วันอังคาร, พฤษภาคม 31, 2559

คำเดียวกันแต่คนละความหมาย อารยธรรม ไม่ได้แปลว่า Civilization และ ปฏิรูป ก็ไม่ได้แปลว่า Reform





ครับ อารยธรรม ไม่ได้แปลว่า Civilization และ ปฏิรูป ก็ไม่ได้แปลว่า Reform

อีหรีตไทยเรา ยืมคำฝร้งเหล่านั้น
มาใช้ เหมีอนๆ กับซื้อนาฬิกายี่ห้อแบรนด์เนมแพงๆ
มาใส่ โดยไม่สนใจเรื่องตรงเวลา มาสาย ผิดนัด ครับ

(อจ.นศ.ของผม ที่ท่าพระจันทร์ เป็นกันเยอะ)


Charnvit Kasetsiri shared matichononline's photo.


ooo


อารยธรรมกับ civilization โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์





มติชนออนไลน์
30 พ.ค. 59

หลังคำให้สัมภาษณ์ของเอกอัครราชทูตสหรัฐที่กระทรวงการต่างประเทศแพร่ออกไป ผู้ดีไทย (และ/หรือคนที่อยากถูกนับเป็นผู้ดีไทย) ต่างพากันออกมาประณามสหรัฐด้วยแนวคิด “อารยธรรม” โดยนัยยะก็คืออเมริกันเป็นชนชาติที่ไม่มีอารยธรรม ในขณะที่ไทยมีอารยธรรมสูง

ผู้ดีไทยเหล่านี้อาจลืมไปว่า ภาษาไทยไม่มีคำนี้ใช้มาก่อน อารยธรรมเป็นศัพท์บัญญัติสมัยหลัง-หลังจากมีสหรัฐอเมริกาไปแล้วเกือบศตวรรษครึ่ง-เพื่อให้ตรงกับคำฝรั่งว่า civilization (ในภาษาอังกฤษที่สะกดแบบอเมริกัน แต่ภาษายุโรปตะวันตกทั้งหมดที่ผมสามารถค้นได้ ก็ใช้คำที่มีรากจากละตินเดียวกันนี้เพื่อหมายถึงสิ่งเดียวกัน) ในระยะแรกที่ต้องใช้คำนี้ตั้งแต่ ร.4 เป็นต้นมา ท่านสร้างคำขึ้นทับศัพท์ เช่น ศรีวิไล, ศิวิไล เป็นต้น

แม้ไม่มีคำ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยก่อนหน้านั้นไม่มีแนวคิดที่แยกสังคมที่ยังไม่เจริญออกจากสังคมที่เจริญแล้ว เกณฑ์ที่ใช้แยกสังคมสองอย่างนี้ออกจากกันมีหลายเกณฑ์ บางครั้งก็ใช้ศาสนา ระหว่างสังคมสัมมาทิฐิกับสังคมมิจฉาทิฐิ พูดอีกอย่างหนึ่งคือสังคมของชาวพุทธ (เถรวาทสำนักลังกา) กับสังคมที่ไม่นับถือพุทธศาสนา บางครั้งก็ใช้เกณฑ์ “ป่า” กับ “เมือง” อันนี้น่าสนใจ เพราะใกล้กับรากความคิดของคำ civilization มาก แต่เมื่อขยายความแล้วก็อาจต่างจากฝรั่ง ผมสงสัยว่าในความคิดของไทย ออกจะเน้น “เมือง” ไปที่พระราชอำนาจ “เมือง” คือที่ซึ่งพระราชอำนาจแผ่ไปถึง โดยความเป็นจริงหรือโดยสัญลักษณ์ก็ตาม ในขณะที่ “บ้านป่าเมืองเถื่อน” คือที่ซึ่งพระราชอำนาจแผ่ไปไม่ถึง ในขณะที่นัยยะของคำ civilization มีมากกว่าอำนาจทางการเมือง

แต่ตลอดประวัติศาสตร์ไทย ผู้ดีไทย (และอาจจะคนไทยด้วย) ต้องเผชิญกับความขัดแย้งในความคิดเกี่ยวกับความเจริญและไม่เจริญตลอด เพราะไทยต้องสัมพันธ์กับชนชาติอื่นอีกมาก นับตั้งแต่จีน, อิหร่าน, อาหรับ, ฝรั่งชาติต่างๆ ซึ่งเราต้องยอมรับเอาบางอย่างในวัฒนธรรมของเขามาใช้ นับตั้งแต่ตัวอักษรไปจนถึงเครื่องทรงกษัตริย์ ป้อมค่ายที่สร้างด้วยอิฐปูน อาคาร หรือใช้คำในภาษาของเขาเรียกสิ่งที่ไม่เคยมีในภาษาของเรามาก่อน ฯลฯ ทั้งที่ชนชาติอื่นเหล่านั้นล้วนเป็น “มิจฉาทิฐิ” และอยู่นอกพระราชอำนาจ จนบางครั้งต้องอาศัยความช่วยเหลือของพวกเขาเพื่อให้พระราชอำนาจในดินแดนห่างไกลอาจดำรงอยู่ได้ (เช่นบริษัท VOC ของวิลันดา เป็นต้น)

ผู้ดีไทยแก้ความขัดแย้งทางความคิดของตนโดยการแบ่งความเจริญออกเป็นสองอย่าง คือความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจ หากดูจากจิตรกรรมลายรดน้ำบนตู้พระธรรม และจิตรกรรมฝาผนัง จากปลายอยุธยามาจนต้นรัตนโกสินทร์ ฝรั่งและ “แขก” อิหร่านและอาหรับ ล้วนถูกจัดให้เป็นพลพรรคของกองทัพมารซึ่งยกมารังควานเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนจะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตุ๊กตาทหารจีนและทหารซีป่ายถูกนำมาเฝ้าโบสถ์วิหารแทน “ยักษ์”

ความเจริญทางวัตถุ v.s. ความเจริญทางจิตใจ เป็นทางแก้ (resolution) ของความขัดแย้งในใจ ที่ผู้ดีไทยใช้ตั้งแต่ (อย่างน้อย) ปลายอยุธยา สืบมาจนทุกวันนี้ ดังจะเห็นจากที่ผู้ดีไทยรุ่นใหม่ลำเลิกเรื่องอารยธรรมมาใช้กับสหรัฐในครั้งนี้ นัยยะของคำว่าอารยธรรมซึ่งไทยมีแต่สหรัฐไม่มีในที่นี้ ก็คือความเจริญทางจิตใจ แม้ว่าสหรัฐจะมีไอโฟน, แอปเปิลคอมพิวเตอร์, เบอร์เกอร์คิง, สตาร์บัคส์, เครื่องบินเหนือเสียง, จรวดส่งดาวเทียมไปนอกโลก หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำหน้า แต่ก็ไม่มี “อารยธรรม”

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ดีไทยเชื่อว่าความเจริญสองอย่างนี้ไม่มีผลต่อกันและกัน ความเจริญทางวัตถุไม่มีผลต่อความเจริญทางจิตใจ และความเจริญทางจิตใจไม่มีผลต่อความเจริญทางวัตถุ ดังนั้นการที่ประเทศตะวันตกสามารถดูแลสวัสดิการแก่พลเมืองได้หลายด้าน รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย จึงเกิดขึ้นได้เพราะเขารวย (วัตถุ+วัตถุ=วัตถุ) การที่พลเมืองของประเทศตะวันตกสามารถรับการศึกษาสูงๆ จึงไม่มีผลต่อความเจริญทางจิตใจของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเปิดประเทศเพื่อการค้าเสรีของตะวันตกใน ร.4 ทางแก้ความขัดแย้งในใจที่แบ่งความเจริญออกเป็นสองอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ทางแก้สำเร็จรูปอย่างง่ายๆ อีกต่อไป เพราะความเป็นจริงที่ปรากฏแก่ผู้ดีไทยนั้นชัดเจนเกินกว่าที่จะใช้ทางออกเดิมได้โดยสะดวก เพื่อบรรลุความเจริญทางวัตถุ จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างที่เฉียดกรายไปทางความเจริญทางจิตใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ร.4 โปรดให้ฝรั่งสอนหนังสือแก่พระราชโอรส แต่ก็ห้ามแหม่มแอนนามิให้สอนเรื่องคริสต์ศาสนาเป็นอันขาด ร.5 ส่งพระราชโอรสไปศึกษาในเมืองฝรั่ง แต่โปรดให้ขุนนางที่ไว้วางใจไปควบคุมและสอน “อารยธรรม” ไทยไปพร้อมกัน มาตรฐานของความเป็น “ผู้ดี” นับตั้งแต่ ร.5 ลงมา ลอกเลียนดัดแปลงกิริยามารยาทตะวันตกไม่น้อย นับตั้งแต่มารยาทบนโต๊ะอาหาร ไปจนถึงมารยาทในที่สาธารณะ

เมื่อ ร.4 อธิบายแก่ฝรั่งว่า คนไทยนั้นเป็น “กึ่งอารยะ” (semi-civilised) แต่เขมรเป็นคนป่าเถื่อน (barbarian) ครึ่งที่เหลือของ “อารยธรรม” ที่คนไทยไม่มีนั้นคืออะไร?

หากคิดว่าคือความเจริญทางวัตถุที่คนไทยยังมีไม่เท่าตะวันตก ความเจริญทางวัตถุของเขมรก็ไม่ได้น้อยไปกว่าไทย เขาจะเป็นคนป่าเถื่อนโดยคนไทยไม่ได้เป็นได้อย่างไร หากหมายถึงวิทยาการความรู้แบบตะวันตก ซึ่งไทยพอมีอยู่บ้าง และ (สมมุติว่า) เขมรไม่มีเลย วิทยาการความรู้เป็นความเจริญทางวัตถุหรือจิตใจกันแน่ สถานการณ์ที่สับสนเช่นนี้ บังคับให้ผู้ดีไทยต้องนิยามความเจริญทางวัตถุและจิตใจกันใหม่ และเท่าที่ผมเข้าใจ ผู้ดีไทยปล่อยให้ความหมายกำกวมเมื่อต้องสัมพันธ์กับอำนาจภายนอก เราจึงสามารถเอากฎหมายตะวันตกเป็นฐานในการร่างกฎหมายไทย รวมทั้งจ้างชาวตะวันตกมาช่วยร่างกฎหมายได้ กฎหมายเป็นความเจริญทางวัตถุหรือจิตใจ ไม่ต้องนิยาม

แต่ในความสัมพันธ์ภายในกับคนไทยด้วยกันเอง ผมคิดว่ามีการนิยามที่ชัดเจนมากขึ้น นับตั้งแต่สถาปนาพระพุทธศาสนาแบบทางการขึ้น เป็นมาตรฐานของความเจริญทางจิตใจ ยืนยัน, ปรับปรุง และขยายพิธีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ขึ้นในสังคม มีความเจริญทางจิตใจหลายอย่างในลัทธิพิธีนี้ นับตั้งแต่ความจงรักภักดี, ความรู้ที่ต่ำที่สูง, ความซื่อสัตย์สุจริตต่อพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

ใน พ.ศ.2427 ร.5 ส่งพระเจ้าน้องยาเธอไปสหรัฐ เพื่อเจรจาทำหนังสือสัญญาบางเรื่อง พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตหนึ่งในคณะทูตได้เขียนรายงานเรื่องนี้ และหนึ่งในข้อสังเกตเกี่ยวกับอเมริกาซึ่งรายงานถวายพระเจ้าอยู่หัว เพื่อตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จสหรัฐหรือไม่ ก็คือสภาพสังคมสหรัฐที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง คนทุกชั้นสามารถนั่งเบียดเสียดกันในพาหนะสาธารณะชนิดต่างๆ ได้ รวมทั้งคนดำ (ซึ่งน่ารังเกียจแก่ผู้รายงาน) ในความเห็นของผู้เขียน จึงนับว่าถูกต้องแล้วที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เสด็จฯไปสหรัฐ เพราะจะอึดอัดพระทัยในสังคมอเมริกันอย่างยิ่ง

หนึ่งในนิยามที่ชัดเจนของความเจริญทางจิตใจที่ผู้ดีไทยให้แก่คนภายในก็คือ ความรู้จักที่ต่ำที่สูง พูดอีกอย่างหนึ่ง ความเจริญทางจิตใจหรืออารยธรรมแบบไทยก็คือสังคมที่มีช่วงชั้น

นี่อาจเป็นแก่นกลางของความหมายอารยธรรมที่คนไทยเข้าใจสืบมาจนทุกวันนี้ เห็นได้จากความหมายระหว่างบรรทัดที่ผู้ดีไทยประณามความไม่มีอารยธรรมของอเมริกัน และการประท้วงของผู้ดีใหม่หน้าสถานทูตสหรัฐ

ดังนั้น เมื่อผู้ดีไทยพูดถึงอเมริกันว่าไม่มีอารยธรรม เขาจึงไม่ได้หมายถึง civilization ที่ฝรั่งเข้าใจ หากใครลองแปลคำกล่าวของผู้ดีไทยในเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วให้คนอเมริกันที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ในสหรัฐได้อ่าน เขาก็คงงงว่าผู้ดีไทยพูดอะไรของมันวะ

อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำ civilization ก็น่าสนใจ แม้ความหมายย่อมคลี่คลายไปจากเมื่อเริ่มใช้ในภาษาอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ความหมายตามแนวคิดเดิมก็ยังอยู่ และทำให้คนไทยไม่มีวัน civilized ไปได้ เช่นเดียวกับที่คนตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกันไม่มีวันมี “อารยธรรม” เช่นกัน

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า นัยยะที่แฝงอยู่ของคำว่า civilization คือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง อันแตกต่างจากที่เกิดในป่าหรือแม้แต่ในชนบท (civilis แปลว่าพลเมืองของเมือง) สิ่งดีๆ ที่เกิดในเมืองนั้น นอกจากความเจริญทางวัตถุต่างๆ แล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นนามธรรมรวมอยู่ด้วย

เมืองเป็นที่อยู่ของคนจำนวนมาก ไม่ใช่คนเป็นหัวๆ อย่างที่เรานับประชากรทุกวันนี้ แต่หมายถึงหลายตระกูล, หลายเผ่า, หลายองค์กร (เช่นระหว่างสมาคมการค้าที่แตกต่างกัน) ฯลฯ หน่วยเหล่านี้มีกฎเกณฑ์ประเพณีจัดความสัมพันธ์กันภายในอยู่แล้ว แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในเมือง ระเบียบกฎเกณฑ์จัดความสัมพันธ์ภายในไม่อาจนำไปใช้กับหน่วยอื่นกลุ่มอื่นได้ เพราะเขาไม่ได้ยอมรับ จึงจำเป็นต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์จัดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่แตกต่างหลากหลาย มิฉะนั้นก็จะเกิดความสงบเรียบร้อยในเมืองไปไม่ได้

ระเบียบกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือกฎหมาย, ระบอบปกครองซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนทุกกลุ่ม, วัฒนธรรมประเพณีที่เคารพสิทธิของกันและกัน และการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีนั้น ซึ่งอาจออกมาในรูปของดนตรี, ละคร, ภาพเขียน, ประติมากรรม ฯลฯ และ/หรือออกมาในรูปของการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในสถานศึกษาที่เป็นสาธารณะ และแน่นอนว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วย ซึ่งมักไม่เกิดในที่ใดนอกเมือง หรือเกิดได้ยากมาก

นี่เป็นสิ่งใหม่ที่มนุษย์ต้องสร้างขึ้นเมื่อเกิดเมือง เพราะเมืองเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เมื่อสร้าง civilization ขึ้นแล้ว ก็ทำให้มนุษย์มีความปลอดภัยและความสะดวกสบายมากขึ้น และในที่สุดก็อาจนำไปใช้นอกเมืองได้ด้วย

ในทุกวันนี้ เมื่อฝรั่งพูดว่าเขามาใช้ชีวิตในป่าดงพงพีที่ไกลจาก civilization สุดกู่ นอกจากจะหมายความว่าขาดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย เช่น แอร์, ส้วมที่นั่งถ่ายได้สบาย, เรือนที่ให้ความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย, ฯลฯ แล้ว ยังมีความหมายว่าไม่มีความมั่นคงปลอดภัยทางสังคมด้วย อาจถูกปล้นหรือถูกฆ่าได้ทุกเมื่อโดยไม่สามารถไปขอความคุ้มครองจากรัฐ นักเลงใหญ่ในท้องถิ่นอาจตั้งข้อหาว่าเขาเป็นโจร แล้วนำตัวไปลงโทษโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยอมรับได้

ผมเข้าใจว่าความหมายนี้ของ civilization นักปราชญ์ไทยแต่ก่อน (ซึ่งเป็นผู้ดีไทยด้วย) เข้าใจดี นายเมืองและนายเถื่อนในแบบเรียนเรื่องพลเมืองดีของเจ้าพระยาพระเสด็จฯ เมื่อยังเป็นพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ ก็น่าจะคิดขึ้นจาก civilization ในความหมายนี้ คำว่า civilization เคยถูกแปลในภาษาไทยว่านาครธรรม ไม่ใช่อารยธรรม

จากความหมายดั้งเดิมของ civilization ซึ่งยังแฝงอยู่ในคำนี้จนถึงปัจจุบัน จึงน่าจะหมายถึงคุณค่าอันเป็นสิ่งที่คน (ตะวันตก) ในโลกปัจจุบันยกย่องว่าอำนวยความมั่นคงทางสังคมแก่ชีวิตมนุษย์ นั่นได้แก่กฎหมายซึ่งผ่านการรับรองจากมหาชน, การใช้กฎหมายตามวิถีนิติธรรม, รัฐที่มีความยุติธรรม ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง, ความเสมอภาคของทุกคนภายใต้กฎหมาย, สิทธิของทุกคนในการป้องกันตนเองในกระบวนการยุติธรรม (รวมทั้งไม่ถูกบังคับให้กล่าวโทษตนเอง), สิทธิของพลเมืองที่จะมีความเห็นเป็นอิสระของแต่ละคน ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้แหละครับ รวมกันเป็นฐานของความหมายคำว่าcivilization

ฉะนั้นหากสรุปคำพูดของเอกอัครราชทูตสหรัฐให้ตรงเป๊ะก็คือ สหรัฐมีความวิตกห่วงใยต่อความไม่ civilized ของผู้ปกครองไทย แล้วผู้ดีไทยกับผู้ดีใหม่ก็ตะโกนตอบว่า มึงต่างหากไม่มีอารยธรรม ออกไปจากประเทศที่มีอารยธรรมแต่ไม่ civilized นี้เสีย แล้วเมื่อไรจะเถียงกันรู้เรื่องล่ะครับ