วันจันทร์, พฤษภาคม 30, 2559

เอาไว้ตีหรือมีไว้คลุม?




โดย ทีมข่าวการเมือง
โลกวันนี้

May 30, 2016


การเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตยเนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สะท้อนให้เห็นถึงอุณหภูมิทางการเมืองที่นับวันจะยิ่งร้อนระอุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากกลุ่มต่างๆที่ต้องการให้บ้านเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสากลและประชาคมโลกยอมรับ

เช่นเดียวกับกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัยปราบโกง (ฝ่ายตรงข้าม)” ซึ่งกำหนดลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม ต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะรัฐบาล คสช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู ก. ข. ค. และอาสาสมัครต่างๆที่จะออกมาเคาะประตูบ้านชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางซึ่งระบุไว้ใน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่าต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติเพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ความจริงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถประกาศใช้ได้ทันที เพราะอำนาจอยู่ที่ คสช. ประเทศอื่นก็ไม่เห็นต้องทำ แต่ประเทศไทยไม่ได้ เพราะเป็นประชาธิปไตย แล้วก็เอามาเป็นพิธีกรรมอ้างประชาธิปไตยและทำให้ประเทศชาติมีแต่ปัญหา

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะอุทานในที่ประชุมสัมมนา “การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยแบบบูรณาการ” ว่า “กูละเบื่อจริงๆ” เพราะพูดกันแต่ประชามติ ทั้งยังตัดพ้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า 2 ปีรัฐบาลและ คสช. ไม่มีผลงานทั้งที่ทำแทบตาย “บอกไม่ได้ทำอะไรเลย เดี๋ยวจะทำให้เห็นว่า 2 ปีทำอะไร”

เช่นเดียวกับการใช้อำนาจมาตรา 44 ที่มีการเรียกร้องให้ คสช. ยกเลิกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันว่า มาตรา 44 ทำให้เกิดความมั่นคง และตนสามารถเมตตาผ่อนผันอะไรก็ได้ โดยเฉพาะคดีที่ไม่ร้ายแรงมากจนเกินไป แต่ถ้าใช้กฎหมายปรกติก็ต้องจับหมด ถ้าไม่จับก็จะมีความผิดมาตรา 157 ฐานละเว้น

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นแค่หลักประกันว่าประเทศไทยมีหลักการที่สากลยอมรับ ระหว่างนั้นต้องมี ส.ว. เป็นหลักประกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา แต่ไม่มีใครสามารถสั่งการอะไร ส.ว. ได้ ซึ่งกรณี ส.ว.ลากตั้งเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่เห็นด้วย เพราะในอดีตที่ผ่านมา ส.ว.ลากตั้งทุกสมัยก็ถูกตั้งฉายาว่า “สภาฝักถั่ว” เพราะไม่ต่างกับหุ่นยนต์ที่ทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจหรือผู้ที่แต่งตั้ง โดยเฉพาะ ส.ว. ที่มาจากข้าราชการทั้งที่ยังรับราชการและเกษียณอายุ

“สุเทพ” อ้าง“คนดี..จะมายังไงก็ได้”

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะรู้สึกเบื่อหน่ายอย่างไร การลงประชามติจะเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ไม่ว่าประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่านก็จะสะท้อนถึงอนาคตประเทศไทยว่าจะไปทางไหน และมีความสำคัญกับรัฐบาลและ คสช. อย่างมาก เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็เหมือนหลักประกันหรือใบรับประกันความชอบธรรมที่จะสถาปนา “อำนาจพิเศษ” ในบทเฉพาะกาล 5 ปี โดยมี ส.ว.ลากตั้ง 250 คน รวมถึงอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยและประชาคมโลกตั้งคำถามว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. หรือไม่

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและ คสช. ก็ออกมาปกป้องทุกรูปแบบ ล่าสุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ก็ออกมายกย่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยว่า ส่วนใหญ่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปราบทุจริตคอร์รัปชัน การปฏิรูประบบราชการให้ถึงมือประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปี เพื่อไม่ให้อยู่ในการควบคุมของนักการเมือง ซึ่งถือว่าเด็ดที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้การโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจต้องเป็นระบบที่มีคุณธรรม

