วันศุกร์, มิถุนายน 24, 2559

ศูนยทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน วิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร: “พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม”





บทวิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร: “พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม”

22 มิ.ย. 2016

ดาวน์โหลดไฟล์ฉบับเต็มที่: บทวิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร: “พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม”

เกริ่นนำ

“มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

ประกาศใช้ ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2475

แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการยึดอำนาจและเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นการประกาศหลักการสำคัญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและหลัก 6 ประการ ที่สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นหลักการสำคัญ คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลับรวบอำนาจอธิปไตย อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไว้ในมือของ คสช. โดยเบ็ดเสร็จพร้อมยกเว้นความรับผิดตนเองไว้โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 คสช. ประกาศตนเองเป็นรัฐฏาธิปัตย์ หรือผู้ถือครองอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศทั้งที่ไม่ได้มีฐานที่มาใด ๆจากปวงชน และสถาปนาระบบอำนาจ คสช. ที่ไม่เปิดให้ประชาชนสามารถโต้แย้ง คัดค้านหรือได้รับการเยียวยาจากการใช้อำนาจของรัฐ แม้แต่ศาลเองก็มีคำวินิจฉัยในลักษณะยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ดังกล่าวในหลายคดี จนกล่าวได้ว่าอำนาจอธิปไตยและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของปวงชนถูกลิดรอนไปทั้งหมดตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา

แม้ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2557 คสช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ดูราวกับประเทศกลับมาใช้การปกครองโดยระบบกฎหมายและเป็นนิติรัฐ (Legal State) แต่เมื่อพิจารณาระบบกฎหมายภายใต้ยุค คสช. แล้วพบว่าเนื้อในของระบบนั้นห่างไกลจากนิติรัฐอย่างมาก คสช. ได้อ้างอำนาจรัฐฏาธิปัตย์ที่สถาปนาเองในรัฐธรรมนูญมาออกประกาศและคำสั่งคสช.นับร้อยฉบับเพื่อใช้ควบคุมประเทศ นับแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2559 คณะรัฐประหารออกคำสั่ง คสช.มาแล้วจำนวน 198 ฉบับ ประกาศ คสช.จำนวน 123 ฉบับ และ คำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวน 76 ฉบับ มาบังคับใช้ในทุกมิติของการปกครองประเทศ เมื่อพิจารณาองค์กรที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายหรือฝ่ายนิติบัญญัติก็มีที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. โดยมีหัวหน้า คสช. เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและมีการประกาศให้คดีบางประเภทขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทหารอันถือเป็นการแทรกแซงอำนาจฝ่ายตุลาการ จึงกล่าวได้ว่าอำนาจทุกประการยังคงอยู่ที่ คสช. คำถามสำคัญคือภายใต้การลิดรอนอำนาจอธิปไตยของปวงชนดังกล่าว ระบอบการใช้อำนาจของ คสช. ดำเนินไปในลักษณะใดบ้าง อันเป็นส่วนหนึ่งทำให้คณะรัฐประหารสามารถควบคุมอำนาจการปกครองได้ตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา

ปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง เป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งภายใต้การปกครองของ คสช.ที่เข้าสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหาร ซึ่งนับเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐหรือรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย หากภายใต้การปกครองของ คสช.ยังมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจในการละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมซ้ำเติมการไม่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ หรือแม้แต่ภายในประเทศเองไปอีกระดับ

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จ และใช้อำนาจกดปราบการต่อต้านคัดค้านในช่วงแรกได้แล้ว เกิดขึ้นโดย คสช. มิได้ใช้กำลังอาวุธโดยตรงในการควบคุมอำนาจการปกครอง แต่อาศัยวิธีการเปลี่ยนการใช้อำนาจดังกล่าวให้ออกมาในรูปของการบังคับใช้สิ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น “กฎหมาย” และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดผ่านรูปลักษณ์ของ “กระบวนการยุติธรรม” ด้วยข้ออ้างเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของรัฐ

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การกระทำในนามของ “กฎหมาย” และ“กระบวนการยุติธรรม” ที่เป็นแต่เพียงรูปลักษณ์ แต่ถูกชี้นำบงการโดย คสช. และฝ่ายทหาร จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยปรับภาพลักษณ์ให้กับการใช้อำนาจของ คสช. กล่าวคือ ถูกใช้สร้างให้ภาพการปกครองของ คสช. เป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือ “นิติรัฐ” ในทางรูปแบบ แต่หากพิเคราะห์ในทางเนื้อหาของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว รวมทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะพบความบิดเบือนหลักการและความบกพร่องของกระบวนการหลายประการ ที่ทำให้เห็นว่า “กฎหมาย” และ “ กระบวนการยุติธรรม” เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีสถานะเป็นเพียงส่วนประกอบของกลไกการกดบังคับที่ คสช. ใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งก่อตั้งขึ้นในคืนวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังรัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 86 คดี รวมผู้ต้องหาหรือจำเลยจำนวน 119 คน

อย่างไรก็ตาม นอกจากคดีที่ศูนย์ทนายความฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแล้ว ตลอดสองปีที่ผ่านมา ยังมีผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกเป็นจำนวนมาก โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่านับตั้งแต่มีการรัฐประหารจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่ทหารเรียกบุคคลมารายงานตัว หรือเรียกไป “ปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร อย่างน้อยจำนวน 1,006 คน เจ้าหน้าที่แทรกแซงหรือปิดกั้นไม่ให้มีงานเสวนาหรือกิจกรรมสาธารณะเกิดขึ้นอย่างน้อยจำนวน 130 งาน และมีการจับกุมควบคุมตัวบุคคลภายใต้กฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อย่างน้อย 579 คน

