วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 22, 2559

คณะทหารอยังไม่เต็มใจที่จะวางมือ คงอยู่นานกว่าที่ต้องการ จนกว่าเป้าหมายสามอย่างบรรลุผล




ที่เคยเปรียบเปรยกันว่าพรรคประชาธิปัตย์เหมือนแมลงสาบ มาถึงยุคนี้คงต้องเปลี่ยนใหม่ไปเป็น ‘เห็บ’ ซะแล้ว

พฤติกรรมกระโดดไปกระโดดมาตามท่าที คสช. โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ชัดแจ้งขึ้นทุกวันว่าออกแบบมาให้ คสช. อยู่ยาว ไม่ว่าประชามติจะรับหรือไม่รับก็ตาม

เมื่อช่วงก่อนที่ร่างฯ มีชัยออกมาใหม่ๆ ใครๆ ก็ยี้ มีคนสำคัญในพรรคแบะท่ากระโดดหนี พอคณะรัฐมนตรีของประยุทธ์ส่ง ๑๖ ข้อเสนอแนะไปให้พวกผู้ร่างทบทวนปรับแก้ และ กรธ. รับลูกบางเรื่อง อาทิ สิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ กับการจัดหมวดศาลรัฐธรรมนูญ (ให้กลับไปอยู่กับศาล)

อ๊ะ ทำท่าจะกระโดดกลับเข้าไปใน mole กันใหม่ละนี่




นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและทีมกฎหมาย แถลงอย่างทางการเลยว่า “ขอให้ คสช.มีมาตรการจัดระเบียบกับสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเพจออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก ที่พบว่ามีการสร้างข่าวสารและใช้ข้อมูลเป็นเท็จบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด”

ก่อนอื่น นายราเมศหน้าอ่อนๆ น่าจะรู้ ว่าเรื่องนักเลงคีบอร์ดในพรรคการเมืองไทยนี่ พรรค ปชป. บุกเบิกในการทำกิ๊ฟกำเนิด ‘ยุวประชาธิปัตย์’ เพื่อใช้ในการยึดพื้นที่ไซเบอร์ จากนั้นพัฒนาไปเป็นช่อง ‘บลูสกาย’ ไว้พ่นกระจายความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามที่ชอบชนะเลือกตั้ง และปลูกฝังความเคลิบเคลิ้มให้แก่แฟนขลับ

ดังที่ @bmktwi เขียนไว้บนทวิตภพว่า “นักเลงคีย์บอร์ดรับจ้างพรรคการเมือง กินเงินเดือน โพสต์ข้อความบิดเบือนให้ร้ายพรรคอื่น ปชป.คงไม่สนใจสินะ”

ส่วนกรณี คสช. อยู่ยาวแน่ นี่ก็มีบทวิเคราะห์ชิ้นใหม่จากหน่วยงานวิจัย Think Tank ในยุโรป ชื่อ ‘Global Risk Insights’ พูดถึงเมืองไทยโดยตรงอย่างรู้ลึก รู้จริงอีกราย

(http://globalriskinsights.com/…/three-goals-the-thai-junta…/)

บทความเรื่อง ‘Three goals the Thai junta hopes to achieve before it exits.’ เปิดฉากว่า “รัฐบาลคณะทหารยึดอำนาจยืนยันจะให้มีการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๐ แน่ๆ ไม่ว่าผลการออกเสียงประชามติจะเป็นเช่นไร แต่มันก็ไม่ค่อยชัดนักว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าร่าง รธน. ไม่ผ่าน

คณะฮุนต้า คสช. อาจหยิบเอารัฐธรรมนูญเก่าฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ มีให้เลือกตั้ง ๑๙ ฉบับ หรือใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวต่อไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งมันก็ให้อำนาจแก่ฮุนต้าล้นหลามเกือบจะเบ็ดเสร็จ

คณะทหารอยู่มานานกว่าที่ต้องการ แต่พวกเขายังไม่เต็มใจที่จะวางมือ จนกว่าเป้าหมายสามอย่างบรรลุผล”

เป้าหมายแรกเป็นการกีดกันไม่ให้กลุ่มการเมืองหนุนทักษิณสามารถกลับเข้าสู่อำนาจได้อีก ด้วยการกำหนดระบบเลือกตั้งที่ทำให้ได้รัฐบาลอ่อนแอ ดีสำหรับพรรคการเมืองขนาดย่อมและปานกลาง เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค เหมือนเมื่อทศวรรษ ๑๙๘๐ และ ๙๐

ข้อสองเป็นการเพิ่มอำนาจอิทธิพลของกองทัพในขณะที่บั่นทอนอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร่าง รธน. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง นี่เป็นการก้าวถอยหลังไปจากการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยหลายสิบปีทีเดียว

“นอกเหนือจากนั้น ร่าง รธน. ยังให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญในการตัดสินว่ารัฐบาลจะออกระเบียบปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉินได้หรือไม่ ซึ่งอันนี้ในประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยเสรี จัดเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร”

จุดหมายที่สามของ คสช. เกี่ยวเนื่องกับอาการประชวรของพระเจ้าอยู่หัว ผู้ที่จะทรงผสานการแตกแยกระหว่างชนชั้นนำเชิดชูสถาบันกษัตริย์กับประชากรใรชนบท เมื่อถึงคราที่พระองค์จะต้องจากไป กองทัพหมายตาที่จะเข้าสวมช่องว่างทางอำนาจ อันจะเกิดจากการสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชาธิบดีที่ไม่ทรงเป็นที่นิยมเท่า

“อย่างไรก็ดี การช่วงชิงอำนาจระหว่างทหารที่แข่งขันกันสองค่าย ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนว่าที่ผู้สืบราชสันตติวงศ์ของตน โดยทหารเสือราชินีหนุนมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ์ ขณะที่กลุ่มรอยัลลิสต์และทหารรักษาพระองค์ (วงศ์เทวัญ) ให้การเห็นชอบต่อราชธิดาองค์ที่สอง เจ้าฟ้าหญิงมหาจักรีสิรินทร มากกว่า”

“เวลานี้เป็นที่เชื่อมั่นกันว่าคณะทหารจะกุมอำนาจอยู่จนกระทั่งอย่างน้อยเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านรัชกาลเกิดขึ้น คณะฮุนต้าจะประกาศใช้กฏอัยการศึกในช่วงถวายการไว้อาลัยเป็นเวลาหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย ถ้าใครขืนเรียกร้องการเลือกตั้งในช่วงนั้นก็จะถูกประณามอย่างหนัก”

บทความ GRI ปิดท้ายด้วยประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ โดยคาดหมายว่าจะไม่อาจมีการเลือกตั้งได้จนกว่าจะสิ้นสุดการไว้อาลัยในปี ๒๕๖๐ และยืดออกไปถึงปี ๒๕๖๑ อีกก็ได้

“กองทัพสามารถจัดการปัญหาการชุมนุมประท้วงเป็นเวลา ๖ เดือนในช่วงปี ๒๕๕๖ และ ๕๗ ได้ดี แต่ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ค่อยจะมีสมรรถภาพนัก”

บทความอ้างถึงการคาดหมายของธนาคารโลกต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนับแต่ปี ๒๕๕๘ มา อัตราการเติบโตอยู่ที่ ๒.๕ แต่ในปี ๒๕๕๙ นี้ลดลงไปเหลือแค่ ๒.๐ ทว่าปีหน้าจะกระเตื้องขึ้นได้นิดนึง สู่อัตรา ๒.๔ และอาจถึง ๒.๗ ในปี ๒๕๖๑





ในสายตาของธนาคารโลกนั้น การตกต่ำทางเศรษฐกิจของไทยเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองการปกครอง (ทั้งๆ ที่ คสช. มีอำนาจล้นพ้น) ทำให้นักลงทุนเอกชนขาดความเชื่อมั่น (อันเกี่ยวเนื่องถึงเรื่อง ‘ฝีมือ’ ด้วยแน่นอน)

แต่กระนั้นทั้งสมาชิกฮุนต้าน้อยใหญ่ และกูรูฝ่ายเศรษฐกิจต่างก็อ้างข้อขัดข้อง โดยโทษสภาพเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ทั้งที่รอบๆ บ้านเราเขาต่างก็เริ่มกระเตื้องกันแล้วทั้งนั้น ที่ยังไม่กระเตื้องและทำท่าจะทรุดลงไปกว่าเดิมนั่นเห็นจะเป็นแต่จีนกับรัสเซีย ที่ฮุนต้าไทยเข้าไปแนบชิดกว่าครั้งใดๆ

นี่ก็รองนายกฯ ฝ่ายกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ กำลังจะควงแขนกันไปเยือนรัสเซีย เพื่อเจรจาต้าอ่วยทางการค้าและการลงทุน ขอให้โชคดีในภาวะที่รัสเซียกำลังย่ำแย่ หวังว่าจะไม่เพียงแค่ซื้อปืนอาร์ก้าติดมือกลับมาล่ะนะ