจร





เนเธอร์แลนด์ ประตูสู่ยุโรป ประเทศในฝันที่หลายคนอยากไปเยือน แต่กว่าจะสร้างตัวได้ดังในทุกวันนี้ ประเทศนี้ต้องทุ่มทุนมหาศาลเพื่อรับมือ “น้ำ” เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้เนเธอร์แลนด์ประสบอุทกภัยบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายพันล้านยูโร

Mr.Tjitte A Nauta ตัวแทนจากองค์กร Deltares องค์กรไม่แสวงกำไรที่ดูแลเรื่องน้ำใน เนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 1917 เนเธอร์แลนด์เริ่มแก้ปัญหาโดยการสร้างเขื่อนและทำทะเลสาบกลางประเทศ แต่ในปี 1953 ก็ประสบปัญหาเขื่อนแตก จึงเริ่มทำระบบริหารจัดการน้ำแบบเปิดปิดซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ในปี 1995 แม้ป้องกันภัยจากมวลน้ำที่มาจากมหาสมุทรได้ แต่แม่น้ำไรน์ก็เกิดเอ่อท่วมสร้างความเสียหายใหญ่อีกครั้ง

“เราเรียนรู้ว่าไม่ควรสร้างหรือจัดการน้ำในแบบที่ต้านธรรมชาติ เราเริ่มศึกษาคลื่น และให้ธรรมชาติคุ้มครองประเทศ ดังนั้น นอกจากการบริหารจัดการด้วยการสูบน้ำออกจากทะเลสาบ สร้างเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศประสบภาวะอุทกภัย ต้องสร้างสมดุลระหว่างน้ำเค็มและน้ำจืด และน้ำใต้ดินด้วย”

Mr. Tjitte กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การจัดการน้ำเป็นไปอย่างครอบคลุม ตรงจุด และทันต่อสถานการณ์ จึงได้สร้างแบบจำลองการเกิดอุทกภัยขึ้น รวมทั้งวางทางเลือกทั้งหมดที่เป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อที่จะเลือกทางออกที่ประหยัดงบประมาณ เกิดความคุ้มค่า และเหมาะสมที่สุดมาใช้

“ภาพจำลองช่วยให้เราเตรียมพร้อม ระบบสามารถคำนวณได้ว่าเมื่อเขื่อนแตกเราจะมีเวลารับมือเท่าไร ถนนเส้นใดยังใช้ได้ นอกจากนี้ ยังนำมากำหนดผังเมืองให้สามารถกักน้ำได้เมื่อฝนตกหนัก รวมทั้งนำสิ่งก่อสร้าวที่ปรับตัวได้ อาทิ บ้านลอยน้ำมาใช้”

Climate Change กับความท้าทายในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศต้นแบบทั้ง 3 จะสามารถปรับตัวและประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำในประเทศของตนเองแล้ว แต่ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่ทั้งหมดต่างเป็นกังวล

โดย Dr.Weinberger กล่าวว่าทุกวันนี้แม้อิสราเอลจะไม่ขาดแคลนน้ำเลย แต่การนำน้ำเค็มไปทำน้ำจืดก็ต้องดูผลกระทบในอนาคต เพราะภัยพิบัติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยน

ดังนั้น หน่วยงานอุทกวิทยาได้จัดทำระบบพยากรณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งล่วงหน้า โดยคำนวณจากอัตราการตกของฝนในแต่ละพื้นที่ตามแผนที่อากาศที่ประกอบกับ Flood Animation แล้วจะทำการแจ้งเตือนประชาชนผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งต้องพัฒนาระบบอยู่เรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ต้องคิดล่วงหน้าและคิดอย่างต่อเนื่อง เพราะเราต้องการความยั่งยืนมากกว่าแค่มีน้ำใช้

ด้าน Mr.Ridzuan กล่าวว่า สำหรับสิงคโปร์เพื่อเตรียมตัวรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การหาทางออกจึงต้องทำอย่างบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นทางและหาทางรับมือโดยการออกแบบและปรับปรุงการระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะประเทศสิงคโปร์เองมีพื้นที่จำกัดที่จะเพิ่มการระบายน้ำ

“เราใช้ Strom Surge ร่วมกับการเกิดเอนโซ (ENSO: El Niño–Southern Oscillation) และระดับน้ำทะเล เพื่อคำนวณหาวิธีรับมือ ซึ่งภาครัฐเองก็พยายามสร้างความรับรู้ให้ประชาชนทำแอปพลิเคชันเตือนภัย ทำระบบ SMS Alert รวมทั้งสามารถเฝ้าดูพื้นที่เปราะบางจากภาพบันทึกโดย CCTV ผ่านแอปพลิเคชันได้ คือให้ประชาชนมีข้อมูลมากที่สุดเพื่อให้เขาดูแลตัวเองและรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้” Mr.Ridzuan กล่าว

Mr.Tjitte กล่าวปิดท้ายว่า สิ่งสำคัญที่เนเธอร์แลนด์ทำในตอนนี้คือการวางแผนสำหรับอนาคต ไม่ใช่แค่ 10 ปี แต่เป็นเพื่ออีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งจากที่ตนเคยได้เข้ามาช่วยเหลือประเทศไทยเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยปี 2554 ก็เห็นว่าไทยเองก็ควรวางแผนในระยะยาว ซึ่งแนวทางที่ประเทศเขาใช้ไทยก็สามารถทำได้ ด้วยอาศัยการร่วมมืออย่างบูรณาการจากทุกฝ่าย ทำอย่างยืดหยุ่น ไม่ฝืนธรรมชาติ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนเพื่อให้ได้ทางเลือกที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด

.....


ฟังท่านผู้ว่ากทม. ขออภัยและพูดถึงเรื่อง "เราเป็นเมืองน้ำ เป็นเมืองฝน"





.....

รูปเก่า 08 ตุลาคม พ.ศ. 2554 โมเดลนี้ยังไม่ออกผล


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1318065061