วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 29, 2559

"เส้นทางสีแดง" เดิน ถ.ข้าวสาร แจกสติ๊กเกอร์ vote no ให้นักท่องเที่ยว หวังต่างชาติรับรู้การร่าง รธน.ไทย + ประชาสังคมจวก ร่างรธน.ลิดรอนสิทธิ เรียกร้องเปิดพื้นที่คนเห็นต่างแสดงความเห็น


"เส้นทางสีแดง" เดิน ถ.ข้าวสาร แจกสติ๊กเกอร์ vote no ให้นักท่องเที่ยว หวังต่างชาติรับรู้การร่าง รธน.ไทย ไม่ฟังประชาชนกล...
Posted by Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว on Saturday, February 27, 2016
https://www.facebook.com/300084093490011/videos/556452904519794/

...

“เส้นทางสีแดง” เผยสันติบาลแนะอย่าใส่ ‘เสื้อแดง’ รณรงค์ Vote No - กิจกรรม ถ.ข้าวสารวันนี้ไม่ถูกตำรวจควบคุมตัวช่วงเช้าวั...
Posted by Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว on Sunday, February 28, 2016
https://www.facebook.com/300084093490011/videos/556503681181383/


ooo

ประชาสังคมจวก ร่างรธน.ลิดรอนสิทธิ เรียกร้องเปิดพื้นที่คนเห็นต่างแสดงความเห็น





Sun, 2016-02-28 20:49
ที่มา ประชาไท

28 ก.พ. 2559 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีการบันทึกเทปรายการเวทีสาธารณะเกี่ยวกับความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ โดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนเว็บไซต์ประชามติ ชี้แจงว่า เดิม การจัดเวทีเสวนา "รัฐธรรมนูญใหม่เอายังไงดีจ๊ะ?" จะจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่ สน.ปทุมวัน ส่งจดหมายแจ้งว่า เกรงจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองต้องขออนุญาตก่อน ทำให้ต้องยกเลิกการจัดที่หอศิลป์ฯ ต่อมา เมื่อรายการเวทีสาธารณะเชิญผู้ร่วมเสวนาในเวทีเดิมมาบันทึกเทปรายการ ทางผู้จัดเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ จึงได้เชิญสื่อมวลชนมาทำข่าวด้วย

ประชามติจะมีคุณภาพ ต้องสร้างบรรยากาศให้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา


สุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เปลี่ยนหลักการสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น เดิม สิทธิชุมชน ประชาชนจะเป็นประธานแห่งสิทธิ คือมีสิทธิเรียกร้อง ไม่ว่า รัฐบาล หรือเอกชน ต้องเคารพสิทธิของชุมชน แต่ร่างนี้กลับมีการตัดบางส่วนออก เช่น สิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ บ้างย้ายไปอยู่ในหมวดหน้าที่แห่งรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียกร้องสิทธิของประชาชนในอนาคต

นอกจากนี้ ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งระบุประเด็นที่รัฐบาลใดๆ ต้องมาสานต่อ ยังมีการตัดหลายเรื่องออกไป เช่น เรื่องผังเมือง ซึ่งระบุให้รัฐต้องจัดวางพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับกรณีมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 และ 4/2559 ที่ยกเว้นการใช้ผังเมือง เน้นแนวคิดว่า รัฐจะเป็นผู้จัดการให้

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ บทเฉพาะกาลที่ให้ คสช.อยู่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะรับหน้าที่ โดยให้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว เท่ากับจนกว่าครม.ใหม่จะเข้ามา คสช. จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้

เขาชี้ว่า แม้จะมีผู้อ้างว่า ในต่างประเทศก็เคยมีการใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกับมาตรา 44 ในกรณีที่ต้องการยาแรง แต่ คสช.กลับใช้เสมือนเป็นยาสาสมัญประจำบ้านไปแล้ว โดยไม่แยกแยะว่าจำเป็นแค่ไหน

