วันอาทิตย์, พฤษภาคม 08, 2559

ที่นี่เต็มไปด้วยความหดหู่... ถ้าคุณคิดว่าเรื่องคุณแม่จ่านิวมันหดหู่ อยากจะบอกว่าจริงๆมันมีเรื่องหดหู่อีกมาก ดูคุณแม่ลูก 2 คนนี้ติดคุก 28 ปีจากศาลทหาร คดี112





เนื้อหาคดีโดยย่อ

ศศิวิมลเป็นพนักงานของโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 7 ข้อความ

7 สิงหาคม 2558 ศศิวิมลรับสารภาพ ศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็น 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 28 ปี
.....

ศศิวิมล: วันแม่ที่ไม่มีแม่อยู่


ที่มา บล็อกของ กำลังก้าว
14 August, 2015


1

จดหมายลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 เดินทางออกมาจากเรือนจำ ในชื่อหัวว่า “เราห่างกันเพียงแค่ตัว” ที่ข้อความนับได้ 15 บรรทัดพอดีตามระเบียบของเรือนจำ ข้อความห่วงใยของแม่คนหนึ่งบอกเล่าถึงลูกๆ ว่า

“เป็นไงกันบ้าง 2 สาว ตอนนี้กำลังทำอะไรกันอยู่น๊า คิดถึงจังเลย อยากเห็นหน้าลูกสาวของแม่จัง ดื้อกันบ้างหรือปล่าว โดยเฉพาะน้องไอติมต้องดื้อแน่ๆ เลยใช่ไหมลูก คิดถึงแม่กันบ้างไหม ช่วงนี้ฝนตก อากาศก็เย็น ดูแลตัวเองด้วย อย่าแอบไปเล่นน้ำฝนกันล่ะ เดี๋ยวไม่สบาย เรื่องเรียนเป็นไงบ้าง ok ไหม ทำการบ้านเก่งแล้วนี่ เห็นแม่ใหญ่บอกว่าอุ๊งอิ๊งเดี๋ยวนี้เก่งขึ้นเยอะเลย สอนการบ้านน้องถูกหมด ยังไงก็ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือเยอะๆ นะจ๊ะคนเก่ง"

ภาพวาดประกอบในชื่อ “ครอบครัวของเรา” ถูกแต้มระบายสีอยู่ด้านล่างตัวอักษร...เหมือนกับครอบครัวทั่วๆ ไป ทั้งสี่คนในรูปวาดกำลังยิ้มอย่างมีความสุข

2

ศศิวิมล หรือโอ๋ ในวัย 29 ปี ทำงานเป็นพนักงานในแผนกเครื่องดื่มที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เธอแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ก่อนแยกทางกับสามีในเวลาต่อมา โดยมีลูกสาวด้วยกันสองคน คนโตอยู่ในวัย 10 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นป.4 ส่วนคนเล็กอายุ 7 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นป.2

ปัจจุบันเด็กสาวทั้งสองอยู่ในการดูแลของยาย ที่มีโรคประจำตัว และทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมเดียวกันกับโอ๋ ขณะที่ญาติๆ ก็ล้วนเป็นคนหาเช้ากินค่ำไม่ต่างกัน

โดยไม่เคยคิดฝันและไม่เคยแม้แต่ร่วมชุมนุมทางการเมืองใดๆ มาก่อน ปลายเดือนกันยายน 2557 โอ๋ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินทางมาตรวจค้นที่บ้านเช่า โดยได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือไปตรวจสอบ เธอยังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “รุ่งนภา คำภิชัย” โดยเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ

จากคำบอกเล่าของโอ๋ เธอยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ได้เกลี้ยกล่อมให้เธอรับสารภาพว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ โดยบอกเธอว่าขอให้รับๆ ไปก่อน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แล้วจะปล่อยตัวไป

วันนั้นยังเป็นวันที่ชุลมุนวุ่นวายสำหรับเธอ ลูกสาวคนเล็กที่พามาสถานีตำรวจด้วยเนื่องจากไม่มีใครดูแล กำลังไม่สบาย หัวหน้างานก็โทรศัพท์มาตามไปทำงาน และเนื่องจากไม่เคยทราบเรื่องมาตรา 112 หรือกระบวนการทางกฎหมายใดๆ มาก่อน โอ๋จึงให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย

13 กุมภาพันธ์ 2558 ก่อนหน้าวันแห่งความรัก โอ๋นัดหมายเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยไม่ทราบว่าจะถูกควบคุมตัวดำเนินคดี และไม่คิดจะหลบหนี เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาการกระทำผิดตามมาตรา 112 ก่อนนำตัวไปฝากขังยังศาลทหาร

เธอถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมานับแต่นั้น


3

เด็กๆ สองสาว เรียกยายของพวกเธอว่า “แม่ใหญ่” ขณะเรียกแม่ของพวกเธอว่า “แม่โอ๋”

จากคำบอกเล่าของยาย อุ๊งอิ๊ง หลานสาวคนโตจะติดแม่มากกว่าไอติม แต่โอ๋และลูกสาวทั้งสองก็ยังสนิทสนมกันมาก มักไปไหนมาไหนและทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันเสมอ โอ๋ทำหน้าที่รับส่งลูกสาวไปโรงเรียนทุกเช้าเย็น นอนดูหนังด้วยกัน พาไปเที่ยวด้วยกัน โดยเฉพาะชอบพาไปกินหมูกะทะเดือนละสามสี่ครั้ง ทำให้เด็กๆ สองสาวชอบกินหมูกะทะไปด้วย

โอ๋ยังเป็นคนตามใจลูก มักซื้อของเล่นต่างๆ ให้เสมอ เธอและแม่ชอบซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นคู่ๆ ให้ลูกทั้งสองคนเหมือนๆ กัน

จากเด็กค่อนข้างร่าเริง ยายบอกว่า ทั้งสองสาวกลายเป็นคนเงียบๆ ซึมๆ ไปมากขึ้น นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่แม่ไม่ได้อยู่บ้านอีกต่อไป

ทุกวันนี้ ยายต้องเข้างานตั้งแต่รุ่งเช้า ทำให้ต้องปลุกเด็กๆ ตื่นนอน และพาซ้อนจักรยานยนต์ไปส่งที่โรงเรียนก่อนโรงเรียนจะเข้า เมื่อเลิกงานแล้ว ยายจึงมารับทั้งคู่กลับบ้านในตอนเย็น ส่วนในวันอาทิตย์ ที่ยายยังต้องทำงานอยู่ เด็กๆ สองคนต้องอยู่ที่บ้านกันเอง โดยยายทำได้แค่โทรศัพท์กลับมาพูดคุยด้วยเป็นพักๆ

ยายทำได้แค่บอกเด็กๆ ว่า “ช่วงนี้ให้แม่ใหญ่เป็นแม่ แทนแม่โอ๋ไปก่อนนะ”

ทั้งคู่ไม่ทราบว่าแม่ถูกจำคุกเนื่องมาจากอะไร...

4

7 สิงหาคม 2558 ก่อนหน้าวันแม่ไม่กี่วัน

แม่ของพวกเธอต้องขึ้นศาล...เด็กๆ เตรียมพวงมาลัยดอกมะลิซุกไปในกระเป๋า ไปรอไหว้แม่

โดยปกติ เรือนจำเปิดให้ญาติเยี่ยมเฉพาะวันทำการ ทำให้เด็กหญิงทั้งสองไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมแม่ที่เรือนจำได้ เนื่องจากยังต้องไปเรียนหนังสือในวันธรรมดา ในช่วงสองสามเดือนหลังซึ่งโอ๋ลูกนำตัวมาขึ้นศาล ยายจึงลาโรงเรียนให้เด็กๆ และพาสองคนมาเยี่ยมแม่ที่ศาลแทน

สำหรับผู้ต้องขังหญิงเมื่อมาศาล เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ได้นำตัวไปคุมขังในห้องขังเหมือนผู้ต้องขังชาย แต่สามารถนั่งรอกระบวนการของศาลร่วมกันกับญาติๆ ได้ แม่ใหญ่กับญาติๆ จึงมักเตรียมอาหารการกินที่โอ๋ชอบมาที่ศาล เพื่อนั่งกินด้วยกันเสมอ ทั้งลาบดิบลาบสุก ของหวาน กาแฟสด ผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนที่โอ๋ชอบ ขณะที่เด็กๆ ก็กอดและคลอเคลียแม่ของพวกเธออยู่ไม่ห่าง

วันนั้น แม่เธอมาสาย เพราะเรือนจำลืมเบิกตัวออกมา ทำให้ญาติๆ และสองสาวต้องนั่งคอยแม่อยู่นาน เมื่อวิ่งเล่นในบริเวณศาลจนเบื่อแล้ว ยังมานอนเล่นเกมส์จากมือถือบนตักยาย

แม่โอ๋มาถึงหลังเที่ยง สองสาววิ่งเข้ากอดตั้งแต่เมื่อแม่ลงรถมา ก่อนจูงมือเข้าไปภายในศาล และหยิบพวงมาลัยจากกระเป๋าที่เตรียมมา ก้มลงกราบแม่

น้ำตาแม่โอ๋ไหลอาบแก้ม...

