วันอังคาร, พฤษภาคม 24, 2559

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารไม่ได้คืนแต่ "ความสุข"





โดย ilaw-freedom
20 พฤษภาคม 2016

ที่มา ILaw


"จากเด็กค่อนข้างร่าเริง ยายบอกว่า ทั้งสองสาวกลายเป็นคนเงียบๆ ซึมๆ ไปมากขึ้น นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่แม่ไม่ได้อยู่บ้านอีกต่อไป"

คำบอกเล่าของผู้เป็นยายถึงความรู้สึกของหลานสาวหลังลูกสาวเธอ ศศิวิมล ผู้เป็น “แม่” ของเด็ก ต้องถูกคุมขังในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

ครอบครัวคือรากชีวิตของมนุษย์ คือสถาบันพื้นฐานการดำรงอยู่ของมนุษย์ การขาดหายไปของใครสักคนล้วนทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง แต่หากสิ่งที่ทำให้พวกเขาพลัดพรากจากกันเป็น 'รัฐ' ที่ใช้อำนาจมากกว่าเหตุผลในกระบวนการยุติธรรมดั่งเช่นภายใต้สองปีของ คสช. ก็น่าสนใจว่ากระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติส่งผลกระทบต่อคนจำนวนหนึ่งอย่างไรบ้าง

หลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และตามประกาศและคำสั่งต่างๆ เพื่อเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ พร้อมกำหนดโทษฐานไม่มารายงานตัว, ใช้อำนาจคุมขังบุคคลไว้ 7 วันโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา, สั่งให้คดีทางการเมืองของพลเรือนต้องพิจารณาที่ศาลทหาร คนจำนวนมากถูกจับกุมและดำเนินคดี คนจำนวนมากตัดสินใจหลบภัยการเมืองออกจากประเทศไทย จากนี้คือเรื่องเล่าบางแง่บางมุมของผู้คนที่ต้องพลัดพรากอันเป็นผลจากการใช้อำนาจทหารเหนือกระบวนการยุติธรรม

ศศิวิมล: ในวันที่ไม่มีแม่อยู่ด้วย

ศศิวิมลถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก ก่อนถูกจับกุมเธอ อายุ 29 ปี เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ มีอาชีพเป็นพนักงานที่โรงแรมแห่งหนึ่ง มีบุตรสาว 2 คน อายุ 10 ปี และ 7 ปี เมื่อ ศศิวิมลถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2558 ยายจึงต้องเป็นผู้ดูแลหลานสาวทั้งสอง

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกตัวศศิวิมลไปที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยแจ้งว่า ให้มาเซ็นหมายศาล แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่า ถูกนำตัวไปที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ เพื่อขออำนาจฝากขัง ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ทันที ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน 2557 เธอเคยถูกเจ้าหน้าที่ค้นบ้าน ก่อนนำตัวไปสอบสวน ซึ่งเธอเองก็ยอมรับว่าไม่ทราบถึง 'ความร้ายแรง' ของข้อหามาตรา 112 นี้มาก่อน วันที่ไปก็พาลูกสาวคนเล็กไปด้วยเนื่องจากไม่มีใครดูแล ในขณะที่หัวหน้างานก็โทรตามงานเธอเรื่อยๆ จึงรู้สึกร้อนรนอยากให้เรื่องนี้จบๆไป จึงให้การรับสารภาพกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรภูพิงราชนิเวศน์โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย

กระทั่ง 7 สิงหาคม 2558 ในชั้นสืบพยาน ศศิวิมลให้การรับสารภาพ พร้อมให้ทนายยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพเพื่อโอกาสลดหย่อนโทษภายหลัง แต่ศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาคดีในวันดังกล่าวทันที โดยตัดสินจำคุกกรรมละ 8 ปี จาก 7 ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ รวมเป็น 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 28 ปี

"ยายเล่าว่าวันนั้น หลังกลับถึงบ้าน ได้พยายามบอกเรื่องคำพิพากษากับหลานๆ ทั้งสองคน ลูกสาวคนโตพอเข้าใจว่าแม่ต้องติดคุกอีกสักพักใหญ่ๆ แต่ดูเหมือน เธอจะไม่รู้หรอกว่า 28 ปี มันนานเท่าไร เธอเงียบซึมไป"


โอภาส: เจอคดีซ้ำสอง ภรรยารอต่อไปนานเท่าตัว


"ภรรยาของลุงโอภาสหอบโฉนดที่ดินมูลค่าประเมิน 2.5 ล้านบาท เพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นคดีมาตรา 112 ที่ยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ที่สูงที่สุดของปี แต่ศาลไม่อนุญาต"

ตุลาคม 2557 มีข่าวจับชายสูงวัยคนหนึ่งจากการเขียนฝาผนังห้องน้ำ คนคนนั้นคือโอภาสวัย 67 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย เบื้องต้นเจ้าตัวรับว่าเขียนข้อความตามข้อกล่าวหาจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพียงแต่ต้องการวิจารณ์คณะรัฐประหาร เขาถูกคุมขังอยู่ที่ห้องขังกองปราบปรามเป็นเวลาห้าวัน ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เข้มงวด ท่ามกลางความไม่รู้ไม่เข้าใจกระบวนการกฎหมายและอนาคตที่ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจศาลทหาร ประกอบกับความเครียดทั้งเรื่องการงานการเงินและครอบครัว โอภาสมีภรรยาสุดรักเพียงคนเดียวที่ยังคอยเป็นกำลังใจอยู่ข้างๆ เดินทางมาเยี่ยม ซื้อข้าวซื้อน้ำ และของใช้จำเป็นอื่นๆ มาส่งให้ทุกวัน

"หากปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนี" คือเหตุผลที่ศาลยกคำร้องหลังภรรยายื่นขอประกันตัวในทุกครั้ง

มีนาคม 2558 ศาลทหารพิพากษาจำคุกโอภาส 3 ปี เขาให้การรับสารภาพจึงลดโทษ เหลือ 1 ปี 6 เดือน แต่แล้วโอภาสเหมือนต้องคำสาป เพราะเขาถูกฟ้องอีกคดีจากการเขียนฝาห้องน้ำอีกบานในลักษณะเดียวกัน ศาลนัดสอบคำให้การเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งทนายความแย้งว่าการเขียนประตูห้องน้ำบานที่สองของโอภาสในวันเดียวกัน อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดครั้งแรกเป็นการกระทำครั้งเดียวกัน โอภาสให้การรับสารภาพอย่างเช่นคดีแรกศาลทหารลงโทษ 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน ให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษคดีเดิม มากไปกว่าโทษทัณฑ์คือการรอต่อไปของครอบครัวที่จะได้อยู่กันพร้อมหน้า

สิรภพ: เสาหลักที่หายไปพร้อมการพิจารณาคดีที่เชื่องช้า

"วันนั้นลูกสาวทั้งสองอุ้มหลานทำอะไรไม่ถูก ได้แต่กอดกันร้องไห้ มีเพียงลูกชายที่ยังพอควบคุมสติได้ เมื่อทหารบุกเข้ามา"

สิรภพจำเลยคดี 112 อีกคนเล่าถึงเหตุการณ์ทหารเข้าไปค้นบ้านหลังรัฐประหาร เมื่อเขามีชื่อถูกเรียกรายงานตัว

สิรภพ หรือ รุ่งศิลา เป็นกวีที่เขียนเรื่องกลอนเนื้อหาเชิงการเมืองลงในเว็บไซต์ เขามีอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่จังหวัดสงขลา แต่เมื่อเขาถูกดำเนินคดี ก็ทำให้ครอบครัวตกอยู่ในสภาพที่เลวร้ายลง กิจการรับเหมาก่อสร้างต้องเลิกเนื่องจากขาดคนหลักในการทำต่อ สิรภพยังถูกดำเนินคดีถึง 2 คดีในเวลาเดียวกัน คือ คดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวต่อคสช. และคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ซึ่งสิรภพปฏิเสธทั้งสองข้อหา แม้จะผ่านมาเกือบสองปีแล้ว แต่การพิจารณาของทั้งสองคดี ยังอยู่ในชั้นสืบพยานฝ่ายโจทก์ เพราะการพิจารณามักถูกเลื่อนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจะถึงวันตัดสินคดี

สิรภพตัดสินใจต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง โดยเลือกที่ยอมแลกกับการต้องต่อสู้คดีเป็นเวลานานและเวลาที่เขาจะต้องพลัดพรากจากครอบครัวก็จะยาวนานออกไปเรื่อยๆ ปัจจุบันลูกสาวคนโตของสิรภพเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีและต้องทำงานเพื่อส่งเสียให้น้องอีกสองคนได้เรียนให้จบ ลูกทั้งสามคนยังคงทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเยี่ยมสิรภพทั้งที่เรือนจำและวันที่ต้องมาศาล






รินดา: ลูกๆที่เกือบพรากจากแม่เลี้ยงเดี่ยว

รินดา อายุ 44 ปี ถูกจับจากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท พร้อมข้อหายุงยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ในวันแรกที่เธอถูกฝากขัง ศาลทหารไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า เห็นว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากปล่อยชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน รินดาถูกขังอยู่ที่เรือนจำเป็นเวลา 3 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว ล่าสุดศาลทหารและศาลอาญา เห็นตรงกันว่าคดีนี้ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แต่อาจเป็นแค่ความผิดฐานหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จึงให้จำหน่ายคดีไปฟ้องใหม่ที่ศาลอาญา

รินดา เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีลูกสาวและลูกชายวัย 13 และ 7 ปี ระหว่างที่เธอถูกคุมขัง ครอบครัวของเธอต้องเผชิญสภาวะสุ่มเสี่ยงที่ลูกๆ อาจต้องขาดแม่เนื่องจากสามีเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2555 ถึงแม้จะมีปู่และย่าที่คอยดูและเด็กๆ บ้าง แต่รินดาก็เป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว

หนุ่มธนาคารที่ต้องสูญเสียความมั่นคงในชีวิต

"ผมไม่ได้ขึ้นตำแหน่ง ความก้าวหน้าทางอาชีพจะไม่มี โบนัสก็ไม่ได้ สิทธิในการสอบขึ้นระดับ การพิจารณาขั้นพิเศษ ผมจะไม่ได้เลย มันเป็นการสร้างความยากลำบากให้กับชีวิตอย่างสาหัสมาก เราไม่สามารถวางแผนการเงินในชีวิตได้ พูดง่ายๆ กลายเป็นคนไม่มีอนาคต ต้องลูบหน้าปาดจมูกเป็นเดือนๆ ไป มันสร้างความเครียดให้ผมอย่างมาก"

ชายผู้หนึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดกับเขา ภายหลังเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้ามาจับกุมตัวเขาไปจากที่ทำงานเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ทหาร การจับกุมดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ทำให้เขาต้องอยู่ในการควบคุมตัวของทหารนานถึงเจ็ดวัน และต่อมาถูกตั้งข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ภายหลังการตั้งข้อหา เขาถูกที่ทำงานซึ่งเป็นธนาคารแห่งหนึ่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและทำให้เขาถูกระงับสวัสดิการและความก้าวหน้าในชีวิตเขากลายเป็นคนไม่มีความมั่นคง จนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น เขาต้องอยู่ในสภาวะเสี่ยงจะตกงานไปตลอด

"สิ่งที่ผมสูญเสียไม่ใช่แค่ความมั่นคงในหน้าที่การงาน ผมรู้สึกไม่ปลอดภัย แค่ผมเห็นรถเจ้าหน้าที่ทหารผมก็สะดุ้ง ยิ่งมีรถทหารมาต่อท้ายผมก็จะรู้สึกว่าโดนติดตามหรือเปล่า จนบ่อยครั้งผมก็ฝันร้าย ฝันว่าเหตุการณ์แบบนั้นมันจะเกิดขึ้นอีก.." เขากล่าว

อัครเดช: การขาดไปของอิสรภาพของทั้งพ่อและลูก

กรณีของอัครเดช นักศึกษาคณะวิศวะกรรมศาสตร์ ถูกดำเนินคดี 112 จากสเตตัสในเฟซบุ๊ก เขารับสารภาพศาลอาญาลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในระหว่างที่อัครเดชต้องอยู่ในเรือนจำคนที่คอยมาเยี่ยมเยือนและดูแลเขาอยู่ตลอดเวลาอยู่เวลา คือ พ่อของเขา แต่ต่อมาสุรพลพ่อของอัครเดช ก็ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากเหตุที่มีคนปาระเบิดใส่ลานจอดรถศาลอาญา สุรพลต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารและไม่ได้รับการประกันตัว ขณะนี้ทั้งอัครเดชและสุรพลต่างถูกจองจำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของพ่อลูกคู่นี้
จอม เพชรประดับ: ความอบอุ่นจางหายเมื่อไม่ได้กลับบ้าน


