วันพุธ, มกราคม 20, 2559

รำลึกวันกองทัพไทยกับหลักฐานว่าด้วยวีรกรรมสมเด็จพระนเรศวร จัดเต็มโดย ดร.ฌานิทธิ์ จากเพจเอเชียศึกษา - ยุทธหัตถี : ความไม่ลงรอยของหลักฐาน





วันนี้ ๑๘ มกราคม วันกองทัพไทย วันที่ระลึกถึงพระวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ในความรับรู้ของเรา ดูเหมือนว่าจะเชื่อกันโดยไร้ข้อสงสัยว่าการยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ เพราะหลักฐานทางการของเราระบุชัดเจน

แต่เมื่อขยับขยายมุมมองและการใช้หลักฐานออกไปสู่หลักฐานของชาติที่เป็นคู่สงครามและของชาติที่เป็น “บุคคลที่สาม” จะพบความแตกต่างหลากหลายของรายละเอียด และ “ฉากสุดท้าย” ของสงครามนี้ที่แตกต่างกันออกไป

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ยุทธหัตถี : ความไม่ลงรอยของหลักฐาน”

อยากให้ลองอ่านกันดูครับ

แอดมินลูกทุ่งคนยาก

เพจ 
Asian Studies เอเชียศึกษา

โดย ดร.ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์
ที่มา เวป Samkokview

บทความนี้เรียบเรียงขึ้นบนพื้นฐานความสนใจใคร่รู้ในเรื่องราวของ “เมียนมาร์-สยามยุทธ์” - ประวัติศาสตร์การสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงหงสาวดี โดยมุ่งหมายนำเสนอ “ความไม่ลงรอยกัน” ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราว “สงครามยุทธหัตถี” ซึ่งเกิดขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๑๓๕ ระหว่างหลักฐานฝั่งไทย ฝั่งพม่า และของชาติอื่น หาได้มีเจตนาจะหลบหลู่พระวีรกรรมและพระบรมเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งสยามประเทศไม่

หากจะกล่าวถึงสงครามยุทธหัตถีใน “ความรับรู้” ของคนไทยส่วนใหญ่ไม่สู้จะมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในความมีอยู่หรือการได้เกิดขึ้นจริง ถ้าจะมีบ้างก็จะเป็นประเด็นว่า “เจดีย์ยุทธหัตถี” อยู่ที่ไหนเสียมากกว่า แต่สำหรับผู้เขียนแล้วประเด็นเจดีย์ยุทธหัตถีมีความสำคัญน้อยกว่าประเด็น “ความไม่ลงรอย” ของหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับศึกครั้งนี้




พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต.ดอนเจดีย์ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี







พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทุ่งภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา

ในความรับรู้ของเรา ดูเหมือนว่าจะเชื่อกันโดยไร้ข้อสงสัยว่าการยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ เพราะหลักฐานทางการของเราระบุชัดเจน แต่เมื่อขยับขยายมุมมองและการใช้หลักฐานออกไปสู่หลักฐานของชาติที่เป็นคู่สงครามและของชาติที่เป็น “บุคคลที่สาม” จะพบความแตกต่างหลากหลายของรายละเอียด และ “ฉากสุดท้าย” ของสงครามนี้ที่แตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ยุทธหัตถี : ความไม่ลงรอยลองหลักฐาน”

ว่ากันอันที่จริงปัญหา “ความไม่ลงรอย” ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นแทบจะเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ของการศึกษาประวัติศาสตร์ไปเสียแล้ว ด้วยว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ “พระราชพงศาวดาร” ซึ่งถือเป็นหลักฐานชั้นรองย่อมถูกเขียนหรือชำระขึ้นอย่างมีอคติภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมของแต่ละยุคแต่ละสมัย การบิดเบือนหรือสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่เพื่อล้มล้างข้อเท็จจริงที่ไม่เกื้อหนุนต่อฐานะทางการเมืองของกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่บางพระองค์เป็นกิจกรรมปกติที่พบเห็นบ่อยครั้งในจารีตการเขียนพงศาวดาร แต่กระนั้นก็ตามการศึกษาประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องราวของอดีต เรื่องราวที่ผ่านไปแล้วนั้น “หลักฐาน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการพิจารณาหาคำตอบในประวัติศาสตร์ ต้องยึดถือเอา “หลักฐาน” เป็นหลัก ไม่ใช่เอา “จินตนาการ” หรือ “การนั่งทางใน” มาพิจารณา และการตีความหลักฐานควรระมัดระวังไม่นำความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนทัศนคติ มุมมอง แนวคิดของคนในยุคปัจจุบันไปประเมินเงื่อนไขสถานการณ์ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในกาลอดีตซึ่งมีความแตกต่างกันเป็นสถานประมาณ

เมื่อสำรวจหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวราชการสงครามครั้งนั้นไว้จะพบหลักฐานใน ๓ กลุ่มคือ หลักฐานของฝั่งไทย หลักฐานของฝั่งพม่า และหลักฐานของชาวต่างชาติที่ได้เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงหงสาวดี





๑. หลักฐานของไทย

เรื่องสงครามยุทธหัตถีซึ่งเป็นที่รับรู้และแพร่หลายในหมู่คนไทยคือเรื่องราวที่บันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาซึ่ง “ชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น” ก่อนจะถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนที่ทรงอิทธิพลต่อสังคมในวงกว้าง เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด), พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม, พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, ลิลิตตะเลงพ่าย, พระนิพนธ์เรื่องไทยรบพม่า และพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เนื่องจากเรื่องราวเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสังคมไทยแล้ว ผู้เขียนจึงขอละไม่นำข้อความในพงศาวดารมาลงไว้เพื่อไม่ให้บทความนี้มีความยาวมากเกินไป แต่ขอกล่าวถึงโดยสรุปว่า เรื่องราวที่มีปรากฏอยู่ในหลักฐานและงานเขียนส่วนใหญ่ดังกล่าวไม่เพียงบอกเล่าถึงการสงครามเฉพาะอย่างยิ่งฉากการชนช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา แต่ยังมีการสอดแทรกเรื่องราวกฤษดาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรฯ ไว้ด้วย อาทิ เรื่องที่ทรงพระสุบินว่าได้สังหารพญาจระเข้ เรื่องช้างพระที่นั่งบุกฝ่าเข้าไปในหมู่ข้าศึกในระหว่างที่เกิดฝุ่นฟุ้งตลบมืดมัวทั่วทิศ และงานเขียนทุกเรื่องยังยุติเป็นทำนองเดียวกันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศ “ท้า” พระมหาอุปราชาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีท่ามกลางหมู่รี้พลสกลไกรของพม่า จนพระองค์มีชัยชำนะถึงปลิดพระชนม์ชีพพระมหาอุปราชาได้ด้วยพระแสงของ้าว[๑]

แต่หากพิจารณาหลักฐาน “ทางการ” ของไทยที่เขียนขึ้นในช่วงเวลา “ใกล้เคียง” กับเหตุการณ์จริงมากที่สุด คือพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ซึ่งชำระขึ้นในพ.ศ. ๒๒๒๓ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วพบว่ามีการบันทึกเรื่องราวในตอนนี้ไว้เพียงสั้น ๆ ว่า

“เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ เสด็จออกรบมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย ครั้งนั้นมิได้ตามฤกษ์แลฝ่าฤกษ์หน่อยหนึ่ง แลเมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้นสมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้าต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่งเมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกเถิงดิน แลเอาคืนขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น แลช้างต้นพระยาไชยานุภาพ ซึ่งทรงแลได้ชนด้วยมหาอุปราชาและมีชัยชำนะนั้นพระราชทานให้ชื่อเจ้าพระยาปราบหงสา”

ถึงแม้หลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ จะมีความผิดแผกไปจากพงศาวดารและเรื่องที่ชำระหรือเขียนกันในสมัยหลัง แต่ประเด็นที่ยุติต้องตรงกันคือ ต่างก็ระบุถึงการชนช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา จนพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์กับคอช้าง[๒]




๒. หลักฐานของพม่า



พงศาวดารฉบับอูกาลา




พงศาวดารฉบับหอแก้ว

พงศาวดารพม่าฉบับสำคัญที่ใช้ในการศึกษาราชการสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงหงสาวดีคือพงศาวดารฉบับอูกาลาและพงศาวดารฉบับหอแก้ว[๓] ซึ่งในหลักฐานทั้งสองชิ้นนี้ได้กล่าวถึงสงครามคราวที่พระมหาอุปราชาต้องสิ้นพระชนม์ในดินแดนอยุธยาผิดแผกไปจากหลักฐานข้างฝ่ายไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านสมรภูมิรบและเหตุแห่งการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา โดยผู้เขียนขอคัดลอกข้อความในพงศาวดารฉบับอูกาลาซึ่งถอดความโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์มาลงไว้ดังนี้

"...๗๔. การสงครามครั้งสุดท้าย วังหน้า มหาอุปราชาสิ้นพระชนม์

ทัพมหาอุปราชานั้นเคลื่อนมาถึงกรุงศรีอยุธยา ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๑๓๖) (ทัพเคลื่อนออกจากกรุงหงสาวดีในวันพุธ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๑๓๕) มหาอุปราชานั้นทรงพระคชาธารนาม (งะเยโซง (ฉบับหอแก้วระบุนามพระคชาธารว่า เยโปงโซงซึ่งน่าจะหมายความว่าเปี่ยมด้วยอานุภาพหาญกล้า ส่วนหลักฐานไทยระบุนามช้างทรงนี้ว่า พัทธะกอ) เบื้องขวาพระองค์ยืนด้วยพระคชาธารและกำลังไพร่พลของพระอนุชาตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) ส่วนเบื้องซ้ายยืนด้วยพระคชาธารและไพร่พลของนัตชินนอง (โอรสพระเจ้าตองอู) แลตัดออกไปเบื้องขวาไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระคชาธารแห่งมหาอุปราชานั้นยืนด้วย ช้างของเจ้าเมืองซามะโร (ไทยว่าเป็นพระพี่เลี้ยงชื่อจาปะโร) ซึ่งกำลังตกน้ำมันหนักถึงกับต้องใช้ผ้าคลุมหน้าช้างไว้ ข้างพระนเรศวรกษัตริย์อยุธยาทรงพระคชาธารชื่อพระลโบง (ฝ่ายไทยว่าพระยาไชยานุภาพ) จึงนำไพร่พลทแกล้วทหารเป็นจำนวนมากออกมาจากพระนคร (หมายเผด็จดัสกร)





ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา ก็ไสพระคชาธารเข้ายังตำแหน่งที่จอมทัพพม่านั้นประทับอยู่โดยแรงเร็ว ฝ่ายเจ้าเมืองซามะโรครั้นเห็นพระนเรศวรขับพระคชาธารตรงรี่หมายเข้าชิงชนช้าง ประทับก็เปิดผ้าคลุมหน้าช้างพาหนะแห่งตนออก หมายมุ่งพุ่งสกัดช้างทรงองค์นเรศวร แต่ช้างตกน้ำมันเชือกนั้นกลับหันรีหันขวางแลกลับตัวเข้าแทงโถมเอาช้างทรง องค์อุปราชาโดยกำลังแรง พระมหาอุปราชาจึงจำต้องขับพระคชาธารเข้ารับไว้ ซึ่งช้างทรงองค์จอมทัพพม่าถึงจามสนั่น (ด้วยบาดเจ็บสาหัส) แลขณะนั้นข้างอยุธยาก็ระดมยิงปืนสวนทางมากระสุนถูกเอาองค์อุปราชาโดยถนัดจน สิ้นพระชนม์ซบกับคอคชาธาร คุเยงพละกลางช้างพระที่นั่งเห็นมหาอุปราชาต้องปืนใหญ่ (ปืนที่ยิงมหาอุปราชานั้นอูกาลาระบุว่า စိန်ပြောင်း คือปืนชนิดเดียวกับที่เรียกว่า Jingal ในภาษาอังกฤษ) ก็เข้าพยุงพระศพไว้ และบังคับช้างเข้ากำบังในพุ่มไม้ ข้างพระนเรศวรยังไม่ทรงทราบว่ามหาอุปราชาหาพระชนม์ชีพไม่ จึงไม่ทรงขับพระคชาธารตามติดปะทะ เพียงยั้งรออยู่





ขณะนั้นนัตชินนองซึ่งทรงพระคชาธารนามอูบอตะกะ อยู่เบื้องซ้ายก็ไสพระคชาธารเข้าชนพระคชาธารทรงองค์นเรศวรกษัตริย์อยุธยา พระนเรศวรจำต้องถอยร่น แลตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) เห็นจอมทัพอยุธยาเพลี่ยงพล้ำร่นถอยก็กวัดแกว่งของ้าวขับช้างนำรี้พลตามติด เข้าตี ข้างองค์นเรศวรเมื่อถอยถึงคูพระนครก็รีบนำทัพเข้าภายในอาศัยพระนครนั้นตั้ง รับ ข้างฝ่ายพม่าที่ไล่ตามติดมีเจ้าเมืองโทงโบและเจ้าเมืองเวงยอ ถลำรุกรบล่วงเลยเข้าไปมากจึงถูกจับเป็นเชลยสิ้น แต่ฝ่ายอยุธยานั้น อำมาตย์ออกญาเปะและออกญาจักรีก็ถูกทหารนัตชินนองล้อมจับได้ทั้งเป็น

เมื่อเกิดเหตุจนมหาอุปราชาถึงสิ้นพระชนม์แล้ว ตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) แลเหล่าทหารน้อยใหญ่ทั้งหลายต่างก็ถอยทัพไปประชุมพลอยู่ไกลว่าถึงกว่าหนึ่งตาย (တတိုင် - คิดเป็นระยะ ๒ ไมล์โดยประมาณ) จากตัวพระนครโดยประมาณ และนายทัพทั้งหมดทั้งสิ้นต่างก็หันหน้าปรึกษาราชการศึกว่าครั้งนี้ยังจะ จัดการพระศพองค์อุปราชาเสียในแดนโยธยาและระดมตีกรุงต่อไป หรือจะนำพระบรมศพกลับสู่พระนคร

ครานั้น ตะโดธรรมราชาเจ้าเมืองแปรจึงว่า “มาบัดนี้ พระเชษฐามหาอุปราชา (จอมทัพ) ก็หาพระชนม์ชีพไม่แล้ว เปรียบได้ดังแขนงไผ่อันไร้ซึ่งเชือกพันธนาไว้ การจะกลับไปกระทำการตีอยุธยาต่อไปเห็นว่าไม่สมควร อีกประการนั้นเล่าการซึ่งจะจัดการพระศพในแดนอยุธยาก็ไม่เหมาะด้วยยากจะ ประมาณว่าหากกระทำไปแล้วจะถูกปรามาสจากองค์บพิตรและพระญาติพระวงศ์ และแท้จริงราชการสงครามครั้งนี้ก็ยังนับว่ามีชัยอยู่ใช่น้อย ครั้งนี้ถึงมีอันต้องถอยกลับ แต่ภายภาคหน้าเมื่อสิ้นวสันตฤดูก็ย่อมยกมากระทำศึกได้อีก”

ฝ่ายข้าทหารใหญ่น้อยได้ฟังความตามตรัสก็เห็นคล้อย จึงต่อโลงใส่พระศพด้วยไม้มะม่วงอย่างเลิศ แลเอาปรอทกรอกพระศพแล้วก็จัดกระบวนรี้พลเชิญพระศพองค์อุปราชากลับคืนพระนคร เดือนมีนาคมก็บรรลุถึงหงสาวดี องค์ธรรมราชามหากษัตริย์ ครั้นสดับข่าวว่าพระราชาโอรสมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ชีพ และพระศพนั้นถูกอัญเชิญกลับคืนมาก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยอัครมเหสีราช มารดาออกรับพระศพ และลุเลิกพระศพเยี่ยงพระจักรพรรดิราช ห้อมล้อมด้วยช้างม้าไพร่พลสกลไกร การพระศพกระทำท่ามกลางความโศกเศร้าโศกาดูรยิ่ง..."

อย่างไรก็ตาม หลักฐานฝ่ายพม่าเองก็มิได้มีความเห็นลงรอยกันไปในทางเดียว กล่าวคือ หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์นามอุโฆษของพม่าก็ระบุไว้ในหนังสือ A History of Burma ว่าพระมหาอุปราชากระทำยุทธหัตถีเสียทีสมเด็จพระนเรศวรถึงสิ้นพระชนม์[๔] นอกจากนี้ ในสารานุกรมพม่า (Myanmar Swezonkyan) สองเรื่อง คือเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในสารานุกรมเล่มที่ ๘ และเรื่องศึกในรัชกาลพระเจ้านันทบุเรงในสารานุกรมเล่มที่ ๖ ได้ระบุถึงศึกคราวพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ไว้แตกต่างกัน เรื่องแรกระบุว่า พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนฝ่ายหลังสิ้นพระชนม์ ซ้ำยังกล่าวว่า ณ บริเวณที่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์นั้น สมเด็จพระนเรศวรยังโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งด้วย ส่วนเรื่องที่ขึ้นหัวข้อว่าศึกในรัชกาลพระเจ้านันทบุเรงนั้นระบุว่า พระมหาอุปราชาต้องปืนสวรรคตเหมือนความที่ระบุในพงศาวดารพม่า[๕]

ส่วน Victor B. Lieberman นักประวัติศาสตร์นามอุโฆษอีกท่านหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่าสมัยตองอูได้กล่าวไว้ในหนังสือ Burmese Administrative Cycles : Anarchy and Conquest C. 1580-1760 และในบทความเรื่อง “How Reliable is U Kala’s Burmese Chronicle? Some New Comparisons” โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นบทความนั้น Lieberman กล่าวอย่างมั่นใจว่าพระมหาอุปราชาถูกยิงสิ้นพระชนม์ โดย Lieberman ยึดถือข้อมูลตามที่ปรากฏในพงศาวดารฉบับอูกาลาและในบันทึกของบาทหลวงเยซูอิต (ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป) เป็นสำคัญ[๖]





๓. หลักฐานของชาติตะวันตก

นอกเหนือจากหลักฐานของชาติ “คู่สงคราม” แล้ว แหล่งข้อมูลในการศึกษาประวัติศาสตร์ราชการสงครามในยุคโบราณคือบันทึกของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะในฐานะทหารรับจ้าง บาทหลวง หรือพ่อค้า เรื่องราวที่ชาวต่างชาติเหล่านี้บันทึกมีทั้งเป็นเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเจอด้วยตนเองหรือได้รับฟังจากคำบอกเล่าของชาวบ้านพื้นถิ่น แต่ “จุดแข็ง” ประการหนึ่งของหลักฐานประเภทนี้คือมักบันทึกเรื่องราวในลักษณะ “พงศาวดารกระซิบ” คือมี “เรื่องเล่า” ที่มักไม่ปรากฏในหลักฐานของทางการ และมักปรากฏการพรรณาสภาพบ้านเมือง เรื่องราววิถีชีวิตของชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่พบในหลักฐานระดับพงศาวดารเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นหลักฐานที่มักเขียนขึ้นในเวลา “ไล่เลี่ย” กับเหตุการณ์จริงมากกว่าหลักฐานประเภทพงศาวดารซึ่งชำระขึ้นในสมัยหลัง อย่างไรก็ตาม “ข้ออ่อน” ของหลักฐานประเภทนี้คือ ความเข้าใจที่อาจจะคลาดเคลื่อนของชาวตะวันตกที่บันทึก ตลอดจนเรื่องราวที่ได้รับฟังมาจากชาวบ้านนั้นก็อาจจะไม่ใช่ “เรื่องจริง” เสมอไป

สำหรับหลักฐานของตะวันตกที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในสงครามยุทธหัตถีหรือคราวพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ ได้แก่

- บันทึกของบาทหลวงเยซูอิตชื่อ Father Nicholas Pimonta ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. ๑๖๐๑ (พ.ศ. ๒๑๔๔) ระบุว่า พระมหาอุปราชาต้องลูกปืนตะกั่ว (a “lead bullet” หรือ plumbea glande) สิ้นพระชนม์[๗]

- บันทึกของฝรั่งโปรตุเกสซึ่งถูกถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย Mr. A. Macgregor ภายใต้ชื่อ“A Brief Account of the Kingdom of Pegu” ซึ่งคาดว่ามีอายุไม่ต่ำไปกว่าปี ค.ศ. ๑๖๒๑ (พ.ศ. ๒๑๖๔) ยืนยันชัดเจนว่าว่าสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาได้เกิดขึ้น ซึ่งการรบกันนั้นกระทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะต่อหน้าทหารหาญของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้เนื่องด้วยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีพระราชสาส์นส่งออกไปท้าพระมหาอุปราชาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีอย่างสมพระเกียรติ[๘]

- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ แปลและเรียบเรียงจาก The Story History of the King of Siam ของ ดร.เลียวนาร์ด แอนดายา (Dr.Leonard Andaya) ที่ได้แปลจากต้นฉบับเดิมภาษาฮอลันดาของ “เยรามีส ฟาน ฟลีต” (Jeremias van Vliet) งานชิ้นนี้ของ ฟาน ฟลีตได้เริ่มเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๘๒ ในขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพ่อค้าของบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของราชวงศ์อยุธยาตั่งแต่พระเจ้าอู่ทองจนถึงพระเจ้าปราสาททองอย่างกระชับ วัน วลิต บันทึกว่าสงครามครั้งนี้มีการรบกันที่หนองสาหร่าย ช้างทรงของพระนเรศวรเล็กกว่าช้างของพระมหาอุปราชา[๙] ช้างของสมเด็จพระนเรศวรก็เบนหัวหนี[๑๐] ในหลักฐานของวัน วลิตพรรณาภาพบนความเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์แสนรู้ โดยเล่าว่าพระนเรศวรทรงรับสั่งกับช้างทรงและทรงพระกันแสง ช้างนั้นก็รับรู้ได้จึงหันกลับไปชนกับช้างพระมหาอุปราชา ช้างพระมหาอุปราชาถูกงวงของช้างพระนเรศวรฟาดก็ร้องด้วยเสียงอันดัง พระมหาอุปราชาตกพระทัย พระนเรศวรจึงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว





“...พระเจ้าแผ่นดินพะโคยกแสนยานุภาพมากรุงศรีอยุธยา

พระนเรศวรเสด็จยกทัพกลับมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง (ซึ่งมีซากปรากฏอยู่จนทุกวันนี้) ชื่อว่าแกรง (Crengh) หรือหนองสาหร่าย เพื่อจะพบกับกองทัพพะโค

เมื่อกองทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากัน พระนเรศวรและพระมหาอุปราชา (ซึ่งฉลองพระองค์เต็มยศตามฐานันดรศักดิ์และทรงช้างศึก) ต่างก็ขับช้างเข้าหากันประหนึ่งเสียสติ ทิ้งกองทหารไว้ข้างหลัง แต่ช้างทรงของพระนเรศวรเล็กกว่าช้างทรงของพระมหาอุปราชามาก เมื่อเจ้าชายทั้งสองพระองค์ขับช้างเข้ามาใกล้กัน ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรที่เล็กกว่าก็ตื่นกลัวช้างของพระมหาอุปราชา พยายามเบี่ยงตัวไปมาเพื่อจะหลบหนี พระนเรศวรตกพระทัยตรัสกับช้างทรงว่า ‘เจ้าผู้เป็นบิดาแห่งแว่นแคว้นนี้ ถ้าเจ้าทิ้งข้าไปเสียแต่ตอนนี้แล้วก็เท่ากับว่าเจ้าทิ้งตัวของเจ้าเองและโชคชัยทั้งปวง เพราะข้าเกรงว่าเจ้าจะไม่ได้รับเกียรติยศอันใดอีกแล้ว และจะไม่มีเจ้าชายองค์ใดขี่เจ้าอีก คิดดูเสียเถิดว่าบัดนี้เจ้ามีอำนาจเหนือเจ้าชีวิตถึงสองพระองค์ และเจ้าสามารถนำชัยชนะมาให้แก่ข้าได้ จงดูประชาชนที่น่าสงสารของเรา พวกเขาจะพ่ายแพ้ยับเยินเพียงใด และจะแตกสานว่านเซ่นอย่างไรถ้าหากเราหนีจากสนามรบ แต่ถ้าหากเรายืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงด้วยความกล้าหาญของเจ้า และด้วยกำลังขาแขนของเราทั้งสอง ชัยชนะก็จะตกเป็นของเราอย่างแน่นนอน และเมื่อได้รับชัยชนะแล้ว เจ้าก็จะได้เกียรติร่วมกับข้า’ ขณะที่ทรงมีรับสั่ง พระนเรศวรก็ประพรมน้ำมนต์ที่ปลุกเสกโดยพราหมณ์ เพื่อใช้ในโอกาสเช่นนี้ลงยังหัวช้าง ๓ ครั้ง ทรงพระกันแสงจนกระทั่งหยาดพระสุชลหลั่งลงบนงวงช้าง

ช้างแสนรู้ได้กำลังใจจากคำดำรัส น้ำมนต์และหยาดพระสุชลของเจ้าชายผู้กล้าหาญ ก็ชูงวงขึ้น หันศีรษะวิ่งเข้าหาข้าศึก ตรงไปยังพระมหาอุปราชาดุจจะบ้าคลั่ง

การประลองยุทธของช้างตัวนี้เป็นที่น่าสะพรึงกลัวและน่าอัศจรรย์ ช้างทรงตัวที่ใหญ่กว่าพยายามใช้งาเสยช้างตัวที่เล็กกว่าให้ถอยไป ในที่สุดช้างทรงที่ตัวเล็กกว่าก็ได้เปรียบ วิ่งเลยช้างตัวใหญ่ไปเล็กน้อย และใช้งวงฟาดอย่างแรง ช้างตัวใหญ่ร้องแปร๋แปร้นทำให้พระมหาอุปราชาตกพระทัย

พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงฉวยโอกาสปราบพระเจ้าแผ่นดินพะโค โดยทรงตีเศียรพระเจ้าแผ่นดินพะโคอย่างแรงด้วยขอช้าง และทรงใช้พระแสงของง้าวฟันพระมหาอุปราชาจนกระทั่งหล่นลงมาสิ้นพระชนม์บนพื้นดิน และพระองค์ทรงจับช้างได้ ทหารราชองครักษ์ของพระองค์ (ซึ่งตามมาทัน) ก็ได้แทงทหารโปรตุเกสซึ่งนั่งตอนหลังของช้างพระที่นั่ง ทำหน้าที่โบกพัดให้พระเจ้าแผ่นดินพะโคและบังคับช้าง

เมื่อทหารของพะโคเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินของตนสิ้นพระชนม์ลง ก็ถอยหนีกันอลหม่าน...”




- สำเภากษัตริย์สุลัยมาน (The Ship of Sulaiman) ต้นฉบับเป็นภาษาเปอร์เชีย ชื่อ “สะฟีนะ – อิ –สุลัยมาน” บันทึกโดยอาลักษณ์ของคณะราชทูตเปอร์เชียที่เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่า พระนเรศวรทรงเหน็บซ่อนพระแสงปืนไปในการออกรบคราวนี้ด้วย แต่ก็ได้ทรงสังหารพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าว

ข้อพิจารณาเรื่องจารีตการศึก

การรบบนหลังช้างหรือที่เรียกว่า “ยุทธหัตถี” นั้น ปรากฏร่องรอยในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในสมัยสุโขทัย กล่าวคือ ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการกล่าวถึงการรบบนหลังช้างว่า

เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่อเมืองตาก พ่อกูไปรบ ขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสาม ชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกู หนีญญ่ายพายจแจ้น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อ ช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้าง ขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน





นอกจากนี้ ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุมของมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีก็มีการกล่าวถึงการชนช้างด้วยเช่นกัน (จารึกเป็นภาษาสุโขทัยโบราณอ่านเข้าใจยากและจารึกชำรุดข้อความจึงขาดไปเสียมาก)

...สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธา....ฝูง........เป็นคฤหัสถ์...เมื่อนั้น เจ้า....ภิดเสมอราชสีห์มีกำลัง.....นหนักหนาแก่กมต่อหัวช้างด้วยขุนจัง ขุนจังนั้นขี่ช้างสรายเป็นสารสูงใหญ่ แก่กม น้ำมันช้างกำลังตก แล่นมาด้วยเร็วหนักหนาขุนจัง...ท้าพระยาคำแหงพระราม...ครั้นพระยาคำแหงพระรามหม...ม จักแลกหมอนแพรแ..นแ.น....เป็นพ่อดังอั้น เจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามุนีนั้น เจ็บใจต่างพ่อตนหนักหนา เสมอดังเอาฆ้อนตีหางนาคราชนั้น....ช้างชื่อทวงท.ลชั้นขับแล่นด้วย..ัน แม่ช้างแลช้างสรายลงมันชำเชิงท...น ช้างสรายเอางวงมันคลำนำลางใน...อันย้อยถูกหัวเจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามุนีหันหน้าไม้ ปักปืนปากจอบยิงถูกรูน้ำมัน ช้างสรายนั้นเดินเจ็บหนักหนาคนหนเดินก็ยังช่อย แทงช้างสรายนั้นจึงยักเพลียก มุดป่าพงหนี เจ้าศรีศรัทธาราชจุฬามุนีจึงขับแม่ช้างไล่ตาม ตีบ่หย่าค้าน บ่ทาน เมือตามตีควาญช้างวิ่งหนีตกป่าแขม เงือดคำรบสองคาบสามคาบเขาทั้งหนดิน นั้นวิ่งหนีเลย ช้างนั้นตามตีบ่หย่า จึงได้ช้างสรายนั้นให้มาแล...

หมายความว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ได้ต่อหัวช้างด้วยขุนจัง เมื่อครั้งเป็นคฤหัสห์ พิดเสมอราชสีห์มีกำลัง ขุนจังขี่ข้างสรายน้ำมันกำลังตก แล่นมาอย่างรวดเร็วหนักหนา มาท้าพระยากำแหงพระราม ครั้งนั้น พระยากำแหงพระรามหมายแรกหมอนแลกแพร เจ้าศรีเจ็บใจแทนพ่อนัก เสมอดังเอาฆ้อนตีหางนาคราช ขับช้างชื่อ ทวงทวลเข้าสู้ หันหน้าไม้ปักปืนปากจอบ ยิงถูกรูน้ำมัน ช้างสรายนั้นเจ็บหนักหนา ยักเพลียกมุดป่าหนี เจ้าศรีสรธาไล่ตามตีไม่หยุด ใครห้ามไม่ฟัง จึงได้ช้างสรายนั้นมาถวายสมเด็จธรรมราชา





จารึกหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุม

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นก็มีเรื่องราวของการชนช้างจนสิ้นพระชนม์บนคอช้างทั้งสองพระองค์ของเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็มีสงครามคราวพระสุริโยทัยขาดคอช้าง และมาถึงสงครามคราวยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาหลักฐานของยุคสมัยที่เก่าลงไปกว่าสมัยสุโขทัย เช่น สมัยพระนคร(Angkor) ของเขมรกลับไม่พบการรบกันบนหลังช้าง เมื่อพิจารณาภาพสลักนูนต่ำที่ปราสาทหินในอาณาจักรพระนคร จะพบการใช้ช้างศึกเป็นยุทธพาหนะและเป็นเสมือน “หอรบ” เพราะผู้เป็นนายทัพจะนั่งบน “กลางช้าง” (ไม่ใช่คอช้างอย่างการทำยุทธหัตถี) และใช้อาวุธแบบขว้าง ปา ยิง เช่น หอกซัด ธนู หน้าไม้ ไม่ได้ถือง้าวหรือของ้าวอย่างในสมัยหลัง ทั้งนี้ นักวิชาการสันนิษฐานว่า การรบบนหลังช้างพบแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปนับแต่ช่วงเวลาที่มีการรับอิทธิพลของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ฝ่ายลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งมี “ตำนาน” เล่าว่าเจ้าชายทุฏฐคามณีอภัยแห่งสิงหล ทรงทำยุทธหัตถี ได้ชัยเหนือพระเจ้าเอฬาระกษัตริย์ทมิฬจากโจฬะ และประกาศพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ (ราชาที่เหนือราชาทั้งปวง) การทำยุทธหัตถีจึงถือเป็นจารีตการศึกของผู้ที่ต้องการประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ มีบุญญาธิการเหนือกว่ากษัตริย์อื่นใด ธรรมเนียมการทำยุทธหัตถีจึงมาแพร่หลายอยู่ในดินแดนแถบลุ่มน้ำอิระวดี และลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งรับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามานั่นเอง กระทั่งเมื่อการเข้ามาของ “ทหารรับจ้าง” จากตะวันตกพร้อมกับอาวุธยิงไกลสมัยใหม่คือ “ปืนไฟ” จึงทำให้จารีตการศึกแต่เก่ามาเริ่มถูกลบเลือน เพราะผู้ที่อยู่บนคอช้างย่อมตกเป็นเป้าของอาวุธยิงไกลเหล่านี้





ผู้เขียนเห็นว่ายุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรนี้เป็นช่วงของ “การเปลี่ยนผ่าน” จากจารีตการศึกแบบเก่าที่เน้นพระปรีชาสามารถและบุญญาธิการของจอมทัพแต่ละฝ่าย มาเป็นการใช้อาวุธยิงไกลที่มีอานุภาพสูงทำลายล้างข้าศึก ในช่วงเวลาดังกล่าวมีทั้งการรบบนหลังช้างและการใช้อาวุธยิงไกลของตะวันตกปะปนกัน แต่กระนั้นในหมู่ผู้ปกครองเองก็ทรงทราบดีว่าจารีตการศึกกำลังจะเปลี่ยนไป ดังที่พงศาวดารซึ่งชำระในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ระบุว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงท้าพระมหาอุปราชาออกมากระทำยุทธหัตถี และทรงเน้นย้ำว่าต่อไปจะไม่มีกษัตริย์ใดทำยุทธหัตถีกันแล้ว

“...พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ไยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถ์ด้วยกันให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีกษัตริย์ที่จะได้ยุทธหัตถ์แล้ว...”





นอกจากนี้ หากพิจารณาโดยละเอียดจะพบการ “ต้องปืน” ในหลักฐานของไทยเช่นกัน หากแต่ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ระบุว่า เป็นสมเด็จพระนเรศวรที่ “ต้องปืนที่พระหัตถ์ขวาหน่อยหนึ่ง” ส่วนบรรดาพระราชพงศาวดารฉบับที่ชำระขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ระบุว่า “นายมหานุภาพควาญพระคชาธารพระนเรศวรเป็นเจ้านั้น ต้องปืนข้าศึกตาย” และ “หมื่นภักดีศวร กลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น ต้องปืนข้าศึกตาย”

ในประเด็นนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าฟังว่า

“ต่อปัญหาการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชานั้น ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะสรุปเป็นข้อยุติโดยอาศัยความสอดคล้องระหว่างหลักฐานพงศาวดารพม่าและบันทึกฝรั่งต่างชาติที่มีอายุร่วมสมัยกับเหตุการณ์เป็นบรรทัดฐานตัดสิน
แท้จริงแล้วภาพความขัดแย้งที่มีปรากฏในหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมา คือภาพสะท้อนของการเผชิญกันระหว่างจารีตอันเป็นธรรมเนียมนิยมของการทำสงครามในรูปแบบเก่าคือการรบกัน ตัวต่อตัวบนหลังช้าง กับการแพร่กระจายของอาวุธสมัยใหม่คือปืนไฟ ถึงแม้ท้ายที่สุด ปืนไฟจะได้ทำให้ธรรมเนียมนิยมของการทำยุทธหัตถีหมดไป แต่ในช่วงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ธรรมเนียมนิยมของการทำยุทธหัตถียังไม่หมดไปเสียทีเดียว มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารพม่าว่าพระเจ้านันทบุเรงทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าอังวะตะโดเมงสอถึงขั้นแพ้ชนะ พระเจ้าอังวะต้องหลบหนีเอาชีวิตรอด” [๑๑]

สำหรับผู้เขียนแล้วเชื่อว่าในสงครามคราวพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๑๓๕ นั้น มีการชนช้างเกิดขึ้นจริง แต่สาเหตุที่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์นั้นยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด คงต้องปล่อยให้เป็น “ช่องว่าง” ทางประวัติศาสตร์ซึ่งแต่ละท่านย่อมมีวิจารณญาณในการ “เติมเต็ม” ช่องว่างเหล่านั้นด้วย “สติและปัญญา” ของทุกท่านเอง

ท้ายนี้ผู้เขียนใครฝากคำย้ำเตือนว่า สิ่งที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์พึงกระทำคือ การดำเนินตามวิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical Method) อย่างรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการทางประวัติศาสตร์ประการที่ 3 คือ “การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐาน” อันเป็นการมุ่งวิเคราะห์และพิสูจน์หลักฐานว่า เป็นของจริงหรือของปลอมซึ่งเรียกว่า “การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐานจากภายนอก” และวิเคราะห์ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด ซึ่งเรียกว่า “การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าหลักฐานจากภายใน” การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอาจทำได้โดยการ “เทียบเคียง” หลักฐานที่บันทึกเหตุการณ์เรื่องเดียวกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้









“...ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีข้อยุติตายตัวทางใดทางหนึ่ง

นักประวัติศาสตร์แต่ละคน นักวิชาการแต่ละแขนงก็สามารถที่จะมองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

และตีความหรือให้ความหมายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แตกต่างกันไปได้...

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าใครผิดใครถูก ประเด็นอยู่ที่ว่าประวัติศาสตร์นั้น

ไม่จำเป็นที่จะต้องถูกจำกัดว่าจะต้องมีคำตอบเพียงคำตอบเดียว

ในเรื่องเรื่องเดียวนั้นอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันไปได้

เราก็รับฟังในหลาย ๆ มุมมอง เพื่อที่จะทำให้ปัญญาของเรานั้นแตกฉานงอกงามขึ้น...”


รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์


[๑] โปรดดู พระราชพงศาวดารกรุงสยาม (พระนคร : ก้าวหน้า, ๒๕๐๗), หน้า ๑๙๖-๒๑๖ ; พงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา (พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, ๒๕๑๑), หน้า ๑๕๗-๑๖๔, ๓๗๑-๓๗๘ ; สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า (พระนคร : คลังวิทยา, ๒๕๐๕), หน้า ๑๒๖-๑๔๑ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๙๓), หน้า ๘๔-๑๐๐ ; พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้ (กรุงเทพฯ : สยามรัฐ, ๒๕๓๓), หน้า ๓๓-๔๙.

[๒] สุเนตร ชุตินธรานนท์, พม่ารบไทย, พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๕), หน้า ๘๒.

[๓] โปรดดู เมียนมาร์ยาสะวิน (Myanmar Yazawin) : ข้อมูลอีกปีกหนึ่งของพม่ารบไทย

[๔] Maung Htin Aung, A History of Burma (New York : Columbia University Press, 1967), p. 131 ; หม่อง ทิน อ่อง, ประวัติศาสตร์พม่า, เพ็ชรี สุมิตร ผู้แปล, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑), หน้า ๑๓๓.

[๕] Myan-Ma Swe-Zon Kyan. Vol. 6 and Vol. 8 (Rangoon, 1962, 1963), pp. 140-141 and p. 215 อ้างถึงใน สุเนตร ชุตินธรานนท์, พม่ารบไทย, หน้า ๘๕.

[๖] Victor B. Lieberman, “How Reliable is U Kala’s Burmese Chronicle? Some New Comparisons,” Journal of Southeast Asian Studies. 17 : 2 (Sept., 1986), pp. 242, 245 n ; Victor B. Lieberman, Burmese Administrative Cycles : Anarchy and Conquest C. 1580-1760, (Princeton : Princeton University Press, 1984), p. 40 อ้างถึงใน สุเนตร ชุตินธรานนท์, พม่ารบไทย, หน้า ๘๕-๘๖.

[๗] เรื่องเดียวกัน.

[๘] A. Macgregor, “A Brief Account of the Kingdom of Pegu” Wason Manuscript, Cornell University อ้างถึงใน สุเนตร ชุตินธรานนท์, พม่ารบไทย, หน้า ๘๖.

[๙] ตรงนี้เป็นธรรมชาติของสัตว์ ช้างตัวที่เล็กกว่าเมื่อเห็นช้างตัวที่ใหญ่กว่าจะตื่นกลัวไม่กล้าชน หรือชนแล้วรู้ว่าสู้กำลังไม่ได้ก็จะเบนหนี.

[๑๐] จังหวะที่ช้างเสียทีคือ “ให้ท้าย” เมื่อชนแล้วสู้กำลังไม่ได้ ก็จะหันหนี อีกตัวก็จะตาม คนที่อยู่บนคอช้างตัวที่หนีจะอยู่ในภาวะอันตรายมากเพราะไม่สามารถหันกลับมาสู้ฝ่ายที่ไล่ตามได้ กรณีนี้พิจารณาเทียบกับช้างพระมหาจักรพรรดิ์ที่ให้ท้ายช้างพระเจ้าแปร พระสุริโยทัยจึงไสช้างมาขวาง.

[๑๑] สุเนตร ชุตินธรานนท์, พม่ารบไทย, หน้า ๘๖-๘๗.