หลังกินข้าวด้วยกันในมื้อเที่ยงนั้น สองเด็กสาวต้องรออยู่ด้านล่างศาล ส่วนแม่ต้องขึ้นไปยังห้องพิจารณาคดีด้านบน

ศาลทหารอ่านคำพิพากษาอย่างรวดเร็ว ภายหลังจำเลยเพิ่งยื่นขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพในตอนเช้า ความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 7 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็นจำคุก 56 ปี ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษเหลือจำคุก 28 ปี

ศาลพิจารณาด้วยว่าได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคำร้องประกอบคำรับสารภาพที่ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ

หลังจากนั้น สองเด็กสาวก็เห็นภาพแม่ร้องไห้เสียงดังอยู่ในอ้อมกอดของยายและญาติๆ ก่อนแม่โอ๋จะถูกนำตัวขึ้นรถจากไป...หลังจากกอดลาพวกเธอสองคน

5
ยายเล่าว่าวันนั้น หลังกลับถึงบ้าน ได้พยายามบอกเรื่องคำพิพากษากับหลานๆ ทั้งสองคน

อุ๊งอิ๊ง พอเข้าใจว่าแม่ต้องติดคุกอีกสักพักใหญ่ๆ แต่ดูเหมือน เธอจะไม่รู้หรอกว่า 28 ปี มันนานเท่าไร เธอเงียบซึมไป

ขณะที่ไอติม ยายบอกว่าเธอไม่เข้าใจ แต่วิ่งไปเปิดดูปฏิทินที่ผนัง และชี้ไปที่เลขวันที่ 28 สิงหาคม 2558 โดยนึกว่าแม่จะได้ออกมาในวันนั้น...เธอยังคอยถามว่า “ทำไมแม่ไม่กลับบ้าน”

เด็กหญิงทั้งคู่ยังไม่รู้ และไม่เข้าใจว่าแม่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาอะไร

แม่ใหญ่เองนอนร้องไห้ โดยไม่สามารถข่มตาหลับได้ในคืนแห่งการพิพากษานั้น และยังคงเล่าถึงเรื่องของลูกสาวด้วยน้ำตา พร้อมความรู้สึกที่เธอบอกว่ามัน “กั๊ดอก” อยู่ข้างใน

วันแม่ปีนี้ และอีกหลายปีจากนี้ไป...แม่ใหญ่จะไม่มีลูกสาวอยู่ดูแลครอบครัว และสองเด็กหญิงก็ไม่มีแม่อยู่ข้างๆ กัน

หากเรื่องนี้ทำให้คุณอยากรู้รายละเอียดของคดี คลิกที่นี่เพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูลของเรา


ooo



ย้อนดูคดีและชีวิต “ศศิวิมล” หลังศาลทหารพิพากษาจำคุก 28 ปี





ที่มา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

10 สค. 2015


วันศุกร์ที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสำคัญอีกครั้งหนึ่งสำหรับคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อศาลทหารได้ทำสถิติตัดสินคดีนี้ด้วยโทษจำคุกที่หนักที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนถึง 2 คดีติดต่อกัน ได้แก่ ในช่วงเช้า ศาลทหารกรุงเทพได้ตัดสินในคดีพงษ์ศักดิ์ จำคุก 60 ปี ให้การรับสารภาพ จึงลดเหลือจำคุก 30 ปี (ดูรายงานคดี) และในช่วงบ่าย ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 เชียงใหม่ ได้ตัดสินในคดีศศิวิมล จำคุก 56 ปี ให้การรับสารภาพ จึงลดเหลือจำคุก 28 ปี (ดูรายงานคดี)

ทั้งสองกรณีมาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวนหลายข้อความเช่นเดียวกัน และจำเลยต่างให้การรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดีเช่นเดียวกัน แต่ในคดีศศิวิมล ซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคและแทบไม่ปรากฏเป็นข่าวมากนัก คดีศศิวิมลมีที่มาที่ไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองโดยตรงเหมือนในคดีพงษ์ศักดิ์ (ดูรายงานข่าวกรณีพงษ์ศักดิ์) แต่กลับมีเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนตัว ทั้งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แม้ศาลจะได้ตัดสินพิพากษาโทษอย่างรุนแรง ภายใต้ “คำรับสารภาพ” ของจำเลยไปแล้วก็ตาม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าติดตามคดีศศิวิมลนี้ ในช่วงที่เริ่มมีการส่งฟ้องคดีต่อศาล และจำเลยได้มีการว่าจ้างทนายความเข้าช่วยเหลือคดีเองแล้ว

ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ศูนย์ทนายฯ จึงประมวลข้อมูลของคดีจากคำบอกเล่าของศศิวิมลและครอบครัว คำบอกเล่าของจำเลยว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่กลับต้องจำยอมรับสารภาพในขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจากการสังเกตการณ์คดี มานำเสนอในรายงานชิ้นนี้

หญิงสาวแม่ลูกสอง

ศศิวิมล หรือโอ๋ ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ อายุ 29 ปี เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่โดยกำเนิด ประกอบอาชีพเป็นพนักงานแผนกเครื่องดื่มในโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทำงานดูแลเคาน์เตอร์บาร์ ชงชากาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ ให้กับลูกค้า เธอเป็นลูกสาวเพียงคนเดียวของครอบครัว โดยมารดาเป็นคนจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อแต่งงานกับพ่อจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนที่จะจึงแยกทางกับสามีในเวลาต่อมา และเลี้ยงดูศศิวิมลมาเพียงลำพัง

ศศิวิมลจบการศึกษาในระดับชั้นม.6 โดยสอบเทียบจากการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เคยทำงานเป็นคนเชียร์เบียร์ในร้านอาหาร ก่อนจะมาทำงานที่โรงแรมดังกล่าว เธอสมรสกับสามีที่ทำงานด้านงานช่าง ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน ปัจจุบันอายุ 10 ปี และ 7 ปี ตามลำดับ* กำลังศึกษาอยู่ในชั้น ป.4 และ ป.2 ที่โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่

ต่อมา สามีของศศิวิมลได้ไปมีภรรยาใหม่ จึงได้มีการฟ้องหย่ากัน โดยลูกทั้งสองอยู่ในการดูแลของศศิวิมลจนถึงปัจจุบัน และไม่นานก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ศาลมีคำสั่งให้สามีช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นเงินเดือนละ 3 พันบาท จนกว่าบุตรสาวคนเล็กจะเรียนจบ แต่นอกจากค่าอุปการะดังกล่าว สามีเธอก็ไม่ได้ช่วยเหลือในการดูแลลูกๆ อีก

ก่อนหน้าถูกดำเนินคดี เธออาศัยอยู่ที่บ้านเช่ากับลูกสาวสองคน และแม่ในวัย 48 ปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดที่โรงแรมเดียวกันกับลูกสาว และได้เงินเดือนเดือนละ 9,000 บาทเท่ากันกับศศิวิมล แม่ของเธอยังป่วยเป็นโรคประจำตัว ต้องกินยาอยู่เป็นประจำ ศศิวิมลจึงเป็นตัวหลักในการเลี้ยงดูครอบครัวทั้งสี่ชีวิต

เธอและครอบครัวยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง ไม่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มทางการเมืองใดๆ มาก่อนถูกดำเนินคดีนี้

จากการกลั่นแกล้งส่วนตัว สู่มาตรา 112

การดำเนินคดีนี้ เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 27 ก.ย.57 มีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่” ซึ่งนำโดยนายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร พร้อมประชาชนอีก 8 คน ได้เข้าแจ้งความกล่าวโทษผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” ว่าได้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ โดยในช่วงดังกล่าวได้มีการแชร์ข้อความและรูปของเฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” เพื่อ “ล่าแม่มด” ในเพจออนไลน์บางแห่งด้วย

ก่อนที่ในวันที่ 29 ก.ย.57 ทางกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กเชียงใหม่ได้เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน และมีการชูป้ายให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด มีรายงานข่าวระบุด้วยว่ารุ่งนภา คำภิชัย ได้ติดต่อกับทางกลุ่มเฟซบุ๊กเชียงใหม่ โดยแก้ข่าวว่าตนไม่ใช่ผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด แต่มีการกลั่นแกล้งและปลอมแปลงเฟซบุ๊กดังกล่าวโดยใช้ชื่อของตน ในเบื้องต้น ทราบว่ารุ่งนภาได้เข้าแจ้งความกลับต่อผู้ที่ทำการปลอมแปลงเฟซบุ๊กดังกล่าวขึ้นด้วย หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏรายงานข่าวในกรณีนี้อีก รวมทั้งข่าวการควบคุมตัวศศิวิมลในหลายเดือนถัดมา

จากปากคำของศศิวิมลเอง บุคคลที่ชื่อรุ่งนภาเป็นภรรยาใหม่ของสามีของเธอ และมีปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกับเธอมาก่อนหน้านี้

ต่อมา เธอเล่าว่าเพื่อนสาวคนหนึ่งที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยทำงานเชียร์เบียร์ ได้แนะนำให้แฉข้อมูลของภรรยาใหม่คนดังกล่าว โดยอาสาจะดำเนินการให้ เพื่อนคนดังกล่าวจึงได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเธอเข้าสมัครอีเมล์ใหม่ และทราบต่อมาว่ามีการไปปลอมแปลงแอคเคาท์เฟซบุ๊กในชื่อของรุ่งนภาขึ้น แต่เธอไม่ทราบมาก่อนว่าเพื่อนคนดังกล่าวจะนำไปโพสต์ข้อความที่อาจเข้าข่ายมาตรา 112 จนนำไปสู่การดำเนินคดีนี้

เธอยืนยันว่าทราบเพียงว่ามีการสมัครแอคเคาท์เฟซบุ๊กขึ้น แต่ไม่เคยเข้าโพสต์เฟซบุ๊กในชื่อดังกล่าวเอง ไม่รู้รหัสผ่านที่จะเข้าใช้เฟซบุ๊กนี้ด้วยซ้ำ โดยปัจจุบันเพื่อนคนดังกล่าวก็ไม่สามารถติดต่อได้แล้ว

การหว่านล้อมและแรงกดดันให้รับสารภาพ

ในช่วงราวปลายเดือนกันยายน 57 เธอจำวันที่ไม่ได้แน่ชัด ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินทางไปที่บ้านเช่าของเธอตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า เวลานั้นลูกๆ ยังไม่ตื่นนอน ส่วนแม่ของเธอเพิ่งออกไปทำงาน โดยเจ้าหน้าที่มีการนำหมายค้นมาขอตรวจค้นบ้าน และแจ้งว่าเป็นกรณีเกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูง แต่เธอไม่ทราบว่าเป็นการดำเนินคดีกับตัวเธอเองหรือไม่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะขอนำเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง และมือถือ 2 เครื่อง ไปตรวจสอบ

ศศิวิมลเล่าว่าหลังจากการตรวจค้นนั้น ได้มีการเชิญตัวเธอไปที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เนื่องจากไม่มีใครดูแลลูก วันนั้นเธอจึงได้พาลูกสาวคนเล็กไปที่สถานีตำรวจด้วย และได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายทำการสอบสวนเธอ โดยนำข้อความที่บันทึกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์มาให้ดู ในตอนแรกเธอไม่ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าขอให้รับไปก่อน ไม่มีอะไรร้ายแรง แล้วจะปล่อยตัวไป ทั้งตำรวจสามารถจะเอาตำแหน่งไปช่วยได้

เธอยอมรับไม่ทราบถึง “ความร้ายแรง” ของข้อหามาตรา 112 นี้มาก่อน ทั้งไม่เคยต้องยุ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือต้องมาที่โรงพักมาก่อน จึงไม่ทราบกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ประกอบกับอยู่ในภาวะกดดันและบีบคั้นหลายทาง โดยในวันนั้นลูกสาวคนเล็กที่เธอพามาด้วยไม่ค่อยสบาย และหัวหน้าที่ทำงานก็โทรศัพท์มาตามตัวไปทำงานอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ตำรวจสอบสวน เธอจึงร้อนรนอยากให้เรื่องจบๆ ไป นึกแต่เพียงว่าพูดๆ ไปให้เรื่องมันจบ จะได้ไปทำภารกิจของตัวเองต่อ แทบไม่คิดว่าจะต้องติดคุกติดตาราง

ในที่สุด เธอให้การรับสารภาพกับพนักงานสอบสวน โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วยเวลานั้น เมื่อเสร็จจากการสอบสวนนั้น เจ้าหน้าที่ก็ส่งตัวเธอกลับบ้าน

ช่วงเดือนต.ค. 57 เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ติดต่อแจ้งศศิวิมล ว่าขอให้แม่ของเธอเข้าไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจด้วย แม่เล่าว่าตำรวจได้สอบถามเรื่องทั่วๆ ไป ว่าเห็นลูกสาวเล่นคอมพิวเตอร์บ้างไหม เล่นอะไร เล่นตอนไหนบ้าง หรือถามว่าลูกสาวหลับดึกไหม ซึ่งแม่ก็ตอบว่าเห็นแต่ลูกใช้คอมพิวเตอร์ดูหนังกับหลาน ส่วนเรื่องอื่นๆ แม่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องราว

หลังจากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้อีก และศศิวิมลเองก็ไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีหรือต้องติดคุก จึงไม่คิดจะหลบหนีใดๆ

จนในช่วงเดือนก.พ. 58 ระหว่างที่เธอกับแม่ได้เดินทางไปงานศพของตาที่จังหวัดกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรศัพท์ติดต่อมาให้เธอไปเซ็นเอกสารที่โรงพัก เธอจึงได้นัดหมายเข้าไปพบเจ้าหน้าที่เองในวันที่ 13 ก.พ.58

วันนั้นเอง เมื่อไปถึง เธอกลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊กในชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” จำนวน 6 ข้อความ วันนั้นอีกเช่นกัน เธอได้ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร โดยไม่ได้เตรียมตัวใดๆ มาก่อนล่วงหน้า ก่อนที่แม่ของเธอจะได้เดินทางตามไปเช่าหลักทรัพย์จากนายประกัน เพื่อยื่นขอประกันเป็นเงิน 4 แสนบาท แต่ศาลทหารก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างเหตุว่ากลัวจะหลบหนี เธอจึงถูกนำตัวไปควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

แม่ของเธอยังได้พยายามยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกสองครั้ง โดยเช่าหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว เป็นเงิน 4.5 แสนบาท ทั้งสองครั้ง แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตเช่นเดิม

อีกทั้ง ภายหลังถูกควบคุมตัวประมาณ 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มอีกหนึ่งข้อความ รวมแล้วเธอถูกกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดนี้จำนวน 7 ข้อความ โดยเป็นข้อความที่อยู่ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 57

ศศิวิมลถูกฝากขังเรื่อยมาจนครบทั้ง 7 ผลัด ก่อนที่อัยการทหารจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 33 เมื่อวันที่ 7 พ.ค.58 วันสุดท้ายของการครบกำหนดฝากขังผลัดสุดท้ายพอดี

“กระบวนการยุติธรรม” กับความจริงที่หายไป

ในระหว่างนั้น แม่ของศศิวิมลได้วิ่งหาทนายความมาช่วยเหลือ จนได้มีการว่าจ้างทนายความจากสำนักงานแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เข้าช่วยเหลือในคดี

ทนายความได้พูดคุยถึงแนวทางคดีกับศศิวิมล โดยเธอยืนยันกับทนายว่าไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว จึงเห็นร่วมกันว่าจะขอให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา เพื่อขอนัดตรวจพยานหลักฐานไปก่อน และคิดถึงแนวทางการต่อสู้คดีอีกที โดยเบื้องต้นมีการคิดถึงการต่อสู้เรื่องพยานฐานที่อยู่ต่างๆ ว่าในช่วงเวลาที่มีการโพสต์ข้อความตามฟ้อง จำเลยกำลังเข้าทำงานอยู่ และไม่สามารถเข้าใช้อินเทอร์เน็ตได้ เพราะในที่ทำงานไม่อนุญาตให้ใช้

ในวันสอบคำให้การเดือนมิ.ย.58 เธอจึงให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยวันนั้น ศาลทหารได้พิจารณาคดีเป็นการลับ เนื่องจากเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยให้ญาติและผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากพิจารณา ก่อนที่ศาลจะอ่านคำฟ้องให้คู่ความฟังและถามคำให้การ

ในเดือนถัดมา คู่ความได้นัดตรวจพยานหลักฐาน โดยมีการยื่นบัญชีพยาน และทนายความได้ตรวจพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ จากนั้นศาลได้สอบถามแนวทางการนำสืบของคู่ความ อัยการโจทก์แถลงว่าจะนำพยานบุคคล เอกสาร และวัตถุตามบัญชีพยานมาสืบต่อศาล เพื่อชี้ให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด ส่วนทนายจำเลยแถลงว่าจะสืบเรื่องตัวผู้กระทำผิด โดยพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่เพียงพอจะพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง

ในนัดนี้ เจ้าหน้าที่ศาลยังอนุญาตให้ญาติและผู้สังเกตการณ์เข้าฟังการพิจารณาได้ โดยแจ้งว่าเป็นนัดตรวจพยานหลักฐานเฉยๆ แต่ในการสืบพยานจะไม่อนุญาต เนื่องจากพิจารณาคดีลับ

แต่ก่อนหน้าการเริ่มสืบพยาน ทนายความได้เข้าเยี่ยมและพูดคุยกับลูกความ พร้อมแนะนำให้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เนื่องจากภายหลังได้ตรวจพยานหลักฐานแล้ว ช่องในการต่อสู้คดีเหลือค่อนข้างน้อย ทั้งยังเคยให้การรับสารภาพไว้ในชั้นสอบสวนและลงชื่อรับเอกสารประกอบสำนวนต่างๆ ไว้ ทำให้พยานหลักฐานต่างๆ ค่อนข้างมัดตัว ถ้าหากสู้คดีไม่หลุด ศาลน่าจะลงโทษหนัก โดยทนายแจ้งว่าจะทำคำให้การประกอบขอให้ศาลรอการลงโทษหรือลงโทษสถานเบา และยังสามารถทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษได้ต่อไป

แม่ของเธอเล่าว่าตอนแรก เธอไม่แน่ใจว่าควรจะรับสารภาพดีหรือไม่ เนื่องจากลูกเธอบอกว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ศศิวิมลก็บอกแม่ว่าโทษน่าจะไม่หนักมาก และเธอยังสงสารแม่ที่ต้องวิ่งเต้นอยู่คนเดียว แม่เองก็ไม่คิดว่าโทษจะร้ายแรงถึงเพียงนั้น

ในที่สุด เธอตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา

ไม่ว่าเรื่องราวที่ศศิวิมลเล่าจะเป็นจริงหรือไม่ ใครเป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา และความจริงในกรณีนี้จะเป็นเช่นไร ภายใต้กระบวนการในคดีมาตรา 112 และการควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยไม่ให้ประกันตัว สร้างแนวโน้มจะบีบให้ผู้ต้องหาจำยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยไม่ต่อสู้คดี จนทำให้การพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆ เพื่อนำไปสู่ข้อเท็จจริงในศาล ถูกกลบฝังทิ้งหายไป…

โทษทัณฑ์จำคุก 28 ปี ในวัย 29 ปี

ไม่มีใครรู้ว่าหลังยื่นขอกลับคำให้การแล้ว ศาลทหารจะพิพากษาในทันที

วันนั้น (7 ส.ค.58) ทนายจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล แต่ให้ผู้ช่วยทนาย ซึ่งรับมอบอำนาจเข้ามายื่นคำร้องขอกลับคำให้การ และคำร้องประกอบคำรับสารภาพในช่วงเช้าก่อนนัดพิจารณาคดี โดยเดิม คาดว่าศาลจะนัดพิพากษาในเดือนถัดไป โดยใช้เวลาพิจารณาคำร้องต่างๆ และเขียนคำพิพากษาเสียก่อน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

วันนั้น เรือนจำพาตัวศศิวิมลมาที่ศาลช้า ทำให้ญาติที่เดินทางมาให้กำลังใจต้องรอกันตั้งแต่เช้า ส่วนพยานทีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเดินทางมาที่ศาลตามกำหนดนัดเบิกความ เจ้าหน้าที่ศาลเองก็เพิ่งทราบในเช้าวันนั้น ว่าจะมีการยื่นขอกลับคำให้การ

บ่ายวันนั้น หลังจากศาลได้อ่านกระบวนการพิจารณาในเรื่องการงดสืบพยานและขอกลับคำให้การของจำเลยเสร็จสิ้น ศาลก็อ่านคำพิพากษาต่อในทันที โดยศาลได้อ่านข้อความตามฟ้องของโจทก์ จำนวน 7 ข้อความ โดยอ่านข้ามบางข้อความไป เนื่องจากศาลแจ้งว่าจะไม่อ่านข้อความไม่เหมาะสม ก่อนวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหาของโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ศาลจึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยความผิดกรรมละ 8 ปี รวมเป็นจำคุก 56 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี

ขณะเดียวกัน แม้ทนายจำเลยจะยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและให้รอการลงโทษ โดยระบุเหตุผลประกอบคำร้องว่าจำเลยมีภาระต้องดูแลบุคคลในครอบครัว ทั้งแม่และลูกสาวทั้งสองคน โดยมีจำเลยเพียงผู้เดียวที่ช่วยหาเลี้ยงครอบครัวเนื่องจากได้หย่าร้างกับสามีแล้ว ทั้งจำเลยประกอบอาชีพสุจริต ไม่เคยกระทำความผิดทางอาญามาก่อน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีพฤติกรรมอันก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายกับผู้หนึ่งผู้ใดหรือสังคมส่วนรวมมาก่อน พร้อมแนบเอกสารรายละเอียดของครอบครัว และหลักฐานรับรองความประพฤติต่างๆ ของจำเลยประกอบ

แต่คำร้องดังกล่าว ก็ถูกศาลวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า “คำร้องที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ ศาลเห็นว่าความผิดของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพสักการะ การกระทำของจำเลยจึงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง และศาลได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้”

ในวัย 29 ปี หญิงสาวคนหนึ่งถูกพิพากษาจำคุก 28 ปี…เธอร้องไห้โฮกลางโถงของศาลทหาร

ชีวิตหลังคำพิพากษา

ระหว่างถูกดำเนินคดี แม่ของศศิวิมลเป็นผู้เดินเรื่องต่างๆ ให้ศศิวิมลอยู่ภายนอกเรือนจำ ทั้งการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาเป็นค่าจ้างทนายความ ค่าเช่าหลักทรัพย์ในการขอประกันตัว รวมๆ แล้วแม่เล่าว่าใช้เงินไปเกือบ 1 แสนบาท ทั้งจากการหยิบยืมเงินจากญาติๆ การนำสร้อยทองไปจำนำ และการนำรถจักรยานยนต์ไปเข้าไฟแนนซ์

ตั้งแต่ลูกติดคุก แม่ของเธอยังต้องรับภาระเลี้ยงดูหลานสาวสองคน รวมๆ แล้วเงินเดือนแม่เพียงคนเดียว หักค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าไฟแนนซ์ และค่าใช้จ่ายไปโรงเรียนของหลานทั้งสองคน เดือนหนึ่งเหลือค่ากินค่าอยู่ต่างๆ ในครัวเรือนสำหรับสามชีวิตอย่างจำกัดจำเขี่ย ยังไม่นับค่าเล่าเรียนของหลาน และค่าใช้จ่ายในเรือนจำสำหรับลูกสาวของเธอ ทางญาติๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหาเช้ากินค่ำเหมือนกัน ไม่ได้มีฐานะมากมาย ทำให้ส่วนใหญ่แม่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง แต่ดีที่เพื่อนที่ทำงานยังพอเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง

ทุกวันนี้ แม่ต้องตื่นไปเข้างานตั้งแต่ 6.30 น.ของทุกวัน มีเพียงวันเสาร์ที่เป็นวันหยุด ทำให้ต้องใช้รถจักรยานยนต์ไปส่งหลานทั้งสองคนที่โรงเรียนตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนไปทำงาน เมื่อเลิกงาน 15.30 น. จึงค่อยมารับหลานกลับ หน้าที่เหล่านี้เคยเป็นของศศิวิมลมาก่อน ส่วนในช่วงวันอาทิตย์ ที่แม่ยังต้องไปทำงาน ก็ต้องให้หลานทั้งสองคนอยู่ที่บ้านกันเอง โดยโทรศัพท์กลับมาพูดคุยเป็นพักๆ

ในช่วงก่อนเที่ยงวันธรรมดา แม่ยังต้องหลบจากงานออกไปเยี่ยมลูกสาวที่เรือนจำในบางวัน

แม่เล่าความรู้สึกในวันหลังทราบคำพิพากษาว่าไม่อยากจะเชื่อว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ เธอไม่เข้าใจว่าทำไมโทษในคดีนี้ถึงหนักขนาดนี้ หนักเสียยิ่งกว่าการฆ่าคนอีก ราวกับจะไม่ให้ได้ผุดได้เกิดอีกต่อไป

“แม่ยังคิดเลยว่า แม่มีโรคประจำตัวอยู่แบบนี้ โอ๋ถูกตัดสิน 28 ปี ถ้าได้ออกมาตอนนั้น โอ๋จะได้เจอแม่ไหม” แม่ของศศิวิมลกล่าวทั้งน้ำตา