วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 28, 2559

รำลึก 40 ปีที่จากไป "ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน"





รำลึก ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน นักวิชาการและปัญญาชนปฏิวัติ และนักสังคมนิยมดีเด่นคนหนึ่งของประเทศ ท่านถูกสังหารเมื่อวันที่28กุมภาพันธ์2519 จากชุดล่าสังหารของกอรมน. ผู้กุมกลไกปราบปรามของรัฐ อย่างแน่นอน

ผมรู้จักดร.บุญสนอง มาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแต่มาสนิทหลังกรณี14ตุลาคม2516 เมื่อมาตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ด้วยกัน ท่านเป็นนักวิชาการฝ่ายซ้ายมีความรู้มีอุดมการณ์สังคมนิยม ท่านเสียสละ อุทิศเวลา เงินทอง ให้บ้านเป็นที่พบปะประขุมก่อตั้งและดำเนินงานขอบพรรคช่วงแรก และเข้าแบกรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค นำเคลื่อนไหวต่อสู้ของพรรคและร่วมขบวนการนักศึกษาประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแม้ในยามถูกข่มขู่คุกคามจากฝ่ายขวา

ช่วงหลังๆ ผมไปใหนมาใหนกับท่านบ่อยๆ บ่ายวันหนึ่ง ผมออกจากสำนักงานพรรคฯ ไปกับท่าน เพราะท่านมีรถ จำไม่ได้ว่าไปใหน แต่พอท่านขับรถผ่านวังสวนจิตร ท่านบอกว่า ผมถูกปองร้าย จรัลหาทางหลบไว้ให้ผมเร็วๆด้วย ผมตอบว่า อาจารย์คงมีทางอยู่แล้ว 2 วันต่อมา ท่านถูกสังหาร เสียสละชีวิต ผมรู้เศร้าโศกเสียใจและรู้สึกผิดที่ช่วยท่านไม่ทัน

ความตายของดร.บุญสนอง เป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของพรรคและของขบวนการประชาธิปไตยและสังคมนิยม แล้วเป็นสัญญานเผด็จศึกของฝ่ายขวาจัดกษัตริย์นิยม นำไสู่นองเลือดและรัฐประหาร6ตุลาคม2519

40 ปี เหมือนท่านกับตายเปล่า เพราะนอกจากผู้ก่อสังหารท่านยังลอยนวล ขบวนการสังคมนิยมถูกทำลาย เสื่อมสลายไปโดยพื้นฐาน ผู้ร่วมทางของท่านจำนวนหนึ่งกลายเป็นฝ่ายนิยมเผด็จการ เป็นผู้จงรักภักดี อีกด้วย

มิตรสหายท่านหนึ่ง

ooo


ไม้หนึ่งอ่านบทกวีในงานรำลึก ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน มีนา2556

https://www.youtube.com/watch?v=a3jqT-owOC8


ooo

เรื่องเกี่ยวข้อง... บทความจากมติชน 3 ปีที่แล้ว...


รำลึก 37 ปีที่จากไป "ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน"




ที่มา มติชนออนไลน์
รายงานพิเศษ โดย ธิติ มีแต้ม

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

คนหนุ่มคนหนึ่งกลับมาจากเมืองนอกหลังเรียนจบปริญญาเอก เลือกเดินตามเส้นทางที่มุ่งหวังได้เพียง 4 ปี ก็ถูกยิงเสียชีวิตคารถเก๋ง ในท้องที่เขตพญาไท กรุงเทพฯ ในคืนวันที่ 28 ก.พ. 2519 สิ้นชีวิตในวัย 40 ปี
หลังจากนั้นเพียง 7 เดือนเศษ สังคมไทยก็เข้าสู่ยุคมืด ด้วยการสังหารนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

เรื่องราวของคนหนุ่มชื่อ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน อดีตเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ดูเหมือนจะเงียบหายไปกับประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับผู้นำแรงงาน กรรมกร และชาวนาคนอื่นๆ ที่ถูกสังหารไปในเวลานั้น

ทว่างานรำลึก 37 ปี การจากไปของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน พร้อมทั้งเปิดตัวโครงการเว็บไซต์ www.doctorboonsanong.org จัดขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ก็พอหวนภาพอดีตกลับมาได้ด้วยการปะติดปะต่อความทรงจำจากลูกศิษย์และมิตรสหายของ ดร.บุญสนอง

อาทิ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย, นายสุธรรม แสงประทุม, คำสิงห์ ศรีนอก, ประเดิม ดำรงเจริญ และวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ โดยมี พ.อ. สมคิด ศรีสังคม อดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ใน วัย 97 ปี มาร่วมรำลึกด้วย

ย้อนไปเมื่อราวปีพ.ศ.2514 ดร.บุญสนองศึกษาจบปริญญาเอกด้านสังคมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ช่วงเวลาเดียวกับนักวิชาการคนสำคัญของไทยอย่าง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และอีกหลายคนก็กำลังศึกษาอยู่ที่นั่นด้วย

ดร.บุญสนองกลับมาถึงมาตุภูมิในปีพ.ศ.2515 เข้าสอนหนังสือในฐานะหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากการเป็นอาจารย์และนักวิชาการ ด้วยบรรยากาศบ้านเมืองภายใต้กฎอัยการศึกสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ผลักให้ ดร.บุญสนองร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเข้าเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หรือ "สภาสนามม้า" ทำหน้าที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แทนธรรมนูญการปกครองเดิม พ.ศ.2515

เช้าวันที่ 6 ต.ค. 2516 "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ที่ประกอบด้วยบุคคลหลากสาขาอาชีพ ทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทน นักการเมือง ข้าราชการ นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ นักร้อง จำนวน 100 คน อาทิ สุเทพ วงค์กำแหง, ธีรยุทธ บุญมี, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, นพพร สุวรรณพานิช, อรุณ วัชรสวัสดิ์

จุดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเกิดขึ้นของกลุ่ม "13 กบฏ" ที่ถูกรัฐบาลจับกุม จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาจากหลายสถาบัน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แนวคิดสังคมนิยมได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ความหวังที่จะเห็นสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในทุกมิติ

ทำให้แนวคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมได้รับการขานรับขึ้นมา โดยการรวมตัวกันจากคน 3 กลุ่ม ได้แก่ นักการเมืองแนวสังคมนิยมที่เคยต่อสู้มาในระบบรัฐสภา นักวิชาการสายก้าวหน้า และบรรดาผู้นำนักศึกษา

ปีพ.ศ.2517 พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2517 ได้สำเร็จ มี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นหัวหน้าพรรค และ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นเลขาธิการพรรค

กระทั่งการเลือกตั้งในวันที่ 26 ม.ค. 2518 พรรคสังคมนิยมฯ ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. 15 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศ 82 คน ในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

ปีเตอร์ เลนบี้ ผู้สื่อข่าวชาวสวีเดน ได้เขียนบันทึกการสัมภาษณ์ ดร.บุญสนอง เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2519 ก่อนหน้าถูกยิงเสียชีวิต 1 วัน แล้วตีพิมพ์ในนิตยสารจตุรัส ฉบับวันที่ 16 มี.ค. 2519 โดยระบุในตอนหนึ่งว่า

"เราสนทนากันถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยและสงครามอินโดจีน เราคุยกันถึงการคุกคามที่ฝ่ายซ้ายกำลังเผชิญอยู่ และการคุกคามอื่นๆ ที่มีผลให้ผู้นำฝ่ายซ้ายเสียชีวิตไปแล้วถึง 27 คน ตั้งแต่การเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ดร.บุญสนองแสดงความเห็นประณามการใช้ความรุนแรงทางการเมืองอย่างแข็งขัน แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง

เขาก็ได้กลายเป็นเหยื่อรายที่ 28 ของการล่าสังหารที่กระทำกันอย่างเป็นขบวนการ"

เช่นเดียวกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น ได้เขียนไว้อาลัย ดร.บุญสนอง ด้วยว่า

"การที่อาจารย์ บุญสนองต้องมาเสียชีวิตในขณะที่ยังจะทำประโยชน์ให้ได้แก่ส่วนรวมเช่นนี้ ย่อมทำให้อาจารย์และนักศึกษาเป็นจำนวนมากของมหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนอาจารย์หลายคนในต่างประเทศที่เคยรู้จักอาจารย์บุญสนองมีความเศร้าสลดและอาลัยเป็นอย่างยิ่ง"

และในวาระรำลึก 37 ปีแห่งการจากไป นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ในฐานะอดีตแกนนำนักศึกษาช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ร่วมกล่าวถึงความทรงจำที่มีต่อดร.บุญสนอง ว่าอาจารย์บุญสนองเป็นนักวิชาการ ที่เสียสละเพื่อสังคม สมัยนั้นแกนนำที่มีรถมีแค่ 3 คน คือ ไขแสง สุกใส นพพร สุวรรณพานิช และอาจารย์บุญสนอง

"ก่อนเสียชีวิต 3 วัน ผมมีโอกาสนั่งรถไปกับอาจารย์ ระหว่างทางอาจารย์บอกว่าตัวเองกำลังตกเป็นเป้า อยากให้ผมช่วยติดต่อสายจัดตั้งในป่าให้ แต่ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะอาจารย์เป็นถึงเลขาธิการพรรค คงไม่เหมาะหากจะหายไปช่วงเลือกตั้ง หลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศยุบสภา จากนั้นการไล่ปราบกวาดล้างพวกฝ่ายซ้ายก็รุนแรงขึ้นจนแทบหมดเกลี้ยง และอาจารย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น" อาจารย์จรัลย้อนอดีตเมื่อ 37 ปีที่แล้ว

ขณะที่ วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่าได้ยิน วีรุทัย บุณโยทยาน ลูกสาวของอาจารย์บุญสนอง บอกคดีพ่อของเธอเหมือนถูกปิดไว้ ในแฟ้ม ราวกับเป็นนักโทษการเมือง

พร้อมทั้งออกตัวด้วย หลายคนบอกเป็นเสื้อเหลือง แต่วันนี้ขอบอกว่าหยุดแล้ว แม้จะไม่ได้เป็นเสื้อแดง แต่ก็นึกถึงการช่วยเหลือนักโทษการเมืองในวันนี้ ว่าทำไมจะนิรโทษกรรมไม่ได้ แม้แต่คดี 112 เอง เพราะตนหรือ นายสุธรรม แสงประทุม และอีกหลายคนที่ถูกจับสมัย 6 ตุลา 19 ก็โดนข้อหานี้ด้วยกัน แต่ได้รับการนิรโทษ ในที่สุด วันนี้มีนักโทษการเมืองอีกหลายคนที่รอการช่วยเหลืออยู่

"วันนี้ผมตั้งใจขึ้นรถเมล์มาโดยทิ้งรถส่วนตัวไว้ที่บ้าน เพราะอยากนึกถึงวันที่เดินเท้าจากธรรมศาสตร์พาศพอาจารย์บุญสนองไปที่วัดตรีทศเทพ ถนนประชาธิปไตย ประชาชนจำนวนมากมาร่วมเดินไว้อาลัยด้วย วันนั้นขบวนพวกเราเดินกันไปอย่างกลมเกลียวมาก" อาจารย์วิโรจน์ทิ้งท้าย

ส่วน นายประเดิม ดำรงเจริญ อดีตบรรณาธิการวารสารสัจจธรรม ของพรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยราม คำแหง และอดีตหัวหน้าพรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย ร่วมกล่าวว่าเวลาพบและพูดคุยกับอาจารย์ บุญสนอง จะคุยกันเป็นภาษาล้านนา เนื่องจากอาจารย์เป็นชาวเชียงราย แต่เวลามีคนคุยด้วยสำเนียงกรุงเทพฯ อาจารย์จะพูดสำเนียงกรุงเทพฯ ทันที ซึ่งสมัยนั้นความเหลื่อมล้ำสูง แม้แต่การใช้ภาษายังรู้สึกเป็นปัญหา

นายประเดิมกล่าวอีกว่าอาจารย์บุญสนองไม่ใช่คนฐานะไม่ดี เป็นคนที่มีฐานะดีพอสมควร ทำให้เห็นว่าอาจารย์ได้เสียสละ เพื่อส่วนรวมจริง ไม่ได้อ้างอุดมการณ์ไปหากินส่วนตัว

"อุดมการณ์สังคมนิยมที่ถูกโจมตีนั้น จากการที่ผมเคยไปอยู่สวีเดน พรรคสังคมนิยมสวีเดนชนะการเลือกตั้งมานานถึง 30 กว่าปี จากประเทศที่เคยยากจนที่สุดในยุโรป ฟื้นขึ้นมาเป็นประเทศที่รวยที่สุดในยุโรปได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่อุดมการณ์ แต่อยู่ที่จิตสำนึกของผู้ปกครองด้วย" นายประเดิมกล่าว

ด้าน นายสุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่าอาจารย์บุญสนองเป็นนักวิชาการที่เสียสละตัวเองเข้าสู่การเมือง สมัยนั้นนักการเมืองส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มทนายความ และดอกผลจากการต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทำให้เราเห็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ขณะนั้นมีพรรคการเมืองสายก้าวหน้า ทั้งหมด 3 พรรค ได้แก่ พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจารย์บุญสนองถือเป็นต้นแบบให้คนที่อยากทำงานการเมือง ได้มีไฟที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นประกายไฟให้คนรุ่นต่อไป

ปิดท้ายที่ คำสิงห์ ศรีนอก ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย อาวุโสกว่า ดร.บุญสนอง ถึง 6 ปี กล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งในการเกิดมาบนแผ่นดินไทย คือ ได้เป็นเพื่อนกับชาวสังคมนิยม ที่พิสูจน์ตัวเองว่าปรารถนาดีกับบ้านเมืองและประชาชน

"บุคคลที่ผมเห็นว่าเขาได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว คนแรกคือ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และอีกคนคือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เวลาที่ผมท้อแท้เหนื่อยหน่าย ผมจะคิดถึงท่านเหล่านี้" ลุงคำสิงห์ทิ้งท้าย ท่ามกลางเสียงปรบมือ

หากวันนี้ ดร.บุญสนอง ยังมีชีวิตอยู่ จะอายุ 77 ปี เป็นนักวิชาการ นักสังคมนิยม และนักการเมืองผู้จุดประกายให้หลายต่อหลายคน