วันพุธ, พฤษภาคม 11, 2559

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเรียกว่าเฟชบุ๊คตกที่นั่งลำบากสักหน่อย




ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเรียกว่าเฟชบุ๊คตกที่นั่งลำบากสักหน่อย

ไม่เฉพาะปัญหาผู้ใช้ไทยจำนวนหลายพันคนไม่พอใจที่เฟชบุ๊คประเทศไทยดูเหมือนจะ compromises ผ่อนผันหลักการปกป้องความเป็นส่วนตัวของสมาชิก หลังจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ต้องหาจัดทำหน้าเฟชบุ๊คล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาลทหาร ที่ทางการบุกเข้าจับกุมตัวยามวิกาลที่บ้านแล้วตั้งข้อหาบ่อนทำลาย (sedition) ตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖ และสองคนในจำนวนนั้นถูกเพิ่มข้อหา ม.๑๑๒ เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ชั้นในเข้าไปด้วย

แม้นเมื่อมีการให้ประกันและปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งแปดคนแล้ว สองคนที่โดน ม.๑๑๒ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังกองปราบปรามเพื่อกักขังต่อ

(http://prachatai.org/journal/2016/05/65707…)

ข้อที่วิพากษ์กันมากจากคำสัมภาษณ์ของนายหฤษฎ์ มหาทน ในวันรุ่งขึ้นหลังจากถูกจับกุมจากจังหวัดขอนแก่น ว่าตำรวจนำข้อความในกล่องสนทนาเฟชบุ๊คมาแสดงเป็นหลักฐานการตั้งข้อหา ม.๑๑๒ ทั้งที่ตนไม่ได้ให้รหัสผ่าน จึงเป็นที่สงสัยว่าทางการมีนัก hack เจาะทะลวงข้อความได้ หรือไม่พนักงานของเฟชบุ๊คประเทศไทยเป็นผู้มอบแก่ตำรวจ

จากนั้นในช่วงสองสามวันต่อมากลายเป็นประเด็นที่กล่าวขานกันหนักทางโซเชียลมีเดียว่า เฟชบุ๊คประเทศไทยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหารไทยล้วงความลับจากผู้ใช้เฟชบุ๊ค และเกิดการใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการชวนกัน ‘ย้ายวิก’ ไปที่ ‘Minds’ แทน





การนี้มีนักวิชาการระดับ celebrities ทางโซเชียลมีเดียสองสามท่าน อาทิ กานดา นาคน้อย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ชักชวนผู้ติดตามของตนให้ไปเปิดบัญชีไว้ที่ไมดส์ด้วยเป็นการชิมลอง หรือใช้เป็นอีกแหล่ง เนื่องจากเชื่อกันว่ามีความปลอดภัยจากการถูก ‘จับตา’ และ ‘ล้วงความลับ’ มากกว่าเฟชบุ๊ค

ปรากฏมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวไทยพากันไปเปิดบัญชีที่ไมดส์กันอย่างอึกทึกครึกโครมเป็นจำนวนหลายพัน หรือถึงเรือนหมื่น โดยที่นักวิชาการคนดังบนโซเชียลมีเดียแต่ละท่านมีผู้ติดตามกันเป็นหมื่นเป็นแสนอยู่แล้ว

เป็นผลให้ผู้จัดทำเว็บไมดส์เริ่ม recognizes และให้ความสำคัญแก่ชาวไทยผู้สมัครเป็นสมาชิก โดยโพสต์ข้อความต้อนรับ ทักทายด้วยภาษาไทย และแจ้งว่าจะมีการปรับปรุงระบบการใช้งานของเว็บ รวมทั้งเพิ่มภาษาไทยด้วยในไม่ช้า

ขณะเดียวกันก็มีความพยายามซักถาม ทักท้วงไปที่สำนักงานใหญ่เฟชบุ๊ค ถึงข่าวลือที่ว่าให้ข้อมูลแก่ คสช. หรือไฉน รวมทั้งมีการรณรงค์โดย 'เครือข่ายพลเมืองเน็ต' ล่าชื่อผ่าน Change.org จี้ FB ตอบ ให้ข้อมูล-ร่วมมือ รบ.ไทยหรือไม่

เป็นผลให้เมื่อวันที่ “๖ พ.ค. ๒๕๕๙ เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์ของเฟซบุ๊กประจำสำนักงานในกรุงลอนดอนเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า

เฟซบุ๊กมีแนวปฏิบัติทางกฎหมายที่กำหนดกระบวนการอันเข้มงวดของเฟซบุ๊กในการดำเนินการกับคำขอของรัฐบาลในกรณีที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก และในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับคำขอของรัฐบาลก็บ่งชี้ชัดว่าเฟซบุ๊กไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ กับทางการไทย”

(http://prachatai.com/journal/2016/05/65706)

ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ หนึ่งในนักวิชาการที่ชักชวนให้ผู้ติดตามไปเปิดบัญชีที่ไมดส์ เขียนไว้ในโพสต์ของเขาที่ไมดส์ (และเฟชบุ๊ค) May 9, 2016, 6:36:04 AM ว่า

“เฟซบุ๊กโดนต่อว่าหนักมากในช่วงหลัง ๆ ทั้งกรณีเพื่อนโดนจับกุมจากข้อความในอินบ๊อกซ์ และกรณีบล็อกเพจที่รัฐบาลทหารขอมา หลายคนด่าไปถึงเฟซบุ๊กอเมริกาและนายมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก โน่น

แน่นอนว่าเฟซบุ๊กเขามีนโยบายเก็บรักษาความลับของผู้ใช้ ม่ายงั้นเขายอมตามเงื่อนไขของรัฐบาลจีนไปนานแล้วที่จะให้เซ็นเซอร์ทั้งผู้ใช้และเนื้อหาในเฟซบุ๊ก ตลาดโฆษณาในจีนนั้นมโหฬาร ถ้ายอมตรงนั้นก็ได้ค่าโฆษณาเพิ่มอีกมหาศาล แต่เราก็ทราบกันดีว่าเฟซบุ๊กไม่ยอมเลยโดนแบนใน ปท.จี่น

เฟซบุ๊กที่สนง.ใหญ่นั้นไม่ ‘โง่’ ที่จะให้จนท.เฟซในไทยเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้คนไทยอย่างแน่นอน แต่มีคนตั้งข้อสงสัยต่อจนท.เฟซไทยในกรณีรีพอร์ต แล้วบล็อกผู้ใช้ ตรงนี้เฟซบุ๊กต้องใช้จนท.เฟซไทยช่วยดูอย่างแน่นอน และจุดนี้คือช่องโหว่สำคัญ

เพราะหน่วยไอโอของทหารและสลิ่มมันชอบกลั่นแกล้งด้วยการระดมกันรีพอร์ตเฟซของเพื่อน ๆ ทำให้โดนบล็อก โดนบังคับให้ส่งบัตรปชช.ไปให้ดู และโดนบังคับให้เปลี่ยนชื่อ (เหมือนที่ผมเคยโดนบล็อกมาแล้ว)

เป็นไปได้หรือไม่ที่ จนท.เฟซไทยที่เป็นสลิ่มเหมือนกันจะฉวยใช้ ‘รีพอร์ต’ แบบนี้ในการไล่แบน ไล่บล็อกเฟซของพวกเราทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เป็นการกลั่นแกล้งกัน? แม้แต่กรณีบล็อกเพจที่รัฐบาลทหารขอไป ทางเฟซบุ๊กก็คงต้องให้จนท.เฟซไทยช่วยดูก่อนตัดสินใจเช่นกัน ซึ่งถ้าจนท.เฟซไทยเป็นสลิ่ม ก็มีโอกาสที่จะ ‘เสนอให้ทำตามที่รัฐบาลทหารขอ’ หรือไม่?”

ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวเมื่อ ๑๐ พ.ค. ๒๕๕๙ ว่า “วานนี้ เพจ Facebook Security โพสต์เป็นภาษาไทย ระบุว่า "เรานำมาตรการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงสุดมาใช้เพื่อช่วยปกป้องคุณและข้อมูลของคุณเมื่อคุณใช้ Facebook"

พร้อมข้อความว่า การเชื่อมต่อและแบ่งปันเรื่องราวบน Facebook ช่วยให้คุณสามารถใกล้ชิดกับครอบครัว เพื่อนๆ และติดตามข่าวสารข้อมูลทั้งจากในสังคม หรือธุรกิจที่คุณสนใจได้เป็นอย่างดี

"ทั้งนี้เพื่อให้คุณสามารถใช้งาน Facebook ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การรักษาความปลอดภัยบัญชีผู้ใช้ของคุณจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เรามีฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยขั้นสูงที่ช่วยปกป้องคุณ และข้อมูลของคุณในเวลาที่คุณใช้ Facebook เราขอแนะนำให้คุณใช้ฟีเจอร์ ‘การอนุมัติการเข้าสู่ระบบ’ ซึ่งจะทำให้การพยายามเข้าสู้ระบบจากผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของบัญชีมีความยากยิ่ง ขึ้นไปอีก

เรียนรู้การใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ที่
https://www.facebook.com/…/how-to-keep-you…/login-approvals…

‘การอนุมัติการเข้าสู่ระบบ’ ที่เอ่ยถึงนั้นเป็นระบบรักษาความปลอดภัยทำนองเดียวกับที่ไมดส์ใช้สำหรับการสนทนาระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง โดยที่นาย Bill Ottman อดีตสมาชิกกลุ่ม Anonymous ผู้ร่วมก่อตั้งไมดส์คนหนึ่งบอกว่าแม้แต่แอ็ดมิน ผู้ควบคุมเว็บของเขาก็ไม่สามารถเข้าไปดูการสนทนาได้ เขาตั้งใจจัดทำกลไกการสนทนาไว้ในลักษณะนี้ให้ผู้ใช้มีเสรีที่สุด

ในเช้าวันเดียวกันนี้เอง มีการเปิดเผยจากนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาขององค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ประจำประเทศไทย ว่าฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ได้รับคำตอบจากเฟชบุ๊คยืนยันว่า “ไม่ได้มอบข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้ให้กับรัฐบาลไทย

ย้ำว่ามีการใช้ระบบที่ก้าวหน้าเพื่อรักษาความปลอดภัยและไม่ได้ถูกเจาะระบบ รวมถึงมีกระบวนการทางกฎหมายที่เข้มงวดในการพิจารณาคำขอของรัฐบาลที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลหรือปิดกั้นเนื้อหาต่างๆ”

(http://www.matichon.co.th/news/130605)

ถึงกระนั้นก็ตาม เฟชบุ๊คก็ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องเลือกที่รักมักที่ชังในการกำกับควบคุมเนื้อหาบนหน้าหลักโดยพนักงาน เมื่อมีรายงานผ่านนิตยสารออนไลน์ Gizmodo ว่าทีมงานแผนกข่าวของเฟชบุ๊คไม่ได้เพียงทำหน้าที่ด้านเทคนิค หากแต่เป็นเหมือนกองบรรณาธิการตรวจสอบและคัดเลือกข่าว ทำให้ข่าวด้านอนุรักษ์นิยมมักไม่ติดบนช่องรายการ Trending มุมขวาบนที่เฟชบุ๊คอ้างว่าเป็นข่าวที่สมาชิกเข้าชมมากที่สุด





ด้วยเหตุนี้คณะกรรมาธิการการค้าของวุฒิสภาสหรัฐอันเต็มไปด้วยสมาชิกสายอนุรักษ์นิยม จึงเริ่มกระบวนการไต่สวนให้เข้าถึงกระบวนการจัดทำเทร็นดิ้งของเฟชบุ๊ค ว่าเป้นอย่างไรกันแน่

เฟชบุ๊คปฏิเสธข้อกล่าวหาผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอบีซีในสหรัฐว่า เฟชบุ๊คมีแนวทางปฏิบัติที่ไม่สามารถกีดกันข่าวใดที่ระบบคำนวณอัลกอริธึมคัดเอามาเป็นข่าวเด่นได้ ข้อกล่าวหาที่ว่าสำนักข่าววอชิงตันเอ็กแซมิเนอร์หลุดจากเทร็นดิ้งเพราะถูกพนักงานเขี่ยออก ไม่เป็นความจริง แต่อาจเป็นเพราะเอ็กแซมิเนอร์เสนอข่าวเดียวกับสื่อเด่นๆ ที่คนนิยมจำนวนมากอย่างเดอะนิวยอร์คไทมส์หรือบีบีซี จึงได้ถูกตีตกไป

(https://gma.yahoo.com/facebook-responds-allegations-suppres…)

ก่อนหน้านี้ไม่ถึงสองอาทิตย์ เฟชบุ๊คเพิ่งเปิดเผยความจริงว่า “โดยรวมแล้วเราเห็นการเพิ่มจำนวนของการร้องขอจากรัฐบาลทั่วโลกให้เฟชบุ๊คแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้และจำกัดเนื้อหาบางอย่าง” คริส ซอนเดอร์บี รองหัวหน้าที่ปรึกษากฎหมายระบุ

ในครึ่งหลังของปี ๒๕๕๘ จำนวนการร้องขอจากรัฐบาลต่างๆ เพิ่มขึ้น ๑๒ เปอร์เซ็นต์ จาก สี่หมื่นหนึ่งพันไปเป็นเกือบสี่หมื่นเจ็ดพัน นายซอนเดอร์บีเพิ่มเติมว่า

“เรามักจะย้ำอยู่เสมอ เฟชบุ๊คไม่ยอมเปิดประตูหลังให้รัฐบาลไหนๆ เข้าไปล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้หน้าเฟชบุ๊คอย่างเด็ดขาด เราจะตรวจสอบอย่างละเอียดทุกๆ ข้อเรียกร้องว่าต้องตรงกับระเบียบกฎหมายหรือเปล่า ไม่คำนึงว่าจะมาจากรัฐบาลอะไร”

(http://abcnews.go.com/…/facebook-reveals-governments…/story…)

แท้จริงตามที่ปรากฏในรายงานของสำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์เมื่อวาน รายงานวิจัยของสำนักนิวส์วิปแจ้งว่าสำนักข่าวสายอนุรักษ์อย่างเช่นฟ้อกซ์และบรี้ทบ๊าร์ทได้รับการแชร์อย่างดีทีเดียวบนเฟชบุ๊ค

(http://www.huffingtonpost.com/…/conservative-news-facebook_…?)

ทำให้ข้อกล่าวหาที่ว่าเฟชบุ๊คลำเอียงข้างฝ่ายซ้ายน้ำหนักลดลงไป