วันอังคาร, เมษายน 26, 2559

14 เหตุผลที่ นปช. ไม่สนับสนุน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ผ่านประชามติ






ระบบการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่ได้จำนวน ส.ส. ไม่ทิ้งห่างกันมาก แต่พรรคขนาดกลางจะได้ ส.ส. มากขึ้นนำไปสู่รัฐบาลผสม




มีโอกาสได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอกไม่ใช่ ส.ส.




ได้ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งสรรหา, เลือกกันเองโดย คสช. ซึ่งจะสามารถยับยั้งการแก้กฎหมาย, การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎร, แทรกแซงและลดทอนอำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจบริหารของประชาชน




ส.ว.เหล่านี้มีอำนาจแต่งตั้งและรับรององค์กรอิสระ, ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน




ส.ว.แต่งตั้งตามบทเฉพาะกาลเหล่านี้ 250 คน ซึ่งมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการตำรวจ รวม 6 ตำแหน่งร่วมกับ ส.ว.แต่งตั้งอื่น ๆ จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง




องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่ 4 (นอกเหนือไปจากอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ) ที่จะสามารถดำเนินที่จะสามารถดำเนินการกับนักการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้ถูกลงโทษถอดถอนง่ายดาย




พรรคการเมืองที่มีชัยชนะในการเลือกตั้งจะไม่สามารถดำเนินนโยบายได้ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ




ในเบื้องต้นจะได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอไร้เสถียรภาพ "เป็นรัฐบาลเป็ดง่อย" ไม่มีอำนาจที่จะทำตามนโยบายของตนเอง ต้องทำตามการควบคุมขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จากนั้นรัฐบาลผสมจะมีอายุสั้นมาก ๆ ก็เข้าสู่วิกฤตที่ต้องเอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่ได้นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่แรกหลังการเลือกตั้งใหม่ ๆ




คสช.และกองทัพมีอำนาจต่อเนื่อง ปกครองประเทศจากการที่มี ส.ว.แต่งตั้ง, คณะกรรมการปฏิรูปยุทธศาสตร์ 20 ปี เนื้อหารัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาลที่ทำให้มีรัฐบาลผสมและการมีนายกรัฐมนตรีคนนอก




การเมืองการปกครองยังไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงมีลักษณะอนุรักษ์นิยม, อำนาจนิยม, รัฐข้าราชการรวมศูนย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนไม่ได้เป็นใหญ่ (ตามคำกล่าวของนายมีชัย)




เศรษฐกิจไทยถดถอยเข้าสู่มุมอับมากขึ้น อันเนื่องมาจากการเมืองไม่มีเสถียรภาพและถูกต่อต้านจากประเทศเสรีประชาธิปไตย มีปัญหาการลงทุนธุรกิจจากต่างประเทศและการส่งออก สถานการณ์เศรษฐกิจยิ่งทรุดตัวลง และความไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน ภัยแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจจะรุนแรงยิ่งกว่าในครั้งที่ผ่านมา




ประชาชนถูกลดสิทธิเสรีภาพมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ โดยอ้างปัญหาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงความปลอดภัย ศีลธรรมอันดีเป็นข้อจำกัด รวมทั้งคุ้มครองประกาศ คำสั่ง คสช. รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ สิทธิทางการศึกษา (ยกเลิกเรียนฟรีชั้นมัธยมปลาย) และสิทธิสาธารณสุขจะถูกลดทอนเป็นสิทธิของผู้ยากไร้ตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่ไม่ใช่เศรษฐีก้าวหน้า และตัดคำว่า "เสมอกัน" "ได้มาตรฐาน" "สวัสดิการจากรัฐ" สำหรับสิทธิบริการสาธารณสุขของประชาชน




องค์กรอำนาจสูงสุดในการพิจารณากรณีวิกฤต และไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับไว้คือ องค์กรที่มีประธานศาลต่าง ๆ และประธานองค์กรอิสระเป็นเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งองค์กรเหล่านี้ไม่ยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด ซ้ำบางกรณีให้ปลัดกระทรวงเป็นรัฐมนตรีรักษาการได้ด้วย นี่เท่ากับเป็นการแก้วิกฤตโดยมิได้ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน




ความขัดแย้งจะขยายตัวมากขึ้นถ้ามีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อันเนื่องมาจากปัญหาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เองตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นที่ทำให้การเมืองการปกครองถอยหลัง ไม่อาจจัดเป็นการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้โดยแท้จริง เพียงแต่มีการเลือกตั้ง ส.ส. จากประชาชนเท่านั้น และเมื่อคำนึงถึงบทเฉพาะกาลที่รักษาอำนาจคำสั่งต่าง ๆ ของ คสช. และธรรมนูญชั่วคราวทับซ้อนกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ และมี ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมดในจำนวนกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ซ้ำตามด้วยคำถามพ่วงรัฐธรรมนูญ ก็ประสงค์ให้ ส.ว. แต่งตั้งมีอำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี สุดท้ายผนวกกับกระบวนการการทำประชามติที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลที่ต้องอนุญาตให้มีการรณรงค์อย่างเสรี แสดงความคิดเห็นต่างได้อย่างเต็มที่ จะทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจยอมรับกระบวนการทำประชามติได้ ความขัดแย้งเดิมที่มีอยู่ก็อาจจะถูกยกระดับสูงขึ้นจนเกินคาด


ที่มา

uddthailand