รายงานชิ้นนี้นำเสนอบทวิเคราะห์กลไกการใช้อำนาจของ คสช. ตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นทั้งเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและรองรับอำนาจการปกครอง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดบังคับการแสดงออกทางการเมืองทุกประเภท และทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้อำนาจของ คสช. และเจ้าหน้าที่ทหารดำเนินไปอย่างเป็นระบบ โดยสามารถแบ่งกลไกเหล่านี้ออกเป็น 4 ประการหลักๆ ได้แก่ 1) การเรียกบุคคลรายงานตัวและการจับตาสอดส่องโดยรัฐ 2) การสร้าง “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร” 3) การใช้กฎหมายปกติและกฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมือง 4) การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 รองรับการใช้อำนาจให้ปราศจากการรับผิด

1. การเรียกบุคคลรายงานตัว และการจับตาสอดส่องโดยรัฐ

ในช่วงแรกภายหลังการรัฐประหารระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2557 คสช. มีการออกคำสั่งเรียกบุคคลไปรายงานตัวต่อ คสช. อย่างเป็นทางการจำนวน 37 คำสั่ง รวมผู้ถูกเรียกตัวจำนวน 472 รายชื่อ แต่นอกจากจำนวนดังกล่าวแล้ว ต่อมายังมีการเรียกไปรายงานตัวโดยไม่ผ่านการออกคำสั่งเรียกไปรายงานตัว โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เจ้าหน้าที่ทหารมีปฏิบัติการบุกเข้าติดตามตัว ติดต่อให้เข้ามารายงานตัวเองที่ค่ายทหาร หรือแม้แต่การควบคุมตัวญาติไปแทนเพื่อกดดันให้เข้ารายงานตัว โดยจากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งประเทศมีบุคคลจำนวนอย่างน้อย 1,006 คน ที่ถูกเรียกให้เข้ารายงานตัว โดยมีทั้งกลุ่มนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น แกนนำกลุ่มการเมืองโดยเฉพาะแกนนำของคนเสื้อแดงในท้องถิ่นต่าง ๆ นอกจากนั้นกลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักวิชาการ สื่อหรือคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ก็ถูกเรียกรายงานตัวเช่นกัน

ช่วงสิบเดือนหลังรัฐประหาร คสช. และเจ้าหน้าที่ทหารได้อ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวไว้ในค่ายทหารไม่เกิน 7 วัน แม้ คสช. ประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 แต่เจ้าหน้าที่ทหารก็ยังมีอำนาจ ในการควบคุมตัวบุคคลในค่ายทหารโดยไม่ต้องขอหมายศาลได้ไม่เกิน 7 วัน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งออกโดยอำนาจมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว หลายกรณีมีการพูดคุยในการลักษณะของการสอบสวน ทั้งที่บุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ มีการสอบประวัติ และให้บุคคลที่ไปรายงานตัวต้องลงนามยอมรับเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองและห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ตามเงื่อนไขท้ายประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557 ทั้ง คสช. ยังกำหนดให้การฝ่าฝืนเงื่อนไขบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร ซึ่งกลายไปเป็นข้อผูกมัดและเครื่องมือข่มขู่เพื่อปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดสองปีเศษหลังรัฐประหารที่ผ่านมา ทั้งที่ “ข้อตกลง” ดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้สภาพบังคับของการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ลงนามไม่ได้มีอิสระในการเลือกว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็นเอกสารดังกล่าวได้

การใช้อำนาจพิเศษของเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคล ยังมีลักษณะของการควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับ บุคคลทั่วไป ญาติและทนายความไม่สามารถติดต่อและเข้าถึงผู้ถูกควบคุมตัว แม้กระทั่งศาลก็ไม่เข้ามาตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคลโดยทหารที่อ้างอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. และส่วนมากเป็นการควบคุมตัวจากการที่บุคคลใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมโดยสงบสันติซึ่งเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ (Arbitrary Detention) ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามข้อ 9 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กระบวนการควบคุมตัวโดยมิชอบยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในขวบปีที่สองของคสช. อาทิเช่น กรณีการควบคุมตัวนายฐนกร ศิริไพบูลย์ ซึ่งต่อมาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ภาพหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง หรือกรณีการควบคุมตัวนายสราวุธ บำรุงกิตติคุณแอดมินเพจเปิดประเด็น รวมถึงการควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทย เป็นต้น

การควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ปิดลับและตรวจสอบไม่ได้ ยังนำไปปัญหาที่ผู้ถูกควบคุมตัวมีความเสี่ยงและโอกาสที่จะถูกซ้อมทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ หลังรัฐประหาร 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีผู้ร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นระหว่างควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2559 อย่างน้อย 18 ราย รวมถึงกรณีของนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน จำเลยคดีระเบิดศาลอาญา ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการสืบสวนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน บุคคลที่เคยถูกเรียกรายงานตัว ควบคุมตัว และเป็นเป้าหมายของ คสช. หลังได้รับการปล่อยตัวแล้วก็ยังคงถูกติดตามจับตาอย่างต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่เจ้าหน้าที่ทหารมีการเรียกตัวบุคคลเดิมไปพูดคุยในค่ายทหารเป็นระยะ ด้วยคำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ว่า “เชิญมาปรับทัศนคติ” แต่พฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่กระทำในการติดตามตัวบุคคลมาพบที่ค่ายนั้นมีลักษณะบังคับและหลายกรณีเป็นการข่มขู่โดยไม่ได้ให้อิสระบุคคลในการตัดสินใจว่าจะไปหรือไม่ เพราะหากเป็นการ “เชิญ” จริง เจ้าหน้าที่ต้องเคารพการตัดสินใจโดยอิสระของบุคคลที่จะไปหรือไม่ไปก็ได้เช่น กรณีของนายประวิตร โรจนพฤกษ์ อดีตนักข่าวของ The Nation และนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งทั้งสองคนเป็นบุคคลที่เคยถูกเรียกรายงานตัวและได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ก็ถูกควบคุมตัวอีกเมื่อมีการแสดงการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังมีการนัดพบหรือโทรศัพท์พูดคุยเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวเป็นประจำ บางครั้งก็ทหารก็เรียกตัวโดยอ้างว่าเพื่อพบผู้บังคับบัญชาคนใหม่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกำลังพล รวมทั้งมีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปติดตามที่บ้านหรือพื้นที่ส่วนตัวเป็นประจำ

ในหลายจังหวัด ระยะแรกหลังรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ทหารมีการเข้าติดตามตัวแกนนำมวลชนที่บ้านแทบทุกวัน หรือให้เข้าเซ็นชื่อรายงานตัวที่ค่ายทหารทุกอาทิตย์ เจ้าหน้าที่ยังให้แจ้งให้ทราบเมื่อมีการเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือบางรายก็ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารซ้ำหลายหน เนื่องจากยังคงมีการแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ความถี่จะลดลงบ้าง แต่ก็ยังคงมีการติดตามจับตาทุกครั้งที่มีกระแสการเคลื่อนไหวในช่วงต่าง ๆ ทำให้ตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา บุคคลจำนวนมากดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สภาพเสมือนอยู่ใน “สายตา” ของรัฐแทบตลอดเวลา

นอกจากการติดตามจับตาบุคคลที่เป็นเป้าหมายเดิมแล้ว คสช. ยังมีการจับตาสอดส่องกิจกรรมต่าง ๆ ของภาคประชาชนอย่างเข้มข้นและเข้มงวด กิจกรรมสาธารณะแทบทุกกิจกรรมที่สามารถจัดได้ แม้ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับประเด็นทางการเมือง จะถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจตรา ถ่ายรูป หรือบันทึกภาพและเสียง บางครั้งก็แสดงตัวบางครั้งก็เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ จนกลายเป็นเรื่อง “ปกติ” แม้แต่การแสดงออกในประเด็นปัญหาปากท้องและปัญหาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิชุมชน ก็ถูกติดตามจับตาอย่างเข้มข้นไม่แตกต่างกัน แกนนำชุมชนหรือนักพัฒนาเอกชนก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้มาตรการเรียกรายงานในค่ายทหาร หรือเข้าพูดคุย “ปรับทัศนคติ” เพื่อแทรกแซง หรือป้องปรามการเคลื่อนไหวหรือการจัดกิจกรรมของชาวบ้านหรือชุมนุม

การติดตามสอดส่องความคิดของประชาชนโดยรัฐดำเนินไปอย่างเข้มข้น “สายตา” คสช. จับจ้องและตรวจตรากิจกรรมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่สื่อทางอินเตอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ หลายกรณีที่บุคคลถูกเรียกตัวไปพูดคุยในค่ายทหาร เพราะแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ เช่น กรณีเอ็นจีโอโพสต์เฟซบุ๊กกรณีพิพาทที่ดิน พาดพิง คสช. กรณีนายสราวุธ บำรุงกิตติคุณ เป็นต้น บางกรณีแม้จะโพสต์โดยตั้งค่าเป็นส่วนตัว แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำข้อความดังกล่าวมาแสดงให้ดู เพื่อห้ามปรามหรือข่มขู่ ขณะที่ยังพบการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจากการแสดงความคิดเห็นหรือกิจกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ ปัจจุบันศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างน้อย 23 คน ในคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ บางคดีเจ้าหน้าที่นำบทสนทนาหรือข้อความในลักษณะส่วนตัวมาใช้เป็นหลักฐานกล่าวหาหรือสอบสวนบุคคล ทำให้เกิดคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐและการคุ้มครองเสรีภาพในการใช้และสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตของประชาชน เช่น กรณีของแม่จ่านิวและบุรินทร์ ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 จากบทสนทนาส่วนตัวในกล่องข้อความเฟซบุ๊ก หรือกรณีของหฤษฎ์และณัฏฐิกา ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 โดยอ้างเหตุกรณีการพูดคุยส่วนตัวกันในกล่องข้อความ เฟซบุ๊ก เป็นต้น

กล่าวได้ว่าหลังรัฐประหาร กลไกรัฐในยุค คสช. ทั้งทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ดำเนินการจับตาสอดส่อง (State Surveillance) ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองอย่างเข้มงวดมากขึ้นในทุกพื้นที่ รวมทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งยังตั้งใจแสดงออกให้พลเมืองรู้ด้วยว่ารัฐกำลังดำเนินการจับตาสอดส่องอยู่ ประกอบกับการใช้กระบวนการเรียกรายงานตัวต่อทหาร การควบคุมตัวในค่ายทหาร หรือการส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าพูดคุยที่บ้านหรือพื้นที่ส่วนตัวเพื่อระงับยับยั้งการแสดงออกในประเด็นต่างๆ นอกจากเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ยังสร้างให้เกิดความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างกว้างขวาง การรักษา “ความสงบเรียบร้อย” ภายใต้คณะรัฐประหารจึงดำเนินไปภายใต้ “การกดบังคับ” พลเมืองอย่างเข้มข้น

2. กระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร: วงจรความยุติธรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช.

“กระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร” ที่ คสช. สร้างขึ้นนั้น เป็นกระบวนการที่ คสช. เข้าไปควบคุมวงจรของกระบวนการยุติธรรมอย่างเข้มข้นและตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การกำหนดให้การกระทำใดการกระทำหนึ่งมีความผิดตามกฎหมายและต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีในศาลทหาร การนำตัวผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดมาเข้าสู่การพิจารณาลงโทษ โดยผ่านขั้นตอนการจับกุมผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดและกรรมวิธีเพื่อให้ได้ข้อมูลจากบุคคลโดยใช้อำนาจพิเศษของฝ่ายทหาร ไม่ว่าจะเป็นการซักถามข้อมูลและสอบประวัติบุคคลระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ก่อนนำตัวส่งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวนโดยมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารร่วมทำการสอบสวนได้ ต่อไปถึงชั้นพนักงานอัยการทหารซึ่งทำความเห็นในสั่งฟ้องหรือไม่ และศาลทหารเป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีและลงโทษ ทั้งยังมีการนำพลเรือนไปคุมขังในเรือนจำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ค่ายทหาร