เขาเสนอด้วยว่า หากจะทำให้การทำประชามติมีคุณภาพ จะต้องทำให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างตรงไปตรงมาและปราศจากความกลัว ผ่านการยกเลิกคำสั่ง คสช.เรื่องห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน เนื่องจากบางครั้งกิจกรรมพูดคุยก็ถูกนำมาตีความว่าเข้าข่ายการชุมนุม รวมถึงยกเลิกการให้พลเมืองขึ้นศาลทหาร และระบุในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจนว่า เมื่อเข้าสู่ภาวะเลือกตั้งแล้ว คำสั่ง คสช. จะยกเลิกเมื่อใด

อยากได้ความชัดเจน รับ-ไม่รับแล้วไงต่อ

กรรณิการ์ กิตติเวชกุล FTW Watch กล่าวว่า ทันทีเห็นร่างนี้ตกใจมาก เพราะสิทธิของประชาชนที่รัฐควรให้การรับรองหายไป เหลือเพียงสิทธิที่รัฐจะให้เท่านั้น โดยในมาตรา 173 ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย เรื่องหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ (มาตรา 190 เดิมในรัฐธรรมนูญ 2550) สิ่งที่หายไปคือ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและสภานิติบัญญัติ ก่อนการเจรจา โดยให้เวลารัฐสภาพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 60 วันเท่านั้น หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ทั้งที่นี่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียมหาศาล

ส่วนตัวไม่ได้มีความหวังกับร่างรัฐธรรมนูญนี้มากนัก เพราะก่อนหน้านี้ เคยมีการเชิญภาคส่วนอื่นๆ ไปแสดงความเห็นแล้ว แต่ก็เหมือนฟังแต่ไม่ได้ยิน เพราะร่างออกมาเหมือนมีโจทย์มาอยู่แล้ว

กรรณิการ์เสนอว่า ก่อนการประชามติต้องมีการถกแถลง เปิดให้ฝ่ายเห็นด้วยและเห็นต่างมาให้ข้อมูลในเวลาเท่าๆ กัน เพื่อเปิดโอกาสให้ กรธ. มีข้อมูลไปแก้ไข รวมถึงควรระบุให้ชัดเจนว่า หากรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไป

กรรณิการ์ ชี้ว่า สิ่งที่ทำได้เลย คือ ยกเลิกรายการแกะกล่องรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ออกอากาศหลัง 18.00 น. ประมาณ 15 นาที แล้วให้แต่ละช่องผลิตรายงานโดยหยิบประเด็นบางประเด็นหรือภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญมาถกแถลง แทนการกรอกหูประชาชนอยู่ข้างเดียว

ทั้งนี้ กรรณิการณ์กล่าวถึงเหตุการณ์ที่งานเสวนานี้ถูกยกเลิกเพราะถูกตีความว่าอาจเป็นการชุมนุมทางการเมืองว่า แสดงให้เห็นแล้วว่า ประชามติแบบคุณภาพทำไม่ได้เลยในภาวการณ์แบบนี้

เหลวทั้งกระบวนการ-ผลลัพธ์

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็นสองส่วนคือ กระบวนการ และผลลัพธ์ ในด้านกระบวนการ มองว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยมาก และผู้ร่วมร่างก็ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่

ขณะที่ด้านผลลัพธ์ ชี้ว่า ตามหลักรัฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่อกำหนดกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคม เมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมามีรายละเอียดซับซ้อน ตั้งคำถามว่า จะเปิดโอกาสให้มีการต่อรองในทางการเมือง มากน้อยแค่ไหน เพราะเหมือนว่าจะเขียนไว้เรียบร้อย ไม่มีพื้นที่ให้ตีความได้อีก

นอกจากนี้ ในหมวดหน้าที่ของรัฐ พบว่าทำให้รัฐมีขนาดใหญ่ อำนาจถูกถ่ายเทจากประชาชนสู่ตัวของรัฐ และมีความย้อนแย้ง อาทิ การกำหนดให้หน้าที่รัฐ คือการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งเรื่องนี้คลุมเครือในตัวเอง ถามว่าเท่ากับห้ามรัฐขาดดุลหรือไม่ ขณะที่รัฐต้องทำหน้าที่จำนวนมาก อาจทำให้ต้องขาดดุลทางการคลัง ถามว่าแล้วรัฐจะต้องเลือกแบบไหน

อีกประเด็นที่พบซ้ำๆ ในหลายจุด คือการใช้ถ้อยคำอย่าง "ความมั่นคงของรัฐ" "ความสงบเรียร้อย" "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" กรณี "ความมั่นคงของรัฐ" อาจพอเข้าใจได้เพราะเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญหลายประเทศก็ระบุไว้ แต่ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี นั้นมีความเป็นอัตวิสัยพอสมควร เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล

ปองขวัญ ระบุว่า ความไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นสูง ระหว่างผู้ร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชน และประชาชนกับนักการเมือง เป็นเพราะมีความไม่สมดุลของอำนาจอย่างมาก ประชาชนถูกควบคุม เสียงผู้มีอำนาจดังกว่า ฝ่ายร่างได้เวลาออนแอร์มากกว่าฝ่ายวิพากษ์ ทั้งยังมีเสียงขู่ว่าไม่รับร่างจะไม่ได้เลือกตั้ง และบอกว่านักวิชาการไม่ควรวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะเกิดความวุ่นวาย ภาวะเช่นนี้ไม่เอื้อให้เกิดการประชามติที่มีคุณภาพได้

เราต้องยอมรับก่อนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองจะแก้ได้ดีที่สุดด้วยการใช้การเมืองในการแก้ไข ต่อรองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่กลับมีกลุ่มๆ หนึ่งขึ้นมาออกกฎเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ ความเห็นต่างไม่ถูกปะทะสังสรรค์

สิ่งที่ควรทำขณะนี้คือ ควรมีพื้นที่ให้พูดและเห็นต่างได้มากขึ้น แต่หากถามว่าทำได้แค่ไหน สภาพวันนี้ทำให้เห็นแล้วว่าเราทำไม่ได้

แนะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่าง รธน.-ปรับแก้ส่วนที่เป็นปัญหา

ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ชี้ว่า แม้ร่างนี้อาจจะมีการบัญญัติเพิ่มเติมให้ดีขึ้น แต่สังคมไม่คิดว่าเป็นประโยชน์และมองเป็นปัญหามุมกลับ เพราะกระบวนการร่างไม่ได้สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมของคนในสังคม

เขากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น ที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาจเปิดช่องให้มี นายกฯ คนนอก, ที่มาของ ส.ส. ที่น่าจะมีบัตรเลือกตั้งสองใบ, ที่มา ส.ว. แม้จะกำหนดให้เลือกไขว้และข้ามกลุ่ม แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดบล็อคโหวต, กลไกการตรวจสอบ ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้แม้กระทั่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกลไกยุ่งยาก ทั้งที่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยแท้ของฝ่ายนิติบัญญัติด้วยซ้ำ เพราะเชื่อมโยงกับประชาชนมากที่สุด และบทเฉพาะกาลที่ให้ยืดอำนาจของมาตรา 44 อาจทำให้เกิดภาวะอำนาจสูงสุดคู่ขนาน หากวันหนึ่ง คสช. และรัฐบาลที่มาจากอำนาจปกติ มีความเห็นต่างกัน จะเกิดปัญหาขึ้นทันที

ทั้งนี้ เขาชี้ว่า หลักการร่างรัฐธรรมนูญในระดับสากล ประกอบด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และของรัฐสภาจากการเลือกตั้ง ร่างนี้ ข้อสุดท้ายทำไม่ได้ เพราะแม้จะมีการให้ สปท. สนช.ให้ความเห็น แต่องค์กรเหล่านี้ก็ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ดังนั้น ก่อนการประชามติ สิ่งที่จะทำได้คือ การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ และปรับแก้ในส่วนที่เป็นปัญหา เพื่อไม่ให้ประชามติที่จะเกิดขึ้นเป็นประชามติบนความว่างเปล่า

เสนอเพิ่มคำถามในประชามติ ถ้าไม่รับแล้วอยากให้ทำไงต่อ

โคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เขียนได้กระชับ สละสลวย, ชอบระบบเลือกตั้ง ส.ส. สัดส่วนแบบผสม แต่หากเปลี่ยนเป็นมีบัตรเลือกตั้งสองใบจะเหมาะยิ่งขึ้น

โคทม กล่าวต่อว่า ส่วนข้อด้อยนั้น มองว่า มีการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป เช่น มีอำนาจให้ ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตงบประมาณ นอกจากนี้ ยังแทรกอำนาจเหนือรัฐบาลชุดต่อๆ ไปผ่านการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากเกินไป

ทั้งนี้ เขาเสนอว่า ก่อนประชามติ รัฐบาลควรดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ และเปิดให้ฝ่ายเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยเข้าถึงระบบสื่อสารของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนได้ถกแถลง

ทั้งนี้ เสนอให้ถามประชาชนในการลงประชามติสองประเด็นคือ รับหรือไม่รับร่างนี้ และหากไม่รับ ควรทำอย่างไร เช่น เอารัฐธรรมนูญ 2540, 2550 มาทำให้เป็นปัจจุบันและประกาศใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น

จวกร่าง รธน.รอบนี้ปิดกั้นกว่าทุกครั้ง

บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา เครือข่ายภาคประชาชนด้านผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นสิทธิผู้บริโภคว่า เดิม อยู่ในหมวดสิทธิและเขียนไว้ชัดเจนให้มีองค์กรที่เป็นอิสระจากรัฐและมีหน้าที่อย่างไรบ้าง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับย้ายไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ (มาตรา 57) และกำหนดเพียงว่ารัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้บริโภครวมตัวกัน ซึ่งแม้จะเหมือนดูดี แต่เชื่อว่า เมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครอง ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะได้คำตอบว่า มีกลไกและสนับสนุนการรวมตัวอยู่แล้ว และจะไม่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโดยอาศัยรัฐธรรมนูญได้เลย

บุญยืนระบุว่า ที่น่าตกใจที่สุด คือ มีการกำหนดหน้าที่ของรัฐไว้บางประการ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอยู่แล้ว ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า ประเด็นใดที่ไม่บัญญัติไว้ จะเท่ากับรัฐไม่ต้องทำตามใช่หรือไม่

การร่างครั้งนี้ ดูเหมือนจะมีเป้าอยู่ที่รัฐเป็นใหญ่ จัดการควบคุมทั้งหมด จากประสบการณ์การทำงานกับชุมชน พบว่ารัฐไม่เคยยืนอยู่ข้างประชาชนเลย ถามว่าจะเอาอย่างไร จริงๆ ก็ไม่มีทางเลือก และงวดนี้ก็ยิ่งกว่าทุกครั้ง มีการปิดกั้นการแสดงความเห็น การจัดเวทีมีข้อจำกัดมาก จะยื่นเอกสารต้องไปตามช่องทางที่กำหนด และไม่รู้เลยว่า กรธ.จะฟังแค่ไหน

ต่อคำถามว่า หากมีการขยายเวลาเลือกตั้งออกไปก่อนจะเห็นด้วยหรือไม่ บุญยืน กล่าวว่า การขยายเวลาหรือไม่ ไม่สำคัญ สำคัญที่การร่างกติกาอยู่ร่วมกันในอนาคตมากกว่า ถ้าปรับแก้ให้ยอมรับกติกาอยู่ร่วมกันได้ การเลือกตั้งจะเดินไป แต่หากยังร่างแบบกดประชาชน และรัฐเป็นใหญ่ ถึงจะไม่ขยายเวลา สุดท้าย เมื่อประชาชนรับไม่ได้ ก็ต้องขยายเวลาอยู่ดี

ชี้สิ่งที่หายไปคือเสรีภาพ-คนชายขอบ


เคท ครั้งพิบูลย์ นักกิจกรรมทางสังคม มองว่า สิ่งที่ขาดหายในรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ สิทธิเสรีภาพ และกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งจะทำให้การคิดถึงนโยบายสนับสนุนคนชายขอบเป็นเรื่องที่ถูกทำหลังสุด นอกจากนี้ เคทกล่าวถึงการกำหนดขอบเขตการใช้เสรีภาพที่ต้องไม่กระทบความมั่นคงว่า เรื่องนี้ตรงข้ามกับการทำหน้าที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมเสนอว่า ความมั่นคงของมนุษย์ควรต้องถูกทำให้มองเห็นมากกว่าความมั่นคงของรัฐ

นอกจากนี้ เคทยังมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มองปัญหาประชาชนแบบไม่เข้าใจ โดยจากเดิมที่ประชาชนใช้หลักการตามรัฐธรรมนูญในการฟ้องร้อง เพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กลับให้อำนาจให้เป็นหน้าที่รัฐในแก้ปัญหาประชาชน ทำให้สุดท้ายคนจะเข้าถึงสิทธิยากมากขึ้น

ตราบใดที่ยังมีมาตรา 44 บรรยากาศแลกเปลี่ยนความเห็นคงไม่เกิด

ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรม กล่าวว่า เมื่อดูเนื้อหาแล้ว สะท้อนชัดเจนว่า กรธ.ไม่ได้เชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบบตัวแทนอีกต่อไป ทำลายความตื่นตัวด้านประชาธิปไตยของประชาชนที่ทุกฝ่ายออกมาตรวจสอบ โดยให้มีองค์กรต่างๆ มาควบคุมดูแลซ้อนรัฐอีกทีหนึ่ง ต้องทบทวนว่า สุดท้ายแล้ว กรธ อยากให้มีการปกครองแบบตัวแทนหรือไม่ นอกจากนี้ เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดช่วงเวลาที่ประชาชนจะเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับเหลือ 9 ปี

ปกรณ์ กล่าวว่า แม้จะมีบางคนบอกว่าการเขียนรัฐธรรมนูญกะทัดรัด แต่อยากชี้ว่าหมวดปวงชนชาวไทยนั้น เหลือเพียง 21 มาตราเท่านั้น ทำให้ภาคส่วนต่างๆ วิจารณ์และพยายามเสนอมาตลอด อย่างไีก็ตาม ตราบใดที่มียังมีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว บรรยากาศการแลกเปลี่ยนจะไม่มีทางเกิดขึ้น ดังนั้น หากจะทำให้การลงประชามติในเดือนกรกฎาคมนี้ไม่ว่างเปล่า ต้องยกเลิกมาตรา 44

แนะอย่าดูเงื่อนไขรับ-ไม่รับ ให้ดูว่า รธน.ดี-ไม่ดี

เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยร่างรัฐธรรมนูญ มองว่า ต้องเขียนให้สั้น กระชับ แล้วใส่รายละเอียดในกฎหมายประกอบ ส่วนที่มีคนกลัวว่าจะเป็นการเซ็นเช็คเปล่าหรือไม่ ก็ต้องมีความชัดเจนว่ากฎหมายที่จะเกิดมีอะไรและจะจัดกระบวนการร่างอย่างไรเพื่อทำให้เกิดความไว้วางใจ พร้อมกันนี้ เขาเสนอว่า อย่าไปสนใจว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไรต่อ เพราะอย่างไรก็มีโรดแมปเลือกตั้งอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่า ถ้าดีก็ควรผ่าน ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องผ่าน แล้วไปร่างกันใหม่

ส่วนที่มีข้อเสนอให้ขยายเวลาเลือกตั้งออกไป เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น เขามองว่า ไม่ควรขยายเวลา เพราะอาจถูกเล่นงานว่าขยายอำนาจ เพราะฉะนั้น หลักการอะไรที่วางไว้ ก็ให้เดินตามนั้น จะทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจ

คนรู้ปัญหา รธน. ไม่ได้ร่าง

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ แสดงความเห็นว่า ไม่แปลกใจที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้ เพราะเมื่อคนที่ใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้เห็นปัญหาไม่มีส่วนร่วมร่าง ก็จะเกิดปัญหาขึ้น ถ้าอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดีต้องเน้นการมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว ก็ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ นอกจากนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะไม่เกิดปัญหาเลย หากผู้ร่างรับฟังว่าเรื่องใดบ้างที่ประชาชนมองว่าเป็นปัญหา เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วไปแก้ไขตรงนั้น อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่า เรื่องเหล่านั้นไม่ได้ถูกแก้เลย