วันอาทิตย์, พฤษภาคม 29, 2559

นักเขียนอาวุโส นักวิชาการ จวกยับโรงเรียนจับเด็กใส่ชุดทหาร





นักเขียนอาวุโส จวกยับโรงเรียนจับเด็กใส่ชุดทหาร ยกเทียบลัทธิฟาสซิสต์


ที่มา Kapook.com

สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนอาวุโส ซัดโรงเรียนจับเด็กอนุบาลใส่ชุดทหาร บอกคือความฉิบหายของประเทศ ชี้พวกนักวิชาการ ศิลปิน ขึ้นเวทีเป่านกหวีด ยังไม่หนักเท่า เหน็บ สพฐ. ทัศนคติแย่หวังแต่ประจบนาย เปรียบได้กับพวกฟาสซิสต์

จากกรณีโรงเรียนชุมชนดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ได้สร้างความฮือฮาแก่สังคม โดยการให้เด็กนักเรียนอนุบาลแต่งชุดทหารมาเรียน ในโครงการ "ทหารน้อยลูกแม่ฟ้าหลวง" เพื่อเป็นการสำนักในแม่ฟ้าหลวงของปวงชนชาวไทย และสร้างระเบียบวินัย พร้อมกับเรียกจิดสำนึกของเด็ก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนอาวุโส เจ้าของนามปากกา สิงห์สนามหลวง ผู้ก่อตั้ง รางวัลช่อการะเกด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว สุชาติ สวัสดิ์ศรี ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า ถ้าสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ของกระทรวงศึกษาธิการ มีทัศนคติและค่านิยมแบบนี้ ก็เหมือนประกาศตัวเป็นพวก "ฟาสซิสต์" ความฉิบหายจะเข้ามาเยือนประเทศ เรื่องเหล่านี้แย่กว่า นักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน ที่ไปขึ้นเวทีเป่านกหวีดเสียอีก







โดยข้อความในเฟซบุ๊กของนายสุชาติ สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีรายละเอียดดังนี้




ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สุชาติ สวัสดิ์ศรี,

ooo


นักวิชาการค้านให้นร.แต่งทหาร ชี้โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลูกฝังเรื่องนี้ แนะให้ศึกษาปชต.





ที่มา ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เวลา 17:10 น.

จากกรณีโรงเรียนชุมชนดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น จัดโครงการ “ทหารน้อยลูกแม่ฟ้าหลวง” ให้เด็กประถมวัยระดับอนุบาล 1-3 จำนวน 134 คน แต่งชุดทหารมาเข้าร่วมกิจกรรมทุกวันพฤหัสบดี เพื่อสร้างจิตสำนึกความเป็นระเบียบ และมีจิตสาธารณะบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการร่วมกันเก็บขยะบริเวณโรงเรียน ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้นสังกัดยกย่องว่าเป็นแนวคิดที่น่าชื่นชมของสถานศึกษา ที่ใช้กิจกรรมมาเป็นเครื่องมือซึมซับวินัยให้กับเด็กตั้งแต่ยังเยาว์วัย อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการให้หน่วยงานสถานศึกษาร่วมกันปลูกฝังจิตสำนึกสร้างวินัย จิตสาธารณะ ให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักสิทธิ์ของตนเองและเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น ตามที่ “ข่าวสด” นำเสนอไปแล้วนั้น

สำหรับความคืบหน้า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ ในฐานะผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เด็กเล็กจะได้รับจากการปลูกฝังแนวคิดต่างๆ ผ่านรูปแบบกิจกรรมให้กับเด็กกล่าวว่า ถ้ามองเป็นแค่กิจกรรมหนึ่งที่ต้องการสร้างให้เด็กมีวินัย และทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนก็สามารถมองได้ แต่ถ้ามองในมุมของผู้รับ ซึ่งในที่นี้ก็คือเด็กในช่วงก่อนประถมวัย ก็จำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากเด็กในวัยนี้จำเป็นต้องได้รับการสร้างและพัฒนาอย่างถูกวิธี การใส่อุดมการณ์ ลัทธิ อำนาจหรือวิธีการคิดแบบสุดขั้ว ทั้งคิดแบบทุนนิยม คิดแบบทหารหรือคิดแบบการเมืองเข้าไปในสมองจะมีผลต่อเด็กในอนาคตได้

“เด็กอนุบาลเป็นวัยที่สะอาดบริสุทธิ์ เมื่อเราใส่เรื่องเหล่านี้ให้กับเขา ก็จะเก็บไว้ในความทรงจำ ซึ่งในแง่ของพัฒนาการเด็กแล้วถือเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องระมัดระวัง ประเด็นต่อมาคือโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลูกฝังเรื่องพวกนี้ แต่มีหน้าที่เป็นกลางและไม่ไขว้เขวกับบทบาทของตนเองนั้น ก็คือการสร้างเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้กับเด็ก ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการใส่เรื่องพวกนี้เข้าไปในสมองของเด็กปฐมวัยมากยิ่งขึ้น ทั้ง ที่เราจำเป็นต้องสร้างค่านิยม หลักการเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ถูกต้องมากกว่า เราต้องไม่ลืมว่าเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับคนทุกช่วงวัย ฉะนั้นการส่งเสริมให้เด็กมีวินัยผ่านกิจกรรมประชาธิปไตย น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องมากกว่า เพราะการส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักรับผิดชอบ รู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง เคารพสิทธิของผู้อื่น มีคุณธรรมและจริยธรรม ล้วนเป็นกิจกรรมที่ผ่านกระบวนการขัดเกล้าทางประชาธิปไตยทั้งนั้น” ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเด็กและเยาวชน กล่าว

อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า บ้านเราเคยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการให้เด็กที่เรียนจบระดับอนุบาลใส่ชุดครุยมาแล้ว ซึ่งกรณีนั้นถือเป็นการปลูกฝังค่านิยมเรื่องปริญญาบัตรกับเด็กตั้งแต่ยังเล็กๆ ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้เด็กช่วงก่อนปฐมวัยใส่ชุดทหาร และอยากให้ระมัดระวังมากกว่านี้ เพราะเด็กอนุบาลคือวัยที่บริสุทธิ์ขาวสะอาด จึงควรใส่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับพวกเขา แต่หากคุณแย้งว่าสิ่งที่ทำถูกต้อง เกรงว่าอีกหน่อยจะกลายเป็นข้ออ้างได้ เช่น อาจมีคนใส่ชุดสีเหลือง สีแดงหรือสีเขียว เข้าไปในสถานศึกษาแล้วแจ้งว่าจะจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน คุณคิดว่าเหมาะสมหรือไม่