แม้ไม่ได้อยู่ในคุก แต่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน

"ความรู้สึกผิด..กลับมาอยู่ในห้วงความคิดอีกครั้ง เมื่อทราบว่า พี่ชายคนที่ 4 เสียชีวิตไปอีกคน แม้ว่ายังมีพี่น้องอีกหลายคนอยู่เคียงข้าง แต่ธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัว วันสุดท้ายของใครคนใดคนหนึ่ง สมาชิกทุกคนต้องอยู่พร้อมหน้ากัน เพื่อร่วมส่งดวงวิญญาณของบุคคลอันเป็นที่รักให้ได้ไปสู่ภพที่ดี สุข สงบ และสว่าง รวมทั้งเพื่ออโหสิกรรมในสิ่งที่ได้ทำผิดพลาดไป ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ
เรา..ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำเช่นนั้น 3 ปี..ของการหนีจากบ้าน ทำให้ ความรู้สึกมั่นคง ความอบอุ่น จางหายออกจากใจไปไม่น้อย"

จอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าว พิธีกรช่อง NBT, VoiceTV เขียนโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความรู้สึก และตัดพ้อต่อโชคชะตาในวาระที่พี่ชายของเขาเสียชีวิต แต่เขาไม่อาจกลับมาร่วมงานศพได้ จอมถูก คสช.ออกคำสั่งที่ 82/2557 เรียกให้มารายงานตัว แต่ไม่มารายงานตัวและลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ระหว่างการใช้ชีวิตในต่างแดน จอมยังคงพยายามทำหน้าที่สื่อมวลชนและผลิตรายการวิเคราะห์การเมืองด้วยตัวเอง เขาเชิญผู้คนมาสัมภาษณ์ออกรายการอย่างต่อเนื่องทางยูทูป “Thaivoicemedia” ซึ่งการพยายามเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของเขายิ่งทำให้โอกาสกลับบ้านของเขาน้อยลงไปอีก
ธันย์ฐวุฒิ: สองปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยได้เจอลูกเลย





จอม ขณะใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา


"ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ อยู่ในสภาพที่ยังพอมีเงินติดตัวมาและคิดว่ายังต้องต่อสู้ต่อไป แต่พอผ่านไประยะนึงการต่อสู้ทางการเมืองไม่ตอบโจทย์ว่าจะทำให้เราเลี้ยงตัวเองได้ เพราะคำถามหลักของเรา คือ เราจะกลับเมืองไทยได้เมื่อไร เลยต้องตัดสินใจว่าจะยุติการเคลื่อนไหวและสนใจเรื่องทำมาหากิน”

ธันย์ฐวุฒิ หรือ “หนุ่มเรดนนท์” อดีตนักโทษคดีมาตรา 112 กล่าว ธันย์ฐวุฒิเคยต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำกว่าสามปีก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมา หลังการรัฐประหาร เขาถูกคสช.ออกคำสั่งที่ 44/2557 เรียกให้มารายงานตัว แต่ไม่มารายงานตัวเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง และตัดสินใจลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

"สองปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยได้เจอลูกเลย ตอนแรกเรายังไม่อยากย้ายไปไหนเพราะแม่ของผมบอกว่าพอลูกจบม.3 จะส่งลูกมาอยู่กับผม เราก็เตรียมตัวว่าถ้าทำธุรกิจประสบความสำเร็จลูกมาก็จะต้องสบาย เราก็จะเอาเงินให้ลูกได้ สองปีที่ผ่านมาก็คอยอยู่ แต่พอตอนนี้เขาก็ต่อม.ปลายที่เมืองไทย ทุกวันนี้ก็เริ่มมีเงินส่งกลับไปเป็นค่าเรียนได้บ้าง แต่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ช่วยเหลือทางบ้านเลย ถ้าเราส่งได้มากกว่านี้เราก็จะทำ แต่ลำพังเราอยู่ที่นี่ก็ลำบากเพราะอาหารก็แพง" ธันย์ฐวุฒิเล่า

