วันเสาร์, มกราคม 30, 2559

"ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร มิใช่ของทหารตามที่เขาหลอกลวง" อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชน อย่าปล่อยให้ใครทึกทักแย่งชิงไป !


ภาพจาก มติชน


ข้อสังเกตบางประการ : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย โดยสังเขป 

โดยพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

ที่มา ประชาไท Blogazine
29 มกราคม, 2016 - 21:29


หลังจากที่ผมได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ( http://prachatai.org/journal/2016/01/63769 )
ผมมีข้อสังเกตบางประการเบื้องต้น ดังนี้

 ๑.เรื่อง องคมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 

 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนยันคติความคิดตามรัฐธรรมนูญเดิมที่ว่า การเข้ารับหน้าที่ขององคมนตรีนั้น เป็นการเข้ารับหน้าที่โดยมีพันธะหน้าที่ต่อกษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐ มิใช่ต่อกษัตริย์ในฐานะ "บุคคล" แต่ละพระองค์ ดังนี้ แม้ว่า กษัตริย์ที่แต่งตั้งองคมนตรีนั้นได้พ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปด้วย[๑] (โปรดสังเกตคำปฏิญาณ ตามเชิงอรรถที่ ๑)   
แต่สำหรับกรณีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การเข้ารับหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น เป็นการเข้ารับหน้าที่โดยมีพันธะหน้าที่ต่อกษัตริย์เฉพาะพระองค์ในฐานะที่เป็น "บุคคล"[๒] (โปรดสังเกตคำปฏิญาณ ตามเชิงอรรถที่ ๒) ดังนี้ เมื่อกษัตริย์พระองค์เดิมซึ่งเกิดเหตุให้จำต้องแต่งตั้งองคมนตรีขึ้นไม่ว่าจะแต่งตั้งโดยพระองค์เองหรือโดยความเห็นชอบของรัฐสภา เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ การดำรงอยู่ของ "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" จึงหมดสิ้นลงไปพร้อมกัน 

๒.เรื่องหลักประกันสิทธิเสรีภาพ 

มาตรา ๒๖ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้[๓] ทำลายล้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎรอย่างถึงราก เนื่องจากบทบัญญัตินี้วางอยู่บนคติความคิดที่ว่า แม้รัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของราษฎร ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายปกครองสามารถตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้โดยการอ้าง "นามธรรม" (คำว่า "นิติธรรม") ขึ้นมาเป็นเหตุผลในการตรากฎหมาย (หมายถึง กฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญลงมาทุกลำดับชั้น) จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

จากฐานคติเดิมตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี ๔๐ จะวางหลักไว้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายปกครองจะตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น[๔] กล่าวคือ มีหลักคิดว่า ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพดำรงอยู่แล้วตามธรรมชาติ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของราษฎรก็ต้องกระทำโดย "เจตจำนงทั่วไป" ของราษฎรในการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมาปกครองตนเอง ดังนี้ จึงเป็นสัญญาประชาคมที่ผู้ปกครองซึ่งเข้าสู่อำนาจโดยความยินยอมของราษฎรจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของราษฎรเกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้มิได้ 

เมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญมีชัยแล้ว กลับกลายเป็นว่า "ทำลาย" หลักการพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพไปโดยสิ้นเชิง กลับให้อำนาจตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของราษฎร กระทำได้โดยอ้างอิง "นามธรรม" ที่เรียกว่า "นิติธรรม" ซึ่งคำ ๆ นี้เป็นคำที่ "เบลอ" ในสังคมไทย หากเรายินยอมให้ "ความไม่ชัดเจน" มาเป็นเกณฑ์ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้แล้ว เช่นนี้ ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของบุคคล (legal security) ก็จะไม่มีอีกต่อไป จะยังคงเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนดังเช่นปัจจุบัน 

 ๓.เรื่องการยุบสภาและการกำหนดวันเลือกตั้ง 

 หากเป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ย่อมเป็นอันว่า ต่อแต่นี้ไปหลังจากใช้รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยแล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรี(ตามรัฐธรรมนูญมีชัย)ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ นายกรัฐมนตรีเองก็จะไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ (เดิม การยุบสภาทุกครั้งต้องกำหนดวันเลือกตั้งลงไปใน พรฎ.ยุบสภา) เพราะร่างรัฐธรรมนูญมีชัย กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง (ดู มาตรา ๙๘) หมายความว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว จะไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งลงไปในพระราชกฤษฎีกาอีกต่อไป แต่การกำหนดการเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. 

เรามาพิจารณากันว่า ทำไมต้องบัญญัติเช่นนี้? ผมสันนิษฐานว่า การบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๘ เช่นนี้ เพื่อมุ่งหมายว่า ในภายหน้า นักล้มการเลือกตั้ง จะได้ยื่นฟ้องคดีเพิกถอนวันเลือกตั้งต่อศาลปกครองได้ เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งนั้นกระทำโดยประกาศ กกต. ซึ่งมีสถานะเป็นฝ่ายปกครองที่เป็นอิสระ และประกาศ กกต. กำหนดวันเลือกตั้ง มีอาจจะวินิจฉัยได้ว่ามีลักษณะเป็น "คำสั่งทางปกครองทั่วไป" ซึ่งอาจตกเป็นวัตถุแห่งคดีในการฟ้องเพิกถอนคำสั่งได้โดยศาลปกครอง นับว่าเป็นการขจัดอุปสรรคในความพยายามล้มล้างการเลือกตั้งนับแต่ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมาจนถึงปี ๒๕๕๖ ๒๕๕๗ ที่มีนักฟ้องคดีล้มเลือกตั้ง ไปยื่นคำฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภา โดยศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานเสมอมาว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภา มิใช่ "กฎ" หากแต่เป็น "การกระทำทางรัฐบาล" (การกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภา หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ซึ่งมิใช่วัตถุแห่งคดีที่ศาลปกครองจะรับพิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนให้ได้ และยกฟ้องทุกคดี 

ดังนี้ ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย จึงปรุงให้สะดวกโยธินยิ่งขึ้นโดยการเปลี่ยนระดับของบรรทัดฐานทางกฎหมาย จาก "พระราชกฤษฎีกาที่เป็นการกระทำทางรัฐบาล" ให้กลายเป็นการใช้อำนาจปกครอง ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จำต้องหยิบยกขึ้นอภิปรายถึงผลในทางกฎหมายต่อไปในภายหน้า 

๔. เรื่อง ผีเน่ากับโลงผุ : คสช.จะดำรงคู่รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยต่อไป (และคสช.จะยังคงตามหลอกหลอนรังควานราษฎรไทยต่อไปเรื่อย ๆ แม้จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๕๗ ไปแล้ว) 

ตามบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญมีชัย มาตรา ๒๕๗ ประกอบมาตรา ๒๗๐ เมื่อประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยแล้ว ให้ คสช.ดำรงสถานะและมีอำนาจอยู่ต่อไปจนกว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ "เข้ารับหน้าที่" นั่นแปลว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่สบอารมณ์ของ คสช. หรือระหว่างที่กำลังเลือกตั้งกันอยู่ คสช.เห็นว่าสังคมไม่สงบ ดังนี้ หัวหน้าคสช.ก็ทรงอำนาจตามมาตรา ๔๔ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗ สั่งยุติการเลือกตั้งหรือแม้กระทั่ง คสช.มีอำนาจ "แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีชัย" ในระหว่างนั้นอีกด้วย 

..... 

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย มีปัญหาอย่างยิ่ง ซึ่งโดยเวลาอันจำกัดของผู้เขียน คงไม่อาจเรียบเรียงอย่างพิศดารได้ ในประเด็นอื่นอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบาทในเชิงรุก และทำหน้าที่เป็นองค์กรออกประมวลจริยธรรมบังคับองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ฯลฯ อำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่มอบให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้เป็นชนวนความวุ่นวายทางการเมืองในรอบสิบปีที่ผ่านมาที่ถูกตอกย้ำให้ถลำลึกยิ่งขึ้นไปอีกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนี้ 

ดังนี้ ผมคงกล่าวรวบรัดได้เพียงว่า บรรดาข้อความคิดที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมถอยทางสติปัญญาและระดับความรู้ในทางกฎหมายของผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี 

ประชาชนแต่ละคนไม่จำต้องตกอยู่ภายใต้ตัวเลือก ระหว่าง รัฐธรรมนูญมีชัย (อุจจาระของเผด็จการ) หรือรัฐธรรมนูญ ๕๗ (ขี้ของเผด็จการ) เพราะทั้งสองสิ่งล้วนเป็นสิ่งปฏิกูลทั้งสิ้น ประชาชนแต่ละคนสามารถบงการชะตาชีวิตของท่านได้โดยมิต้องให้ผู้เผด็จการคอยบงการยัดเยียดตัวเลือกให้แก่ท่าน 

"ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร มิใช่ของทหารตามที่เขาหลอกลวง" อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชน อย่าปล่อยให้ใครทึกทักแย่งชิงไป !

______________________________ 

เชิงอรรถ 

[๑] ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย มาตรา ๑๓ "ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้ "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ..."" 

[๒] ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย มาตรา ๑๙ "ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ "ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ..."" 

[๓] ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย มาตรา ๒๖ "การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม..." 

[๔] รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง "การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้"