หน้าที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร คือ การดำเนินคดีกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐประหาร หรือวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของ คสช. โดยอาศัยรูปลักษณ์ของกระบวนการทางกฎหมายและศาล เป็นเครื่องมือในการขัดขวาง ข่มขวัญ รวมถึงใช้การดำเนินคดีเป็นตัวอย่างให้บุคคลอื่นๆ เกิดความหวาดกลัวและไม่ออกมาต่อต้านรัฐประหารหรือแสดงความคิดเห็นต่อทิศทางการบริหารประเทศของ คสช. ซึ่งกระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหารภายใต้ยุค คสช. สามารถจำแนกออกเป็น 4 ลำดับขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 คสช. ออกคำสั่งหรือประกาศที่กำหนดให้การกระทำใดการกระทำหนึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย

หลังรัฐประหาร คสช. ได้อ้างอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ออกประกาศและคำสั่ง มากำหนดให้การใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนซึ่งเคยสามารถทำได้อย่างเป็นปกติภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้รัฐกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดการดำเนินการทางการเมืองของรัฐกลายเป็นการกระทำที่ต้องห้าม เช่น ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ห้ามฝ่าฝืนเงื่อนไขปล่อยตัวซึ่งห้ามไม่ให้บุคคลแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้นและหากใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง) ก็กลายเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช.เป็นความผิดตามกฎหมาย คสช. และมีโทษทางอาญา

ผลลัพธ์ของการออกประกาศหรือคำสั่งมากำหนดให้การกระทำเหล่านี้เป็น “ความผิดตามกฎหมาย” คือหากปรากฏว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดไม่ยอมรับการทำรัฐประหารหรือไม่เห็นด้วยกับการบริหารของ คสช. โดยใช้เสรีภาพในการแสดงความไม่เห็นด้วย รวมตัวเพื่อชุมนุม จัดกิจกรรม หรือแสดงความเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ หรือแม้แต่การไม่ไป “รายงานตัว” กับคณะรัฐประหาร การกระทำดังกล่าวกลับกลายเป็นการทำผิดกฎหมาย และส่งผลต่อเนื่องให้ คสช. และเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ คสช. สามารถอ้างมาเป็นเหตุในการเข้าดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เพื่อยุติการกระทำดังกล่าวลงได้

ขั้นที่ 2 คสช. ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจแบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผ่านกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช.

ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อ คสช. ทำรัฐประหารก็ ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 2/2557 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ซึ่งกฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ คสช. มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน เข้าดำเนินการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน ในสถานที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องขอหมายจับหรืออำนาจควบคุมตัวจากศาล เพื่อสอบถามข้อมูลและดำเนินการอื่น ๆ กับผู้ที่เจ้าหน้าที่ทหารสงสัยว่าเป็น “อริราชศัตรู” หรือ “ศัตรูของชาติ” ต่อมา เมื่อมีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้ว หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ทหาร ในทำนองเดียวกับกฎอัยการศึก เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำซึ่งเป็นการคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ

นอกเหนือจากกฎอัยการศึกจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารดำเนินการจับกุม ควบคุมตัวและซักถามบุคคลได้ไม่เกิน 7 วันในสถานที่ใดก็ได้ ก่อนส่งบุคคลนั้นเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายอาญาปกติ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ยังเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถดำเนินการจับกุมและเข้าร่วมสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในความผิดสี่ประเภทที่ระบุในคำสั่ง คือ ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความผิดตามกฎหมายอาวุธที่ใช้ในการสงคราม และความผิดฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

อำนาจพิเศษของฝ่ายทหารในการแทรกแซงและชี้นำกระบวนการยุติธรรมขยายฐานไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นเมื่อหัวหน้า คสช. ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหนักงานป้องกันและปราบปรามและผู้ช่วยมีอำนาจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งเรียกตัว ค้น จับกุม ควบคุมตัวและร่วมสอบสวนบุคคล โดยอ้างการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด 27 ประเภท เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดต่อเสรีภาพและชื่อเสียง ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ยาเสพติด อาวุธ ภาษีศุลกากร ป่าไม้ที่ดิน เป็นต้น เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจดำเนินการกับบุคคลที่พิจารณาว่าเป็นผู้มีอิทธิพลซึ่งมีพฤติการณ์กระทําความผิดอาญาบางประการที่เป็นภยันตราย ต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อันเป็นการให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวางในการตีความบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปรากฎว่ามีกรณีที่มีการบังคับใช้อำนาจตามคำสั่งนี้กับประชาชนที่เป็นหัวหน้ากลุ่มในการคัดค้านนโยบายหรือโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น นายทวีศักดิ์ อินกว่าง แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ เชียงราก จ.ปทุมธานี และนายละม่อม บุญยงค์ ชาวระยอง ประธานกลุ่มปากน้ำบ้านเรา

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ที่ออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราวทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจแบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นผลให้บุคคลผู้ต้องสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายที่ออกโดย คสช. และอื่น ๆ ตกอยู่ในวงจรและกรรมวิธีกระบวนการทางอาญาโดยฝ่ายทหาร คือ ถูกจับกุม ควบคุมตัว และสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ คสช. อีกด้วย

ขั้นที่ 3 คสช. กำหนดให้ความผิดบางประเภทเข้ามาอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร

หลังรัฐประหารไม่กี่วัน คสช. ประกาศให้ความผิด 4 ประเภท ได้แก่ ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน และความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. รวมถึงความผิดที่เกี่ยวโยงกับความผิดทั้งสี่ประเภท ให้อยู่เขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา โดยข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญ สังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับศาลทหาร ระบุว่าสถิติพลเรือนที่ได้รับการพิจารณาคดียังศาลทหาร หลังรัฐประหารจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารทั่วประเทศมากถึง 1,629 คน จาก 1,408 คดี

