วันอาทิตย์, มีนาคม 06, 2559

ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่จุดสิ้นสุดของปัญหา แต่เป็นหนทางที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา





ฤๅจะแก้เคล็ดดาวมฤตยูเคลื่อนทับราศีเมษของดวงเมือง ช่วงนี้จึงมีโพลออกมากระชั้นชิดอีกแล้ว

เริ่มด้วยกรุงเทพฯโพลเมื่อวาน ตามด้วยวันนี้ (๖ มีนาคม) คลอดทันทีสองโพล ทั้งดุสิตและนิด้า

แต่ละโพลล้วนแจ้งผลในทางที่เป็นคุณเหลือหลาย (ดูเหมือนภาษาชาวบ้านเขาใช้คำที่ออกเสียงเหมือนศัพท์อังกฤษโบราณยุคสก็อต ‘lear’ ที่แปลว่าเรียนรู้) ต่อรัฐบาล คสช. และตัวหัวหน้า ลองมาไล่ดูสิเขาว่าอย่างไรบ้าง

(http://news.voicetv.co.th/thailand/334767.html)

โพลของมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ตั้งปุจฉาเรื่อง “มุมมองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ในด้านที่มีข้อกังขากรณีกรรมการเลือกตั้งที่เคยเห็นคล้อยกับพวกขัดขวางเลือกตั้ง เกิดไอเดียเจ๋งเสนอลงโทษหนักหน่วงต่อผู้ที่ปักหลักค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้ความว่า




ผู้ตอบคำถามว่ารัฐบาล คสช. ให้สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด มีก้ำกึ่งกันระหว่าง ‘ให้มากถึงมากที่สุด’ (๔๔.๙%) กับ ‘ให้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด’ (๔๔.๗%) ประเด็นนี้ธรรมดา

ขึ้นมาหน่อยไม่ค่อยธรรมดาตรงประเด็นที่ว่า รัฐธรรมนูญที่ คสช. ให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างออกมาตามสเป็ค และสไตล์ ‘ฮุนต้า’ เด๊ะเลยนี้น่ะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

คำตอบที่ได้ไม่เกินคาด แถมยัง improved หรือได้รับการปรับปรุง ‘ดูดี’ กว่าที่ผ่านๆ มาเยอะเชียว คือผู้ตอบว่าเป็นประชาธิปไตยมีร้อยละ ๔๕.๘ ส่วนที่เห็นว่าไม่เป็น ร้อยละ ๓๖.๑ เท่านั้น

และเรื่องที่ว่า คสช. ควรอยู่ต่อหลังจากได้รัฐบาลจาการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ คะแนนควรไม่ควรก็ครือๆ กัน คือร้อยละ ๔๙.๔ เห็นว่าน่าอยู่ต่อ ขณะที่อีกร้อยละ ๔๗.๖ บอกว่าอย่าเลยไม่เหมาะ

So far, so good. จนกว่าจะลองไปดูคะแนนเกี่ยวกับคุณสมบัติเบื้อต้นของประดาผู้ที่ตอบคำถามสำรวจ ว่ารู้เรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่เขาจะถามความเห็นมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่าร้อยละ ๘๘.๗ ไม่ค่อยรู้อะไร กับที่บอกรู้ลึกรู้จริงมีเพียง ๑๑.๓

อย่างนี้คำตอบในประเด็นอื่นๆ เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้การไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะผู้ตอบเกือบทั้งหมดย่อม ‘มั่ว’ หรือ ‘เดา’ คำตอบทั้งนั้น

อันที่จริงโพลนี้น่าที่จะยกเลิกไปเลยหลังจากทราบผลข้างต้น ไม่ควรเอาผลที่ไม่อาจเชื่อถือได้มาแถลง

มาถึงโพลของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต มุ่งหาคำตอบจากตัวอย่างสำรวจเรื่องผลการทำงานของคณะยึดอำนาจ คสช. ที่เปลี่ยนจากคณะรัฐประหารมาเป็นรัฐบาลได้ ๑ ปีกับ ๖ เดือน

