วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 26, 2559

จาตุรนต์ เเพร่บทความ ‘ประเมิน 2 ปีหลังการรัฐประหาร’ ชี้ ล้มเหลวทุกด้าน





ที่มา มติชนออนไลน์
25 พ.ค. 59


วันนี้ (25 พ.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก เผยแพร่บทความ ประเมิน 2 ปีหลังการรัฐประหาร มีรายละเอียดดังนี้

บทความนี้ไม่ใช่บทรำลึกวันครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหาร มีหลายฝ่ายประเมินว่าการรัฐประหารผ่านมา 2 ปีแล้ว มีผลอย่างไรบ้าง ประกอบกับช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง การเสนอบทความนี้จึงอาจเป็นประโยชน์สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน

1.การปฏิรูป : ข้ออ้างที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง

“ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลและล้มระบอบประชาธิปไตย แต่สองปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีการปฏิรูปใดๆเกิดขึ้น คสช.และแม่น้ำอีก 4 สายไม่สามารถยืนยันว่ามีการปฏิรูปในเรื่องใดเลยแม้แต่เรื่องเดียว อย่างมากก็แค่มีการพูดถึงการแก้กฎหมายหรือออกกฎหมายจำนวนมากที่ไม่อาจแสดงได้ว่าเป็นการปฏิรูป

ผู้ที่ยืนยันว่าไม่มีการปฏิรูปได้ดีที่สุดส่วนหนึ่ง ก็คือ นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวที่เคยร่วมมือหรือสนับสนุนให้มีการรัฐประหารเองที่ออกมาวิจารณ์ถี่ขึ้นว่าผิดหวังที่ไม่มีการปฏิรูป ซึ่งก็นับว่าดีแล้วที่ไม่มีการปฏิรูปในความหมายนี้

ในมุมมองของผู้รักประชาธิปไตยและความเจริญก้าวหน้า การปฏิรูปก็ไม่เกิดขึ้น สาเหตุมาจากการขาดวิสัยทัศน์และทิศทางของผู้นำและกระบวนการทำงานที่ไม่รับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ทำกันอยู่แต่ในกลุ่มคนที่จำกัดซึ่งมักมีความเห็นที่แตกต่างกันเองอีกด้วย เช่น การปฏิรูปพลังงาน การปฏิรูปตำรวจ เป็นต้น การดำเนินงานจึงอยู่ในสภาพสะเปะสะปะ ขัดแย้งกันเองและถูกแขวนไว้ บางเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูป เนื่องจากเป็นไปในทางถอยหลังและสร้างความเสียหาย เช่น การกระจายอำนาจและการปรับระบบทางด้านการศึกษา เป็นต้น

ไม่มีวี่แววว่าจะมีการปฏิรูปใดๆเกิดขึ้น แต่การปฏิรูปก็ยังเป็นข้ออ้างที่จะต้องทำกันต่อไปอีก 20 ปี

2.การแก้ปัญหาคอรัปชั่น : ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ยิ่งป้องกันคอรัปชั่นยาก

การจัดการกับปัญหาคอรัปชั่นเป็นข้ออ้างของการรัฐประหารทุกครั้ง แต่ระบบกลไกสำหรับการจัดการกับปัญหาคอรัปชั่น นอกจากไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น กลับถูกทำให้ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นกลางและตรวจสอบไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ทั่วโลกถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญในการป้องกันปราบปรามการคอรัปชั่น

ปัญหาทั้งหมดเริ่มต้นจากการที่คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่เหนือองค์กรอื่นใดทั้งหมด การนำเอาองค์กรที่เคยเรียกว่าองค์กรอิสระเข้าไปสั่งการก็ดี อยู่เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการของรัฐบาลก็ดี หรือการสรรหาแต่งตั้งกรรมการองค์กรเหล่านั้นโดยมีคนของรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องก็ดี ล้วนทำให้องค์กรเหล่านั้นสิ้นสภาพการเป็นองค์กรอิสระและขาดความเป็นกลาง

การมีมาตรา 44 และการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44 ในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการออกคำสั่งต่างๆที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ทำให้ไม่มีหลักประกันว่าจะเกิดความยุติธรรม ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนไม่น้อยถูกลงโทษไปโดยไม่ได้รับโอกาสให้ชี้แจงหรืออุทธรณ์ร้องขอความเป็นธรรม ในขณะที่ผู้ที่ถูกตั้งสงสัยว่าทุจริตคอรัปชั่นกลับได้รับการปกป้อง ผู้ที่พยายามตรวจสอบการคอรัปชั่นกลับถูกขัดขวางและถูกดำเนินคดีในศาลทหารหรือถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ระบบการบริหารราชการจึงเป็นไปโดยขาดการตรวจสอบ ถ่วงดุล

3.การทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย : ไม่สงบจริง ไม่ยั่งยืนและค่าใช้จ่ายแพง

การทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนพอใจมากที่สุด แต่ความสงบที่เกิดขึ้นเกิดไม่ได้เกิดจากการทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย หากเกิดจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่คำพูดกลายเป็นกฎหมาย ปิดกั้นการแสดงความเห็นที่แตกต่าง การร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนกระทำไม่ได้ ความสงบที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นความสงบราบคาบที่รอวันปะทุ ไม่ใช่ความสงบที่ยั่งยืน เนื่องจากสังคมไม่ได้เตรียมการเข้าสู่สภาพที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรมและระบบยุติธรรมไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

การทำให้เกิดความสงบราบคาบโดยอำนาจเบ็ดเสร็จนี้ ไม่ต่างอะไรจากคนไข้หนักที่เป็นโรคร้ายแรงและต้องการการผ่าตัด แต่กลับได้รับยาระงับปวดที่เป็นยาเสพติดที่ให้โทษร้ายแรงแต่ขาดไม่ได้

4.การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการทำให้เกิดการปรองดอง : ขาดความเข้าใจอย่างสิ้นเชิง

สองปีมานี้ ผู้มีอำนาจมักพูดถึงความขัดแย้งอย่างผิวเผินเพื่ออ้างเหตุของการเข้าสู่อำนาจและความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในอำนาจต่อไป ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปรองดอง ผู้มีอำนาจจะบอกว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ผู้กระทำความผิดต้องมารับโทษเสียก่อน ขณะเดียวกันก็ประกาศว่า “คำพูดคือกฎหมาย” และ “ฉันนี่แหละคืออำนาจ”

ผู้มีอำนาจไม่เคยแสดงออกถึงความเข้าใจต่อปัญหาความขัดแย้งและการปรองดองเลยแม้แต่ครั้งเดียวว่าการปรองดองหมายถึงการทำให้ผู้ที่มีความขัดแย้งแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้โดยอาศัยและยอมรับกฎกติกาที่เป็นธรรม ไม่ใช่การใช้กำลังเข้าหักหาญทำลายกันหรือการกดไว้ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเบ็ดเสร็จของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ไม่เคยมีความพยายามที่จะรวบรวมองค์ความรู้และข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการปรองดองที่มีอยู่แล้ว ไม่เคยส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทยและไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียม

สิ่งที่คสช.ดำเนินการเรื่อยมา นอกจากไม่ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแล้ว คสช.ยังได้กลายฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งเสียเอง ความขัดแย้งระหว่างคสช.กับประชาชนผู้เห็นต่างทั้งหลาย

5.การละเมิดสิทธิมนุษยชน : มากเป็นประวัติการณ์

การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบวิธีการต่างๆได้เกิดขึ้นอย่างมากมายต่อเนื่อง ได้แก่ การใช้คำสั่งคสช.เพื่อควบคุมกักขัง สร้างเงื่อนไขเพื่อห้ามแสดงความเห็นทางการเมืองที่เรียกว่าการปรับทัศนคติ การระงับธุรกรรมทางการเงิน การห้ามเดินทางไปต่างประเทศ การเพิกถอนหนังสือเดินทาง การใช้คำสั่งที่ให้ทหารมีอำนาจในการจับกุมคุมขัง ตรวจค้นและสอบสวนมากกว่าตำรวจและโดยไม่ต้องมีหมายศาล คำสั่งให้อำนาจทหารในการจัดการกับผู้มีอิทธิพลที่ถูกใช้กับนักการเมืองบางฝ่ายเท่านั้น การตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลและการดำเนินคดีในศาลทหาร รวมทั้งการข่มขู่คุกคามครอบครัว สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์คสช.และรัฐบาล ซึ่งนอกจากจะเป็นการปิดปากผู้เห็นต่างแล้ว ยังเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนทั่วไปด้วย

การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประเทศต่างๆทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้สถานะและภาพพจน์ของประเทศไทยตกต่ำและเป็นอุปสรรคต่อการร่วมมือกับประเทศต่างๆในทุกด้าน

6.การคืนประชาธิปไตย : ยืดออกไปเรื่อยๆ

การยึดอำนาจที่ว่าขอเวลาอีกไม่นานนั้น ผ่านไปแล้ว 2 ปี มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ล้มกันไปเองแล้ว 1 ฉบับกับร่างอีก 1 ฉบับที่รอการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะได้ไปเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ เพราะจะมีสว.ที่มาจากคสช.จำนวนมากมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี มีความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะไม่ได้มาจากสส. รัฐบาลจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้น้อย ทั้งจากที่มาและการถูกกำหนดโดยยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่กำกับโดยวุฒิสภา

ผู้ที่มีอำนาจมากกว่ารัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร คือ วุฒิสภา องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ สภาพเช่นนี้อาจจะดำรงอยู่ไปอย่างน้อย 5 – 10 ปี พร้อมกับแผนปฏิรูปที่จะมีผลไปอีก 20 ปี ร่างรัฐธรรมนูญนี้เมื่อใช้แล้วจะแก้ได้ยากมากหรือที่คนจำนวนมากเชื่อว่าจะแก้ไม่ได้อีกแล้ว
กำลังมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่การทำประชามติกลับเป็นไปโดยไม่เสรีและเป็นธรรม ผู้มีอำนาจทั้งหลายชี้นำให้รับร่างรัฐธรรมนูญนี้กันอย่างออกนอกหน้า มีการใช้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักศึกษาวิชาทหารและองค์กรมวลชนจัดตั้งของฝ่ายความมั่นคงจำนวนรวมกันหลายแสนคนชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจหน้าที่ในการชี้นำหรือจูงใจให้รับร่างฯ

ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกือบจะพูดอะไรทำอะไรไม่ได้ มีการข่มขู่ว่าอาจจะผิดกฎหมายประชามติที่กำหนดโทษร้ายแรงอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลและเขียนไว้อย่างคลุมเครือ หรือไม่ก็อาจขัดคำสั่งคสช.ฉบับใดฉบับหนึ่ง มีการเสนอความเห็นทักท้วงขอให้แก้ไขผ่อนคลาย แต่ก็ไม่มีการตอบสนองในทางที่ดี

การทำประชามติครั้งนี้จึงกำลังมีปัญหาการไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญไปด้วย

ประเทศไทยกำลังจะเสียโอกาสที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างในทางความคิดด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากไปทำให้การลงประชามติไม่เสรีและไม่เป็นธรรมเสียตั้งแต่ต้น ส่วนการคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนก็ถูกยืดออกไปจนไม่เห็นอนาคต
7.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ : ข้อจำกัดจากระบบการปกครอง

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาค แม้จะกระเตื้องขึ้นบ้างเล็กน้อยจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ แต่การลงทุนยังชะลอตัวและการบริโภคต่ำ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูงมาก ภาวะเช่นนี้ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย รวมถึงเกษตรกร คนยากจน ต้องเดือดร้อนมากกว่า ทุนขนาดใหญ่บางส่วนเท่านั้นที่ยังพอทำธุรกิจกันไปได้ ปัญหานี้เป็นผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้ากับประเทศชะลอตัวก็จริง แต่ถูกซ้ำเติมด้วยการขาดวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ ความรู้ในการทำงาน การวางคนที่ไม่เหมาะกับงาน เอาคนที่ไม่มีความรู้ด้านการบริหารมาคุมกระทรวงสำคัญๆเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยคนที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจไม่สามารถทำอะไรได้

นอกจากนั้น นายกฯยังขาดความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ ความรู้ในการบริหารประเทศและขาดการรับฟังผู้อื่น มักแสดงความเห็นแบบผิดบ้างถูกบ้าง พูดเผื่อๆไว้ จนไม่มีใครรู้ว่านโยบายรัฐบาลคืออะไรกันแน่แทบทุกเรื่อง

ปัญหาที่ซ้ำเติมเข้ามา เนื่องจากประเทศไทยต้องคบค้าต่างประเทศ รวมทั้งมีเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วยการเจรจา แต่ประเทศต่างๆก็จะไม่ร่วมมือ ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขาดความเชื่อมั่นว่าประเทศจะมีเสถียรภาพและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปได้
เรื่องนี้เป็นค่าใช้จ่ายและความเสียหายที่แพงมากของการรัฐประหารและการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

บทสรุป 2 ปีหลังการรัฐประหาร

การรัฐประหารและการดำเนินการต่างๆที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จดังที่กล่าวอ้าง เกิดเป็นความเสียหายต่อประเทศชาติในทุกด้าน

2 ปีมานี้ ไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้นแม้แต่เพียงเรื่องเดียวและไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้ การปฏิรูปเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เกิดการเข้าสู่อำนาจและการมีอำนาจต่อไปอีกยาวนานเท่านั้น

ไม่มีหลักประกันว่าการคอรัปชั่นจะลดน้อยลงและยังเกิดระบบที่เอื้อต่อการคอรัปชั่นเสียเองอีกด้วย ระบบกลไกในการจัดการกับปัญหาคอรัปชั่นได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จใน 2 ปีมานี้ ทำให้ไม่มีองค์กรอิสระ การบริหารราชการไม่มีการถ่วงดุลและไม่มีใครตรวจสอบได้ การใช้คำสั่งต่างๆไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการป้องกันปราบปรามคอรัปชั่น

ผู้มีอำนาจไม่ได้แสดงความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการปรองดอง ทั้งยังสร้างความขัดแย้งด้วยการใช้อำนาจตามอำเภอใจและเลือกปฏิบัติ ทำให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง

มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากเป็นประวัติการณ์ ประเทศไทยตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเวทีโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน สถานะของประเทศตกต่ำและเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือกับประเทศต่างๆ

หลังจากผ่านไป 2 ปี การขอเวลาอีกไม่นานกำลังจะกลายเป็นการขอเวลาควบคุมอีก 5 ปีที่อาจมีผลต่อเนื่องไปเป็น 10 ปีหรือ 20 ปี สิ่งเหล่านี้ถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่กำลังจะมีการลงประชามติแบบไม่เสรีและเป็นธรรม

สิ่งที่ทำให้คนจำนวนมากพอใจเพียงสิ่งเดียว คือ การยุติความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมือง แต่สิ่งนั้นไม่ใช่ความสงบที่ยั่งยืน หากเป็นความสงบราบคาบที่รอวันปะทุ เนื่องจากความสงบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย หากเกิดจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่คำพูดกลายเป็นกฎหมาย ปิดกั้นการแสดงความเห็นที่แตกต่าง การร้องเรียนถึงความเดือดร้อนกระทำไม่ได้ สังคมไม่ได้เตรียมการเข้าสู่สภาพที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรมและระบบยุติธรรมไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

การทำให้เกิดความสงบราบคาบโดยอำนาจเบ็ดเสร็จนี้ ไม่ต่างอะไรจากคนไข้หนักที่เป็นโรคร้ายแรงและต้องการการผ่าตัด แต่กลับได้รับยาระงับปวดที่เป็นยาเสพติดที่ให้โทษร้ายแรงแต่ขาดไม่ได้

สิ่งที่ประชาชนคาดหวังอย่างมาก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากเป็นเพราะขาดวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ความรู้ ความสามารถแล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความไม่ยอมรับต่อการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สองปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรทำได้ตามที่อ้าง ที่ดูเหมือนทำได้ก็ไม่ใช่ของดีจริง ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงมากคือทำให้เกิดความเสียหายในทุกด้าน

ooo




บีบีซีไทย - BBC Thai
May 22 ·

สองปีรัฐประหารไม่ว่าฝ่ายต้านหรือหนุนต่างไม่พอใจ ฝ่ายหนุนชี้การปฎิรูปไม่เดินหน้า ขณะที่ตัวเลขข้อมูลการดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มและแรงขึ้น

