วันเสาร์, พฤษภาคม 07, 2559

จากวันแม่ในอเมริกาย้อนมาไทย




จากวันแม่ในอเมริกาย้อนมาไทย

อาทิตย์นี้ที่ ๘ พฤษภา ในอเมริกาเป็น ‘วันแม่’ แน่ละไม่เหมือนวันแม่ใน planet Thai แต่ไม่ต่างกับที่ไหนๆ ใน Western civilizations

ในแง่ของปัจเจกชน แม่ย่อมเป็นได้ “ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวานและขื่นขม” สำหรับใครก็ได้ในสังคม โดยไม่ต้องมองหาสัญญลักษณ์ใดเพื่อให้รำลึกความสำคัญโดยคนทั้งชาติ

แต่ในทางนามธรรมแห่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย ‘แม่’ ก็เป็นที่สุดแห่งความรักและเชิดชูของทุกผู้ที่มีตัวตนบนโลกจากการคลอด อุ้มบุญ เลี้ยงดู และอุ้มชู โดยสตรีคนหนึ่ง

ในแง่แห่งผู้ให้กำเนิดในทางชีวภาพนี้ ‘แม่’ ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างปราศจากความแปลกแยกทางการเมือง

ดังปรากฏในข้อเรียกร้องทาง change.org สำหรับผู้เป็นมารดาที่ต้องทำงานประจำเพื่อหารายได้ให้แก่ครอบครัว แล้วยังต้องเป็นภาระเลี้ยงและดูแลลูกเด็กเล็กแดงพร้อมไปด้วย





เป็นการเรียกร้องให้มีการ ‘จ่ายค่าแรงเต็ม’ สำหรับผู้เป็นมารดาในสหรัฐทั้งหมด ในช่วง ๑๐๐ วันแรกของการรับภาระ ‘แม่’ แทนที่จะเป็นเพียงสองอาทิตย์แรก ดังที่ระบุไว้ในกฎหมายปัจจุบัน

สองแม่ลูกอ่อนชาวอเมริกันต้องเผชิญโศกนาฏกรรมแห่งชิวิตอย่างเดียวกัน ต้องสูญเสียลูกน้อยทารกเกิดใหม่ได้เพียงอาทิตย์เดียว จากการนำไปฝากไว้กับสถานเลี้ยงเด็ก เพราะต่างก็ต้องกลับไปทำงาน โดยที่นายจ้างจะไม่จ่ายหากหยุดงานไปเลี้ยงลูก

แอมเบอร์กับอาลี ทั้งอยู่ห่างกันครึ่งค่อนประเทศ คนหนึ่งอยู่โอกลาโอม่า อีกคนบรุคลิน นิงยอร์ค ทั้งสองต่างกันทางจุดยืนการเมืองอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่ง conservative Republican อีกคน liberal Democrat

ทั้งคู่ร่วมกันทำ petition ข้อเรียกร้องผ่านทาง change.org ถึงผู้เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนี้ ๕ คน ได้แก่ Hillary Clinton, Ted Cruz, Bernie Sanders, Donald Trump และ John Kasich ขอให้รับคำร้องไปเป็นนโยบายปฏิบัติ ไม่ว่าใครจะมีหวังได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปลายปีนี้

ตามสภาพการณ์ทางการเมืองช่วงของการรณรงค์หาเสียงขั้นต้น หรือ Primary ในขณะนี้ ดูเหมือนจะมีความหวังอยู่ที่นางฮิลลารี่คนเดียว ไม่เพียงด้วยการที่เธอมีเพศแม่

แต่เนื่องจากทางพรรครีพับลิกันนายดอแนลด์ ทรั้มพ์ คะแนนนิยมนำคนอื่นๆ จนกลายเป็น ‘ว่าที่’ ตัวแทนพรรค หรือ presumptive candidate ไปแล้ว เมื่อนายเท็ด ครู้ซ และนายจอห์น คาซิค ได้ถอนตัวออกจากการแข่งขัน

ผู้ที่ติดตามการเมืองอเมริกันไม่ผิวเผินเกินไป (ไม่ว่าจะถือหางพรรคไหน) ย่อมตระหนักว่าท่าทีและจุดยืนของนายทรั้มพ์ ยากที่จะมีจิตอ่อนโยนต่อเรื่องสิทธิเสียงสตรีเท่านางฮิลลารี่หรือนักการเมืองที่เสนอตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนอื่นๆ

ทางพรรคเดโมแครทนั้น ทั้งนางฮิลลารี่และนายเบอร์นี่ต่างก็มีท่าทีและแนวนโยบายพร้อมที่จะรับคำร้องไปบรรจุเป็นนโยบายด้วยกันทั้งคู่ หากแต่คะแนนสะสมของนางฮิลลารี่นั้นทิ้งห่างนายเบอร์นี่มากเสียจน การยืนหยัดต่อไปให้ถึงการประชุมใหญ่พรรคของทีมหาเสียงฝ่ายแซนเดอร์ มุ่งหมายแต่เพียงเป็นอิทธิพลกดดันให้ค่ายฮิลลารี่นำเอาแนวนโยบายก้าวหน้าของเบอร์นี่ไปใช้

