วันเสาร์, เมษายน 30, 2559

บรรษัทประชารัฐ ทุนนิยมสามานย์รูปแบบหนึ่ง?!?





ตั้งแล้วบรรษัทประชารัฐ จาก pet project ของหมอประเวศ วะสี

ที่จะ “เปลี่ยนมิจฉาทิฐิเป็นสัมมาทิฐิ จากประชานิยมเป็นประชารัฐ”

ซึ่ง Pipob Udomittipong จำกัดความไว้ว่า “ชาวบ้านและชุมชนพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งนักการเมือง เป็นภาพฝันที่หมอประเวศขายไว้ตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อเดือน ก.ย. ๕๘...

แต่ประชารัฐจะเป็นเพียงทุนนิยมสามานย์ในรูปแบบหนึ่งหรือไม่ เพราะกรรมการจากภาคเอกชนและภาครัฐ...มีสัดส่วนรวมกันถึง ๙๕% โดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย ไทยเบฟ เข้าไปมีบทบาทในกรรมการชุดต่างๆ เกือบทุกชุด”





พิภพแนะให้ไปอ่านบทวิจารณ์ของ สฤณี อาชวานันทกุล ที่ไทยพับลิก้า ได้ความว่า

“แม้ว่าจะมีคำว่า ‘ประชา’ ใน ‘ประชารัฐ’ ตัวแทนภาคประชาชนกลับมีสัดส่วนเพียง ๕% เท่านั้น ซึ่งหลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า เป็น ‘เอ็นจีโอชนชั้นนำ’ คือมีเส้นสายกับภาครัฐ มิใช่ ‘เอ็นจีโอรากหญ้า’ ที่บางครั้งขัดแย้งกับกลุ่มทุนที่พวกเขามองว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน หรือแสวงประโยชน์เกินเลยจากฐานทรัพยากร”

ทางด้าน Thanapol Eawsakul เพิ่มเติมว่า “ดูจากรายชื่อเกือบทั้งหมดมาจาก Thailand Future Foundation - สถาบันอนาคตไทยศึกษา และ มูลนิธิสัมมาชีพ ที่เตรียมการมาก่อนรัฐประหาร แน่นอนว่านี่คือการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ที่พวกเขาใฝ่ฝันหา”

สำหรับสถาบันอนาคตไทยศึกษา ถ้าเข้าไปดูเพจจะพบกระทู้ล่าสุดเรื่อง ‘เศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่’ ที่ว่าเป็น ‘New Normal’ เหมือนปาฐกถานายอานันท์ ปันยารชุน ตอนไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

ส่วนเพจมูลนิธิสัมมาชีพ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วแชร์โพสต์ของ ‘๑๐๐ พลัง ร้อยพลัง’ เรื่อง “ประชานิยมและประชารัฐ มีความเหมือนและแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิธิการนำมาใช้ และยากที่จะแบ่งแยกว่าต่างกันชัดๆ ตรงไหน” ของ ดร.สุนทร คุณชัยมัง

กรรมการที่ไปร่วมกันลงนาม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ฝ่ายเอกชนประกอบด้วย ฐาปน สิริวัฒนภักดี (เบียร์ช้าง) อิสระ ว่องกุศลกิจ (น้ำตาลมิตรผล) ศุภชัย เจียรวนนท์ (ซีพี) และมีชัย วีรไวทยะ (เอ็นจีโอในคราบรัฐและทุน) ผู้บุกเบิก ‘ถุงยางอนามัย’

ขาด นพ.ประเวศ วะสี ไม่ได้ไปร่วมลงนามด้วย (มีเสียงซุบซิบว่า ‘ทำเหนียม’ ไม่อยากแข่งเด่นกับ ‘มีชัย’)

ฝ่ายรัฐมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกฯ ฟากเศรษฐกิจ) สุวิทย์ เมษินทรีย์ (รมช. พาณิชย์) อนุพงษ์ เผ่าจินดา (คณะรัฐประหารคุมมหาดไทย) โดยมี ประยุทธ์ จันทร์โอชา (หัวหน้าใหญ่) ร่วมเป็นสักขีพยาน

“ความฝันที่ชาวบ้านจะพึ่งตนเองได้จากโครงการที่นายทุนระดับชาติและข้าราชการเป็นผู้บริหารโครงการ มีเพียงไม้ประดับภาคประชาชน (มีชัย วีรไวทยะ เนี่ยนะ?) เป็นฝันแบบหรู แบบใหญ่โต อีกครั้งหนึ่งของหมอประเวศหรือไม่”





หาคำตอบได้จากบทความของสฤณี

“แนวคิดนี้เดิมทีไม่มีรัฐเป็นพระเอก แต่เมื่อถูกหยิบมาใช้ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างต่อเนื่อง ประชารัฐแบบหมอประเวศจึงถูก ดร.สมคิด หยิบมาขัดสีฉวีวรรณ แปลงโฉมเป็นประชารัฐแบบใหม่ที่มี ‘รัฐ’ กับ ‘เอกชน’ เป็นพระเอก” และ

“ในเมื่อวันนี้ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐดูจะมีอคติกับคำว่า ‘ประชานิยม’ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการโหมประโคม ‘ประชารัฐ’ ว่าเป็นสิ่งที่ ‘ดีกว่า’ ประชานิยม”

(http://thaipublica.org/2016/03/populism-pracharat-5/)

นายฐาปน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชนกล่าวรายงานโครงการว่า จะมีการจัดตั้งบริษัทประชารัฐทั่วทุกจังหวัด ๗๖ แห่ง ดำเนินธุรกิจ ๓ แขนงอย่างครบวงจร ได้แก่การเกษตร การแปรรูป และท่องเที่ยว โดยเน้นสร้างรายได้แก่ท้องที่ เน้นประชาชนที่ประสบปัญหาความยากจนเพื่อเพิ่มรายได้ และ

“ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการให้ประชาชนทุกคนน้อมนำไปปฏิบัติ” (อันนี้ไม่น่าจะเหมาะต่อการเพิ่มรายได้มั้ง)

ขณะที่หัวหน้า คสช. กล่าวปาฐกถาในงานว่าการเปิดประชารัฐเป็นดั่งไฟฉายขนาดใหญ่ส่องสว่างประเทศไทย มุ่งทำให้ประเทศชาติปลอดภัย มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สฤณีมีคำถาม ๓ ข้อล่วงหน้าไว้ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม

ทั้งในด้านเปิดช่องต่อการ ‘คอรัปชั่นเชิงนโยบาย’ การมองข้ามปัญหาอำนาจเหนือตลาดและ ‘อิทธิพลผูกขาด’ และการใช้อำนาจพิเศษของทหารข้ามขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน

ประชารัฐ “อยากสร้างเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม หรือ inclusive economy แต่ทว่าที่ผ่านมา คสช. ได้ใช้อำนาจเผด็จการตามมาตรา ๔๔ กระทำการหลายอย่างที่คัดง้างหรือขัดขวางแนวทางนี้อย่างชัดเจน”

เช่นประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓/๒๕๕๙ และ ๔/๒๕๕๙ ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมือง กับฉบับที่ ๙/๒๕๕๙ ให้ข้ามขั้นตอนอีไอเอ ไม่ต้องประเมินสภาพแวดล้อมได้

งานนี้มีข้อสังเกตุต่อการบริหารประเทศของ คสช. ได้ว่า นอกจากจะใช้วิธีการหักหาญตามอำเภอใจในทางการเมืองแล้ว ถึงที่สุดตอนจะอยู่ยาวนี่ก็ก้าวย่ำเข้าไปสู่วิถีทางรวบรัดจัดการแบบเบ็ดเสร็จทางเศรษฐกิจด้วย

ประชารัฐจะเป็นเครื่องมือทำให้ คสช. มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และ ‘มีชัย’ ในทางเศรษฐกิจเหมือนกับการเมืองหรือไม่ ถ้ายอมให้พวกเขาอยู่ต่ออีกอย่างน้อย ๕ ปีดูสิ ประเดี๋ยวก็รู้