วันศุกร์, มีนาคม 18, 2559

ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ "มีภัย"



ไปลงประชามติ
รักษาสิทธิ์ แต่ vote #ไม่รับ!!
ที่มา เพจ
ล้านไลค์คว่ำรัฐธรรมนูญ59

...



สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
...
กกต. เสนอ ร่าง ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 64 มาตรา ให้ ครม.พิจารณาก่อนส่งให้ สนช.ต่อภายในสัปดาห์นี้
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกอบด้วย
๐ เวลาหย่อนบัตร 08.00-16.00 น.
๐ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันออกเสียงประชามติ มีสิทธิลงคะแนน
๐ ไม่ให้นับบัตรเสียเป็นคะแนน
๐ ใช้บัตรใบเดียว ถามทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง
๐ กกต.จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันของบุคคลทุกฝ่ายในเรื่องที่ทำประชามติ โดยสถานีวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ของรัฐต้องจัดสรรเวลาออกอากาศให้ตามที่กกต.กำหนด
๐ จัดให้มีการลงคะแนนออกเสียงไว้เป็นพิเศษ สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ
๐ ผู้ใดเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อทุกประเภท หรือในช่องทางอื่นที่
ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรงก้าวร้าว ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เรียบร้อย เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นประชาชนระหว่าง 7 วันก่อนออกเสียง มีความผิดต้องรับโทษทางอาญา
ทั้งนี้รัฐบาลกำหนดเบื้องต้นว่าวันออกเสียงประชามติน่าจะตรงกับ
วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้
...
อ่านข่าวทั้งหมด: http://bit.ly/1P9HD1i
cr. กราฟฟิคมติชนรายวัน

ooo


เปิดร่างพรบ.ประชามติรธน. ใช้บัตรเดียว-บัตรเสียไม่นับคะแนน



เปิดร่างพรบ.ประชามติร่างรธน. ใช้บัตรเดียวออกเสียง-บัตรเสียไม่นับเป็นคะแนน กำหนดเผยผลนับคะแนนแค่95%


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 14 มีนาคม 2559

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมกกต.ในวันที่14มี.ค.59 จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... อย่างเป็นทางการ เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่15มี.ค.นี้ จากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการภายในไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ตรวจแก้ก่อนเสนอต่อครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีทั้งสิ้น 64 มาตรา แบ่งเป็น 3หมวด ประกอบด้วย1.หมวดการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ การจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญ และการเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียง2.หมวดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกเสียง และ 3.หมวดการควบคุมการออกเสียงและบทกำหนดโทษ

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญเป็นการเขียนล้อจากร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด อาทิ ภายใน15วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ครม.และสนช.ทราบ ให้ครม.แจ้งกกต.และให้กรธ.ส่งสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก่กกต.

ขณะที่ประเด็นคำถามเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ต้องการทำประชามติ ก็ให้ส่งประเด็นมายัง กกต. ภายใน10วันถัดจากวันที่สนช.ได้รับแจ้งจากกรธ.โดยกกต.เป็นผู้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ สรุปสาระสำคัญ ประเด็นเพิ่มเติม และเผยแพร่กระบวนการขั้นตอนการออกเสียงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง ซึ่งกกต.สามารถมอบหมายบุคคลหรือคณะบุคคลในการดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ได้

สำหรับบัตรเสียไม่ให้นับเป็นคะแนนออกเสียง การจัดทำประชามติให้กกต.กำหนดวันออกเสียงซึ่งจะต้องไม่เร็วกว่า90และไม่ช้ากว่า120วันนับแต่วันที่กกต.ได้รับร่างรัฐธรรมนูญและสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียง มีอายุไม่ต่ำกว่า18ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียงแล้ว

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กกต.จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันของบุคคลทุกฝ่ายในเรื่องที่ทำประชามติ โดยสถานีวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ของรัฐต้องจัดสรรเวลาออกอากาศให้ตามที่กกต.กำหนด การออกเสียงให้กกต.กำหนดให้มีหลายประเด็นในบัตรออกเสียงเดียวกันได้ ส่วนวันออกเสียงให้เปิดการลงคะแนนออกเสียงตั้งแต่เวลา 08.00-16.00น.

ขณะเดียวกัน ให้กกต.หรือผู้ที่กกต.มอบหมายจัดอำนวยความสะดวก หรือช่วยเหลือในการลงคะแนนออกเสียง สำหรับการลงคะแนนออกเสียงของคนพิการ ผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษ โดยความช่วยเหลือนั้นคนพิการ หรือผู้สูงอายุต้องลงคะแนนออกเสียงด้วยตนเอง เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรออกเสียงได้ ให้กรรมการประจำหน่วยออกเสียง เป็นผู้กระทำแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของผู้ออกเสียง

รวมถึงให้กกต.จัดออกเสียงสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ โดยจัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิออกเสียง ณ สถานที่ดังกล่าวได้ เช่น ณ สมาคมคนตาบอด บ้านพักคนชรา เป็นต้น อีกทั้งยังเปิดช่องให้กกต.สามารถนำเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการออกเสียงไปพร้อมกับการลงคะแนนออกเสียงด้วยบัตรออกเสียงได้

