วันอังคาร, มีนาคม 08, 2559

ความเป็นมาของวันสตรีสากล




ที่มา เวป gender.co.th

อดีตที่ผ่านมา สตรีมักเป็นฝ่ายที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาย ไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพอย่างที่ควรจะได้รับ การถูกกดขี่ข่มเหง และการเอารัดเอาเปรียบที่มีต่อสตรีในสังคมได้กลายเป็นแรงผลักดัน ให้สตรีส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม และความเท่าเทียมกันในสังคม เรื่องราวแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธินี้สืบย้อนไป โดยเริ่มตั้งแต่

ปี ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332)
บรรดาสตรีชาวปารีสพร้อมใจกันเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายส์ ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส พร้อมทั้งเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพและเรียกร้องความคุ้มครองแก่สตรีขึ้นเป็นครั้งแรก

ปี ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400)
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้าและตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ได้พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงาน และให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดียิ่งขึ้น โดยเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพ การทำงาน แต่แล้วเหตุการณ์ก็จบลงด้วการฆาตรกรรมโหดคนงานหญิง 119 คน โดยการเผาโรงเรียนในขณะที่คนงานหญิงกำลัง
ประท้วงอยู่ 

ปี ค.ศ.1866 (พ.ศ.2409)
การประชุมสมัชชาของบรรดาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 1 ได้มีการออกมติเกี่ยวกับการทำงาน อาชีพของสตรี รับว่าเป็นการท้าทายอย่างเปิดเผยต่อขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ในสมัยนั้นที่กำหนดให้สตรี ต้องอยู่แต่เฉพาะในบ้านเท่านั้น 

ปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432)
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1889 คลาร่า เซทกิ้น ได้แสดงสุนทรพจน์เป็นครั้งแรก เรื่องปัญหาของสตรีต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้ง 

สภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส โดยเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการทำงาน ให้มีการคุ้มครองสตรีและเด็ก รวมทั้งยังได้ เรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชุมระดับชาติ และระดับสากลอีกด้วย นับเป็นเสียงเรียกร้องที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง 

ปี ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442)
ได้มีการจัดประชุมกลุ่มสตรีผู้ต่อต้านสงครามขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งมีการประชุมดังกล่าว นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ของขบวนการต่อต้านสงครามที่พัฒนา และเติบโตขึ้นมากในช่วงศตวรรษที่ 20 

ปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450)
กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ ขูดรีด ทารุณจากนายจ้าง ที่เห็นผลผลิต สำคัญ กว่าชีวิตคน ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ คลาร่า เซทกิ้น โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงาน จากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการ เรียกร้อง ครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก และส่งผลให้วิถีการแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน 

ปี ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453)
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ได้มีการประชุมครั้งที่ 2 ของสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ (International Conference of Socialist Women) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี คลาร่า เซทกิ้น นักสังคมนิยมจากเยอรมัน ในฐานะที่เป็นเลขาธิการ ของสตรีสากล ได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึงถึงการต่อสู้ของคนงานหญิงโรงงานทอผ้าในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่การต่อสู้จบลงด้วยการฆาตรกรรมหมู่ และก็ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์ จากผู้เข้าร่วมการประชุมนับร้อย จากองค์กรต่าง ๆ 17 ประเทศ อันประกอบด้วยออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์ มีประชาชนชายหญิงมากกว่า 1 ล้านคนเข้าร่วมชุมนุม มีการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่มเติม จากการเรียกร้องสิทธิ ในการทำงาน การเข้ารับการอบรมวิชาชีพ และการให้ยุติการแบ่งแยกในการทำงาน 

ปี ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454)
มีการจัดงานวัดสตรีสากลเพิ่มขึ้น ในประเทศฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ และสวีเดน 

ปี ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456)
มีการจัดชุมนุมเนื่องในวันสตรีสากลขึ้นในรัสเซียเป็นครั้งแรก ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก แม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวาง
ก็ตาม 

ปี ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457)
วันสตรีสากลได้จัดขึ้น โดยได้เชิดชูคำขวัญของขบวนการสันติภาพ ทั้งนี้เพื่อต่อต้านสงครามที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในยุโรป หลังจากนั้น เป็นต้นมา การฉลองวันสตรีสากลก็ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สตรีในทวีปต่าง ๆ ทั้งแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาต่างก็ร่วมมือ กันต่อสู้ เพื่อสิทธิเท่าเทียมกัน เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งร่วมกันผลักดันให้มีการตระหนัก ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ของสตรีอย่างสมบูรณ์ 

ปี ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500)
องค์การสหประชาชาติได้เห็นความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วม โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้มีมติที่ 32/142 ในการเชิญชวน ให้ทุกประเทศทั่วโลก กำหนดให้วันหนึ่งวันใดเป็นวันฉลองแห่งชาติ ว่าด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล โดยทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี และสภาพทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล (International Women's Day)


