วันศุกร์, มกราคม 08, 2559

อลหม่านหลังม่านปชป.‘สุเทพ’สวมบทผู้ชี้ชะตาพรรค




ที่มา คมชัดลึก
วันพุธที่ 6 มกราคม 2559
นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์

จากประเด็นไล่ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าฯ กทม. ลามมาถึงข่าวลือ ล้ม “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ให้หลุดพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ประเด็นการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ร้อนระอุนี้ หากพิเคราะห์หมากก้าวเดินอย่างละเอียดแล้ว ทั้ง 2 เรื่อง ดูเหมือนจะมีจุดที่เชื่อมโยงกัน

กระแสข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมขับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พ้นผู้ว่าฯ กทม. เป็นเพราะการทำงานของคุณชาย ที่ไม่สนใจพรรคเท่าที่ควร ทำตัวเป็นอิสระ ไม่ตอบสนองผู้แทนทุกระดับของพรรค

หรือแม้กระทั่งพรรคจะมีการนัดหมายทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พบกับหัวหน้าพรรค ก่อนที่ “อภิสิทธิ์” จะส่งจดหมายขออนุญาตประชุมพรรคต่อคสช.อย่างเป็นทางการ

แต่สิ่งที่ตอบกลับมาจากเสาชิงช้า คือความนิ่ง หรือกระทั่งบางครั้งที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะรับนัด “อภิสิทธิ์” ไปแล้ว ก็ยังมีเหตุที่ทำให้ทั้งคู่ไม่อาจพบหน้าเพื่อเคลียร์ใจกัน

ปฏิบัติการรุกตรวจสอบโครงการของกทม.อย่างละเอียดยิบ ของ “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” อดีต ส.ส.กทม. ทั้งปมการใช้งบประมาณถึง 39 ล้านบาท เพื่อจัดไฟประดับงาน “กรุงเทพฯ แสงสีแห่งความสุข” การทุจริตเครื่องดนตรีและกล้องซีซีทีวี

แม้จะจี้จุดไปยังพฤติกรรมของบริวารแวดล้อม เพียงแต่เป้าหมายอันเป็นที่มาของ “ใบสั่ง” คือ การให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หลุดเก้าอี้ก่อนหมดวาระตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ในเดือนมีนาคม 2560

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ในทุกสถานการณ์มักจะมีเหตุให้เกิด “จุดเปลี่ยนเสมอ”

จุดเปลี่ยนแรก ที่ต้องย้อนไปดูที่มาของการขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม.ม้ามืด 2 สมัย ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มาจากแรงผลักดันของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่ตอนนั้นกุมเสียงพรรคเกินกว่าครึ่ง

“สุเทพ” ถือเป็นผู้มากบารมีเหนือกว่าหัวหน้าพรรคอย่าง “อภิสิทธิ์” ในช่วงนั้น คนในพรรครู้ดีว่า “สุเทพ” วาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นว่าที่หัวหน้าพรรคคนต่อไป แต่เมื่อจุดเปลี่ยนที่เดินทางมาพร้อมข้อมูลอันอื้อฉาวของ กทม. ถึงมือ “สุเทพ”

เมื่อ “คนเปลี่ยน”...“เกมจึงต้องเปลี่ยน”...สัญญาณไฟเขียว จากผู้ยิ่งใหญ่แห่ง กปปส. ไม่ได้ปกป้อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เหมือนเดิมอีกต่อไป

แม้ในช่วงเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน กทม.ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะให้ความช่วยเหลือมวลมหาประชาชนอย่างเต็มที่ก็ตาม

จุดเปลี่ยนที่สอง ที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อจู่ๆ มีข่าวออกมาว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย พร้อมด้วยผู้สนับสนุนหลายคนได้นั่งสนทนากันที่ร้านกาแฟ “โกปี๊” ร้านกาแฟชื่อดังของเมืองนครศรีธรรมราช

วงสนทนาได้ปรากฏเป็นข่าวว่า ดร.สุรินทร์ เปรยว่าพร้อมเข้าชิงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และบางช่วงบางตอนมีการมองเกมในอนาคต เมื่อเป็นหัวหน้าพรรคแล้วก้าวต่อไปคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ไม่แปลกที่คล้อยหลังจากนั้น “อภิสิทธิ์-ดร.สุรินทร์” จะเคลียร์ใจผ่านโทรศัพท์ โดยที่ฝ่ายหลังย้ำว่า เป็นความเข้าใจผิด นักข่าวเขียนข่าวคลาดเคลื่อนไป แต่ความเคลื่อนไหวที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ยังคุกรุ่นอยู่

ชื่อของ “ดร.ซุป" ศุภชัย พาณิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ถูกโปรยเข้าเป็นอีกแคนดิเดท

เช่นเดียวกันกับชื่อของ “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้อาวุโสของพรรค ก็มีคนหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง

เพียงแต่การปรากฏชื่อ “ชวน” มีนัยที่แฝงเร้น ทั้งเพื่อดับความวุ่นวายในพรรค และถูกชูให้เป็นตัวขวาง หาก “สุเทพ” กลับใจดัน “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” มาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลัง “อภิสิทธิ์” หมดวาระในปี 2561

จุดเปลี่ยนที่สาม ซึ่งสำคัญไม่น้อย ที่ “อภิสิทธิ์” จะถูกศาลพิพากษา ในคดีความผิดที่ถูกฟ้องว่าปลอมแปลงเอกสารราชการทหารเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร หากศาลพิพากษา “ไม่ผิด” คลื่นลมภายในก็จะสงบไปชั่วชณะไปจนถึงวาระเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ในปี 2561

แต่ถ้า “ผิดจริง” อภิสิทธิ์ จะขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งต่อไปและพรรคประชาธิปัตย์ จะเข้าสู่โหมดแห่งความวุ่นวายทันที

อย่างไรก็ดี แกนนำจากพรรคประชาธิปัตย์ประเมินว่า สถานการณ์ของพรรค ณ เวลานี้ ไม่ต่างอะไรกับการโยนหินถามทาง เพราะท้ายที่สุดแล้ว นอกจากจะรอคำสั่งศาลในคดีของ “อภิทธิ์” ที่ไม่รู้จะมาออกในกลาง หรือปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

และที่สำคัญคือต้องรอดูเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อนว่า พรรคใหญ่จะได้ประโยชน์ขนาดไหน

เพียงแต่ตัวแปรที่ไม่อาจมองข้ามได้ ที่ต้องรอประเมินท่าทีของประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งยังคงมีอิทธิพลภายในพรรค คุมฐานเสียง ส.ส.ภาคใต้และภาคอีสาน ไว้หมด

สุดท้ายแล้ว “สุเทพ” จะเลือกใครเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ และจะนำพรรคประชาธิปัตย์ ยืนแนบขั้วอำนาจการเมืองฝ่ายไหน ?