วันอังคาร, เมษายน 19, 2559

6 องค์กรแถลงการณ์ จี้ 'คสช.' ยุติการใช้อำนาจคุกคามข่มขู่ ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน





6 องค์กร จี้ 'คสช.' ยุติการคุกคาม 'ประชาชน'


by พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
19 เมษายน 2559 เวลา 19:45 น.
Voice TV

จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวานนี้(18เม.ย.59) ที่มณฑลทหารบกที่ 11 และคสช.เปิดเผยในภายหลังว่าได้ย้ายนายวัฒนา ไปที่ ค่ายสุรสีห์ พล.ร.9 จังหวัดกาญจนบุรี วันนี้(19เม.ย.59) Human Rights Lawyers Association เผยแพร่ แถลงการณ์ 6 องกรค์ โดยมี สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA),มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF),มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC),มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw),ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR),สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เรียกร้องให้ยุติการคุกคาม แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่มีการร่างรธน. การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกจำกัดและไม่เปิดโอกาสอย่างเพียงพอ ซึ่งรธน.ถือว่าเป็นกติกาสูงสุดในการนำมาปกครองบ้านเมือง ดังนั้นประชาชนต้องสามารถแสดงเจตจำนงได้อย่างเสรีในการยอมรับและไม่รับ กรณีการควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุข หลังจากแสดงจุดยืนไม่รับร่างรธน. ถือว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สมเหตุสมผล ใช้อำนาจในการควบคุมตามอำเภอใจ ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แม้ว่าจะอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 แต่คำสั่งดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ/นิติธรรม

จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและ คสช. ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ให้ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข เพราะการกระทำของเขาถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อหรือความคิดเห็นโดยสันติ ภายใต้ขอบเขตที่พันธกรณีระหว่างประเทศระบุไว้ และการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวถือเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบและตามอำเภอใจ อีกทั้งมีการควบคุมตัวในสถานที่ไม่เปิดเผย ทำให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การใช้อำนาจดังกล่าวย่อมขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

2. รัฐจะต้องเคารพและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อและความคิดเห็นโดยสันติวิธี รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนสามารถรณรงค์ทั้งในทางสนับสนุนหรือคัดค้านได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลงประชามติที่ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองอย่างแท้จริง (Rights to Self-Determination)

3. รัฐต้องยุติการคุกคาม ข่มขู่ แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกความเห็น ตลอดจนยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจมาปิดกั้นและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เห็นต่างจากแนวทางของรัฐ