ส่วนกรณีนายกฯคนนอกนั้น นายสุเทพระบุว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัว แต่เป็นการดีมากกว่า เพราะทำให้ประเทศไม่ตกอยู่ในภาวะทางตัน ตนในฐานะศิษย์สวนโมกข์อาจารย์พุทธทาสที่บอกว่า คนที่เป็นผู้นำมาอย่างไรนั้นไม่สำคัญเท่ากับคนมีธรรมะ มีศีลธรรม ขอให้ได้คนดีก็แล้วกัน เพราะไม่ได้อยู่ที่วิธีการมา แต่อยู่ที่คน

การออกมาของนายสุเทพและกลุ่ม กปปส. ถือเป็นเรื่องปรกติ เหมือนกลุ่มที่เกลียดทักษิณซึ่งสนับสนุนรัฐบาลและ คสช. ให้มีอำนาจต่อไปผ่านบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ หรือผ่านนอมินีกลุ่มต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญออกแบบให้เป็นรัฐบาลผสม และการเข้ามาของนายกฯคนนอก

ปฏิกิริยา “คนกันเอง”

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่มไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ (ส่วนหนึ่ง) กลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ และภาคประชาชนแล้ว ยังมีกลุ่ม “คนกันเอง” ที่เคยร่วมกับกลุ่ม กปปส. อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง ออกมาเคลื่อนไหวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และวิจารณ์การทำงาน 2 ปีของรัฐบาลและ คสช. ว่าล้มเหลว ไม่ได้เป็นไปตามโรดแม็พที่ประกาศไว้

โดยเฉพาะนายธัชพงศ์ แกดำ อดีตโฆษกเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว (24 พฤษภาคม) ว่า “ผมขอโทษพี่น้องสิทธิชุมชนและนักเคลื่อนไหวทุกคนที่กำลังถูกทหารใช้อำนาจเผด็จการกดขี่ โดยเฉพาะพี่น้องสิทธิชุมชน ผมขอโทษที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดรัฐประหาร แม้ผมจะไม่ใช่คนที่เรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ แม้ผมจะพูดบนเวทีเสมอว่าต้องเปลี่ยนแปลงโดยประชาชน

ผมเฝ้าดูรัฐบาลมา 2 ปี เคยร่วมทำงานปฏิรูปเป็นอนุกรรมาธิการใน สปช. สุดท้ายแล้ววันนี้สรุปได้ว่าการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเป็นแค่วาทกรรมลอยๆของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แค่เรียกมวลชนหาทางไปต่อ แท้ที่จริงการปฏิรูปไม่มีอยู่จริง ผมเคยขึ้นเวที กปปส. ด้วยความเชื่อว่าเราอาจช่วยเติมเต็มพี่น้องประชาชนที่มาร่วมได้ไม่มากก็น้อยในเรื่องของปัญหาสิทธิชุมชนที่ขาดหายและต่อสู้กับระบอบทักษิณ

มาวันนี้ผมกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่าทำให้เกิดการรัฐประหาร แม้จะไม่ได้เรียกร้องหรือไม่มีอำนาจสั่งการ จริงอยู่รัฐประหารทำให้พี่น้องผู้ชุมนุมทุกเวทีไม่ตายและไม่บาดเจ็บรายวัน แต่ผมไม่เคยคาดหวังและเชื่อว่า คสช. จะปฏิรูปประเทศตามสัญญา เมื่อวันนี้ผมเห็นน้ำตาเพื่อนที่เคยถูกจับพร้อมกับผมต้องติดคุก ถูกคุกคามถึงบ้าน ผมยอมรับจริงๆผมยังไม่เอาระบอบทักษิณเช่นเดิม และต่อนี้ไปผมจะสู้กับ คสช. แม้จะมีแค่ผมคนเดียวผมก็จะสู้ ผมจะไม่ยอมรัฐทหารที่รับใช้นายทุน ขุนนางอีกต่อไป ผมจะสู้ในฐานะสามัญชนคนธรรมดา ไม่ต้องมีราคา ไม่ต้องเป็นเซเล็บ ไม่ต้องเป็นแกนนำ ไม่ต้องมีตำแหน่ง แค่มีหัวใจและความคิดตรงกันเราก็สู้ได้”

