วันเสาร์, เมษายน 23, 2559

คลอดเแล้ว 'กฎหมายกวาดคนเข้าคุก'



http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1461325198



ขอกลบฝังวิษณุ เครืองาม อย่างเป็นทางการ เรื่องการตีความอะไรทำได้ทำไม่ได้ใน พรบ.ออกเสียงประชามติ

วันสงกรานต์บอกว่า "การติดเข็มเหรียญ หรือธงที่แสดงว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้" แต่พอประยุทธ์ออกมาบอกว่า ใส่เสื้อ Vote No Vote Yes ก็ไม่ได้ วิษณุกลับไปไม่เป็น "ที่สื่อถามถ้ายกธง ใส่เสื้อ ยกป้าย ติดเข็ม (ผิดไหม) ผมตอบไม่ถูก" นักกฎหมายหัวกล้วยอะไร

เมื่อกฎหมายบอกว่าแสดงความเห็นได้ เผยแพร่ได้ แม้ไม่มีคำว่ารณรงค์ ประชาชนก็ต้องแสดงตนรับไม่รับพร้อมแสดงเหตุผลวิพากษ์วิจารณ์ได้สิครับ แค่อาจไม่สามารถตั้งเวทีรณรงค์ได้ เท่านั้นเอง

การตีความกฎหมายแบบนี้ ในยุคที่ฝรั่งถอดเสื้อยังโดนปรับร้อยนึง โพสต์ขันแดงยังโดนความมั่นคง ใส่เสื้อแดงวันอาทิตย์โดนเรียกเข้าค่ายทหาร ใส่เสื้อขาวไปยืนเฉยๆ ยังโดนตำรวจเอาไปลงบันทึกประจำวัน

มันแปลว่าอะไร แปลว่ากฎหมายประชามติ แทนที่จะเป็นเครื่องมือสร้างบรรยากาศเตรียมกลับสู่ประชาธิปไตย ก็กลับกลายเป็นกฎหมายจับคนค้านยัดคุก เป็นอุปกรณ์ใหม่พันธนาการประชาชนไม่ให้เคลื่อนไหว โดยใช้ควบกับ ม.44

นี่ต่างจากปี 50 นะ รธน. 50 หลอกว่าจะกลับสู่ประชาธิปไตย เชื่อว่าหลอกคนสำเร็จ ก็เลยเปิดให้ดีเบตรณรงค์ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่เลย กลับกลายเป็นกฎหมายกวาดคนเข้าคุก เพราะอะไร เพราะต่อให้ รธน.ผ่านก็ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยไง เผลอๆ รธน.ผ่านจะยิ่งกระชับอำนาจเข้าไปใหญ่


Atukkit Sawangsuk

ooo


ประชามติคุกล้น?

ใบตองแห้ง
22 เมษายน พ.ศ. 2559
ข่าวสดออนไลน์

"การติดเข็มเหรียญ หรือธงที่แสดงว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้" วิษณุ เครืองาม 13 เมษายน 2559

"ที่สื่อถามถ้ายกธง ใส่เสื้อ ยกป้าย ติดเข็ม (ผิดไหม) ผมตอบไม่ถูก" วิษณุ เครืองาม 20 เมษายน 2559

โปรดฟังอีกครั้งพร้อมทั้งขยี้หูขยี้ตา วิษณุพูดวันสงกรานต์ไม่ได้พูดวันที่ 1 เมษา เจ็ดวันเท่านั้นไหงกลับไปกลับมา

วิษณุ อธิบาย พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติอยู่หลัดๆ ว่าถ้าไม่พูดความเท็จ ไม่ใช่คำหยาบคาย หรือยั่วยุให้แตกแยก สามารถทำได้ อะไรที่มีความสุจริตใจ ตรงไปตรงมา สามารถ ทำได้ ในการประชุมร่วมกับ กกต. กรธ. ได้ยกตัวอย่างว่าการติดเข็ม เหรียญ หรือธง สามารถทำได้ เครือข่าย นักวิชาการประกาศไม่รับ วิษณุก็รับประกันว่าไม่ผิด

แต่พอท่านนายกฯ ออกมาบอกว่านักวิชาการแสดงความเห็นไม่ได้ ถ้า พ.ร.บ.ออกมาโดนหมด ใส่เสื้อ Vote No Vote Yes ก็ไม่ได้ มีโทษจำคุก 10 ปี สื่อก็ไม่เว้น กฎหมายออกเมื่อไหร่โดนหมดพวกนักวิจารณ์

เมื่อนักข่าวกลับไปถาม วิษณุก็ไปไม่เป็น "ตอบไม่ถูก" ไม่พูดอีกแล้วว่าติดเข็ม เหรียญ ธง สามารถทำได้

