วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 02, 2559

เรื่องอื้อฉาวคุณธรรมแบบ‘ไทยๆ’ กับฮาวาร์ดแตก คราวนี้กรณีทันตแพทย์ กับทุนรัฐบาลไปศึกษานอก




เอาละซี เรื่องนี้ถึงสรยุทธ์แล้วนะ เมื่ออธิการบดีมหิดลบอกว่า “รู้สึกไม่ค่อยดีกับมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด”

อ๊ะ อ๊ะ เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งกระโดดไปถึงเรื่องโครงการ ‘ไทยคดีศึกษา’ ที่สุรินทร์ พิศสุวรรณ และสุรเกียรติ เสถียรไทย สองอลัมไนฮาวาร์ดไป ‘ปักธง’ (คำของ ‘กาแฟดำ’ ตอนนั้น) ไว้เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๗ เพื่อหาทุน ๖ ล้านดอลลาร์จัดตั้งไทยศึกษาถาวรที่นั่น เพื่อ ‘เทอดพระเกียรติ’ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ซึ่งโครงการน่าจะดำเนินมาด้วยดีภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ แห่งคณะมานุษยวิทยา เห็นมีประกาศรับสมัครศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทยไปประจำแผนกนี้เมื่อกลางเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สำหรับการบรรจุตำแหน่งในเดือนกรกฎาคมปีนี้




แต่เราเอามาอ้างถึงเพราะมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับ ‘ไทยๆ และฮาวาร์ด’ ขึ้นมา ‘อีก’ ในช่วงอาทิตย์นี้ จนเกิดอาการ ‘คลั่ง’ คล้าย ‘Angle Child Craze’ ที่กระหึ่มไปทั่วโลกอาทิตย์ที่ผ่านมา




คงมีบางคนจำได้ เรื่องอื้อฉาวเก่าของ ‘ไทยๆ’ กับฮาวาร์ดนั้นสืบเนื่องมาแต่การรณรงค์ตั้งไทยคดีศึกษานั่นละ เมื่อมีบทความตีพิมพ์ในวารสาร ‘The Harvard Crimson’ โจมตีการก่อตั้งโครงการว่าพัวพันกับคณะเผด็จการทหารในประเทศไทย โดยที่นายสุรินทร์เองเป็นผู้ที่ไปร่วมเป่านกหวีดต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เป็นนั่งห้างให้ทหารเข้าทำการยึดอำนาจในเวลาต่อมา

นอกเหนือจากนั้นโครงการสอนภาษาไทยที่ฮาวาร์ดเองก็ได้รับเงินสนับสนุนเป็นประจำโดยกระทรวงต่างประเทศไทย

(ดูบทความ ‘Troubles with Thai Studies’ โดย Ilya Garger ได้ที่http://www.thecrimson.com/…/2014/8/18/harvard-thai-troubles/)

คราวนี้ “รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง ๓ รายงานความคืบหน้าล่าสุด (๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙) ถึงกรณีข่าวดังทันตแพทย์หนีทุน โดยระบุว่า นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลเผยว่า ทุนที่อดีตอาจารย์สาวภาควิชาทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ขอทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ต่างประเทศนั้น...ไม่กลับมาทำงานชดใช้ทุนและไม่ยอมใช้เงินคืน...

พยายามประสานไปยังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ก็ได้รับคำตอบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องประสานไปยังคู่กรณีเอง...




ตนก็รู้สึกไม่ค่อยดีกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ไม่แสดงท่าทีในเรื่องดังกล่าวเลย ทั้งที่จริงการรับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าเป็นอาจารย์ควรจะต้องดูเรื่องความมีคุณธรรมประกอบด้วย”

(http://education.kapook.com/view140488.html)

ต้นเรื่องนี้มาจากการที่ทันตแพทย์เผด็จ พูลวิทยกิจ ได้เขียนข้อความบนเฟชบุ๊คเล่าถึงทันตแพทย์หญิงรุ่นน้องคนหนึ่งได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัยทัฟท์) โดยเขาและเพื่อนทันตแพทย์อีกสี่คนเป็นผู้ค้ำประกันทุน ครั้นทันตแพทย์หญิงผู้นั้นศึกษาจบก็ได้แต่งงานและเข้าทำงานที่ฮาวาร์ด มีชีวิตสุขสบายไม่ยอมกลับไปทำงานชดใช้ทุนหรือชดใช้เงิน ทำให้พวกผู้ค้ำประกันต้องชดใช้แทนจากวงเงินค่าปรับสามเท่ารวม ๓๑ ล้านบาท ในส่วนของตนจ่ายไปราว ๑๐ ล้านบาท

รายงานข่าวเดลินิวส์ในเรื่องนี้อ้างว่า “ได้มีกลุ่มประชาชนที่อ้างว่าอยู่ในประเทศสหรัฐได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วเข้ามาโพสต์ข้อความให้กำลังใจ ทั้งยังมีการแจ้งข่าวทำนองว่า แม้ทางต้นสังกัดที่ทันตแพทย์สาวคนดังกล่าวทำงานวิจัยอยู่จะอ้างว่าไม่สามารถเอาผิดทันตแพทย์สาวรายนี้ได้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวนั้น ก็ใช่ว่าทางกลุ่มบุคคลในสังกัดองค์กรเดียวกันจะเห็นดีงามด้วย”

นอกเหนือจากนั้นข่าวกล่าวว่า “ทันตแพทย์สาวยอมจ่ายเงินช่วยบางส่วน และส่งมาครั้งสุดท้ายคือเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อหนี้สินที่ถูกฟ้องร้อง จากนั้นทันตแพทย์สาวได้ตั้งทนายว่าความ ระบุไม่ให้กลุ่มผู้ค้ำประกันติดต่อกลับไปขอเงินอีก เพราะอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ต้องจ่ายเงินมากเกินไป”

(http://www.dailynews.co.th/regional/376638)

เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์กันอย่างหนักทางโซเชียลมีเดีย ประมาณว่าต่อมคุณธรรมความดี ‘แบบไทยๆ’ แตกกระเส็นเซ็นสร้านเกลื่อนโลกไซเบอร์ จนมีบางคนแซวว่า แหม ทีการโกงกินในประเทศคดีมเหาฬารกว่านี้เยอะ (มีคนตายไปสามด้วยละ) ไม่เห็นปริปากกัน




นักคุณธรรมรายหนึ่งผู้ใช้นามเฟชบุ๊คว่า Weerachai Phutdhawong ไปขุดคุ้ยด้วย Google maps พบ ‘ความรวย’ ของทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าว เอามาแฉว่า “บ้านเธอมูลค่า ๔๕ ล้านบาทที่พึ่งซื้อเมื่อปี ๒๐๑๔ ในบ้านมีรถไม่ทราบยี่ห้อจอดอยู่นอกโรงจอดรถ ๑ คัน มี Sunroof นะครับ”




พร้อมทั้ง “ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจคลินิกทำฟันของเธอ มีรายได้ประมาณปีละ ๑ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๓๖ ล้านบาท หากรวมเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในตำแหน่งอาจารย์ด้วยแล้ว จะมีรายได้รวมประมาณ ๑.๒ ล้านเหรียญต่อปี หรือราว ๔๒ ล้านบาท (ยังไม่หักภาษี)”

(http://education.kapook.com/view140447.html)

เรื่องบ้านที่มีการอ้างข้างต้น พอดีมีคนในอเมริกา (เชื่อแน่ว่าเป็นคนละชุดความคิดกับที่เดลินิวส์อ้าง) ตอบไว้

“Spencer Isenberg :อีกเรื่องหนึ่งคือ การเอาเรื่อง ‘บ้านราคาหลายล้านบาท’ มาประจานว่าบ้านราคา ๔๐ ล้าน ไม่มีปัญญาใช้เงิน ๘ ล้าน??

ถ้าคนที่เขียนดูเพียงแค่นี้ ก็แสดงว่าไม่เคยกู้เงินซื้อบ้านกันเลย และนึกว่าบ้านจะจ่ายด้วย ‘เงินสด’

ดิฉันทราบว่าคนใน US ส่วนใหญ่ จะใช้ Mortgage เวลาซื้อบ้านค่ะ คือผ่อนกันด้วยเวลา ๑๕-๓๐ ปี คิดว่า เธอคงยังไม่มี equity ในบ้านหลังนั้นเสียด้วย เพราะเห็นบอกว่าซื้อเมื่อปี ๒๐๑๔ เมื่อดอกเบี้ยยังต่ำอยู่

เรื่องทรัพย์สินของเธอจริงๆ นั้น คงจะเอามาเผยแพร่ไม่ได้ แต่มีความมั่นใจว่าเธอยังไม่มี equity ในบ้านหลังนั้นแน่นอน มั่นใจมากๆ ว่ามากกว่า ๙๙% ของคนที่ซื้อบ้านจะใช้ mortgage หรือกู้แบบนั้น เพราะมันสามารถไปหักดอกเบี้ยได้จากภาษี

ดิฉันไม่ได้แก้ตัวให้หมอคนนั้น แต่เรื่องที่ควรจะทำคือ ตนเองและคู่สัญญาทุกฝ่ายควรจะทำให้เป็นตัวอย่าง เพื่อให้เรื่องเหล่านี้มันจบลง เพราะยังมีนักศึกษาอีกหลายคนที่ต้องการไปต่างประเทศด้วยวิธีการเหล่านี้

ส่วนการออกกฎหมายย้อนหลังกับเธอนั้น มันจะทำให้เคสของเธอมีน้ำหนักมากขึ้นกับฝ่ายเธอเอง ดังนั้น อย่าได้ออกกฎหมายย้อนหลังเด็ดขาด”

ทีนี้มาฟังความเห็นแบบ sensible จากในไทยดูบ้าง โดย Atukkit Sawangsuk เจ้าประจำของเรา

“มีข้อสังเกตว่าจดหมายตอบมาจากทนายความของมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาคงพิจารณาแง่มุมทางกฎหมายแล้ว ไม่มีประเด็นให้เลิกจ้าง เพราะไม่มีใครไปฟ้องร้องเอาผิดอาญา (หรือกระทั่งฟ้องเรียกเงินคืน) ไม่ผิดสัญญาจ้างซึ่งคงกำหนดเฉพาะจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ ประสิทธิภาพการทำงาน

คนไทยคิดแบบไทยๆ ว่าถ้าสร้างกระแสกดดันทางศีลธรรม มหาวิทยาลัยต้องไล่ออก แต่ฝรั่งมันมีระบบองค์กร ระบบกฎหมาย กติกาตัวอักษร ถ้าไล่ออกตามแรงกดดันด้วยความผิดที่ไม่อยู่ในสัญญาจ้าง มหาวิทยาลัยเองก็จะถูกฟ้องหูตูบ

แต่คนไทยไม่เข้าใจหรอก คนไทยเป็นศูนย์กลางของโลก ชวนกันต่อต้านฮาร์วาร์ดดีกว่า พวกนกหวีดนี่ด่าขรม ชูเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าร่างรัฐธรรมนูญ”

ทางด้านสหรัฐอเมริกา อจ.กานดา นาคน้อย แห่งมหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัต ที่สแตมฟอร์ด ได้ถกถึงเรื่องนี้ไว้มากทีเดียว เพราะมีผู้คนไปสันทนาทางเฟชบุ๊คกับเธอไม่ขาดสาย

21 hrs :“มิตรสหายหลายท่านถามว่าสัญชาติอเมริกันทำให้ฟ้องร้อง ‘หมอฟันหนีทุน’ ได้ยากขึ้นไหม?

ขอตอบว่าง่ายขึ้นตอนบังคับคดีด้วยซ้ำ เพราะเธอเป็นคนในบังคับของรัฐบาลสหรัฐฯแล้ว แต่ก่อนจะไปถึงการบังคับคดี มหิดลหรือกระทรวงการคลังต้องให้ผ่ายกฎหมายของสถานทูตไทยเป็นตัวแทนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่สหรัฐฯ ในเมื่อหลักฐานครบก็ไม่น่าจะแพ้คดี

แต่ศาลสหรัฐฯคงไม่เห็นด้วยกับการชดใช้ ๓ เท่าเพราะนั่นหมายถึงดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการศึกษาที่สหรัฐฯมาก จัดว่าเป็น predatory lending (เป็นเหยื่อการกู้ยืมที่ไม่เป็นธรรม)

ควรขอดอกเบี้ยเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการศึกษาที่สหรัฐฯ (เบ็ดเสร็จแล้วค่าดอกเบี้ยจะพอๆกะเงินต้นเพราะเธอเรียนจบมา ๑๓ ปีแล้ว) เมื่อชนะแล้วการบังคับคดีโดยเจ้าหน้าที่คนอเมริกันทำได้ง่ายเพราะเธอมีสัญชาติอเมริกัน เงินอยู่ในธนาคารอเมริกัน อสังหาริมทรัพย์ก็อยู่ที่สหรัฐฯ

คำถามที่ควรถามคือว่า เมื่อไรมหิดลหรือกระทรวงการคลังจะฟ้องร้องเธอซะที? เมื่อไรเจ้าหน้าที่กพ.ที่สหรัฐฯถึงกระดิกตัวเดินเรื่องช่วยมหิดลหรือกระทรวงการคลังฟ้องร้องเธอ? ทีผ่านมาการบังคับคดีกะผู้ค้ำประกันได้มา ๑๐ ล้านคือได้แค่เงินต้น แต่ถ้าบังคับคดีกะเธอจะได้ดอกเบี้ยด้วยรวมแล้วราวๆ ๒๐ ล้าน

ดังนั้นการไม่บังคับคดีกะเธอทำให้รัฐเสียหายขาดทุนไป ๑๐ ล้าน สถานทูตมีทีมกฎหมายอยู่แล้วไม่ใช่ว่าต้องไปจ้างทนายหน้าใหม่เพื่องานนี้ การไม่บังคับคดีกับเธอแล้วทำให้ขาดทุนไป 10 ล้านถือว่าผิดมาตรา ๑๕๗ ไหมนะ?
(มาตรา ๑๕๗ เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบhttp://www.otepc.go.th/…/2012-…/2012-07-02-14-59-15/1130-157)

17 hrs :“มิตรสหายท่านหนึ่ง : เป็นไปได้เหรอครับที่ข่าวบอกว่ามีการร้องไปที่ฮาร์วาร์ดแล้ว เขาแจ้งกลับมาว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ผมฟังแล้วไม่เชื่อ

ฉัน : ถ้าจริงมหาลัยฮาร์วาร์ดก็ทำถูกกฎหมายแรงงานค่ะ เพราะจดหมาย (เท่าที่ฉันเห็นคนแชร์กัน) แจ้งในนามส่วนบุคคลเกี่ยวกะเงินชดใช้ระหว่างผู้ค้ำประกันและหมอฟัน จัดว่าเป็นข้อพิพาทด้านการเงินส่วนบุคคล ไม่ใช่จดหมายจากคณบดีทันตแพทย์มหิดลหรืออธิการบดีมหิดล จึงไม่ใช่จดหมายเกี่ยวกับกิจการของมหาลัย

ที่จริงคณบดีทันตแพทย์มหิดลควรส่งจดหมายแจ้งคณบดีทันตแพทย์ฮาร์วาร์ดว่าเธอผิดสัญญาจ้างงานตั้งแต่ปีไหน เพราะการตัดสินใจต่อสัญญาในตำแหน่งผู้สอน ‘ทุกปี’ ขึ้นอยู่กับคณบดี (อ่านกฎเกณฑ์ที่เว็บมหาลัยฮาร์วาร์ดได้) อธิการบดีไม่ใช่คนเซ็นสัญญาจ้างงานตำแหน่งเล็กๆแค่นี้ค่ะ”

16 hrs :“อาจารย์ที่ปรึกษาของหมอฟันตอนเธอเรียนป.เอกน่าจะรู้ว่าเธอได้รับ scholarship จากรัฐบาลไทย แต่คำว่า scholarship สำหรับฝรั่งคือเงินให้ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาโดยไม่มีเงื่อนไขใช้ทุน เป็นเงินให้เปล่า ดังนั้นเขาไม่ตรัสรู้เองหรอกว่าคำนี้สำหรับรัฐบาลไทยมีเงื่อนไข ‘จ้างงาน’ ตราบใดที่มหิดลไม่ส่งจดหมายไปแจ้งคณบดีทันตแพทย์ที่นั่น

ฉันเห็นคนไปรุมเขียนประณามที่เฟซงานซิมโปเซียมที่อาจารย์ที่ปรึกษาเขาจัด อาจารย์เขาไม่อ่านเฟซซิมโปเซียมที่จัดไปหลายปีแล้วหรอก อยากให้เขารู้ก็ต้องให้คณบดีคณะทันตแพทย์มหิดลเขียนจดหมายแจ้งไปที่คณบดีที่โน่น ไปรุ่มด่าเขาทีเฟซเป็นร้อยเป็นพันคนก็ไม่ได้ทำให้เขารับรู้นะ”

3 hrs :“ทำไมมหิดลไม่ส่งจดหมายแจ้งคณบดีคณะทันตแพทย์ที่มหาลัยเธอว่าเธอ ‘ผิดสัญญาจ้างงาน’ กับมหิดล? ทำไมปล่อยให้เธอต่อสัญญาจ้างงานที่สหรัฐฯได้ทุกปีมานานเกิน ๑๐ ปีแล้ว? แจ้งตอนนี้ก็ยังไม่สายถ้ามหิดลอยากแจ้ง ถ้าอยากฟ้องร้องก็ฟ้องร้องได้

แต่ฉันคิดว่าการให้คืนเงิน ๓ เท่ามากเกินไป ควรใช้ดอกเบี้ยเงินกู้มาคำนวณ ถ้าคิดดอกเบี้ย ๔% ๑๓ ปีก็ ๑.๖๗ เท่า (นับปีหลังเรียนจบ) ถ้า ๕% ๑๓ ปีก็ ๑.๘๙ เท่า”

3 hrs :“รวมคำถามจากมิตรสหาย

ก) ถ้ามหิดลส่งจดหมายแจ้งคณบดีทันตแพทย์ฮาร์วาร์ด เธอจะโดนเลิกจ้างจริงหรือฮับ

ฉัน : ไม่เสมอไป แล้วแต่ว่าจดหมายเขียนว่าอะไร และแล้วแต่กฎมหาลัยฮาร์วาร์ด ถ้าจดหมายบอกแค่ว่าเธอติดเงินรัฐบาลหรือมหิดลเท่านั้นเท่านี้ก็ไม่เกี่ยวกับ ‘สัญญาจ้างงาน’ เป็นแค่ข้อพิพาททางการเงิน ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าจดหมายบอกว่าเธอผิด ‘สัญญาจ้างงาน’ ก็ขึ้นอยู่กับกฎมหาลัยฮาร์วาร์ดว่าห้ามเซ็นสัญญาจ้างงาน full time ซ้อนพร้อมกัน ๒ แห่งหรือไม่ มหาลัยฉันห้าม แต่มหาลัยฮาร์วาร์ดอาจไม่ห้ามก็ได้

ข) ผมได้ยินว่าเธอส่งจดหมายมาลาออกที่มหิดลแล้วและได้รับอนุมัติแล้ว เธอก็ไม่ผิดสัญญาจ้างงานสิครับ

ฉัน : ถ้าจริงก็ไม่น่าผิดแล้วค่ะ แต่ควรถามว่า ‘ใคร’ เซ็นอนุมติ และคงต้องดูกฎหมายจ้างงานไทยว่ากรณีนี้ทำให้ภาระชดใช้ค่าปรับเป็นโมฆะหรือไม่ ถ้าเป็นโมฆะคนเซ็นอนุมัติทำให้รัฐเสียหายโดยมิชอบหรือไม่

ค) หนูว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการฟ้องร้องหรอกค่ะ คนค้ำประกันก็ซวยไป

ฉัน : ก็อาจเป็นแบบนั้นแต่สังคมก็ได้บทเรียนค่ะ คนจำนวนหนึ่งก็ได้เรียนรู้ว่าการเอาผิดผู้อื่นในประเทศเสรีต้องเป็นไปตามกฎกติกา ไม่ใช่ด้วยกฎหมู่

การบังคับใช้กฎหมายเป็นพื้นฐานของนิติรัฐ และการบังคับใช้สัญญาทางการเงินคือพื้นฐานของระบบทุนนิยม แต่คนที่ไม่เรียนรู้ก็มีมากมาย

อีกบทเรียนหนึงคือเรื่องการค้ำประกัน ก็ได้เรียนรู้ว่าไม่ควรเซ็นค้ำประกันสัญญาให้ใคร ยกเว้นลูก และไม่ควรเซ็นสัญญากู้เงินร่วมกับใครนอกจากว่าตนนำเงินกู้ไปใช้ด้วย”

จบเรื่องนี้ น่าจะมีเรื่องใหม่มาแทนในไม่ช้า กำลังรอดูต่อไปว่าจะฮือฮา เริ่นเริดแค่ไหน สังคมที่ป่วยกับความคลั่งไคล้มักจะ overtly sensitive แต่ไม่ sensible อยู่เสมอ

ถ้าหากมันหดหู่เกินกว่าจะปลง หรือว่ามันน่ากำสรวญยิ่งกว่าน่าหรรษา แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง น่าคิดนะ น่าคิด