ขณะที่กลุ่มที่เคลื่อนไหวให้ปฏิรูปพลังงานก็มีการเผยแพร่โปสเตอร์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมีข้อความว่า “ครบรอบ 2 ปีพ่ายแพ้ทักษิณ” และข้อความด้านล่างภาพว่า “ก่อนและหลัง 22 พ.ค. 57 ของการเรียกร้องเพื่อประชาชนเคยได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ที่ไม่ได้เรียกร้องได้เพียบ “สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมยังอยู่ ราคาพลังงานแพงเหมือนเดิม เปิด AEC เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่าที่ดิน 99 ปี ม.44 งดอีไอเอผังเมือง เหมืองทองยังอยู่ ไฟฟ้าจากถ่านหินก็จะเอา ไฟฟ้าปรมาณูก็จะมา หนองจานไม่เอาคืน ได้เขาพระวิหารปลอมที่ผามออีแดง ไม่ปฏิรูปตำรวจ (ให้ รบ.หน้าทำ) ไม่ช่วยจับธัมมชโยเข้าคุก…ไม่ทำอะไรที่เป็นของทักษิณหรือที่ทักษิณเกี่ยวข้อง ฯลฯ”

“อาทิตย์ ม.รังสิต”จี้ใจดำระบบอุปถัมภ์

ที่เป็นประเด็นร้อนถึงเรื่องธรรมาภิบาลของรัฐบาลและลุกลามถึงผลงานของรัฐบาลคือ กรณีนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คถึงการปฏิรูปตำรวจและการซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งตำรวจว่า ปฏิรูปตำรวจหรือ? ที่มีข่าวซื้อตำแหน่งทั้งระดับผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้กำกับ ผู้บังคับการ รองผู้บังคับการ สารวัตรอีกหลายพันตำแหน่ง “ปฏิรูปตำรวจใช้ระบบคุณธรรม อย่าใช้ระบบอุปถัมภ์”

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.ประวิตร และมีผู้กดไลค์ความเห็นของนายอาทิตย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิก สปท. และอดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษฯ ก็เคยโพสต์เรื่องการซื้อขายตำแหน่งตำรวจจนโดยหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีในความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดย พล.อ.ประวิตรท้าให้เอาหลักฐานเพื่อชี้ตัวคนกระทำผิดเหมือนครั้งการกล่าวหาของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ซึ่งล่าสุดกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายอาทิตย์กรณีโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จผ่านเฟซบุ๊คตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ด้านนายอาทิตย์ได้โพสต์หลังถูกกล่าวโทษว่า “ผมไม่ได้สงสัยหรือมีส่วนได้เสียอะไร และผมไม่ได้กล่าวหาลอยๆ ถึงผมไม่พูดคนอื่นเขาก็พูดกันทั่ว และยังบอกอีกว่าที่ผมพูดนั้นน้อยเกินไปและมีมานานแล้ว ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้ง ผมพูดเพื่อต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบว่าสังคมรู้กันว่าอย่างไร ควรมองเห็นในความหวังดีของผมบ้าง ผมไม่ต้องการไปพบท่านหรอกครับ และผมก็ไม่ทราบว่าท่านเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะผมรักและอยากให้บ้านเมืองนี้สงบ สันติสุข และเจริญรุ่งเรืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผมไม่ใช่เสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อเขียว เสื้อฟ้า ผมใส่ทุกสี บางทีก็ไม่ใส่ แต่ผมมีหัวใจสีเลือดแห่งสุวรรณภูมิ ใจเย็นๆ และขอพระผู้เป็นเจ้าจงประทานพรให้สงบและสันติสุข”

ขู่ฟ้องหากบิดเบือนเศรษฐกิจ

การวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลและ คสช. ไม่ได้มาจากฝ่ายการเมืองและนักวิชาการที่เห็นต่างเท่านั้น แต่ยังมาจากกลุ่มที่ไม่มีสี ไม่มีฝ่าย รวมถึงกลุ่มที่เคยสนับสนุนรัฐประหารหรือเกลียดทักษิณอีกด้วย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับประกาศว่าจะให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฟ้องหากใครบิดเบือนว่าเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงการกล่าวหาว่าทหารโกง หากมีหลักฐานก็ไปฟ้อง หรือถ้าบอกว่าตำรวจไม่ดีก็ต้องยุบตำรวจหมด ยุบโรงเรียนนายร้อย ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับตำรวจด้วย

ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คในโอกาสครบรอบ 2 ปีรัฐประหารให้ คสช. ทำตามที่ให้สัญญาว่า คสช. ได้แก้ปัญหาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา แก้ปัญหาปากท้องเรื่องเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดำเนินทุกมาตรการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ จึงเชื่อว่าที่มีบางส่วนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือทางด้านเศรษฐกิจ

ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็ดำเนินการมาโดยตลอด เวลานี้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีสิทธิเสรีภาพ แต่ความคิดเห็นต้องไม่พาดพิงบุคคลหรือองค์กรใด ไม่ทำให้เกิดความเกลียดชัง ไม่ยั่วยุหรือนำไปสู่การแตกความสามัคคี ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจหรือสิทธิเสรีภาพนั้น ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาระบุว่ารัฐบาลและ คสช. ล้มเหลว แต่ล่าสุดคณะผู้แทนรัฐสภาสหภาพยุโรป (อียู) ที่นำโดยนายเวอร์เนอร์ แลงเก็น ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยเป็นเวลา 3 วัน เพื่อสอบถามข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนทั้งจากฝ่ายการเมืองคือพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ สนช. และ สปท. ก็ตั้งข้อสังเกตถึง พ.ร.บ.ประชามติที่กีดกันการแสดงความคิดเห็นว่า อาจทำให้ประชาธิปไตยของไทยยืดยาวออกไปอีกนาน ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียูก็ขึ้นอยู่กับการมีเลือกตั้งที่ free and fair และการกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยว่ามีการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรมหรือไม่

คณะผู้แทนอียูยังได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการขอเข้ามาสังเกตการณ์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ยังมีการตอบรับใดๆจากรัฐบาลและ คสช. เช่นเดียวกับกรณีที่ประชุมทบทวนสภาวะสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยของประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่ตั้งคำถามถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย และให้ยอมรับคำแนะนำจากที่ประชุมถึง 181 ข้อ

จะเสียสละต่อไปอีกกี่ปี?

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ค (24 พฤษภาคม) ว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรพูดเกี่ยวกับการทำประชามติ ยิ่งย้ำว่าการหารือของ กกต. ที่ผ่านมาไม่มีประโยชน์อะไรเลย คนหนึ่งบอกว่าได้คืบจะเอาศอก อีกคนว่าไม่แก้กฎหมายประชามติก็เท่ากับทุกอย่างเหมือนเดิมคือ พูดให้รับได้ฝ่ายเดียว ฝ่ายไม่เห็นด้วยทำอะไรไม่ได้ต่อไป

ที่ว่า กกต. จะจัดเวทีให้นักการเมืองพูดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศนั้น ต้องถามว่าให้พูดกับใคร ถ้าพูดกับ กกต. ก็ไม่มีประโยชน์ เสียเวลาเปล่า นาทีนี้ต้องให้ทุกฝ่ายพูดกับประชาชนได้ ไม่ใช่ให้ กกต. หรือรัฐบาลฟัง เวลาพูดต้องให้สื่อฟังและรายงาน จะให้ดีต้องถ่ายทอดสดไปเลย

ที่ถามว่าให้พูดหมดแล้วจะเอายังไงอีก แสดงว่าคนที่ถามยังไม่เข้าใจว่าเขากำลังเสนอกันว่าการทำประชามติต้องเสรี ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ขอแค่ให้ได้พูดระบายอารมณ์กับ กกต. ซึ่งไม่มีหน้าที่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ สักแต่ได้ชื่อว่าได้พูดแล้วก็พอ ประชาชนควรได้ฟังทุกฝ่าย

ที่ว่าเสียสละเข้ามาทำให้คนไทยมีความสุข คงมีคนโต้แย้งอีกเยอะ แต่ผมอยากถามว่า แล้วจะเสียสละต่อไปอีกกี่ปี 5 หรือ 10 หรือ 20 ปี??

ส่วนการป้องกันการโกงและการรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธินั้น นายจาตุรนต์ได้เรียกร้องให้ประชาชนไปใช้สิทธิกันมากๆจะได้โกงยาก ส่วนบทบาท กกต. ต้องส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี ไม่ใช่ช่วยทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ

“ปี๊บผลงาน คสช.” เอาไว้ตีหรือมีไว้คลุม?

การลงประชามติ 7 สิงหาคม จึงเป็นวันสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆจะไปทางไหน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครกล้ารับประกันว่าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง (ฝ่ายตรงข้าม) จะเกิดขึ้น 100% หรือไม่ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในยุคเปลี่ยนผ่านและภายใต้มาตรา 44

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆที่ยังฝังลึก ขณะที่กระแสความไม่พอใจรัฐบาลและ คสช. ก็มากขึ้นเรื่อยๆ แม้รัฐบาลและ คสช. จะออกมาตอบโต้ทุกข่าวทุกประเด็นว่าไม่เป็นความจริง หรือเป็นการบิดเบือนเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ คสช. ก็ตาม
โดยเฉพาะปัญหาเศรษญกิจ ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจของภาครัฐกับการวิเคราะห์ของนักวิชาการหรือนักธุรกิจแตกต่างกันสิ้นเชิง (อ่านเพิ่มเติม โลกอสังหาฯ หน้า 8) รวมถึงเศรษฐกิจที่แท้จริงที่มาจากประชาชนนั้นก็มีคำถามมาตลอดว่า ข้อมูลที่รัฐบาลและ คสช. ได้รับนั้น รับฟังมาจากประชาชนที่แท้จริงหรือประชาชนที่ถูกระดมมา อย่างที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ย้อนถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่า ถ้าอยากรู้ว่าประชาชนมีความสุขหรือเดือดร้อน มีรายได้พอกับรายจ่ายหรือไม่ ก็ลงพื้นที่พบประชาชนอย่างอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่ได้จากประชาชนที่ระดมกันมาต้อนรับ ส่วนผลงาน 2 ปีที่ คสช. จะแถลงก็คงเป็นเรื่องเดิมที่พูดทุกวันในรายการคืนความสุขแล้วเอามาเรียบเรียงและขัดเกลาใหม่ ซึ่งจะเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จจริงๆหรือไม่ หรือจะเอาของเก่าที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และทักษิณทำไว้ในอดีตแล้วเอามาปัดฝุ่นทำลอกเลียนแบบ แต่ถ้าทำให้ประชาชนมีความสุขที่แท้จริงก็ดีใจด้วย

เวลาของ คสช. ผ่านมาแล้ว 2 ปี แต่หนทางข้างหน้าก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ท่ามกลางประชาคมโลกที่จับตาเรื่องสิทธิเสรีภาพและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่าไม่เป็นประชาธิปไตยในหลายประเด็นก็ดังกระหึ่ม บรรยากาศการลงประชามติอยู่ในภาวะที่หวาดระแวงว่าการแสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญจะถูกตีความว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งยังมีคำถามว่าหากประชามติไม่ผ่าน ประเทศจะเดินหน้าไปอย่างไร ซึ่งรัฐบาลและ คสช. ก็ไม่มีคำตอบ นอกจากนายมีชัยที่ปรารภว่าแก้อะไรไม่ได้แล้ว ไม่ทันแล้ว

การออกมา “ตีปี๊บ” โหมประชาสัมพันธ์อย่างพร้อมเพรียงจากรัฐบาล คสช. และสื่อในเครือข่ายว่ามีผลงานมากมาย เศรษฐกิจไทยกำลังโชติช่วงชัชวาล ดัชนีมวลความสุขของคนไทยพุ่งกระฉูด ต่างชาติเข้าใจและให้การยอมรับ มีแต่พวกทูตไม่กี่คน อย่างเช่นทูตสหรัฐประจำประเทศไทยที่เพิ่งมาใหม่ เลยไม่เข้าใจความจริงว่าทุกวันนี้คนไทยมีสิทธิเสรีภาพแบบไทยๆภายใต้ระบอบการปกครองแบบไทยๆที่โลกสากลไม่เข้าใจ

มหกรรมตีปี๊บจะสำเร็จหรือไม่ สุดท้ายก็อยู่ที่อะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ อะไรคือความจริงครึ่งเดียว อะไรคือการประชาสัมพันธ์ อะไรคือการโฆษณา อะไรคือการโฆษณาชวนเชื่อ ประชาชนเท่านั้นคือผู้ที่จะตอบได้ดีที่สุดว่า ใครที่พูดจริง ใครที่บิดเบือน?

“ปี๊บ” มีประโยชน์เอาไว้เตะให้มีเสียงดังโชว์ว่าไม่ว่าแก่แค่ไหนก็ยังมีพลัง มีอำนาจ หรือจะเอาไว้ตีให้มีเสียงดังเพื่อการโฆษณาก็ดีเหลือหลาย นอกจากนี้ยังมีไว้คลุมหัวก็ได้เมื่อถึงคราวจำเป็น

วันนี้เอาไว้ตี.. ไม่แน่พรุ่งนี้อาจมีไว้คลุมก็ได้!!?