วันศุกร์, เมษายน 29, 2559

ตกลงไอ้ที่ไล่อุ้มหนุ่มสาวไทยวัย millennial สองวันที่ผ่านมา แล้วตั้งข้อหาทั้งมาตรา ๑๑๖ และ ๑๑๒ ทีหลังนั่น แท้จริงเพราะทนไม่ได้ ที่หัวหน้าใหญ่ถูกล้อเลียน






ตกลงไอ้ที่ไล่อุ้มหนุ่มสาวไทยวัย millennial สองวันที่ผ่านมา แล้วตั้งข้อหาทั้งมาตรา ๑๑๖ และ ๑๑๒ ทีหลังนั่น แท้จริงเพราะทนไม่ได้ ที่หัวหน้าใหญ่ถูกล้อเลียน

รวมความว่ามี ๘ ราย ชาย ๗ หญิง ๑ ถูกดำเนินคดีตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ม. ๑๑๖ และสองคนในนั้นโดน ๑๑๒ แถมเข้าให้ด้วย

(ดูชื่อได้ที่ประชาไท https://www.facebook.com/Prachatai/photos/a.376656526698.158748.108882546698/10153578932646699/?type=3&theater)





สำหรับ ม.๑๑๖ นั่น Pruay Saltihead ให้อรรถาธิบายไว้แสบสันต์ “ถ้าเอาตามนี้จริงๆ ไอ้คนที่ควรโดนจับแม่งควรเป็น สุเทพ เทือกสุบรรณ และพวก กปปส. พวกที่กวักมือเรียกทหารมาทำรัฐประหาร และพวกทหารที่ทำรัฐประหารทั้งหลาย

ไม่ใช่ประชาชนพลเมืองที่ทำเพจต้านพวก (Chinese big brother) เหียะนี่”

ผู้ต้องหา ๗ ใน ๘ คนปฏิเสธทุกข้อหา ทั้งเรื่องนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ และ “สร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน” จากการทำเนื้อหาในเพจเฟชบุ๊คชื่อ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ซึ่ง “ตั้งขึ้นเมื่อ ๒๑ พ.ค.๒๕๕๗ โดยเพิ่งมาแอคทีฟในช่วงหลัง มียอดไลค์ ณ ปัจจุบัน ๗๑,๗๙๘ เนื้อหาในเพจเป็นลักษณะล้อเลียน เสียดสี และโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ตัวอย่างเนื้อหาของเพจได้แก่ “ทำภาพพลเอกประยุทธ์เลียนแบบ ‘เจ๊จู วัสดุก่อสร้าง’ พร้อมข้อความเสียดสีว่า ‘รำไม่ดี....โทษรัฐบาลที่แล้ว’, ภาพพล.อ.ประยุทธ์ ตีแบตกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แทนที่จะเป็นน้องเมย์, นำภาพหน้า พล.อ.ประยุทธ์ตัดต่อเป็นนางนพมาศบนเสลี่ยง และตัดต่อภาพหน้านายสุเทพและนายอภิสิทธิ์เป็นผู้หามเสลี่ยง เป็นต้น”

วิธีการจับกุมในลักษณะ ‘ลักพาตัว’ หรือ ‘อุ้ม’ ยามวิกาลบ้าง เช้าตรู่บ้าง โดยไม่มีการแจ้งข้อหา (อย่าว่าแต่มีหมายจับเลย) ซึ่งละเมิดกติกาสากลแล้ว ยังมีการใช้เล่ห์กลวิชามารเลี่ยงระเบียบผู้ต้องหาปรึกษาทนาย

ไม่ยอมให้ทนายที่ญาติผู้ต้องหาแต่งตั้งเข้าฟังการสอบสวน แต่เจ้าหน้าที่ตั้งทนายไปนั่งสับประหงกท้ายห้องไม่ต้องพูดอะไร รอจนกว่าตำรวจสอบสวนเสร็จ

งานนี้ทหารนำตัวผู้ถูกอุ้มไปยัดให้ตำรวจที่สถานีและกองปราบดำเนินการประดุจลิ่วล้อ จนทนาย อานนท์ นำภา ตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อคืนนอกจากระบบกฎหมายที่วิปริตแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมเศร้าใจคือ ‘ทหารไม่ให้เกียรติตำรวจ’ ครับ คนอยู่ในเหตุการณ์เมื่อคืนคงเศร้าใจเหมือนๆ ผม” และ
“เพิ่งเคยเห็นยุคกระบวนการยุติธรรมที่ตกต่ำได้ระยำตำบอนขนาดนี้

ใครทำอะไรไว้ถ้ายังไม่ละอายแก่ใจ ก็ขอให้นึกบ้างว่า เมื่อท่านตายไปคนรุ่นหลังเขาจะพูดถึงท่าน นามสกุลท่านว่าอย่างไรนะครับ เผด็จการมันอยู่ได้ไม่นานหรอก ผมบอกไว้เลย”

(https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1086634354711293&id=100000942179021)

“นอกจากนี้ตำรวจยังแจกแผนผังแสดงความเชื่อมโยงกันของกลุ่มผู้ต้องหา โดยบนสุดของแผนผังเป็นบุคคลที่ตำรวจไม่เปิดเผยว่าเป็นใคร แต่ระบุว่าเป็นผู้ว่าจ้างกลุ่มคนทั้งหมดในการทำเพจดังกล่าว รองลงมาคือ นายชัยธัช รัตนจันทร์ ซึ่งเป็นผู้นำเงินไปจ่ายให้แต่ละคน แต่ไม่สามารถติดตามตัวได้เนื่องจากอยู่ต่างประเทศ

ถัดมาคือ นางสาวณัฏฐิกา และคนอื่นๆ โดยแผนผังระบุแต่ละคนจะได้รับเงินรายเดือน ๑๖,๐๐๐ - ๒๓,๐๐๐บาทในการทำเพจดังกล่าว นอกจากนี้แผนผังดังกล่าวยังมีการเชื่อมโยงเพิ่มเติมด้วยว่า บางคนก็รับทำเพจให้สมบัติ บุญงามอนงค์ และจตุพร พรหมพันธ์”

ที่ซึ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์ เขียนถึง ธนวรรธน์ บูรณศิริ หนึ่งในผู้ต้องหาว่า “ผมไม่ปฏิเสธว่าน้องคนนี้ผมรู้จักและคุ้นเคยกันพอสมควร”





บก.ลายจุด เล่าต่อเกี่ยวกับนายธนวรรธน์ หรือ ‘วา’ เด็กหนุ่มวัย ๒๒ ปี หนึ่งในผู้ร่วมทำเพจที่ต้องหา

“ผมไม่ทราบว่าเขาทำเพจล้อเลียนพลเอกประยุทธ์มาก่อน เมื่อเป็นข่าวผมแวะเข้าไปในเพจ บอกตามตรง เป็นเพจล้อเลียนแบบขำ ๆ เกรียน ๆ ไม่ใช่เพจที่ทำลายความมั่นคงแต่ประการใด การที่เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาใน ม.๑๑๖ เป็นเรืองเกินเลยสำหรับเด็กเกรียน ๆ คนนี้

เขาไม่ใช่เสื้อแดง เขาเป็นจิตอาสาคนหนึ่งที่มักเอาตัวเองแวะเวียนไปร่วมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ล่าสุดเขามาเป็นอาสามัครช่วยถ่ายภาพกิจกรรมให้กับ NGOs แห่งหนึ่ง หลังจากเพิ่งลาออกจาก Peace TV เมื่อเดือนที่แล้ว”

(https://www.facebook.com/Prachatai/photos/a.376656526698.158748.108882546698/10153579297266699/?type=3&theater)

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาของความสับสนเมื่อวาน ขณะทหารกันตัวผู้ที่จะเอาไปดำเนินคดีแปดคนไปควบคุม ก็มีแจ้งข่าวจากสื่อพลเรือนบนเฟชบุ๊คถึงกลุ่มคนที่ออกไปร่วมกันยืนนิ่งประท้วงการอุ้มที่อนุสาวรีย์ชัยฯ

Nithiwat Wannasiri ป่าวประกาศว่า “คุณบุรินทร์ อินติน Burin Intin หนึ่งใน ๑๖ คน ที่ร่วม ‘ยืนเฉยๆ’ ให้ปล่อยประชาชน ๑๐ คนที่ทหารอุ้มหายไปเมื่อเช้า





ตอนนี้ถูกทหารหน่วย ส. พัน.๑๒ รอ. ล็อคตัวออกจากสน.พญาไท แยกตัวไปขังคุกในค่ายทหาร และอ้างอำนาจประกาศ คสช.ว่าควบคุมตัวสอบสวนเตรียมแจ้งดำเนินคดีมาตรา ๑๑๒ ที่ DSI ในวันพรุ่งนี้”

“หลักนิติรัฐนิติธรรมที่ไหนเขาให้เอาคน ‘สถานะทางคดี’ ยังไม่มี แม้แต่การแจ้งความ ไปขังฟรีๆ ในค่ายทหารได้เหรอครับ?