ธันย์ฐวุฒิ เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ใช้ชีวิตอยู่กับลูกชายหนึ่งคนตามลำพัง เขาถูกจับและเข้าเรือนจำครั้งแรกเมื่อปี 2553 ทำให้เขาต้องพลัดพรากจากลูกครั้งแรก เขาได้ออกจากเรือนจำมาและอยู่กับลูกอีกครั้งไม่ถึงหนึ่งปี เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลง ความพลัดพรากก็เกิดขึ้นอีกครั้งแต่คราวนี้ยังไม่อาจบอกได้ว่านานเท่าไร




ธันย์ฐวุฒิ ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ


ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจทหารเหนือกระบวนการยุติธรรม คนจำนวนมากต้องถูกดำเนินคดี คนหลายคนต้องถูกจำคุก และคนอีกหลายคนต้องตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ จากการบันทึกข้อมูลของไอลอว์ ตลอดสองปีในยุคคสช.มีคนอย่างน้อย 93 คนที่ต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ เพราะการแสดงความคิดเห็น และอย่างน้อย 303 คนที่ผ่านการถูกคุมขังในค่ายทหาร ปัจจุบันบุคคลที่ยังถูกคุมขังอยู่เพราะการแสดงออกอย่างสงบมีอย่างน้อย 44 คน ซึ่งเป็นการคุมขังตามคำพิพากษา 26 คน และเป็นการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 18 คน

สำหรับจำนวนคนถูกประกาศเรียกรายงานตัวตามคำสั่งคสช.เท่าที่บันทึกได้จากการรายงานของสื่อมวลชน และคำบอกเล่าที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้มี 480 คน จากจำนวนนี้ จนถึงปัจจุบันมีคนเข้ารายงานตัวแล้ว 349 คน ส่วนอีก 131 คน ยังไม่ทราบชะตากรรม

จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน เพราะหนีภัยทางการเมืองมากกว่า 200 คน ในจำนวนนี้มีเพียงคนเดียวที่มีรายงานว่าได้รับสถานะผู้ลี้ภัย คือ เอกภพ หรือ “ตั้ง อาชีวะ” ผู้หนีภัยทางการเมืองประมาณ 10 คน ซึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปอยู่ระหว่างกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยและอยู่ในต่างประเทศได้โดยถูกกฎหมาย ส่วนผู้ที่หนีภัยทางการเมืองส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและมีสถานะเป็นเพียงผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หลายคนยังคงเคลื่อนไหวพยายามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หลายคนเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและสนใจแต่เรื่องการทำมาหากินเท่านั้น

"ทุกคนอยากกลับบ้านหมด ต่อให้คนที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ ก็อยากกลับประเทศไทย ต่อให้จะเกลียดเผด็จการประเทศไทยขนาดไหน ต่อให้จะต้องหนีมายังไงก็ตาม มนุษย์ทุกคนยังไงก็อยากกลับไปพบญาติพี่น้องบนแผ่นดินเกิดตัวเอง เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถ้ากลับไปไม่ได้เพราะด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ก็ต้องปลอบใจตัวเองไป ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วกลับไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว แต่เราก็ไม่รู้ว่าทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร เมื่อความอยุติธรรมยังคงมีอยู่ ก็ยังกลับไม่ได้ แม้ว่าจะอยากกลับแค่ไหนก็ตาม" จอม เพชรประดับ กล่าว

หลากหลายเรื่องราวการพลัดพรากที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการใช้อำนาจของรัฐที่ใช้อารมณ์ในกระบวนการยุติธรรมมากกว่าเหตุผล ผู้คนจำนวนมากเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตลอดสองปีของคสช.ได้บีบให้คนจำนวนมากไม่มีทางเลือก ผู้ได้รับผลกระทบต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ธุรกิจล้มละลายหาย บางคนไม่ได้กลับประเทศ เพียงเพราะความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง ...


อ่านรายงาน 24 เดือนคสช.: เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม ต่อตอนอื่นที่

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นตำรวจ
24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นอัยการและศาล
24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นผู้คุม
24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นกองเซ็นเซอร์
24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารไม่ได้คืนแต่ "ความสุข"

ไฟล์แนบ:
2Y-NCPO.pdf