นายฟิลลิป คาลเวิร์ต เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @PhilCalvert2 เนื่องในวาระครบรอบ 2 ปีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยระบุว่าแคนาดายังคงกังวลเรื่องการควบคุมด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมเรียกร้องให้มีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผย

ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะริเริ่มปฏิรูปในหลายเรื่องที่รัฐบาลเลือกตั้งไม่กล้าทำ แต่หลังเลือกตั้งอาจถูกรื้อถอนกลับไปเหมือนเดิม พร้อมแนะนำ คสช.ใช้เวลาที่เหลือในการต่อยอดการปฏิรูปในระดับโครงสร้างอำนาจหรือตรากฎหมายรองรับ และเตือนว่าความแตกแยกไม่ได้ลดหายไปไหนแค่หลบฉากพรางตัวกันไปเท่านั้น รอวันปะทุอีกรอบ ส่วนอีกหนึ่งปีที่เหลือตามโรดแมปของ คสช. หากยังไม่เดินหน้าปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ ก่อนเลือกตั้งและไม่กำจัดเงื่อนไขการเมืองที่ล้มเหลวแตกแยก การเมืองไทยจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีความเสี่ยงสูง และอาจจะมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

ด้านเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีครบรอบ 2 ปีของรัฐบาล คสช.เข้าบริหารประเทศว่ามีทั้งข้อดีและข้อด้อยคือ ข้อดีคือทำให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบอีกครั้ง ประชาชนในสังคมรู้สึกถึงความปลอดภัยมากขึ้น ไม่มีการข่มขู่ คุกคามของฝ่ายใด ส่วนข้อด้อย คือ สร้างความเข้าใจที่ผิดให้คนในสังคมเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองได้ ทั้งที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราส่วนใหญ่เกิดจากตัวบุคคลที่ใช้อำนาจในการบริหารบ้านเมือง จนสร้างปัญหาในสังคม แต่กลับโทษหรือเข้าใจว่าเป็นเพราะระบอบประชาธิปไตย ทำให้สังคมไทยลังเลที่จะกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย iLaw เผยแพร่รายงาน “24 เดือน คสช. เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม” ระบุว่าตลอดสองปีที่ คสช. อยู่ในอำนาจ รัฐเลือกที่จะปราบปรามคนที่แสดงออกในทางไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของ คสช. โดยใช้ทั้งกระบวนการกฎหมายปกติและกฎหมายพิเศษ ซึ่งกฎหมายที่ถูกนำมาใช้กว้างขวางมากขึ้น ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ ทั้งยังมีการบังคับใช้กฎหมายที่มากเกินกว่าตัวบทหลายกรณี เช่น การกดถูกใจในเฟซบุ๊ก การโต้ตอบกับบุคคลอีกฝ่ายโดยไม่ติเตียน หรือการโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อล้อเลียนผู้บริหารประเทศ ล้วนถูกตั้งข้อหาว่าเป็น "ภัยความมั่นคง"

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายพิเศษอีกหลายฉบับที่ออกโดยคณะรัฐประหาร เช่น การประกาศห้ามการชุมนุมทางการเมือง การประกาศให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร นับถึงวันครบสองปีของการรัฐประหาร มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 67 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 85 คน
ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/255 ทำให้ทหารเข้ามาอยู่เหนือระบบยุติธรรมแบบครบวงจร ตั้งแต่การออกกฎหมาย การจับกุม การตั้งข้อกล่าวหา การสอบสวน การดำเนินคดี การตัดสินคดี และการรับโทษ หลายกรณีคนที่ถูกควบคุมตัวอ้างว่าถูกซ้อมหรือถูกข่มขู่ให้รับสารภาพ ผู้ถูกทหารควบคุมตัวไม่มีสิทธิพบทนายความหรือติดต่อญาติ ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว และเจ้าหน้าที่ทหารก็ยังสามารถเข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวนกับตำรวจได้ ทั้งยังมีการจัดตั้งเรือนจำพิเศษขึ้นภายในค่ายทหาร ตลอดสองปีของการรัฐประหาร มีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหารในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างน้อย 167 คน