แล้วยังงี้ประชาชนจะไม่สับสนหรือว่าอะไรถูกผิด มือกฎหมายอันดับหนึ่งตีความว่าทำได้ แต่พอท่านนายกฯ ลั่นเปรี้ยงทำไม่ได้ มือกฎหมายก็ไปไม่เป็น ได้แต่ทำตาปริบๆ บอกว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย

ทั้งที่ดูตามร่าง วิษณุน่าจะพูดถูก "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการ ออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย" อ่านยังไงก็แปลว่าประชาชนทุกคนมีเสรีภาพแสดงตนว่ารับไม่รับ และเผยแพร่เหตุผลได้ ตราบใดที่ไม่มีเจตนาบิดเบือน ก้าวร้าว ก่อความวุ่นวาย

ส่วนที่ห้ามชี้นำ วิษณุก็บอกว่าไม่มีความผิดฐานชี้นำ คนออกมาพูดเฉยๆ จะว่าชี้นำได้อย่างไร เว้นแต่ใช้เงินใช้อำนาจ เช่นอาจารย์สั่งนักศึกษาโหวตแลกเกรด รัฐมนตรี อธิบดีสั่งข้าราชการโหวตรับ

แล้วห้ามรณรงค์ไหม คำว่ารณรงค์ถูกตัดออกไป แต่ก็มีเสรีภาพในการ "เผยแพร่ความคิดเห็น" เมื่อถามว่าเชิญชวนคนอื่นคิดเหมือนตัวเองถือเป็นรณรงค์หรือไม่ วิษณุก็เห็นว่าไม่เป็น

กระนั้นทุกอย่างก็เป็นตามที่วิษณุพูดครั้ง หลังสุด คือต่อให้ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ คุณก็อาจโดนประกาศคำสั่ง คสช.ได้ ใครอยากรักษาตัวรอดปลอดภัย ก็จงเอาหัวมุดทรายตลอด 4 เดือน ปล่อยให้ กรธ. สนช.ชี้แจงข้างเดียว

ตลกนะครับ ให้ชี้แจงแต่ห้ามบอกรับไม่รับ ทั้งที่ กรธ.ร่างมากับมือเหมือนพ่อให้กำเนิดลูก พ่อคนไหนจะบอกว่าลูกตัวเองไม่เหมาะสม มีแต่บอกว่าคุณสมบัติครบ จริงไหม

ไปๆ มาๆ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ แทนที่จะนำไปสู่บรรยากาศผ่อนคลาย เตรียมสังคมกลับสู่ประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ เปิดให้รณรงค์ดีเบตกันเหมือน ปี50 ก็กลับจะกลายเป็นกฎหมายควบคุมการเคลื่อนไหวการแสดงความคิดเห็น และอาจกลายเป็นกฎหมาย "จับใหญ่" มีนักการเมือง นักศึกษา นักวิชาการ รวมทั้งสื่อ โดนดำเนินคดีมากมาย

ถูกละ ท้ายที่สุดศาลยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน แต่กว่าคดีจะสิ้นสุด ผู้มีอำนาจตั้งข้อหาคือตำรวจ เมื่อท่านนายกฯ ชี้ว่าใส่เสื้อ Vote No Vote Yes ไม่ได้ ตำรวจเห็นที่ไหนก็ต้องจับ ท่านรองนายกฯ ประวิตรยังสำทับให้จับถอดเสื้อเลย เผลอๆ ถอดเสื้อแล้วยังโดนปรับ 100 บาทอีกต่างหาก

รัฐบาลอ้างว่า "ประเทศกำลังเดินหน้า อย่าสร้างความขัดแย้ง" อ้าว งั้นให้ทำประชามติทำไม ทำประชามติก็ต้องมีความเห็น 2 ฝ่ายขัดแย้งกันสิครับ

ถ้าไม่อยากให้ ขัดแย้ง "วุ่นวายนักก็ไม่ต้องทำประชามติ" ท่านพูดถูกแล้ว ไม่ต้องเสียเงิน 3 พันล้าน ไม่ต้องให้ กกต.ไปดูงาน ไม่ต้องตั้งข้อหาให้คนเดือดร้อน อยู่กันไปอย่างนี้หรือประกาศใช้เลยดีกว่า

ถ้าจะเดินหน้าทำประชามติ ก็ต้องยอมรับความขัดแย้งภายใต้กติกาเสรีภาพประชาธิปไตย ประชามติร่างรัฐธรรมนูญควรมีนัยเป็นการเตรียมกลับสู่ประชาธิปไตย สร้างบรรยากาศเปิดกว้าง ผ่อนคลาย สร้าง "ทางลง" ร่วมกันแม้มีความเห็นต่าง

แต่ถ้าประชามติปิดกั้นไปเสียหมด จะให้คนรู้สึกอย่างไร ถ้าไม่ใช่รู้สึกว่า ยังไงๆ เราก็ไม่ได้กลับสู่ประชาธิปไตย