นอกจากนั้นยังกำหนดว่า ในกรณีหน่วยออกเสียงใดไม่สามารถกระทำการออกเสียง หรือนับคะแนนออกเสียงให้เสร็จสิ้นได้เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่น ให้กรรมการประจำหน่วยประกาศงดการออกเสียง งดการนับคะแนนในหน่วยออกเสียงนั้น แล้วรายงานกกต. และให้กกต.กำหนดวันออกเสียงใหม่ในหน่วยนั้น หรือวันนับคะแนนใหม่ในหน่วยนั้นโดยเร็ว เว้นแต่กกต.เห็นว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงของหน่วยออกเสียงดังกล่าว หรือจำนวนบัตรออกเสียง จำนวนผู้มาแสดงตนใช้สิทธิออกเสียงของหน่วยออกเสียงที่ไม่สามารถนับคะแนนออกเสียงได้ ไม่เปลี่ยนแปลงผลการออกเสียง กกต.อาจไม่จัดให้มีการลงคะแนนออกเสียงใหม่ หรือไม่สั่งนับคะแนนใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้นก็ได้ และให้กกต.จัดทำประกาศผลการออกเสียง เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรี และในระหว่างสิ้นสุดการลงคะแนนออกเสียงจนถึงก่อนการจัดทำประกาศผลการลงคะแนนออกเสียง ห้ามมิให้ผู้ใดเผยแพร่ผลการลงคะแนนออกเสียง

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกำหนดลักษณะของบัตรออกเสียงที่ถือเป็นบัตรเสียไว้ทั้งหมด6ลักษณะ คือ 1.บัตรปลอม 2.บัตรที่มิใช่บัตรซึ่งกรรมการประจำหน่วยมอบให้3.บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนออกเสียง (กากบาท)4.บัตรที่มีการเขียนข้อความ หรือถ้อยคำอื่นลงไป 5.บัตรที่ทำเครื่องหมายเป็นที่สังเกต เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่6.บัตรเสียอื่นที่มีลักษณะตามที่กกต.กำหนด ซึ่งกรณีที่มีการออกเสียงมากกว่าหนึ่งประเด็นในบัตรเดียวให้บัตรออกเสียงที่มีลักษณะตามข้อ1,2,4,5เป็นบัตรเสียทั้งฉบับ

อีกทั้งมีการกำหนดว่า เพื่อประโยชน์แก่การติดตามผลการออกเสียงประชามติต่อสาธารณะด้วยความรวดเร็ว กกต.อาจดำเนินการให้มีการรายงานผลการออกเสียงอย่างไม่เป็นทางการได้ แต่เมื่อแสดงผลการออกเสียงถึง95%ของจำนวนหน่วยออกเสียงให้หยุดการแสดงผลการออกเสียงต่อสาธารณะ

ขณะที่การคัดค้านการออกเสียงให้กระทำภายใน24ชั่วโมงนับแต่สิ้นสุดการลงคะแนนออกเสียง โดยผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนไม่น้อยกว่า10%ของหน่วยออกเสียงนั้น ยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมหลักฐานต่อกกต. หากเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยดังกล่าวไม่สุจริตเที่ยงธรรม โดยกกต.ต้องตรวจสอบและมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งภายใน30วันนับแต่วันออกเสียง

ส่วนเรื่องการควบคุมการออกเสียงและบทกำหนดโทษนั้น กำหนดห้าม กกต. เจ้าหน้าที่ กกต. ผู้ได้รับมอบหมายจากกกต. เจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ขัดขวางไม่ปฏิบัติกฎหมาย หรือผู้ใดกระทำการขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หลอกหลวง บังคับ ขู่เข็ญ พนัน รับ เรียกรับประโยชน์ เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือสำคัญผิดในวันเวลา วิธีการออกเสียง

ผู้ใดเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อทุกประเภทหรือในช่องทางอื่นที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่าง7วันก่อนออกเสียงถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียง มีความผิดต้องรับโทษทางอาญา จำคุกต่ำสุดตั้งแต่ไม่เกิน3เดือน ถึงสูงสุด10ปี ปรับตั้งแต่ไม่เกินหกพันบาทถึงสองแสนบาท และอาจถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปี

รวมทั้งหากผู้ใดทำให้ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติใหม่ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการออกเสียงประชามติในคราวถัดไป

อย่างไรก็ตาม มีการยืนยันจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะมีการปรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในเรื่องของกติกาการใช้สิทธิ คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียง โดยให้กกต.นำไปบัญญัติไว้ในระเบียบ กกต. เพื่อให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีความกระชับมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการประสานงานกันภายในระหว่างรัฐบาล กกต. และ สนช.ในการเร่งพิจารณาให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เสร็จและมีผลบังคับใช้เพื่อให้การออกเสียงประชามติไปตามแผนงานที่รัฐบาลวางไว้ โดยรัฐบาลเห็นว่าควรกำหนดให้วันที่7ส.ค.เป็นวันออกเสียงประชามติ ไม่ใช่วันที่31ก.ค. อย่างที่กกต.เสนอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกกต.ได้ขอให้สนช. พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติให้มีผลบังคับใช้ไม่เกินวันที่13เม.ย. ที่ กรธ.จะส่งสรุปร่างรัฐธรรมนูญให้กกต.ที่จะต้องจัดพิมพ์เผยแพร่.เพราะหากล่าช้ากว่าเวลาดังกล่าวจะกระทบต่อการจัดการออกเสียง

อีกทั้ง กกต. จะไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ โดยถัดจากวันที่13เม.ย. กกต.ก็จะประกาศกำหนดให้วันที่7ส.ค.เป็นวันออกเสียงประชามติ ซึ่งวันที่7ส.ค.นั้น ถือเป็นวันที่116ของกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดว่าวันออกเสียงต้องไม่เร็วกว่า90วัน แต่ไม่ช้ากว่า120นับแต่วันถัดจากวันที่กรธ.สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญให้กกต.