วันพุธ, พฤษภาคม 11, 2559

ละเอียดยิบ! สหรัฐ-ญี่ปุ่น-ยุโรป-อาเซียน-จีน เมิน “ลงทุนไทย” หลัง รปห.57 “ลด” โครงการ-เงินลงทุน เกือบ 100%





ที่มา เวปที่นี่และที่นั่น

ข้อมูล “สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รายเดือนสะสม ปี 2558 (มกราคม-เมษายน) ที่บันทึกโดย “กองความร่วมมือการลงทุนระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน” หรือ “BOI” ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ล่าสุด ในช่วงวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ในปี 2555 และปี 2556 ซึ่ง “คณะกรรมการค่าจ้าง” หรือ “บอร์ดค่าจ้าง” ได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท โดยนำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี และภูเก็ต ก่อน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 และมีการปรับขึ้นค่าจ่างขั้นต่ำ 300 บาท ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือให้ครอบคลุมและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 นั้นกลับมีสถิติความสนใจลงทุนในไทยโดยตรงจากต่างประเทศ สะสมมากที่สุดในรอบ 6 ปี (พ.ศ.2552-2557)

โดยในปี 2555 ซึ่งเริ่มมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท นำร่อง 7 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 นั้นมีสถิติการยื่นคำขอลงทุนจากต่างประเทศ มากกว่า 1,400 โครงการ จำนวนเงินลงทุนอยู่ในระดับ 605,000 ล้านบาท

และในปี 2556 ซึ่งมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เท่าเทียมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไปนั้นข้อมูลที่ถูกบันทึกเอาไว้โดย กองความร่วมมือการลงทุนระหว่างประเทศ BOI กลับชี้ให้เห็นว่า มีการยื่นคำขอลงทุนจากต่างประเทศ อยู่ในจำนวนประมาณ 1,200 โครงการ จำนวนเงินลงทุนใกล้เคียงกับตัวเลขมากถึง 505,000 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันสถิติการขอลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2555 และปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเริ่มการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้นได้แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนคำขอการลงทุนจากต่างประเทศ มากกว่าในปี 2552 , 2553 และ 2554 ซึ่งยังไม่มีการปรับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทอย่างชัดเจน

ซึ่ง แน่นอนว่า “ข้อมูล” ของ “กองความร่วมมือการลงทุนระหว่างประเทศ BOI” ดูเหมือนจะ “ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิง” กับ “คำพูด” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่อ้างในทำนองว่า .. ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ..

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อตรวจสอบ “ข้อมูล” จาก “สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ” ดังกล่าว ยังพบว่า หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเป็นส่วนที่ทำให้ “ตัวเลข” ที่แสดงถึง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ “ลดต่ำลง” อย่างเห็นได้ชัด

โดยช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2557 ที่ประเทศไทยยังไม่เกิดการรัฐประหารโดยคณะ คสช. สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เฉพาะในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2557 ก็ยังคงมีจำนวนการลงทุนที่มากกว่า 264 โครงการ และจำนวนเงินลงทุนที่มากกว่า 219,932 ล้านบาท

กลับกันเมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับพบว่า ช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2558 สถิติจากข้อมูลของ กองความร่วมมือการลงทุนระหว่างประเทศ สำนักงาน BOI กลับชี้ให้เห็นว่ามีจำนวนการลงทุนเพียง 112 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนเพียง 7,375 ล้านบาท ซึ่งถือว่า จำนวนโครงการลดลงมากถึงร้อยละ 57.5 และมูลค่าเงินลงทุนลดลงถึงร้อยละ 96.6 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ข้อมูลของ “กองความร่วมมือการลงทุนระหว่างประเทศ สำนักงาน BOI” ได้แจกแจงถึง “ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2558 ” ในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2558 ที่ทำให้เห็นว่า “ลดต่ำลงมาก” อย่างชัดเจน โดยระบุว่า

“โครงการต่างชาติที่ยื่นขอส่งเสริมในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2558 จะก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ แยกเป็นแรงงานไทย 3,159 คน และต่างชาติ 737 คน

ญี่ปุ่น : มีโครงการยื่นขอส่งเสริม 33 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 2,320 ล้านบาท “จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนลดลง” จากปีก่อนหน้า ร้อยละ 73.8 และ 96.5 ตามลำดับ

สหรัฐฯ : มีโครงการยื่นขอส่งเสริม 7 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 108 ล้านบาท “จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนลดลง” ร้อยละ 36.4 และ 99.7ตามลำดับ

ยุโรป : มีโครงการยื่นขอส่งเสริม 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 556 ล้านบาท “จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนลดลงลดลง” จากปีก่อนหน้า ร้อยละ 35.1 และ 99.1 ตามลำดับ แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาอังกฤษ

อาเซียน : มีโครงการยื่นขอส่งเสริม 17 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 620 ล้านบาท “จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนลดลงจากปีก่อนหน้า” ร้อยละ 39.3 และ 88.2 ตามลำดับ แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์

จีน : มีโครงการยื่นขอส่งเสริม 12 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1,957 ล้านบาท “จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 71.4 แต่มูลค่าเงิน ลงทุนลดลงร้อยละ 79.0”

สาธารณรัฐเกาหลี : มีโครงการยื่นขอส่งเสริม 2 โครงการ มูลค่าเงิน ลงทุน 89 ล้านบาท “จำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนลดลง” ร้อยละ 80 และ 99.2 ตามลำดับ

ไต้หวัน : มีโครงการยื่นขอส่งเสริม 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 967 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า “จำนวนโครงการลดลง” จากปีก่อนหน้าร้อยละ 20 ส่วนมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8

อินเดีย : มีโครงการยื่นขอส่งเสริม 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 8.75 ล้านบาท “จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนลดลง” จากปีก่อนหน้า ร้อยละ 83.3 และ 98.5 ตามลำดับ ”