วันพุธ, เมษายน 06, 2559

สปท.เห็นชอบแผนกำกับเน็ต เพิ่มงานปราบเว็ปกระทบสถาบันโดยเฉพาะ





Thai Netizen Network

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเห็นชอบข้อเสนอให้ตำรวจปิดเว็บแทนไอซีที เพิ่มเจ้าหน้าที่ จัดหาเทคโนโลยีสืบค้นและวิเคราะห์พฤติกรรมออนไลน์ จัดทำฐานข้อมูลกลาง เพิ่มงานปราบเว็บกระทบสถาบันโดยเฉพาะ

National Reform Steering Assembly approved plan to “solve online media problems more efficiently” on Monday (4 Apr 2016). The 19-month plan gives more duty, power, and staffs to Technology Crime Suppression Division. TCSD will also responsible for website monitoring and shutdown (currently taking care by MICT). National security and threat to “National Core Institution” are of special concern.

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ต่อที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ครั้งที่ 17/2559 วันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2559 โดยมีพลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการและพลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมการคนที่หนึ่งเสนอรายงาน

รายงานดังกล่าวเสนอแผนการปฏิรูปสำหรับกำกับดูแลการใช้สื่อออนไลน์ “ให้เป็นไปตามกฎหมายและให้ถูกต้องตามทำนองครองธรรม” โดยสมควรให้มีการปฏิรูปเป็นวาระเร่งด่วน 3 ด้าน ดังนี้

1. ปรับโครงสร้างภายในหน่วยงาน อำนาจหน้าที่ และแนวทางพัฒนาบุคลากร โดยให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบภารกิจปฏิบัติการป้องกันและปราบปราม ส่วนสำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงไอซีทีให้รับผิดชอบภารกิจในการวางกรอบยุทธศาสตร์ในภาพรวมเท่านั้น

นอกจากนี้ให้ปรับปรุงโครงสร้างภายในของบก.ปอท. เช่น เพิ่มกลุ่มงานเฝ้าระวัง งานวิจัยและพัฒนา และกำหนดให้มีงานด้านการปราบปรามการกระทำความผิดที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันหลักของประเทศไว้เป็นการเฉพาะ

2. ปรับแนวทางในการดำเนินงาน แยกภารกิจเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูล กับการใช้คอมพิวเตอร์กระทำความผิดออกจากกัน ปรับปรุงให้การสืบสวนสอบสวนมีความคล่องตัวมากขึ้น

ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสืบค้นหาข้อมูลที่ไม่เหมาะสมและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มงานเฝ้าระวัง

3. สร้างมาตรการป้องกันเชิงรุก ตามแนวทาง “ประชารัฐ” สร้างสื่ออินโฟกราฟิกเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ ร่วมมือกับภาคประชาชน เช่น การร่วมมือกับศูนย์ไทยฮอตไลน์ของมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และองค์กรอื่นๆ เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังภัย

โดยกำหนดเวลาการปฏิรูปไว้ 3 ระยะ ครอบคลุมระยะเวลา 19 เดือน ระยะแรกเน้นการปรับโครงสร้างหน่วยงาน ระยะสองเน้นการจัดหาทรัพยากรเทคโนโลยีและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม (โดยจะเป็นการเกลี่ยตำแหน่งภายในกองบัญชาการสอบสวนกลางที่มีจำนวน 2,000 อัตรามา เพื่อไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเพิ่มตำแหน่งในภาพรวม) และระยะที่สามเป็นการประเมินผล

ที่ประชุมสปท.ได้ลงมติเห็นชอบกับรายงานดังกล่าวของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน โดยให้คณะกรรมาธิการนำความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกฯ ไปปรับปรุงก่อนส่งรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ในที่ประชุมเดียวกันยังได้ลงมติเห็นชอบกับรายงานเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ (ระเบียบวารที่ 3.3) อีกด้วย

อนึ่ง สำหรับความเคลื่อนไหวร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และร่างกฎหมายดิจิทัลฉบับอื่นๆ กระทรวงไอซีทีเตรียมเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนสงกรานต์ ทั้งนี้ยืนยันว่ากฎหมายทั้งหมดจะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อย่าลืมฉัน! - https://www.facebook.com/thainetizen/photos/a.10150109699603130.289409.116319678129/10153990637478130/

----

ที่มา:

- รายงานของคณะกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลืื่อนปฏิรูปประเทศเรื่อง “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์” 24 มีนาคม 2559
http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrsa2558/d040459-03.pdf

- บันทึกการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 17/2559 วันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2559 เวลา 09:31-16.24 น.
http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/meeting_m1_58.php

#socialmedia #onlinemedia #digitaleconomy #TCSD#Thailand