วันจันทร์, เมษายน 11, 2559

7 สิงหานี้ ต้องไป Vote NO ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีชัย Vote NO ไม่รับ'ของเสีย'กะอนาคตที่เราไม่ได้เลือก!!!




ที่มา FB
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM


หลักนิติธรรม (ในมาตรา 26) เป็นคำที่คลุมเครือ ปราศจากการให้คำนิยามหรือคำอธิบายอันชัดเจน และเคยถูกนำไปใช้อย่างไร้เหตุผลในอดีตหลายๆ คราว เช่นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2551 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ที่ไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายหลักคิดพื้นฐานทางกฎหมายของหลักนิติธรรมแต่อย่างใด (จรัญ โฆษณานันท์, 2557) หลักนิติธรรมจึงอาจถูกนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพได้โดยง่าย
.
นอกจากหลักนิติธรรมแล้ว ยังมีคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” (ในมาตรา 25) ที่อาจถูกนำมาใช้อ้างจำกัดสิทธิเสรีภาพได้เช่นกัน



ในมาตรา 43(2) และ 43(3) ให้สิทธิบุคคลและชุมชนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเสนอแนะต่อภาครัฐให้ทำการอันเป็นประโยชน์แก่ชุมชนได้ แต่ทว่าต้องเป็นไปตาม “วิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”
.
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากวิธีการที่กฎหมายบัญญัตินั้นกลับละเมิดสิทธิชุมชนเสียเอง.เช่นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมืองและควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ยกเว้นการใช้ผังเมืองรวมกับกิจการโรงไฟฟ้า โรงงานกำจัดขยะ โรงบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 ให้โครงการที่รอผล EIA สามารถหาผู้รับเหมาไปก่อนได้
.
เมื่อกฎหมายเปิดช่องทางให้ช่วงชิงผลประโยชน์จากชุมชนได้แล้ว สิทธิที่มีจะเป็นจริงได้อย่างไร



มาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาฟรีเป็นเวลา 12 ปี โดยนับตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงจบการศึกษาภาคบังคับ (มัธยมศึกษาตอนต้น)
.
สวัสดิการเรียนฟรีภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงไม่ครอบคลุมไปถึงระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา ต่างจากในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นระดับการศึกษาใด



การเสียโอกาสเรียนฟรี ม.ปลาย-อาชีวะ นี้เท่ากับว่าเด็กอาจเสียโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา หรือเสียโอกาสในการมีอาชีพที่รายได้ดีกว่า



การเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งหรือนายกฯ คนนอก โดยการให้พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่ประสงค์จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีไว้ โดยที่บุคคลในรายชื่อไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ทั้งยังให้แจ้งรายชื่อได้มากถึง 3 รายชื่อ (มาตรา 88) ทำให้เป็นช่องทางในการสอดใส่นายกฯ คนนอกที่ไม่เคยต้องหาเสียงกับประชาชนมาก่อนเข้ามาได้



คุณสมบัติประการหนึ่งของนายกรัฐมนตรี คือ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (มาตรา 160(5)) ซึ่งมาตรฐานที่ว่านี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการเขียนขึ้นมา ซึ่งอาจถูกเขียนอย่างคลุมเครือ จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่าบุคคลในรายชื่อที่ถูกเสนอให้เป็นนายกฯ นั้นจะผ่านเกณฑ์คุณสมบัติข้อนี้หรือไม่ (หรือในบางกรณีมาตรฐานที่ว่านี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองได้)
.
หากคิดถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด บุคคลตามรายชื่อที่พรรคที่มี ส.ส. มากที่สุดอาจมีอันต้องขาดคุณสมบัติไปทั้งหมด ทำให้พรรคดังกล่าวสูญเสียสิทธิที่ควรจะได้ตั้งรัฐบาลไปโดยปริยาย



มาตรา 272 กำหนดให้ในวาระเริ่มแรก หากมีเหตุให้ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ ส.ส. อย่างน้อยครึ่งหนึ่งสามารถเสนอให้ไม่ต้องใช้รายชื่อได้ โดยให้รัฐสภามีมติอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
.
เมื่ออนุมัติแล้ว ก็เลือกนายกฯ กันตามใจปรารถนา (แต่คงไม่ใช่ใจของประชาชน) จะเอาคนนอกคนไหนเข้ามาก็ตามสะดวก



ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ของร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเพียงใบเดียว แล้วจะนำคะแนนจากบัตรเลือกตั้งนี้ไปคิดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองด้วย (มาตรา 91) โดยที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตจะต้องสังกัดพรรค (มาตรา 87) การเลือกผู้สมัครจึงเป็นการเลือกพรรค (เลือก ส.ส. ในบัญชีรายชื่อพรรคนั้น) ไปด้วยในตัว



ในบางครั้ง การที่คนเราจะไปเลือกใครสักคนเป็น ส.ส. เขต อาจเป็นเพราะว่าเขาคนนั้นเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชน เป็นคนที่น่านับถือเป็นการส่วนตัว หรืออาจเพียงเพราะเป็นเพื่อนกัน เราจึงตัดสินใจเลือกเขาแม้เขาจะอยู่สังกัดพรรคที่เราเกลียดก็ตาม
.
การมีบัตรสองใบ ทำให้เราสามารถลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. เขตที่เรารักได้โดยไม่ต้องกังวลว่าคะแนนส่วนนี้จะไปตกเป็นผลประโยชน์ของพรรคใด ในขณะเดียวกันก็สามารถลงคะแนนให้กับพรรคที่ชื่นชอบได้โดยที่ไม่ไปหนุนเสริมผู้สมัคร ส.ส. เขตรายอื่น
.
แต่เมื่อมีบัตรเพียงใบเดียว คุณอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกว่าจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่สังกัดพรรคที่คุณไม่ชอบ หรือพรรคที่ส่งผู้สมัครที่คุณไม่ชอบ ซึ่งสุดท้ายแล้วคุณอาจพบว่าผู้สมัครที่คุณเลือกกลับพ่ายแพ้ ทำให้คะแนนที่คุณลงตกแก่พรรคฝ่ายเดียว หรือเพราะหนึ่งเสียงที่เลือกพรรคของคุณนั้นเองที่ทำให้ผู้สมัครที่คุณไม่ต้องการได้รับชัยชนะ



ไม่ใช่ว่าทุกพรรคจะสามารถส่งผู้สมัครลงแข่งขันได้ทุกเขต สมมติว่าหากคุณชื่นชอบในนโยบายของพรรครักประเทศไทย (ของคุณชูวิทย์) เป็นอย่างยิ่ง แต่ปรากฏว่าพรรคนี้ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงที่เขตของคุณ เท่ากับว่าคุณถูกบีบให้ต้องเลือกพรรคอื่น (หรือกาช่องไม่ออกเสียง) เสียงของคุณจึงไม่อาจมีความหมายได้อย่างที่ควรมี



ระบบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นเพียงการเลือกกันเองภายในกลุ่มบุคคลจากวงการต่างๆ โดยไม่ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเลย (มาตรา 107)


เนื่องจากการประกอบอาชีพของคนไทยนั้นมีหลากหลาย การพิจารณา ส.ว. โดยอาศัยอาชีพเป็นเกณฑ์ย่อมไม่สามารถสะท้อนประชาชนได้ครบถ้วน
.
นอกจากนี้ ในความเป็นจริงจะมีเพียงกลุ่มบุคคลจากวงการที่มีอิทธิพลในทางสาธารณะเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิสรรหา วงการที่เสียงไม่ดังพอ ไม่เป็นที่เชิดหน้าชูตาตามค่านิยมของสังคมก็ย่อมถูกกีดกันไปโดยปริยาย ต้องอยู่เงียบๆ แบบไร้สิทธิต่อไป การคัดเลือกกันเองแบบนี้จึงไม่ใช่การเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างแท้จริง



มาตรา 269 บัญญัติไว้ โดยแม้ว่าการสรรหาเบื้องต้นจะมีหลักเกณฑ์และผู้รับผิดชอบแตกต่างกันไป แต่ท้ายที่สุดก็ต้องผ่านการคัดกรองโดย คสช. อยู่ดี และมี 6 ที่นั่งสงวนไว้ให้ปลัดกลาโหมและบรรดา ผบ. แบบที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไรกันเลย



มาตรา 270 นอกจากจะมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้วุฒิสภาตามมาตรา 269 มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน



องค์กรอิสระ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
.
ที่มาขององค์กรเหล่านี้ (มาตรา 203, 217) สรรหาโดยกรรมการ มีประธานศาลฎีกา (เป็นประธานกรรมการ) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งองค์กรละ 1 คน (กรณีสรรหาสมาชิกองค์กรอิสระใด ให้ตัดองค์กรอิสระนั้นออกไป) รวม 8-9 คน มาจากการเลือกตั้ง 2 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 6-7 คน



มาตรา 5 เมื่อไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อใช้แก่กรณีใด ให้กระทำการหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการตีความประเพณีที่ว่านี้ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร (มาจากการเลือกตั้ง) ผู้นำฝ่ายค้าน (มาจากการเลือกตั้ง) นายกรัฐมนตรี (อาจมาจากการสรรหา) ประธานวุฒิสภา (มาจากการสรรหา) ประธานศาลฎีกา (มาจากการสรรหา) ประธานศาลปกครองสูงสุด (มาจากการสรรหา) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (มาจากการสรรหา) และประธานองค์กรอิสระ (5 คน, มาจากการสรรหา) ร่วมกันตีความ
.
รวมองค์ประชุมผู้ตีความประเพณีฯ มีผู้มาจากการเลือกตั้ง 2-3 คน ผู้มาจากการสรรหา 9-10 คน จึงเท่ากับว่าผู้มีบทบาทสำคัญในการตีความกติกาสูงสุด
.
มาตรา 104 กกต. มีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป โดยอ้างเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้จนกว่าเหตุการณ์นั้นจะสิ้นสุด จึงทำให้ไม่อาจรู้ได้ว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันใดแน่ เพราะไม่อาจรู้ได้ว่านิยามคำว่าเหตุจำเป็นของ กกต. นั้นคืออะไร
.
มาตรา 219 ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับ ส.ส. และ ครม. ด้วย แม้ว่าจะกำหนดให้รับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส. และ ครม. ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถือปฏิบัติตามแต่อย่างใด
.
คำถาม (อีกครั้ง) คือ บุคคลเหล่านี้มีคุณธรรมจริยธรรมสูงส่งกว่าคนอื่นอย่างนั้นหรือ? สมาชิกศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเองก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเช่นเดียวกับนักการเมือง ทั้งยังเคยแสดงพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนักการเมืองเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด จึงก่อให้เกิดข้อกังขาเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรฐานทางจริยธรรมที่ทำขึ้นจะเป็นมาตรฐานที่เที่ยงธรรมจริงๆ หรือเป็นเพียงมาตรฐานที่สะท้อนอคติของพวกเขาเท่านั้น และผลของมาตรฐานที่เกิดจากอคติไม่ได้กระทบกับเพียงนักการเมืองเท่านั้น หากแต่กระทบถึงประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามาด้วย เมื่อนักการเมืองต้องเดินตามทางที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระขีดไว้ ซึ่งบางครั้งเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนเสียเอง



หาก ครม. ต้งพ้นตำแหน่งด้วยเหตุตามมาตรา 144 (มีส่วนเกี่ยวข้อง รู้เห็นการ หรือไม่ยอมห้ามการเปลี่ยนแปลงเนื้อหางบประมาณที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องแก่ผู้เสนอให้เปลี่ยนแปลง) ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน และให้ปลัดฯ คัดเลือกนายกฯ รักษาการ (มาตรา 167(4), 168)
.
ซึ่งอาจจะเป็นการสถาปนารัฐราชการ ที่ข้าราชการระดับสูงขึ้นมาเป็นนักการเมืองโดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งได้