การประกาศให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการฝ่าฝืนต่ออำนาจของ คสช. ต้องอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหาร ทั้งผู้พิจารณาส่งฟ้องคดีต่อศาลทหาร ยังเป็นอัยการทหารที่เป็นหน่วยงานภายใต้ระบบบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นฝ่ายทหารเช่นกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to a Fair Trial) ตามข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อย่างร้ายแรง เนื่องจากโครงสร้างศาลทหารที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นองค์กรที่ขาดความอิสระและเป็นกลาง เพราะตามกฎหมายศาลทหารเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพและกระทรวงกลาโหม ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย บังคับบัญชาหรือสั่งการและให้คุณให้โทษแก่ตุลาการศาลทหารที่เป็นข้าราชการทหารดังนั้น การพิจารณาคดีและทำคำพิพากษาของตุลาการศาลทหารจึงมีแนวโน้มจะตกอยู่ภายใต้ระบบการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหารได้

ในแง่ความเป็นกลางของตุลาการ เนื่องจากคู่ความที่ต้องขึ้นศาลทหารมีสถานะเป็นคู่กรณีโดยตรงกับ คสช. (ซึ่งเป็นคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพ) ดังนั้น การที่ต้องได้รับการพิจารณาคดีจากตุลาการศาลทหาร (ซึ่งเป็นข้าราชการทหารที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการเหล่าทัพ) ย่อมมีคำถามถึงความเป็นกลางของตุลาการในการพิจารณาคดีของคู่ความอีกฝ่ายได้

นอกจากนั้น การดำเนินคดีของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ (คดีที่เกิดในช่วงระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก) คดีเหล่านี้ไม่สามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์-ฎีกาได้ และศาลทหารยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยอีกหลายประการ อาทิเช่น การพิจารณาคดีที่ล่าช้า โดยศาลทหารจะกำหนดนัดพิจารณาสืบพยานทีละนัด นัดละหนึ่งวันและเฉพาะครึ่งเช้า แต่ละนัดห่างกันสองถึงสามเดือน หากแล้วเสร็จจึงจะกำหนดนัดพิจารณาในครั้งต่อไป หรือกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ ที่แตกต่างจากศาลยุติธรรม ทั้งการไม่เบิกตัวจำเลยมาศาลเมื่ออัยการยื่นฟ้อง ไม่แจ้งให้ทนายความทราบล่วงหน้าในการส่งหมายนัดสอบคำให้การ หรือการไม่อนุญาตให้คัดถ่ายพยานหลักฐานในคดี เป็นต้น

ขั้นที่ 4 จัดตั้งเรือนจำขังพลเรือนในพื้นที่ค่ายทหาร มทบ.11

“เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาความปลอดภัยและความเหมาะสมในการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภทมีเหตุพิเศษที่ไม่ควรจะรวมคุมขังอยู่กับผู้ต้องขังอื่น จึงสมควรกำหนดสถานที่คุมขังไว้สำหรับผู้ต้องขังประเภทดังกล่าว” คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราว ลงวันที่ 8 กันยายน 2558

ข้อความข้างต้นเป็นเหตุผลที่ใช้จัดตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีในพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ 11 บนถนนพระราม 5 กรุงเทพฯ โดยพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและสมาชิก คสช. เป็นผู้ลงนามในคำสั่ง ถึงแม้เรือนจำแห่งนี้จะอยู่ภายใต้สังกัดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำสั่งฉบับนี้ แต่เนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่ภายในค่ายทหาร นอกจากผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงต่าง ๆ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์แล้ว ยังต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็น “ผู้คุมพิเศษ” อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิในการที่จะรับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความเป็นการส่วนตัว และทำให้เรือนจำแห่งนี้กลายไปเป็นส่วนต่อขยายของการควบคุมตัวพลเรือนโดยเจ้าหน้าที่ทหาร

การตั้งเรือนจำในพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ยาวนานกว่า 7 วัน อีกทั้งการที่รัฐใช้เรือนจำดังกล่าวเป็นสถานที่ควบคุมพลเรือนต้องถือว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ อันเป็นการขัดต่อข้อ 9 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR) เนื่องจากเป็นควบคุมตัวที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศซึ่งตามหลักการสหประชาชาติว่าด้วยการกำกับดูแลการบริหารงานยุติธรรมโดยผ่านศาลทหาร (Principles Governing the Administration of Justice through Military Tribunals) ได้วางหลักเกณฑ์ในห้ามคุมขังพลเรือนที่ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ทหาร

จากข้อมูลของทนายความที่ติดตามลูกความที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำชั่วคราวดังกล่าว ในระหว่างการปรึกษาและสอบถามข้อมูลทางคดีจากผู้ถูกควบคุมตัว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการว่าความและการแก้ต่างในชั้นศาล จะต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมรับฟังทุกครั้ง ซึ่งคำถามต่าง ๆ ที่ทนายความจะใช้ถามลูกความ ต้องถูกกลั่นกรองโดยเจ้าหน้าที่ทหารก่อน หากเจ้าหน้าที่ทหารเห็นว่าเป็นคำถามที่กระทบต่อ “ความมั่นคง” ก็จะไม่อนุญาตให้ทนายความถามคำถามดังกล่าว ซึ่งต่างจากเรือนจำราชทัณฑ์ปกติ ที่จะมีการจัดห้องให้ผู้ถูกควบคุมตัวและทนายความได้ปรึกษากันเป็นส่วนตัว โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาร่วมรับฟังและคัดกรองคำถามเช่นนี้

นอกจากนี้ ผู้ต้องหาสองในสามรายที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างกรณี ‘หมอหยอง’ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ และพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ซึ่งถูกนำตัวมาขังที่เรือนจำดังกล่าว ได้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยไม่มีบุคคลใดสามารถเข้าไปตรวจสอบ และญาติทั้งสองรายไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งส่งผลต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียชีวิต อันเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามข้อ 14 ICCPR ต่อมา ยังปรากฏว่านายชูชาติ กันภัย ทนายความของอาเดม คาราดัก ผู้ต้องขังในคดีระเบิดราชประสงค์ ได้เผยว่าลูกความของตนถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำแห่งนี้อีกด้วย