การริเริ่มของสหประชาชาติในการยกระดับสภาพเงื่อนไขของสตรี มีผลทำให้เกิดการจัดตั้งงค์กรทางด้านกฎหมาย ระหว่าง ประเทศ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในทางกฎหมายให้เกิดขึ้น และมีองค์กรในสหประชาชาติอีกหลายองค์กรที่ทำงานผลักดัน ให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง โดยการทำให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจมากขึ้น และพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขขนบธรรมเนียม และเจตคติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติมาเป็นเวลานาน 

องค์กรต่าง ๆ ที่สำคัญในระบบของสหประชาชาติ ที่มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิสตรี ได้แก่ 

(1) คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (UNCSW) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) โดยเป็นองค์กรภายใต้คณะมนตรี เศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) มีหน้าที่กำหนดแนวทางการยกระดับสถานภาพสตรี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และด้านการศึกษา 

(2) คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1982 (พ.ศ.2525) เพื่อเป็นองค์กรในการติดตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ องค์กรนี้ มีหน้าที่ตรวจสอบว่าประเทศภาคี อนุสัญญาฯ กว่า 100 ประเทศ ปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญา ฯ หรือไม่ 

- แผนกเพื่อความก้าวหน้าของสตรี เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์พัฒนาสังคม และกิจการด้านมนุษยธรรม ทำหน้าที่เป็น สำนักงานเลขานุการ ดำเนินการวิจัย และทำงานสนับสนุนองค์กรทั้งสองข้างต้น
- กองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) เป็นกองทุนภายใต้โครงสร้างของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาาติ (UNDP) ทำหน้าที่สนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการผสานสตรีในกระบวนการพัฒนา ด้วยวิธีการส่งเสริมกิจกรรม สร้างเสริมรายได้ขนาดย่อม
- สถาบันวิจัยและฝึกอบรมระหว่างประเทศ เพื่อความก้าวหน้าของสตรี (INSTRAW) เป็นแหล่งให้เงินทุนอุดหนุน และมีหน้าที่ทำวิจัย เพื่อยกระดับวิธีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการพัฒนา

ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล





คลาร่า เซทกิ้น (CLARE ZETKIN)
ค.ศ.1857 - 1933 (พ.ศ.240 - 2476) 

คลาร่า เซทกิ้น เธอจึงได้รับการขนานนามว่า มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล เป็นผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล 

นักการเมืองหญิงสายมารค์ซิสต์ และอิตถีนิยม ชาวเยอรมัน เป็นผู้ริเริ่มวันสตรีสากลชื่อเดิมชื่อ คลาร่า ไอนส์เนอร์ เกิดที่เมืองไวเดอรูว์ แคว้นแซกโซนี่ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400) จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูเมืองไลป์ซิก และพบรัก กับเพื่อนนักศึกษาชาวรัสเซียด้วยกัน นามว่า ออพซิป เซทกิ้น และได้แต่งงานด้วยกันในเวลาต่อมา มีบุตร 2 คน และเป็นหม้ายในปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432)

ในปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2424) ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) ซึ่งเป็น พรรคการเมืองที่ก่อตั้งได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะถูกยุบ โดยมหาเอกอัครเสนาบดีของปรัสเซีย (เยอรมัน) นามว่า ออทโต ฟอน บิสมารค์ และคลาร่าได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่สวิตท์เซอร์แลนด์
ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) คือ 8 ปี ให้หลังคลาร่าได้กลับสู่เยอรมันดินแดนมาตุภูมิ คลาร่ากลับมาพร้อมกับการก่อตั้ง กลุ่มนักสังคม นิยมหญิง หลักจากนั้น ในปี ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) ได้ริเริ่มในการเสนอให้กำหนดวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล 

นับจากปี ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) ในขณะที่ประเทศเยอรมันกำลังทำสงครามโลกครั้งที่ 1 คลาร่า เซทกิ้น ได้ร่วมมือกับ โรซ่า

ลัมเซมเบอรค์ (นัดคิดสายมารค์ซิสต์หญิงคนสำคัญ) ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนามกลุ่ม สปาร์ตาซิสต์* จึงทำให้ 

คลาร่าเดินเข้าออกจากคุกนับครั้งไม่ถ้วน 

* กลุ่มสปาร์ตาซิสต์ (spatarcist) เป็นกลุ่มกรรมการในเยอรมันที่ประท้วงรัฐบาลเยอรมันสมัยนั้น ในการทำสงครามโลก ครั้งที่ 1 ภายใต้การนำของ 2 นักสังคมนิยมเยอรมัน โรซ่า ลัมเซมเบอรค์ (Rosa Luxemburg) และคารล์ เลี๊ยบเนคท์ (Karl Liebknecht) ด้วยความคิดที่ว่า ทหารที่ส่งไปรบและล้มตาย ก็คือประชาชน หรือผู้ใช้แรงงาน สงครามเป็นการกระทำที่สนองตัณหาของรัฐบาล ในการต้องการความยิ่งใหญ่ แต่ประชาชนมีแต่ต้องสูญเสีย (กลุ่มสปาร์ตาซิสต์ เป็นชื่อที่นำมาจากชื่อของ สปาร์ตาคัส ผู้นำของทาศ ในยุคโรมันโบราณที่หาญกล้าขึ้นปฏิวัติล้มอำนาจของจักรพรรดิโรมันยุคโบราณ)