วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 11, 2559

‘เกษียร’โพสต์ ‘เชยไป20ปีเท่านั้นเองครับท่านรองโฆษก’ แนะให้อ่าน Peter Mair เรื่อง Ruling the Void




‘เกษียร’โพสต์ ‘เชยไป20ปีเท่านั้นเองครับท่านรองโฆษก’


ที่มา มติชนออนไลน์
9 ก.พ. 59

จากกรณี พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้อ้างอิงบทความ “ปรากฏการณ์ประชาธิปไตยไร้เสรี” (The Rise of Illiberal Democracy) ของนาย Fareed Zakaria ที่ตีพิมพ์ในวารสารการต่างประเทศ เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมักจะมองข้ามอำนาจอันจำกัดของตนตามรัฐธรรมนูญ และมีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน บทความดังกล่าวกระตุ้นให้ขบคิดว่า การพัฒนาของประชาธิปไตยและเสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่มีรูปแบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก อาจเป็นเพียงหนึ่งในหลายหลักการประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย คือ จิตสำนึกหนึ่งของสังคม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด (อ่านข่าวที่นี่)

ล่าสุด ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นโดยระบุว่า บทความของ Fareed Zakaria ที่รองโฆษก พล.ต.วีรชนเอ่ยอ้างถึงนั้น เก่านานแล้วร่วม 20 ปีจริงๆ ออกมาช่วงหลังสงครามเย็นที่กระแส democratization พัดแรง และมีรัฐบาลชนะเลือกตั้งเสียงข้างมาก ขึ้นมาใช้อำนาจรัฐแบบอำนาจนิยม ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเยอะ ด้วยข้ออ้างว่ามาจากการเลือกตั้งประชาธิปไตย เช่น ฟูจิโมริของเปรู, เยลต์ซินของรัสเซีย, ชาเวซของเวเนซุเอลา, และรวมทั้งรัฐบาลทักษิณของไทยเราด้วย

คุณสฤณี มือแปลอิสระคนขยันที่มีผลงานแปลทางสังคมการเมืองมากมาย เคยแปลบทความนี้เป็นไทยลงเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน และผมใช้บทความนี้ของซากาเรียมาเป็นบทอ่านในการสอนรัฐศาสตร์ระดับปริญญาโท-เอก เพื่อสอนให้เห็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่อาจมีแนวโน้มอำนาจนิยมได้ หากไม่ประกบประกอบถ่วงทานไว้ด้วยแนวคิดและหลักการเสรีนิยม ติดต่อกันมานานเป็นสิบกว่าปีแล้ว

แต่เวลาผมสอนนั้นก็จะต้องให้อ่านงานด้านกลับด้วยเสมอ เพราะนอกจากแนวโน้มประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal democracy) แล้ว ในด้านกลับก็มีแนวโน้มประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน (democracy without a demos) หรืออัตตาธิปไตย/ประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเสรีนิยมด้วยเช่นกัน (liberal autocracy/semi-democracy) กล่าวคือเน้นการจำกัดอำนาจรัฐเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง ด้วยสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมาก (non-majoritarian institutions) เ่ช่น สถาบันตุลาการ เอ็นจีโอ ฯลฯ จนบั่นทอนบ่อนเบียนหลักความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองด้วยเสียงข้างมากของระบอบประชาธิปไตยลงไปจนเสื่อมทรามหมด และเสียด้านประชาธิปไตยไป

ถ้าจุดบอดของประชาธิปไตยด้านเดียวคือคิดง่ายๆ ว่า elections = democracy จุดอ่อนจุดบอดของเสรีนิยมด้านเดียวแบบซากาเรีย คือคิดง่ายๆ พอกันว่า judges + NGOs = democracy ซึ่งผิดทั้งคู่ แต่ขอให้สังเกตว่าระเบียบอำนาจแบบ คปค.ก็ดี แบบ คสช.ก็ดี ในที่สุดแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญบวรศักดิ์ หรือมีชัยก็ตาม ก็จะรวมศูนย์อำนาจไปไว้กับเหล่าสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก (สถาบันอำมาตย์) เหล่านี้แหละ คือตุลาการ เอ็นจีโอ (นั่งเต็มสภาแต่งตั้งทั้งหลาย) และในกรณี รธน.มีชัยก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญไงครับ

ดังนั้นพูดให้เบาที่สุด การที่รองโฆษกวีรชนอ้างบทความซากาเรีย ก็ทันสมัย (ช้าไป) 20 ปี และอ้างด้านเดียว มองปัญหาด้านเดียว ไม่อ่านไม่มองปัญหาด้านกลับ ภาพรวมคือต้องมีการสมดุลถ่วงทานทั้งหลักประชาธิปไตยและเสรีนิยม มิฉะนั้นเราก็จะตกอยู่ในวงวน (loop) รัฐประหาร –> ประเคนอำนาจให้สถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมาก –> ความชอบธรรมเสื่อม –> ไม่เป็นที่ยอมรับของเสียงข้างมาก –> ขัดแย้งเป็นวิกฤต และรัฐประหาร –> ซ้ำซากวนเวียนกันไปอยู่อย่างนี้

จะให้ดี ขอแนะนำให้รองโฆษกวีรชนอ่านงานด้านกลับของซากาเรียด้วย เช่น งานของ Peter Mair เรื่อง Ruling the Void ซึ่งชี้ภัยของความเสื่อมถอยแบบละทิ้งประชาธิปไตย ไปเน้นแต่เสรีนิยมด้านเดียว (undemocratic liberalism) จึงจะมองปัญหารอบด้านและได้ดุล หรือถ้าลำบากจะอ่านงานวิชาการชิ้นต่างๆ เรื่องนี้ของผมในภาษาไทยก็ได้ เพราะผมเขียนเรื่องปมปัญหาระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยในบริบทไทยไว้ในบทความวิชาการและคอลัมน์ต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2550 (9 ปีเข้านี่แล้ว)