วันจันทร์, เมษายน 25, 2559

อุทธาหรณ์จากบรรหาร





ต่อการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศตนในนามมูลนิธิมวลมหาประชาชน องค์กรการเมืองของ กปปส. สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. นำออกให้ประชาชนลงคะแนนเสียง ‘รับ’ ในวันที่ ๗ สิงหาคม ปีนี้นั้น

เห็นควรชี้ข้อวิจารณ์ของ Thanapol Eawsakul บก. ‘ฟ้าเดียวกัน’ สักหน่อยว่า ‘เทือก’ ก็คือ ‘ม้าใช้’ ของคณะรัฐประหาร ที่ ‘หมดน้ำยา’ ไปนานแล้ว

“เสียงของสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ไม่ต่างจากเสียงของ บรรหาร ศิลปะอาชา นั่นแหละ คือไม่มีความหมายในการลงประชามติ” ธนาพลฟันธง

ข้ออ้างก็คือ “ถึงแม้สุเทพจะมีบทบาทสำคัญในการนำมวลชนออกมาสร้างเงื่อนไขจนเกิดรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นการเคลื่อนประสานกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่แยกเวทีกันเล่น หาใช่บารมีส่วนบุคคลของสุเทพ แต่อย่างใดไม่”

ซึ่งข้อนี้เทพเทือกพูดไว้ในการให้สัมภาษณ์ของเขาว่า ถึงแม้ความเห็นตนออกมาตรงกันข้ามกับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ตนและ กปปส. ‘ลงทุนลงแรง เสียเลือดเสียเนื้อ’ “ท่าทีของตนจึงคิดแบบประชาชน ไม่ใช่คิดแบบนักการเมือง”

หากแต่ “ต้องการเห็นบ้านเมืองพ้นวิกฤติอย่างถาวร จึงต้องเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป” ทั้งๆ ที่ “ได้ประกาศไปแล้วว่าเลิกเล่นการเมือง จะไม่กลับไปพรรคการเมืองใด และจะไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่” ก็เถอะ

อีกข้อของการที่เทือกหมดความหมาย ก็ตอนเสร็จงานนั่งร้าน สาม ป. ยึดอำนาจไปแล้วหนึ่งเดือน เทือกจัดแจง ‘วางบิล’ ธนพลชี้ว่า “ประยุทธ์โกรธมาก จนสุเทพต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปบวช และสึกออกมา ๒๘กรกฎาคม ๒๕๕๘ รวมเวลากว่า ๑ ปี

หลังจากนั้น สุเทพก็ทำตัวเป็นเด็กดีของคณะรัฐประหารมาโดยตลอด”

ตอนบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่าง รธน. ‘เรือแป๊ะ’ เสร็จ เทือกออกมา “นำทีม กปปส. หนุนร่าง รธน. วอนขอโอกาส ปชช. ตัดสินใจเองด้วยการทำประชามติ” อนิจจา คสช. เห็นว่าร่างฯ เรือแป๊ะไม่รอดแน่ เลยคว่ำเสียเอง เทือกจึงค้างเติ่งในตอนนั้น

ครั้นร่างฯ มีชัย ได้ที่ตามเสป็ค คสช. เปลี่ยนผ่าน นาน ๕-๒๐ ปี เป็นอีกจังหวะที่เทือกเสนอบริการ ลิ่วล้อ คสช. อีกหน ธนพลว่าถึงอย่างไรก็ไม่เป็นผล เพราะเที่ยวนี้ขึ้นอยู่กับสองพรรคการเมืองใหญ่ออกอาการ ‘ไม่เล่นด้วย’

“ที่แน่ ๆ ม้าใช้อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ หมดความหมายไปตั้งแต่คณะรัฐประหารกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว”

ล่าสุด “พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ ระบุ การแสดงท่าทีรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านสื่อมวลชนของแกนนำ กปปส. และ นปช. ไม่สามารถทำได้‪#‎ThaiPBS‬

ปัญหามีแต่ว่า ครานี้ คสช. จะคว่ำ ‘ประชามติ’ เสียเองอีกไหม

ซึ่งถ้า ถึงแม้สองพรรคใหญ่จะร่วมมือกันโดยปริยาย เพราะต่างปฏิเสธร่างฯ มีชัย ทำให้ คสช. คว่ำประชามติเสียอีก แล้วปรับ รธน. ฉบับชั่วคราวให้เป็นไปตามที่ต้องการในบทเฉพาะกาล

การปกครองในประเทศไทยจะต้องอยู่ภายใต้ระบอบทหารไปอีกนานเท่าไร





จึงมาถึงประเด็นที่ สศจ. ยกขึ้นมาถกเถียงทางเฟชบุ๊ค “‪#‎ถ้า‬ การเมืองไทยยังเป็นเรื่องสองพรรคใหญ่ ทางเดียวที่จะล้มทหารได้ คือสองพรรคที่ว่าต้องร่วมกัน” และ

“เสียงข้างมากของเพื่อไทย...มากพอสำหรับชนะเลือกตั้ง ‪#‎แต่ไม่เคยมากพอสำหรับการสร้างระบบประชาธิปไตยที่ได้รับการยอมรับหรือ‬"ฉันทามติ" ‪#‎ในระดับที่จะทำให้ระบบมั่นคงได้‬

Somsak Jeamteerasakul ยังอภิปรายต่อไป “แล้วเอาเข้าจริงนะ...ระบบที่เรียกว่า ‘รัฐสภาแบบอังกฤษ’ ที่ฝ่ายบริหารมาจาก ‘เสียงข้างมาก’ ของสภาน่ะ ‪#‎มันมีจุดอ่อนสำคัญในเชิงโครงสร้างในเรืองการถ่วงดุลย์อำนาจและตรวจสอบ‬...

ในบางประเทศตะวันตกที่ใช้ระบบนี้ ที่สำคัญคือเยอรมันนี เลยต้องใช้ ‘องค์กรที่เป็นอิสระจากสภา’ คือพวกศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นตัวถ่วงดุลย์แทน”

จึงย้อนไปยังคำให้สัมภาษณ์ของเทพเทือกที่ยกย่องความดีวิเศษของร่างฯ มีชัย อ้างว่าเป็นบท ‘แก้ทางตัน’

“รัฐธรรมนูญนี้เขียนช่องทางไว้ หากเกิดวิกฤตจะมีคนรับผิดชอบ โดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เชิญผู้ใหญ่บ้านเมือง ทั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และองค์กรอิสระ รวม ๑๓ คน มาร่วมกันหาทางออก เมื่อที่ประชุมมีมติอย่างไรก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น”

(http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx…)

ดูคล้ายจะเจ๋ง ถ้าใช้วิธีคิดแบบ ‘สลิ่ม’ คือมีคนดี คนวิเศษ “ผู้ใหญ่” เหนือกว่าประชาชน ที่มาจากการแต่งตั้งเกือบทั้งนั้น เป็น ๑๓ อรหันต์ทำหน้าที่แทน ‘ประมุข’

แต่เมื่อคิดอย่าง ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ก็พบว่า “ระบบวิธีแบบนี้ แน่นอน มีปัญหาของมันอีกอย่าง (ทำยังไง ทีองค์กรอย่าง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ จะไม่กลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญแบบ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ที่เห็นกันในไทย...

แม้แต่ในเยอรมันนีเอง บทบาทศาลรัฐธรรมนูญ สมัยนึงก็มีการดีเบตกันเยอะมากว่า อำนาจมากไปในการมาขวาง หรือหยุดยั้ง-จัดการกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง)”

สศจ. จึงไปลงเอยที่ “ใครที่ซีเรียสกับอนาคตประเทศไทย และหวังจะเห็นประเทศที่เสรีและมีประชาธิปไตย มีความเป็นธรรม มีการควบคุมกลไกรัฐทุกส่วน ควรต้องพิจารณาหาทางสร้าง ‘ทางเลือกทีสาม’ นี้ขึ้นมา ‪#‎ตั้งแต่วันนี้‬ ‪#‎โดยแยกตัวเป็นตัวของตัวเองชัดเจนจากขบวนของเพื่อไทย‬

อะ อ้า ช้าก่อน นี่ไม่ใช่การนำเสนอ ‘ลัทธิแก้’ ต่อแนวทางเสื้อแดงเพื่อไทยหรอกนะ แต่เป็นการอภิปรายเพื่อให้ก้าวพ้น ‘ขวาก’ เซม เซม ของกงกรรมกงเกวียน ‘เลือกตั้ง-รัฐประหาร’ ที่เป็นมาในประเทศไทยหลายสิบปีแล้วยังมองไม่เห็นแสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงก์

สศจ. ให้ข้อคิดไว้อีกนิดว่าการแยกตัว “ไม่ได้หมายความว่าจะร่วมมือกับเพื่อไทยไม่ได้ เพราะอันทีจริง ไม่เพียงเพื่อไทยเท่านั้น ‘ขบวนทีสาม’ ทีว่านี้ ‪#‎สามารถและควรร่วมมือกับประชาธิปัตย์‬ ‪#‎หรือกับใครก็ตามภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้อง‬

ก็น่าลองคิดกันดูนะ ดีกว่าอยู่เฉยๆ เอาแต่รอ ‘สถานะเดิม’ ในเมื่อหัวหน้า กปปส. ก็ประกาศอีกครั้งว่าจะเดินคนละทางกับ ปชป. แล้ว (ส่วนที่ว่าคำพูดเทพเทือกเชื่อไม่ได้แค่ไหน เป็นอีกประเด็น) เหลือแต่พรรคการเมืองในระบบรัฐสภาด้วยกัน

ทั้งนี้บนพื้นฐานที่ สศจ. บอกว่า “ถ้าจะให้เกิดการ ‘ร่วมกัน’ ในเรื่องใหญ่แบบนี้ แน่นอนต้องมีการเจรจา มีการ ‘ยื่นหมูยื่นแมว’ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งสองฝ่าย”

ท้ายนี้ขอย้อนกลับไปถึงประเด็นติดค้างตอนต้น โคว้ตคำธนาพลยังไม่กระจ่าง ‘เทพเทือกไม่ต่างบรรหาร’ แค่ไหน

โพสต์ของ Yaowalak Anuphan เป็นการเสียบประจานความ ‘ไม่งาม’ ของบรรหาร อย่าง ‘bold’ ขวานผ่าซากทีเดียว





แต่ก็มีหลายที่ชี้ถึงจุดนิ่มพริ้มพรายของ ‘เติ้งไทย’ ไว้น่าสำรวจเนื้อความ

จาก Athikhom Khoms Khunawut แห่งนิตยสาร ‘Way’ เล่าประสบการณ์กับบรรหาร “รวมๆ แล้วแกคือรูปธรรมของนักการเมือง/นายกรัฐมนตรีบ้านนอกคนแรกๆ ที่ถูกชนชั้นกลางรังเกียจเหยียดหยัน และสะสมจริตอารมณ์ความรู้สึกมาจนถึงปัจจุบัน”

หากแต่ “เป็นที่รู้กันในหมู่นักข่าวยุคนั้นว่า นายกฯ ชวลิตแทบไม่เคยฟ้องนักข่าว นายกฯ บรรหารฟ้องพอให้ไกล่เกลี่ยขอขมา ส่วนนายกฯ ชวนนั้น ถ้าไม่จำเป็นอย่าพยายามไปมีเรื่อง...เพราะรายนี้เล่นถึงฎีกา”

ด้าน Atukkit Sawangsuk ค่ายว้อยซ์ทีวี เขียนไว้ค่อนไปในทางเยอะ เริ่มจาก “นักการเมืองอย่างบรรหาร ยังไงก็มีด้านที่น่าชื่นชม กว่านักการเมืองเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น หรือพวกไม่มาจากเลือกตั้งแล้วไม่เห็นหัวประชาชน”

“ขณะที่ถูกตั้งฉายาปลาไหล เพราะยังไงๆ ก็ขอเป็นรัฐบาล แต่บรรหารก็มีจุดแข็งนะครับ ในความตรงไปตรงมา เชื่อถือได้ เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เบี้ยว ไม่ตีรวน ไม่แทงข้างหลังใคร...

ข้อสำคัญคือบรรหารแกก็ไม่เคยอวดตัวเป็นนักประชาธิปไตย เป็นคนดี เป็นเจ้าหลักการ เที่ยวชี้หน้าตัดสินคนอื่นแล้วไม่มีหลักเสียเอง ฉะนั้นถ้าจะเอาหลักการไปทุบหัวแก มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร”

นั่นละอุทธาหรณ์จากบรรหาร ต่อการที่ใครจะร่วมกับใคร ต้องปรับปรุงภายในอะไรบ้าง Good Day.