ในรัฐธรรมนูญเนื้อหาเดิมก่อน คสช.จะเข้ามา อย่างน้อยมันยังมีเขียนในมาตรา ๓๙ ทำนองว่า การปฏิบัติกับผู้ต้องสงสัยหรือจำเลยที่คดียังไม่สิ้นสุดทั้งสามศาล เสมือนกับว่าเป็นนักโทษแล้วนั้นกระทำมิได้ เป็นเรื่องผิดรัฐธรรมนูญ

พวกเขาเข้ามาแล้วก็ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมทุกอย่าง ด้วยการเอาพลเรือนไปขังในคุกทหารโดยไม่มีใครทัดทานได้”

นี่เป็นบรรยากาศที่พลเมืองจำต้อง ‘เสี่ยงอันตราย ก่อนท้องฟ้าจะสดใส’ ดั่งที่ ‘iLaw’ ปรารภไว้ละหรือ

เว็บที่ให้ความรู้เรื่องกฎหมายที่กระทบต่อเสถียรภาพและสถานะภาพของประชาชนอย่างดียิ่งในช่วงที่ผู้ปกครองถมความเดือดร้อนให้ ตลอดอย่างน้อย ๒ ปีที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตต่อการอุ้มบุคคลไปควบคุมตัวดำเนินคดีว่า

“มีปัญหาในแง่ ‘อำนาจที่ใช้กับฐานความผิดไม่สอดคล้องกัน’

กล่าวคือ การจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าว หากเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จริง ฐานความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ ๓/๒๕๕๘ หรือ ๑๓/๒๕๕๙ ที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมและควบคุมตัวไว้ได้

นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่เป็นความผิดจากการโพสต์เฟซบุ๊ก ย่อมไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้น เจ้าหน้าที่ทหารไม่สามารถอ้างอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อใช้กับกรณีนี้ได้”

(https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551.646424.299528675550/10156806504385551/?type=3&theater)

จะอย่างใดก็ตาม ทหารของ คสช. ได้กระทำการละเมิดหลักทำนองคลองธรรมแห่งกฎหมายมาแล้วมากมาย และทำท่าจะเหยียบย่ำหลักการนิติธรรม นิติรัฐ ต่อไปอีกยาว ในเมื่อหัวหน้าใหญ่พูดง่ายๆ เท่าที่สารเคมีแปลกปลอมในศีรษะจะสำแดงฤทธิ์ผลักดันออกมาได้

“อย่าเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาปนกับเรื่องของกฎหมาย และเอาเรื่องประเทศไปปนกับเรื่องส่วนตัว”

(http://www.dailynews.co.th/politics/375470)

ไม่ปนได้อย่างไร Kasian Tejapira ให้ความกระจ่างในทางรัฐศาสตร์ไว้แล้วว่า กฎหมายกับสิทธิมนุษยชนย่อมต้องพัวพันกันอยู่เสมอ ในเมื่อ

“พื้นฐานเบื้องต้นที่สุดของมันคือสิทธิโดยธรรมชาติ (natural rights) และกฎหมายที่รัฐออกจะต้องอยู่บนฐานสิทธิธรรมชาตินั้น จะออกกฎหมายที่ไปล่วงละเมิดสิทธิโดยธรรมชาติอันเป็นรากฐานมิได้...มองในมุมประชาธิปไตย

ในระบอบประชาธิปไตยย่อมออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิของประชาชนพลเมืองได้อยู่ แต่กฎหมายนั้นประชาชนพลเมืองจักต้องออกเอง หรือให้ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบของตนออก จึงจะพูดได้ว่ากฎหมายนั้นชอบธรรม”

อย่างนี้ยังมีหน้าบอก “ไอ้ผมมันอำนาจพิเศษ” อยู่อีกนะ จะต้องให้อำนาจพิเศษกว่ามากำหราบหรือไร จึงจะสำนึกผิดชอบ ชั่วดี รู้แน่แก่ใจว่าความชอบธรรมเป็นอย่างไร