วันศุกร์, พฤษภาคม 13, 2559

5M + คนรุ่นใหม่ นักวิชาการทบทวนความขัดแย้งทางการเมือง







ที่มา BBC Thai

นักวิชาการทบทวนความขัดแย้งทางการเมือง ชี้ยังไม่เห็นความหวังอนาคตไทย

วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาเรื่องอนาคตการเมืองไทย โดยมีนักวิชาการอาวุโสด้านประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ร่วมอภิปรายต่างมองว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยรอบนี้จะยาวนานและยากจะเลี่ยงความรุนแรง อดีตอธิการบดี มธ. ชี้ความขัดแย้งลึกกว่าเรื่องสีเสื้อ

ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าความขัดแย้งทางการเมืองของไทยครั้งนี้ ดูเผินๆ ก็อาจจะคิดว่าเป็นความขัดแย้งสองฝ่ายคือฝ่ายเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงแต่ถ้ามองลึกไปกว่านั้น นี่คือการต่อสู้ระหว่างเรื่องระบอบกับตัวแทน ซึ่งปัจจุบันระบอบเดิมกับระบอบใหม่กำลังต่อสู้ช่วงชิงกันอยู่ ทั้งชนชั้นนำเดิมและชนชั้นนำสมัยใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจบารมีเดิม เงินทุนเดิม ความคิดเดิม กำลังต่อสู้กับอำนาจใหม่ เงินทุนใหม่และความคิดใหม่

ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่าปัจจัยสำคัญทางการเมืองไทย ต้องพิจารณาจาก 5M คือ Monarchy - สถาบันกษัตริย์ Military-สถาบันทหาร Money- บรรดานายทุน Middle Class หรือชนชั้นกลาง และ Mass คือมวลชน โดยระบุว่า ปัจจัยสาม M แรกนั้นแสดงบทบาททางการเมืองมาอย่างชัดเจนแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ชนชั้นนำสมัยใหม่ตามขนบ เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จมาเป็นระยะเวลานาน เป็นกลุ่มที่เป็นตัวแทนของความเป็นไทยและความเป็นชาติ แต่ที่ยังไม่ชัดเจนก็คือ 2M หลังคือชนชั้นกลางและมวลชน

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์คาดว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะยาวนานข้ามรัชสมัยและรุนแรง โดยจะไม่จำกัดการต่อสู้อยู่ในระดับชนชั้นนำเท่านั้น แต่กินอาณาเขตและผู้คนกว้างขวางมากและยาวนาน เขายังคาดว่าจะมีความรุนแรงอีกครั้ง เพราะสิ่งที่ได้ยินตลอดเวลาในช่วงสิบปีนี้ ไม่ว่าการปฏิรูปหรือปรองดองนั้นล้วนไม่เกิดขึ้น ความรุนแรงนี้จะไม่ใช่สงครามกลางเมือง คือการมีกองทัพต่อกองทัพสู้กัน แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยแม้จะรุนแรงมากน่าจะจบได้เร็วกว่าสงครามกลางเมืองที่เห็นในประวัติศาสตร์ชาติอื่นๆ ในโลก ส่วนใครจะชนะนั้นเขาเชื่อว่าผู้ที่ชนะในความขัดแย้งทางการเมืองหนนี้คือคนที่มีขันติธรรม และมีความอดทนอดกลั้นสูง

ด้านดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่ายังมองไม่ค่อยออกว่าอนาคตของไทยจะเป็นอย่างไร โดยระบุว่าเมื่อพิจารณาจากการปรับตัวของชนชั้นกลางและชนชั้นนำของไทยในช่วง 60-70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับอานิสงส์จากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นเป็นต้นมาและอยู่ในกรอบวัฒนธรรมจารีต ลักษณะวิธีคิดจึงอนุรักษ์นิยมและไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง

ดร.ผาสุกชี้ว่าเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องมาจากคนรุ่นใหม่ แต่ต้องรอคอยความคลี่คลายด้านประวัติศาสตร์ซึ่งไม่สามารถเกิดได้ชั่วข้ามคืน และเชื่อเช่นกันว่าก่อนจะเกิดการคลี่คลายนั้นจะเกิดความรุนแรงอีกครั้งเพราะกลุ่มที่มีผลประโยชน์ในปัจจุบันรู้สึกได้ว่าตนเองต้องสูญเสียอย่างมากมายเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง