วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 16, 2559

ผิดทางแพ่งแย้ว อาญาผิดด้วยมั้ย แย้วบร๊ะวินัยผิดด้วยหรือป่าว เจี๊ยกๆๆ - พาลี ตรีเพชร




ศาลแพ่งสั่งพุทธะอิสระ-แกนนำกปปส. ร่วมจ่าย 1.4 ล้าน ฐานนำม็อบปิดดีเอสไอ ปี56


ที่มา ข่าวสดออนไลน์

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ 5034/2557 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง หลวงปู่พุทธะอิสระ หรือพระสุวิทย์ธีรธัมโม , พล.ต.สมเกียรติ วัฒนวิกย์กิจ. , นายชุมพล จุลใส , นายนิติธร ล้ำเหลือ และน.ส.อัญชลี ไพรีรัก แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) เป็นจำเลยที่ 1-5 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 2,663,409 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากกรณีระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2556 – เดือน มีนาคม 2557 จำเลยทั้ง 5 เป็นแกนนำ พาผู้ชุมนุม กปปส. ร่วมกันบุกเข้าไปใน อาคารดีเอสไอ ถนนแจ้งวัฒนะ แล้ว ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สายไฟ กล้องวงจรปิด ที่อยู่ในความครอบครองของดีเอสไอ โจทก์

โดยโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาล เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีว่า การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ดำเนินการโดยปราศจากอาวุธ ซึ่งการแสดงออกถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์ – จำเลย นำสืบแล้ว เห็นว่า กลุ่ม กปปส. ได้จัดการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเดือน พฤษภาคม 2556 และสิ้นสุดวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อมีการยึดอำนาจ โดยระหว่างนั้นจำเลยทั้งห้าเป็นผู้นำชุมนุมที่บริเวณอาคารสำนักงานดีเอสไอของโจทก์ ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยระหว่างการชุมนุมมีการตัดสายไฟฟ้าเมนหลัก และทำให้เครือข่ายระบบอินเตอร์กับคอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งระหว่างนั้นดีเอสไอ โจทก์ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารและเครื่องดื่มเพื่อจัดให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องมาดูแลความปลอดภัยบริเวณอาคารโจทก์ในการดูแลอาคารและทรัพย์สินตามหน้าที่ของโจทก์ เมื่อฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าพาผู้ชุมนุมมายังอาคารโจทก์แล้วมีการตัดสายไฟแล้วไล่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณนั้น ทำให้ข้าราชการโจทก์ไม่สามารถงานปฏิบัติหน้าที่งานได้ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จนโจทก์ต้องย้ายสถานที่ปฏิบัติงานและย้ายเครือข่ายคอมพิวเตอร์-ระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งโจทก์ได้เช่าพื้นที่ของทีโอทีในการติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และระหว่างการชุมนุมยังทำให้กล้องวงจรปิดในอาคารโจทก์ได้รับความเสียหายด้วย

ส่วนที่จำเลย ต่อสู้ว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม เป็นค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน ที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถได้รับเบี้ยเลี้ยงจากหน่วยราชการอยู่แล้ว ศาลเห็นว่า ค่าใช้จ่ายนี้ เป็นคนละส่วนกัน เพราะเบี้ยเลี้ยงที่เจ้าหน้าที่ได้รับเป็นไปตามกฎหมายจากการปฏิบัติงาน แต่ที่จำเลยบุกเข้าอาคารทำให้โจทก์ต้องมีค่าใช้จ่ายโดยตรงในส่วนนี้ที่เกิดจากการกระทำละเมิดของพวกจำเลย และที่จำเลยต่อสู้ว่า การชุมนุมกระทำโดยสงบ ปราศจากอาวุธถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ศาลเห็นว่า สิทธิดังกล่าวกระทำได้แต่ต้องไม่กระทำสิทธิอื่นของบุคคลอื่นด้วย

เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนแล้ว ให้จำเลยต้องร่วมกันชดใช้ให้โจทก์ ในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายเครื่องดื่ม-อาหารในการจัดกำลังพลดูแลอาคาร ค่าเสียหายต่ออุปกรณ์ในสำนักงาน โดยเห็นสมควรกำหนดตามพฤติการณ์จำเลยในการเข้าชุมนุม

จึงให้พุทธะอิสระ และพล.ต.สมเกียรติ จำเลยที่ 1-2 ที่ได้เข้าชุมนุมที่ดีเอสไอ ระหว่างวันที่ 13 มกราคม- พฤษภาคม 2557 ร่วมกันชดใช้ให้โจทก์ 899,203 บาท ส่วนนายชุมพล จำเลยที่ 3 ให้ชดใช้ 365,000 บาท และนายนิติธร กับ น.ส.อัญชลี จำเลยที่ 4-5 ให้ชดใช้ 184,931.35 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,449,134.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันถัดฟ้อง คือวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยร่วมกันจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมศาล และค่าทนายความแก่โจทก์อีก 10,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้จำเลยทั้งห้า ไม่ได้เดินทางมาศาลเพื่อร่วมฟังคำพิพากษา แต่มอบอำนาจให้ทนายความมาฟังคำตัดสินแทน

ด้านนายคฑาวุธ ทับทิมนิติภู ทนายความของพระพุทธะอิสระ และพล.ต.สมเกียรติ จำเลยที่ 1-2 กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จากนี้จะนำผลคำพิพากษาไป หารือกับจำเลยทั้งหมด ก่อนว่า จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่