(http://www.thairath.co.th/content/586776)

รายนี้นับแต้มจากคะแนนเต็มสิบ ได้ว่า ในด้านความตั้งใจทำงานของตัวหัวหน้าคะแนน ๗.๙ ถ้าพูดถึงผลงานคะแนนลดไปหน่อยเหลือ ๗.๑ (ปัดเศษแล้ว)




แต่ถ้าเป็นคณะรัฐมนตรีทั้งชุด คะแนนความตั้งใจทำงานได้ ๗.๑ แล้วมีคะแนนความซื่อสัตย์และความสามัคคีของรัฐบาลได้ ๗.๐ กว่าๆ ไล่เรี่ยกัน แต่คะแนนผลงาน ครม. ทั้งชุดตกไปเหลือ ๖.๗

ทว่าเมื่อถามถึงผลงานรายกระทรวง ผู้ตอบสำรวจดุสิตโพลให้กลาโหมของพี่เอื้อยคณะรัฐประหารตั้ง ๗.๙ เฉียดๆ ๘๐ เปอร์เซ็นต์เลยแหละ สงสัยจะเป็นเพราะปรับทัศนะคติเก่ง กำหราบนักการเมืองอย่างชนิด ‘เอาอยู่’ และมีน้ำอดน้ำทนต่อคำเรียกร้องขององค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ที่ขอให้เลิกใช้ศาลทหารดำเนินคดีต่อพลเรือนเสียที จะร้องแรกแหกกระเชอแค่ไหนทั่นก็ไม่ฟัง

นอกนั้นผลงานกระทรวงต่างๆ ลดลำดับลงไปเรื่อยๆ จากต่างประเทศขี้จุ๊ ๖.๙ คลังถังแตก ๖.๘ พาณิชย์บ้อลัก ๖.๖ อุตสาหกรรมแห้งตาย ๖.๔ และเกษตรรั้งท้าย ๖.๓

ซึ่งก็ไปคล้องจองกับผลงานยอดแย่ที่ร้อยละ ๘๑ ปัญหาเศรษฐกิจเรื่องของแพง ไปถึงร้อยละ ๗๖ เรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ขัดสน

รวมความได้ว่าโพลดุสิตสะท้อนสภาพบ้านเมืองลำบากยากแค้นในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยที่คณะทหารผู้ปกครองฝีมือการบริหารบ้านเมืองไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ แต่โพลปลาบปลื้มชมเชยที่ตั้งใจดี อย่างนี้สุดยอด ไทยๆ

อีกโพลเจ้าเก่า ‘นิด้า’ เจาะใจ จับตา ตรงประเด็นร้อนฉ่านั่นเลยทีเดียว “คสช. วางแผนจะสืบอำนาจหรือไม่”

(http://www.springnews.co.th/politics/277642)

ผลออกมาตามคาด แนวถนัดของนิด้า สอดคล้องคณะรัฐประหาร “มี Road Map ของ คสช.กำหนดไว้อยู่แล้ว และ คสช.เพียงแค่เข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองชั่วขณะ ไม่น่าจะอยู่ถาวร”




หากแต่ตัวเลขคะแนนที่ได้ไม่สวยเหมือนก่อน (ห่างไกลลิบลับ) ผู้ตอบคำถามจำนวนมากที่สุด “ไม่เชื่อเลย” ว่า คสช. วางแผนอยู่ยาว มีเพียง ๓๓ เปอร์เซ็นต์ พวกไม่ค่อยเชื่อเหลือแค่ ๑๘ เปอร์เซ็นต์

ครั้นถามเรื่องความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งที่ คสช. รับประกันมีแน่ (แต่แบบไหนไม่รู้นะ) ปีหน้า พวก “เชื่อมั่นมาก” ร้อยละ ๒๔ และที่ค่อนข้างเชื่อร้อยละ ๒๖