จากวันแม่อเมริกาย้อนมาไทย แม้จะไม่ใช่โอกาสวันแม่ในขณะนี้ แต่ในบรรยากาศที่ห่างเหินกลิ่นอายประชาธิปไตย ซึ่งเหือดหายไปด้วยอาการเหลิงอำนาจของคณะทหารที่ทำรัฐประหารช่วงชิงการปกครองมาเป็นเวลาสองปี ได้มีเหตุเอ่ยอิงถึงคุณูปการและพลังใจแห่งความเป็นแม่ของหญิงคนหนึ่ง ที่ชื่อของเธอกำลังเป็นที่กล่าวขาน จากการก้าวร้าวของคณะทหาร

โดยหญิงอีกคนที่ออกมาแสดงตนชื่นชมสดุดี ทั้งที่เธอเองเคยมีจุดยืนทางการเมืองปรากฏให้เห็นว่า ไม่น่าที่จะสนับสนุนได้โดยง่ายนัก ฤๅจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมปัจจุบันจากการกดขี่ของเผด็จการทหาร ทำให้การอ่อนน้อมคล้อยตามเป็นไปได้ยากเสียแล้ว

ทิชา ณ นคร นักสิทธิสตรีผู้ที่ในบริบททางการเมืองไทยเรื่องสีเสื้อ เธออาจแบ่งรับได้ว่าเป็นสีเหลือง แต่คงไม่แบ่งสู้อยู่ข้างสีแดงเด็ดขาด เรียกตัวเองว่าโบว์ เธอเขียนบนเฟชบุ๊คถึง ‘แม่จ่านิว’ โดยใช้นามผู้ถูกเอ่ยถึงอย่างสนิทสนมว่า ‘พี่หนึ่ง’

“เป็นผู้หญิงเข้มแข็งที่สุดที่เราเคยรู้จักมาในชีวิต พ่อของนิวล้มป่วยเสียชีวิตตอนนิวสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้พอดี นับแต่นั้นพี่หนึ่ง คุณแม่ลูกสี่ ก็เป็นเสาหลักของบ้าน เธอทำงานรับจ้างรายวัน ส่วนใหญ่จะเป็นงานบ้านทุกอย่าง ซักผ้ารีดผ้าและทำสวนได้ด้วย ที่ต้องทำงานแบบรายวัน ไม่ได้อยู่ประจำกับบ้านใดบ้านหนึ่ง เพราะเธอยังต้องกลับมาดูแลลูกๆที่บ้านและคุณยาย น้องสาวคนเล็กของนิวอายุเพียงเก้าขวบ”

“พี่หนึ่งไม่ใช่คอการเมือง ถ้าคุยเรื่องการเมืองด้วยพูดชื่อใครไปพี่หนึ่งไม่ค่อยรู้จัก พี่หนึ่งสอนลูกๆเสมอว่าถ้าใครมาชวนคุยชวนพูดไม่ดีเกี่ยวกับสถาบันอย่าไปคุยด้วยนะให้เดินหนีเลย...

เราขอวิงวอนให้ปล่อยแม่ที่ไม่ธรรมดาอย่างพี่หนึ่งกลับบ้านเถิด เธอไม่มีวันหนีไปไหน พวกท่านก็มีแม่ หลับตาก็เห็นหน้า เราต่างรู้ดีว่าแม่ไม่มีวันทิ้งลูก ปล่อยให้แม่หนึ่งได้ทำหน้าที่ของเธอ ขณะที่ท่านทำหน้าที่ของท่านต่อไปอย่างเที่ยงธรรม”

(http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php…)

นั่นเป็นคำวิงวอนต่อทหาร คสช. ในภาวการณ์ที่ ‘แม่จ่านิว’ น.ส. พัฒน์นรี หรือหนึ่งนุช ชาญกิจ มารดาของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ ถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ยื่นข้อกล่าวหา

“ร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นการกระทำผิดร่วมกับนายบุรินทร์ อินติน ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ขณะที่ทำกิจกรรม ‘ยืนเฉยๆ’ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ ๒๗ เม.ย. ที่ผ่านมา”

(https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1770227239864975/?type=3&theater)

ทั้งนี้มีข้อสังเกตของ Thanapol Eawsakul “ย้ำอีกครั้ง ทำไมต้องจับแม่จ่านิว” โดย บก. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันชี้ให้เห็นจากข่าวมติชน “ผบ.ตร. สงสัยจ่านิวเคลื่อนไหวไม่หยุด อยากลอง (สองเครื่องหมายคำถาม)” (http://www.matichon.co.th/news/114204)

และว่า “ทหารส่งตัว ‘บุรินทร์ อินติน’ พลเมืองโต้กลับ ให้ ปอท.แจ้งข้อหา ‘๑๑๒-พ.ร.บ.คอมพ์’
http://www.matichon.co.th/news/121559 แต่นั่นไม่ใช่เป้าจริง เป้าจริงคือจ่านิว”