มาตรา 256 กำหนดขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 วาระ ดังนี้
.
การพิจารณาวาระแรก (รับหลักการ) ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน โดยต้องมี ส.ว. เห็นชอบอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว. ทั้งหมด
.
การพิจารณาวาระที่สอง (เรียงลำดับมาตรา) ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
.
การพิจารณาวาระที่สาม (ขั้นสุดท้าย) ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน โดยต้องมี ส.ว. เห็นชอบอย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว. ทั้งหมด และต้องมี ส.ส. จากทุกพรรคที่ไม่มีรัฐมนตรีเห็นชอบอย่างน้อยร้อยละ 20 ของจำนวน ส.ส. พรรคเหล่านั้นทั้งหมดรวมกัน
.
นั่นหมายความว่าพรรคฝ่ายค้านจะมีอำนาจมากในการค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยิ่งพรรคฝ่ายค้านมีจำนวน ส.ส. น้อย ส.ส. แต่ละคนก็จะยิ่งมีอำนาจในการค้าน หากมีกรณีที่พรรคฝ่ายค้านมี ส.ส. เพียง 1 คน ส.ส. 1 คนนั้นจะกลายเป็นผู้ชี้ขาดการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของบ้านเมืองเลยทีเดียว
.
และหากแม้ผ่านทั้ง 3 วาระไปได้แล้ว ก็ยังมีมาตรา 49 (อดีตคือมาตรา 68 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550) ให้สิทธิบุคคลฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้ห้ามการกระทำต่างๆ ที่อ้างว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ซึ่งในอดีตศาลรัฐธรรมนูญเคยใช้ยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว ในทางปฏิบัติจึงเท่ากับปิดประตูการแก้ไขโดยสิ้นเชิง




มาตรา 265 ให้ คสช. ยังคงดำรงอยู่ภายหลังประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้ว จนกว่าจะมี ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งครั้งแรก
.
ซึ่งการเลือกตั้งครั้งแรก จะต้องจัดภายใน 150 วัน (5 เดือน) หลังจาก พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญประกาศใช้ (มาตรา 268)
.
ซึ่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องตราให้เสร็จภายใน 240 วัน (8 เดือน) หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แล้วส่งให้ สนช. พิจารณาอีก 60 วัน (2 เดือน) (มาตรา 267)
.
เท่ากับว่า คสช. อาจอยู่ได้นานถึง 15 เดือน
.
อย่างไรก็ตาม หาก สนช. ไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ จะต้องทำอย่างไรต่อไปนั้น ไม่มีมาตราใดบัญญัติขั้นตอนไว้ นั่นหมายความว่าเมื่อถึงจุดนั้นอาจเกิดภาวะทางตัน แล้ว คสช. ก็จะดำรงอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ



รวมถึงมาตรา 44 ด้วย นั่นหมายความว่าในระหว่างที่รอรัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแรก วันดีคืนดี คสช. อาจเปลี่ยนใจแล้วออกคำสั่งล้มเลิก road map ทั้งหมดไปเลยก็เป็นได้ จึงไม่มีหลักประกันใดให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเมื่อรับร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้ว คสช. จะยอมลงจากอำนาจจริง



ในขณะที่วางข้อกำหนดในมาตรา 271 เพื่อขัดขวางนักการเมืองไม่ให้การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นไปโดยง่าย แต่มาตรา 279 กลับการนิรโทษกรรมให้กับ คสช. แบบง่ายเสียยิ่งกว่าง่าย มีทั้งการนิรโทษกรรม และรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของการกระทำและการใช้อำนาจจาก คสช. ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตหากรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ
.
เพราะฉะนั้นถ้า คสช. หรือพวกคณะรัฐประหารได้ก่อปัญหาไว้ต่อประชาชนและพี่น้องชาวไทย ก็ไม่ต้องรับผิดอะไรเลยแม้แต่น้อย



อย่าลืมว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็เหมือนกับคณะของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และพวกพ้องทั้งสิ้น รับฟังแต่ คสช. และพวกพ้อง (ดังเช่นที่รับข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย)
.
ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นเพียงสิ่งที่มีไว้สนองต่อแผนการของ คสช. และพวกพ้องเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนแต่อย่างใดเลย



ณ คูหาใกล้บ้านท่าน