วันจันทร์, มีนาคม 14, 2559

“สโนว์เดน” ส่งสารถึงชาวโลกผ่าน AdBlock ใน “วันต่อต้านการเซ็นเซอร์สื่ออินเทอร์เน็ตโลก”




ที่มา Amnesty International
12 มีนาคม 2559

สารจาก “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน” “อ้าย เหว่ยเหว่ย” และ “พุซซี่ ไรออต” เกี่ยวกับเสรีภาพบนโลกออนไลน์ถูกเผยแพร่ในรูปแบบโฆษณาออนไลน์ผ่าน AdBlock ซึ่งร่วมมือกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนื่องใน “วันต่อต้านการเซ็นเซอร์สื่ออินเทอร์เน็ตโลก”

ในวันที่ 12 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็น "วันต่อต้านการเซ็นเซอร์สื่ออินเทอร์เน็ตโลก” หรือ World Day against Cyber Censorship ตลอดทั้งวัน ผู้ใช้แอดบล็อก (AdBlock) แอพพลิเคชั่นบล็อกโฆษณาออนไลน์ยอดนิยม ที่มีกว่า 40 ล้านคนทั่วโลกจะได้รับข้อความแจ้งเตือนว่าต้องการอ่านข้อความจากแอมเนสตี้หรือไม่ หากผู้ใช้เปิดอ่าน ก็จะพบกับข้อความของนักเคลื่อนไหวหลายคนที่รัฐบาลของพวกเขาพยายามจะปิดปาก





รัฐบาลกระหายอำนาจในการควบคุมอินเทอร์เน็ต

แอมเนสตี้พบว่าทุกวันนี้ รัฐบาลทั่วโลกกำลังพยายามอย่างมากที่จะควบคุมการสื่อสารบนโลกออนไลน์ โดยบางประเทศพยายามแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้รัฐสามารถสอดส่องและเซ็นเซอร์กิจกรรมออนไลน์ของประชาชนในวงกว้างได้ ขณะที่บางประเทศก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถสอดแนม แฮ็ก ตลอดจนปิดปากประชาชนบนโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย

เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ปากีสถาน โปแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ต่างพยายามผลักดันกฎหมายใหม่ที่เพิ่มขีดความสามารถในการสอดแนมกิจกรรมออนไลน์ของประชาชนทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่จีนและคูเวตเป็นสองประเทศที่ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์กลายเป็นอาชญากรรม

แอมเนสตี้ยังพบว่าตลอดปี 2558 มีผู้ที่ถูกจับกุมจากกิจกรรมบนโลกออนไลน์มากกว่า 16 ประเทศ เหยื่อการคุกคามเสรีภาพบนโลกออนไลน์นั้นมีตั้งแต่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวคาซัคที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กสร้างความแตกแยก ไปจนถึงนักข่าวและนักกิจกรรมในโมร็อกโกที่ถูกนำตัวขึ้นศาลเพียงเพราะฝึกอบรมนักข่าวพลเมืองให้ใช้สมาร์ทโฟนในการรายงานข่าว โดยทางการโมร็อกโกอ้างว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นภัยความมั่นคงและเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐ

ขณะที่ทางการไทยเคยประกาศว่าการกดไลค์เนื้อหาบางประเภทบนเฟซบุ๊กถือเป็นอาชญากรรม ตลอดจนมีการจับกุมนักเคลื่อนไหวที่แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ด้วย (เพิ่มเติมโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย)

ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “การสอดแนมประชาชนในบางประเทศรุนแรงในระดับที่ปรากฏในนิยายของ ‘จอร์จ ออร์เวลล์’ เลยทีเดียว มีการติดตามชีวิตและการทำงานของผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งทนายความ นักข่าว และนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสงบ การพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ และการตอบสนองของรัฐต่อการสื่อสารที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นเหล่านี้ถือเป็นภัยร้ายต่อเสรีภาพในการแสดงออก”

ด้านกาเบรียล คับเบจ ซีอีโอของแอดบล็อก ระบุว่า “เราเลือกที่จะโชว์โฆษณาออนไลน์ของแอมเนสตี้ เพราะเราเชื่อว่าผู้ใช้ของเราควรมีส่วนกับการพูดคุยถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ทุกคนควรใช้เวลาไตร่ตรองว่าในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากมายมหาศาลเช่นนี้ ถ้าสิทธิความเป็นส่วนตัวของคุณถูกละเมิด เสรีภาพในการแสดงออกของคุณก็จะตกอยู่ในอันตรายเช่นกัน”

การเซ็นเซอร์ในเกาหลีเหนือ

แคมเปญโฆษณาออนไลน์นี้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับแคมเปญ “การเชื่อมต่อถูกปฏิเสธ” (Connection Denied) ของแอมเนสตี้ที่มุ่งรณรงค์เกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ในประเทศที่มีการกดขี่เสรีภาพออนไลน์ขั้นรุนแรงอย่างเกาหลีเหนือโดยเฉพาะอีกด้วย

ดังนั้น นอกจากข้อความของสโนว์เดน, อ้าย เหว่ยเหว่ย และพุซซี ไรออต ข้อความจากเหยื่อการคุกคามเสรีภาพบนโลกออนไลน์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือก็จะปรากฏอยู่ในแคมเปญนี้เช่นกัน รายงานของแอมเนสตี้ระบุว่าการเซ็นเซอร์ในเกาหลีเหนืออยู่ในระดับที่รุนแรงที่สุดในโลก โดยประชาชนชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ได้

รายงานฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า “การเชื่อมต่อถูกปฏิเสธ: การจำกัดโทรศัพท์มือถือและข้อมูลจากโลกภายนอกในเกาหลีเหนือ” (Connection Denied:Restrictions on mobile phones and outside information in North Korea) โดยอธิบายถึงการควบคุม กดขี่ และคุกคามต่อประชาชนชาวเกาหลีเหนือนับตั้งแต่นายคิมจองอึนขึ้นสู่อำนาจในปี 2554 พื้นที่ดิจิทัลกลายเป็นสนามรบล่าสุดของรัฐบาลเกาหลีเหนือที่พยายามตัดขาดประชาชนของตัวเองจากโลกภายนอก ขณะเดียวกันก็พยายามป้องกันไม่ให้ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันโหดร้ายในประเทศหลุดรอดออกไป

บริษัทด้านเทคโนโลยีต้องร่วมกันปกป้องอินเทอร์เน็ตเสรี

แอมเนสตี้ อิเนเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตร่วมกันต่อต้านแรงกดดันจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่พยายามคุกคามความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการพูดบนโลกออนไลน์ ตลอดจนหันมาพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยใหโลกดิจิทัลแข็งแรงมากขึ้น เช่น การเข้ารหัส เป็นต้น

ซาลิล เช็ตตี้ กล่าวว่า “เสรีภาพในการพูดบนโลกออนไลน์กำลังอยู่ในอันตรายอย่างมาก เพราะรัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามให้อำนาจตัวเองมากขึ้นผ่านกฎหมายและเทคโนโลยีสอดแนมใหม่ๆ เพื่อที่จะควบคุมอินเทอร์เน็ต แม้ในช่วงเวลาที่พวกเขาไม่ได้สั่งปิดเว็บไซต์หรือจับกุมบล็อกเกอร์โดยตรง พวกเขาก็สอดแนมกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตของประชาชนจำนวนมหาศาลอยู่ดี”

ซาลิล เช็ตตี้ กล่าวต่อไปว่า “เมื่อเดือนก่อน แอปเปิลปฏิเสธที่จะลดระดับความปลอดภัยของไอโฟนเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใข้ มันเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีบางแห่งเริ่มมองเห็นสังคมในภาพรวมมากขึ้น”

​"สังคมโลกหละหลวมเกินไปในการปกป้องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการพูดบนอินเทอร์เน็ต พวกเราต้องการวิธีการและมุมมองใหม่ๆ ในการปกป้องเสรีภาพบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงการต่อสู้กับการควบคุมเสรีภาพบนโลกออนไลน์โดยรัฐ” เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวปิดท้าย

แถลงฉบับเต็ม ภาษาอังกฤษ