โดยศาลทหารโยงคำให้การของนายบุรินทร์เข้ากับแม่จ่านิว ที่ว่า

“ด้านนายบุรินทร์รับว่า ตนเข้าร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับตั้งแต่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๘ จากนั้นจึงมีโอกาสรู้จักกับนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว และติดต่อพูดคุยกันมาตลอด จนรู้จักกับแม่จ่านิว และแช้ตพูดคุยกันผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ ‘Nuengnuchchankij’ ในทำนองว่าร้ายสถาบันจริง เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์”

วานนี้ หลังจากศาลทหารปฏิเสธไม่ยอมให้ประกันแก่ น.ส. พัฒน์นรี ด้วยข้ออ้างว่าเป็นข้อหาร้ายแรงเช่นเคย นายแบร๊ด แอดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของ Human Rights Watch รายงานว่า “คณะทหารฮุนต้าไทยต่ำช้าลงไปอีกระดับหนึ่ง”

ด้วยการ “ดำเนินคดีกับคนที่ตอบโต้ทางเฟชบุ๊คด้วยข้อความไม่กระจ่างนัก” นี่เป็นการบิดเบี้ยวใช้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์มาทำร้ายต่อผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์คณะทหาร

(https://www.hrw.org/…/thailand-junta-arrests-activists-moth…)

สำหรับกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือที่รู้จักกันทั่วโลกว่า Lèse ¬majesté law นี้ เคยมีมติของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (CESCR) แถลงไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ ระบุว่า

“คณะกรรมการฯ ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับ ผลร้ายของการตีความเกินขอบเขต ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในประเด็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมของทุกคน ซึ่งคณะกรรมการฯได้เสนอแนะว่าควรมีการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่กำกวมเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย และความพอเหมาะของบทลงโทษต่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดกฎหมายนนั้น”

(http://refonte.fidh.net/spip.php…)





นอกเหนือจากนั้น ในวันพุธที่จะถึงนี้ (๑๑ พ.ค. ๕๙) จะมีการอภิปรายในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่นครเจนีวา ทบทวนสถานภาพการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

(https://www.facebook.com/UNHumanRightsAsia/photos/a.657330534369993.1073741828.654755261294187/732658056837240/?type=3&theater)

ซึ่งนับแต่คณะทหาร คสช. ได้เข้ามากุมอำนาจเป็นเวลาครบสองปีในเดือนนี้ ปรากฏว่ามีการใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไปในทางข่มเหงต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองมากขึ้นด้วย จากการที่กฎหมายอันมีช่องโหว่ให้ตีความโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

ม.๑๑๒ กำหนดให้ใครก็ได้เป็นผู้ยื่นฟ้องคดีต่อใครก็ได้ โดยคู่ความอาจไม่มีความเกี่ยวโยงใดๆ ต่อกัน หรือในความผิดที่กล่าวอ้างนั้น แล้วในทางปฏิบัติจากสถิติร้อยละ ๙๙.๙๙ ศาลจะประทับรับฟ้องเสมอ โดยสถิติร้อยละ ๙๘.๘๙ ผู้ถูกตั้งข้อหาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราว

เนื่องจากศาลจะอ้างเป็นคดีร้ายแรง โทษสูงให้จำคุกถึงข้อหาละ ๑๕ ปี ผู้ต้องคดีบางรายถูกพิพากษาหลายข้อหารวมกันแล้วให้จำคุกกว่า ๕๐ ปีก็มี

แม้แต่บางคดีเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาไปแจ้งความ ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่ามีความผิดหรือไม่ก็ได้ ดังปรากฏในคดีการจับกุมสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ (หรือชื่อเดิม บัณฑิต อานียา) จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เจริญไพบูลย์ ผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก ร.๑ พัน.๒ รอ. พยานปากเอกให้การว่า

“ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งพยานเห็นว่าข้อความยังไม่ชัดเจน แต่น่าจะเข้าข่าย” ก็เลยเข้าจับกุมและนำตัวผู้ต้องหาไปสถานีสุทธิสาร (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ประชาไท http://prachatai.org/journal/2016/05/65622)

สรุปว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะ จะตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า ‘เข้าข่าย’ ผิด ม.๑๑๒ กระนั้นไหม

การนำตัวผู้ต้องสงสัยไปโรงพักโดยที่ ‘ยังไม่ชัดเจน’ ว่าเขากระทำผิดหรือไม่นี่ ในอเมริกาเรียกว่า false accusation ที่ผู้ถูกจับกุมสามารถฟ้องกลับต่อเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเพื่อเรียกค่าเสียหาย จากเหตุที่ทำให้ตนยากลำบากเสียเวลา เกิดความกดดันทางจิตใจ และแม้แต่ ‘เสียหน้า’ ก็ได้