จากสี่ลำดับขั้นดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า คสช. และฝ่ายทหารองค์กรเดียวเป็นทั้งผู้บัญญัติกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย ร่วมกระบวนการสอบสวน พิจารณาส่งฟ้องคดี และพิพากษาตัดสินคดี ทำให้เกิดสภาพกระบวนการทางกฎหมายและระบบยุติธรรมที่ทหารมีอำนาจในการชี้นำ รวมถึงควบคุมผลลัพธ์ต่าง ๆ ได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้การเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และการแสวงหาความเป็นธรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยในกระบวนการเช่นนี้ ย่อมเป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งกระบวนการเหล่านี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ต่อผู้ที่แม้ไม่ถูกดำเนินคดี แต่มีความคิดเคลื่อนไหวคัดค้าน คสช. ให้เกิดหวาดกลัว จนไม่กล้าแสดงออกในที่สุด

3. การใช้กฎหมายปกติเป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมือง

คู่ขนานไปกับการใช้ประกาศ-คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งออกโดยคณะรัฐประหารเองแล้ว คสช. ยังมีการนำกฎหมายปกติที่มีอยู่เดิม มาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองในมิติต่างๆ โดยมีทั้งการตีความขยายความตัวบทกฎหมายที่มีอยู่เดิม การเพิ่มอัตราโทษ การนำคดีเหล่านี้ขึ้นสู่การพิจารณาคดีโดยศาลทหารหรือการใช้การกล่าวหาทางกฎหมายเพื่อข่มขู่คุกคามทางการเมือง

3.1 การใช้มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก

“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

แม้ว่าตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 จะมีแนวโน้มของการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งการตีความกฎหมายขยายความมาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 การใช้กฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือปราบปรามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ยกระดับขึ้นไปอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยการปราบปรามผู้แสดงออกเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ถือว่าเป็นนโยบายหลักของ คสช. ตั้งแต่แรกเริ่ม ดังที่รัฐบาล คสช. โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ว่า

“สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยตามประเพณีการปกครองของไทย รัฐบาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งยวดในอันที่จะ เชิดชูสถาบันนี้ไว้ด้วยความจงรักภักดีและปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพ โดยจะใช้มาตรการ ทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และมาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการด้านเนินการกับผู้คะนองปาก ย่ามใจหรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ โดยไม่ค้านึงถึงความรู้สำนึกและความผูกพันภักดีของคนอีกเป็นจำนวนมาก”

การให้ความสำคัญดังกล่าวยังปรากฏจากกรณีที่ คสช. มีคำสั่งเรียกรายงานตัวประชาชน นักกิจกรรมหลายรายที่มีประวัติเคยเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 หรือมีประวัติในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ให้ความผิดตามมาตรา 112 อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร

จากข้อมูลคดีในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความฯ พบว่ามีประชาชนถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ต่อศาลทหารอย่างน้อย 18 คดี จากทั้งหมด 29 คดีหลังรัฐประหาร โดยมีคดีที่ศาลทหารได้มีคำพิพากษาแล้ว 9 คดี ซึ่งคดีทั้งหมดเป็นคดีที่จำเลยซึ่งไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวและไม่ประสงค์ต่อสู้คดีในศาลทหาร จึงให้การรับสารภาพ โดยพฤติกรรมซึ่งนำไปสู่การถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้แก่ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ถูกอัดเสียงบทสนทนา จัดรายการวิเคราะห์การเมืองเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต อัพโหลดคลิปในสื่อออนไลน์ ส่งอีเมล์ซึ่งเนื้อหาถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายความผิด การส่งข้อความในกล่องแชทส่วนตัว หรือแต่งบทกวี เป็นต้น

หลังรัฐประหารยังมีการตีความตัวบทมาตรา 112 ขยายความออกไป ทั้งกรณีการดำเนินคดีกับการโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง, การแอบอ้างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งไม่ได้เป็นบุคคลตามองค์ประกอบของมาตรา 112 หรือการดำเนินคดีต่อการกดไลค์โพสต์ที่มีข้อความเข้าข่ายมาตรา 112, การไม่ห้ามปราม หรือตำหนิผู้แสดงความเห็นเข้าข่ายมาตรา 112 รวมทั้งการขยายตัวของการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจำนวนมาก ทั้งที่มาตรานี้ไม่ได้มีองค์ประกอบความผิดในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

ศาลทหารยังมีแนวโน้มที่จะพิพากษาลงโทษในคดีประเภทนี้สูงขึ้นไปกว่าศาลยุติธรรม ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุกในอัตราเฉลี่ยกรรมละ 8-10 ปี ในขณะที่ก่อนหน้านี้ ศาลยุติธรรมจะพิพากษาจำคุกในอัตราเฉลี่ยกรรมละ 5 ปี การยกระดับของอัตราโทษนี้ ทำให้เกิดคดีที่ลงโทษจำคุกสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น คดีพงษ์ศักดิ์ลงโทษจำคุกจำเลยสูงถึง 60 ปี และคดีของศศิวิมลซึ่งลงโทษจำคุก 56 ปี

3.2 การนำข้อหา “ความมั่นคง” มาใช้ดำเนินการต่อผู้แสดงออกคัดค้าน คสช.