นี่อีกเช่นกัน ตัวเลขจำนวนผู้ให้คำตอบสอบถามจิ๊บจ้อยเสียจนเนื้อหาไม่น่าเชื่อถือ ไม่ควรประกาศออกมา แต่ก็สันนิษฐานดังที่กล่าวไว้ตอนต้นได้ว่า คงจะเป็นหนทางแก้เคล็ดให้แก่ คสช. เกี่ยวเนื่องเรื่องดวงเมืองที่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแผ่นดิน

ซึ่งเป็นผลทางไสยศาสตร์ที่ไม่อาจชี้ชัดเหมาะเหม็งเหมือนเรื่องของวิทยาศาสตร์สถิติ ที่พบว่าการทำโพลในประเทศไทยไม่ว่าจะสำนักไหน เต็มไปด้วยข้อสงสัยด้านความเที่ยงตรง เนื่องจากตัวอย่างที่ใช้สุ่มความเห็น เป็นคนเดิมๆ เซม เซม ทุกครั้งไป ความเห็นที่ออกมาจึงซ้ำซากไม่หลากหลาย ไม่แตกหน่อ ก้าวหน้า

โพลเหล่านี้ล้วนออกมาในทางชื่นชม เชิดชูคณะรัฐประหารตั้งแต่ต้น ก่อนหน้านี้คะแนน ๘๐-๙๐ ไปถึง ๙๙.๙๙ ก็ยังมี ช่วงหลังนี่เหนียมหน่อย ปล่อยออกมาแค่ ๖๐-๗๐ ก็ยังไม่วายไม่สมเหตุสมผลพอที่จะให้เชื่อถือ

ปัญหาอยู่ที่ ทั้งๆ ที่รู้ก็ไม่ได้ทำการแก้ไขอย่างจริงจังกัน อาจเป็นเพราะมีข้อจำกัดจากการ ‘รับงานตามธง’ ก็เลยกระแท่นกันไปอย่างนี้ก่อน

มีอุทธาหรณ์หนึ่งชวนให้สนใจว่า ในสังคมประชาธิปไตยตะวันตก แม้ว่าจะหนีไม่พ้นความลำเอียงและการเอาเปรียบไปได้ แต่ในบรรยากาศแห่งความเสมอภาคเท่าเทียม ย่อมมีความพยายามแก้ไขทันทีที่ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นมา แทนที่จะรอฟ้ามาโปรด หรืออัศวินม้าขาวมาปราบยุคเข็ญอย่างบ้านเรา

จากที่มี ‪#‎OscarSoWhite‬ ช่วงงานแจกตุ๊กตาทองของสถาบันภาพยนตร์ฮอลลีหวูดเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว คงทราบกันว่าเนื่องเพราะไม่มีนักแสดงผิวดำเข้าชิงรางวัลเลยเป็นปีที่สอง จึงมีการโวยวายขึ้น และมีผู้กำกับฯ นักแสดงผิวดำบางคนบอยคอตไม่ไปร่วมงาน

ทางสถาบันฯได้ออกมายอมรับในปัญหา เรื่องสัดส่วนของสมาชิกที่เป็นผู้โหวตออกเสียงว่าหนังและดาราไหนควรได้เข้าชิง นั้นเต็มไปด้วยผิวขาวที่อาจมองข้ามและ/หรือละเลยให้ความสำคัญแก่นักแสดงผิวดำ จึงมีการให้คำมั่นจะดำเนินปรับปรุงโดยเพิ่มสัดส่วนของสมาชิกผิวดำให้ทัดเทียมภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๐

ก่อนจะถึงปีนั้นคงมีปัญหาเรื่องการเหยียดนักแสดงเลือดเอเชียนขึ้นมาอีกได้ เพราะในปีนี้เองก็มีเสียงครหาแล้วว่ามุขตลกที่คริส ร้อค พิธีกรแสดงกับเด็กเอเชียนสามคนนั้นเป็นการเหยียดผิว ซึ่งแน่นอนว่าในงานแจกรางวัลปีหน้าก็จะได้เห็นความพยายามแก้ไข

แน่นอน ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่จุดสิ้นสุดของปัญหา แต่เป็นหนทางที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเสมอ