วันศุกร์, มีนาคม 11, 2559

จีนเล่นแง่ซื้อข้าวจีทูจีไทย แสนตันสุดท้ายค้างเติ่งหลังรถไฟสะดุด/ต่อราคาตํ่าติดดิน




จีนเล่นแง่ซื้อข้าวจีทูจีไทย แสนตันสุดท้ายค้างเติ่งหลังรถไฟสะดุด/ต่อราคาตํ่าติดดิน

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
10 มีนาคม 2559

จีนเล่นแง่ซื้อข้าวจีทูจีไทย 1 แสนตันสุดท้าย วงการตั้งข้อสังเกต เสนอราคาต่ำสุดๆ แบบไม่อยากซื้อ หลังโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนสะดุด จี้รัฐบาลไทยเคลียร์ให้ชัด ขณะตลาดส่งออกส่งออกข้าวไตรมาส 2 เงียบสนิท หลังศก.โลกยังซึมยาว ฟิลิปปินส์-อินโดฯชะลอซื้อ ขณะ ส้มหล่นปากีสถานเสนอราคาขายต่ำสุด คู่ค้าแห่ซื้อ ไทยลุ้นรอครึ่งอินเดียกระทบแล้ง โอกาสดันเป้าส่งออก 9 ล้านตัน




ตลาดส่งออกข้าวไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ว่า ในช่วงเดือนมกราคมไทยมีการส่งออกข้าวที่ซื้อกันระหว่างภาคเอกชนกับคู่ค้าในต่างประเทศรวมกับข้าวที่มีสัญญาการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีระหว่างไทยและจีน ใน 1 ล้านตันแรก (ที่เซ็นสัญญาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์) โดยให้เอกชนเป็นผู้ส่งมอบข้าว และมีการส่งมอบให้จีนเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนธันวาคม 2558 – มกราคม 2559 ส่งผลให้การส่งออกข้าวของไทยในเดือนมกราคม 2559 มีปริมาณรวมมากกว่า 1 ล้านตัน ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคาดการณ์ส่งออกข้าวจะทำได้ที่ระดับ 7 แสนกว่าตัน เพราะไม่มีตัวเลขข้าวจีทูจีจีนมาช่วย ขณะที่ในการส่งมอบข้าวจีทูจีใน 1 แสนตันสุดท้าย (จาก 1 ล้านตันแรก) ยังไม่สามารถตกลงเรื่องราคาซื้อขายได้ ขณะที่ในเดือนมีนาคมล่าสุดคาดไทยจะส่งออกข้าวในระดับ 7 แสนตันในระดับใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์ และหลังจากในเดือนมีนาคมไปคาดตลาดส่งออกข้าวจะเริ่มเงียบเพราะไม่มีการขายใหม่ต่อเนื่อง

“ตลาดซื้อขายและส่งออกข้าวตอนนี้ค่อนข้างเงียบมากเพราะเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียได้นัดกรมการค้าต่างประเทศและผู้ส่งออกข้าวเอกชนของไทยไปเจรจา รวมถึงได้นัดเวียดนามและปากีสถานไปเจรจาซื้อข้าวด้วยเช่นกัน แต่สุดท้ายปรากฏรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศได้ขอยกเลิกนัดหมายทั้งหมดโดยไม่ทราบเหตุ มองว่าคงมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง”

นายชูเกียรติ ขยายความถึง ข้าวจีทูจีไทย-จีน ใน 1 แสนตันสุดท้ายจาก 1 ล้านตันแรก (ส่งมอบไปแล้ว 9 แสนตัน) ที่ยังไม่สามารถตกลงเรื่องราคากันได้ว่า ล่าสุดจีนต่อรองราคาข้าวไทย (ข้าวขาว 5%) ในราคาเอฟโอบี (ราคา ณ ท่าเรือต้นทางไม่รวมค่าระวางเรือ ค่าประกันภัยและอื่นๆ) ที่ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยราคานี้รวมค่าใช้จ่ายการโหลดตู้คอนเทนเนอร์ ค่าปรับปรุงข้าวเป็นข้าวชนิดพิเศษแล้ว จากที่เวลานี้ราคาข้าวเอฟโอบีของไทยก็ต่ำมากโดยเสนอเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้ขายไม่ได้เพราะจะขาดทุน เรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตว่าที่จีนต่อรองราคาข้าวต่ำมากเหมือนไม่อยากซื้อครั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนที่ชะลอหรือสะดุดลง (หลังจากไทยขอให้จีนร่วมลงทุนมากขึ้น การเจรจางานโยธายังไม่ลงตัว และไทยยังไม่ยอมเซ็นสัญญาซื้อรถไฟจากจีน) เพื่อดึงเรื่องต่อรองหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่เป็นที่น่าสังเกต เช่น ในสัญญาข้าวจีทูจีในส่วนของข้าวหอมมะลิ 1 หมื่นตันที่จีนซื้อไปแล้วแต่ภายหลังราคาข้าวหอมมะลิตก ทางจีนไม่ยอมรับมอบอ้างว่าข้าวไทยมีกลิ่นเปรี้ยว ภายหลังได้ตรวจสอบแล้วไม่พบมีปัญหา จีนยอมรับมอบข้าวไปแล้ว 4 พันตัน ยังเหลืออีก 6 พันตัน ทางจีนได้ต่อรองข้าวที่จะส่งมอบต้องเป็นข้าวหอมมะลิจากจังหวัดอุบลราชธานีและ สุรินทร์เท่านั้น

“จากหลายเหตุการณ์มองว่า ทางจีนดึงเรื่องรับมอบข้าวจีทูจี เรื่องนี้รัฐบาลไทยควรเจรจากับทางฝ่ายจีนเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรเพราะยังมีสัญญาใน 1 ล้านตันที่ 2 รออยู่”

นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า จากเศรษฐกิจโลกซบเซา คู่ค้าหลายประเทศกำลังซื้อลดลง แต่ความต้องการข้าวยังมีอยู่ ส่งผลให้เวลานี้คู่ค้าข้าวส่วนใหญ่ได้หันไปซื้อและนำเข้าข้าวจากปากีสถานที่เสนอราคาเอฟโอบีต่ำสุดในเวลานี้เพียง 330 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (ข้าวขาว 5%) ขณะที่เวียดนามเสนอที่ 355 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ไทยเสนอ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และอินเดียเสนอ 350-355 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ดังนั้นไทยคงต้องรอให้ปากีสถานขายข้าวให้หมดก่อน (คาดปี 2559 ปากีสถานจะส่งออกข้าวได้ที่ 3.5-4 ล้านตัน) ขณะที่อินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ในปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 11.2 ล้านตัน แต่ในปีนี้จากปัญหาภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตข้าวของอินเดียลดลง และคาดจะส่งผลทำให้การส่งออกข้าวของอินเดียอาจลดลงเหลือ 8-8.5 ล้านตัน ดังนั้นโอกาสขายข้าวของไทยสู่เป้าหมายที่สมาคมตั้งเป้าไว้ที่ 9 ล้านตันคงอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 – 12 มีนาคม พ.ศ. 2559