ก่อนหน้าการรัฐประหาร มาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น”ยังเป็นมาตราที่ถูกบังคับใช้ค่อนข้างน้อย แต่หลังรัฐประหารครั้งนี้ กฎหมายมาตรานี้กลับกลายเป็นเครื่องมือหลักอย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ในการดำเนินคดีเพื่อปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. โดยมีการตีความขยายให้การแสดงออกต่อสาธารณะให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือการเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาลโดยสันติ กลายเป็นการปลุกปั่นยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนไปด้วย ทำให้เกิดลักษณะของการใช้กฎหมายโดยตีความให้ “รัฐบาล” ไปเท่ากับ “รัฐ” ทั้งที่ทั้งสองประการนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ปัจจุบันมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวจำนวนไม่น้อยกว่า 39 คน ตัวอย่างเช่น นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี, คดีถ่ายภาพคู่กับขันน้ำสีแดง หรือคดีของนายปรีชา แก้วบ้านแพ้ว ซึ่งนำดอกไม้มามอบให้นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และให้การรับสารภาพ ศาลทหารลงโทษตามมาตรา 116 จำคุก 6 เดือน ปรับ 8 พันบาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในรอบสองปีที่ผ่านมามีความพยายามใช้มาตรา 116 ในคดีซึ่งเมื่อพิจารณาการกระทำและองค์ประกอบความผิดแล้ว ไม่เข้าความผิด แต่กลับถูกฟ้องในข้อหาดังกล่าวเพื่อนำคดีมาสู่ศาลทหาร เช่น กรณีของรินดาซึ่งโพสต์ข้อความเรื่องการโอนเงินของพลเอกประยุทธ์ และกรณีของ “นางแจ่ม” ซึ่งโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการทุจริตของอุทยานราชภักดิ์ โดยล่าสุดศาลทหารมีความเห็นว่าคดีดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารและให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม

3.3 การใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการชุมนุมอย่างกว้างขวาง

ภายหลังการประกาศกฎอัยการศึก คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5คนขึ้นไป โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท จากนั้นเมื่อมีการยกเลิกกฎอัยการศึก ได้มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แทน โดยข้อ 12 ได้จำกัดการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผู้ฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังมีการผ่านพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ทำให้ในปัจจุบันมีกฎหมายจำนวนสองฉบับที่เข้ามาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมสาธารณะ

คำสั่งหัวหน้า คสช. และกฎหมายที่ผ่านโดยสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดังกล่าว ถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ทับซ้อนกัน และความหมายของ “การชุมนุมทางการเมือง” หรือ “การชุมนุมสาธารณะ” ถูกตีความขยายความอย่างกว้างขวาง อาทิเช่น กิจกรรมอย่างการจัดแถลงข่าวให้ความเห็นทางวิชาการในสถานที่ของเอกชนกลับเข้าข่ายความผิดดังกล่าวอย่างในกรณีนักวิชาการแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร รวมถึงกฎหมายสองฉบับยังถูกนำมาใช้ในการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการงดจัดกิจกรรมสาธารณะหรือการชุมนุมที่มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือกระทบต่อ “ความมั่นคง” ทั้งยังมีการกำหนดให้การจัดงานเสวนาสาธารณะต่าง ๆ ต้องแจ้งขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารก่อนอีกด้วย

จนถึงปัจจุบันมีการแทรกแซงหรือปิดกั้นไม่ให้มีงานเสวนาหรือกิจกรรมสาธารณะเกิดขึ้นจำนวนอย่างน้อย 130 งาน และมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน เป็นจำนวนอย่างน้อย 85 คนโดยในจำนวนดังกล่าวมีบุคคลอย่างน้อย 26 ราย จาก 7 คดีถูกดำเนินคดีจากการฝ่าฝืนข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ได้แก่ คดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ (22 พ.ค.58) คดีชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (25 มิ.ย. 58) คดีแถลงการณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ (7 ธ.ค.58)

3.4 การใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ภายหลังรัฐประหาร กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมยังถูกใช้เครื่องมือของรัฐในการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แสดงความคิดเห็น และรณรงค์เกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเกี่ยวกับการบริหารประเทศในช่วงการปกครองของ คสช. เจ้าหน้าที่รัฐหน่วยต่าง ๆ ได้ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการคุกคามข่มขู่ (Judicial harassment) ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายกรณี อาทิเช่น กรณีของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความของ 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่และข้อหาซ่อนเร้นพยานหลักฐานจากการปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นรถเพื่อค้นหาโทรศัพท์มือถือของ 14 นักศึกษา เนื่องจากตำรวจไม่มีหมายค้น

ในกรณีของนางสาวเบญจรัตน์ มีเทียน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความในข้อหาแจ้งความเท็จ จากกรณีที่เบญจรัตน์ แจ้งความให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง คณะทำงานกฎหมาย คสช. และพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน “หมิ่นเบื้องสูง” พร้อมคณะ โดยกล่าวหาว่ากระทำผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และแจ้งความเท็จ จากกรณีที่มีการแถลงจับผู้ต้องหาเครือข่ายขอนแก่นโมเดล

4. รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557: กฎหมายสูงสุดที่รับรองการใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดให้กับกระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร

ภายหลังรัฐประหารเพียง 2 เดือน คสช. ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ขึ้นแทนรัฐธรรมนูญเดิมที่ถูกยกเลิกไป โดยปรากฏว่าในรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้มีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ บทบัญญัติดังกล่าวได้เป็นช่องทางหนึ่งให้ประชาชนสามารถอาศัยพื้นที่สิทธิเสรีภาพที่ได้การรับรองตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว เข้ามาโต้แย้งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารและ คสช.

เนื่องจากการใช้อำนาจตามคำสั่งหรือประกาศ คสช. ของเจ้าหน้าที่และตัวกฎหมายที่ประกาศโดย คสช. มักจะพบปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายกรณี และประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่างโต้แย้งการใช้อำนาจดังกล่าวผ่านสองช่องทางสำคัญ ได้แก่ (1) อาศัยอำนาจศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมในการเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจโดยเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งหรือประกาศ คสช. และ (2) อาศัยอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหรือประกาศ คสช. ซึ่งถือว่าเป็นกลไกในระบบกฎหมายปกติที่ประชาชนจะสามารถใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐได้

อย่างไรก็ตาม แม้ในด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกำหนดรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่อีกด้าน รัฐธรรมนูญดังกล่าวก็กลายเป็นเครื่องมือของ คสช. ที่ใช้ในการรับรองการใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดให้กับกระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหารทั้งระบบ ซึ่งมีผลทำให้บรรดาสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับรองไว้ทั้งหมดไม่สามารถใช้บังคับได้ เพราะการใช้อำนาจของ คสช. ไม่สามารถถูกโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายโดยองค์กรของรัฐอื่น ๆ ได้

สำหรับวิธีการที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้รับรองการใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดให้กับกระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหารทั้งระบบ มีวิธีการสำคัญอยู่ 2 ขั้นตอน กล่าวคือ

ขั้นที่ 1 การใช้อำนาจซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อาศัยฐานอำนาจจากคำสั่ง ประกาศ คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. นั้น มาตรา 44 และมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดให้ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดเสมอ ซึ่งเป็นผลให้ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมไม่สามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐได้เลย ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าการใช้อำนาจดังกล่าวจะมีเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการก็ตาม

กรณีตัวอย่างดังกล่าว เช่น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 617/2558 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 เป็นกรณีที่ศาลได้พิพากษายืนยันหลักการไม่ต้องรับผิดของ คสช. โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกฟ้องกรณีที่นายวัฒนา เมืองสุข ฟ้องหัวหน้า คสช. เพื่อขอเพิกถอนประกาศ คสช.ฉบับที่ 21/2557 เรื่อง ห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าศาลมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 47 ได้รับรองให้ประกาศ คสช. ดังกล่าวที่ได้ประกาศในระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง ให้ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ศาลจึงไม่อาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของประกาศดังกล่าวได้ อำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายตุลาการต่อฝ่ายบริหาร ในระบบแบ่งแยกอำนาจการปกครอง จึงแทบไม่มีความหมายใด ๆ ภายใต้ระบอบรัฐประหาร

ขั้นที่ 2 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังสร้างกลไกในการปิดกั้นการใช้สิทธิของประชาชน ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหรือประกาศ คสช. อยู่สองระดับ ได้แก่

ระดับแรก รัฐธรรมนูญฉบับนี้จำกัดให้องค์กรที่จะยื่นเรื่องตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหรือประกาศ คสช. ที่บังคับใช้ในคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้เฉพาะที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น โดยไม่เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องได้โดยตรง รวมถึงหากเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีช่องทางที่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ตัวอย่างเช่น คำสั่งศาลทหารกรุงเทพที่ 6/2558 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2558 เป็นกรณีที่นางสาวจิตรา คชเดช ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารกรุงเทพ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลทหารยกคำร้องดังกล่าว โดยระบุว่ารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 5 มิได้กำหนดช่องทางให้ศาลทหารสามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้

ระดับที่สอง ถึงแม้ว่าประชาชนจะสามารถหาช่องทางที่มีอยู่อย่างจำกัดตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จนสามารถยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญคำสั่งหรือประกาศ คสช. แต่ในขั้นสุดท้าย มาตรา 44 และมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ได้เข้ามารับรองคำสั่งหรือประกาศ คสช.ที่ไม่ว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุดเสมอ เป็นผลให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาคำสั่งหรือประกาศ คสช. ได้เลย แม้ว่าในทางความเป็นจริงแล้วคำสั่งหรือประกาศดังกล่าวจะมีเนื้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไรก็ตาม

ท้ายสุด รัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. ได้ทำลายระบบนิติรัฐและการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน กล่าวคือ นอกจาก คสช. จะใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมารับรองให้บรรดาคำสั่งหรือประกาศ และคำสั่งหัวหน้า คสช. นั้น “ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด” ตามมาตรา 44 และ 47 แล้ว คสช. ยังให้การกระทำทั้งหลายของตนและพวก ไม่ว่าทางบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ แม้จะผิดกฎหมายซึ่งรวมถึงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง “พ้นจากความรับผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง” ตามมาตรา 48 รัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกด้วย ดังนั้น มาตราทั้งสามในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทำให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เหนือความรับผิดและลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง อีกทั้งเป็นการรองรับการใช้อำนาจโดยอำเภอใจปราศจากความรับผิดให้กับกระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหารทั้งระบบ ก่อให้เกิดสภาวะสุญญากาศที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนแม้จะถูกบัญญัติไว้ในตัวบทของรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่มีผลใด ๆ ในทางปฏิบัติภายใต้การปกครองของระบอบรัฐประหาร

บทสรุป

ข้อกล่าวอ้างของ คสช. ว่ากระทำการต่าง ๆ ในนามของ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจตามอำเภอใจของ คสช. ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ของรัฐที่บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดทางอาญา และสอดคล้องกับหลักการปกครองโดยกฎหมายหรือนิติรัฐ แต่เมื่อพิจารณาลงไปในเนื้อหา กลับพบว่าระบบกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการบัญญัติโดยคณะรัฐประหารเอง กฎหมายปกติที่มีอยู่เดิมก็ถูกตีความขยายความอย่างกว้างขวางเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินไปภายใต้การชี้นำโดยทหาร กลไกการข่มขู่คุกคามผ่านการเรียกบุคคลมารายงานตัวบุคคล และการจับตาสอดส่องโดยรัฐต่อพลเมือง ก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทั้งหมดเป็นฐานให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในมิติต่าง ๆ อย่างตั้งใจและเป็นระบบ

ภายใต้ระบบการใช้อำนาจดังกล่าว รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังถูกนำมาใช้รองรับความชอบด้วยกฎหมายให้กับกระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร และทำให้ทั้งกระบวนการหลุดพ้นจากการตรวจสอบ ก่อให้เกิดวงจรการใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จ ปราศจากความรับผิด ภายใต้ข้ออ้างของ “การดำเนินการตามกฎหมาย” กล่าวอย่างถึงที่สุด นับเป็นเวลาสองปีเศษแล้ว ที่สังคมไทยได้ปล่อยให้คณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีฐานที่มาที่มิได้ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน เข้ามาใช้อำนาจรัฐทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อการใช้อำนาจหรือผลที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจดังกล่าวในอนาคต

ในโอกาสครบรอบ 84 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของปวงชนเป็นหลักการที่สำคัญภายใต้ระบอบใหม่นี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอยืนยันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

1.  ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

2.  ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

3.  คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว จัดให้มีการเลือกตั้ง และมีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน

ดาวน์โหลดไฟล์ฉบับเต็มที่: บทวิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร: “พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม”