วันเสาร์, มกราคม 23, 2559

ลัทธิทหารในการศึกษาไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่: 22 ม.ค. 59

นักเรียนนักศึกษาของไทยถูกควบคุมจองจำด้วยเครื่องแบบ โดยลัทธิทหารมานานมากแล้วเกินครึ่งศตวรรษ

เฉพาะนักเรียนชายต้องผมเกรียน (เหมือนทหารเกณฑ์)

ในห้องเรียนไม่ว่าประถม, มัธยม, หรืออุดมมหาวิทยาลัย ครูอาจารย์แสดงตนใจกว้างเปิดช่องทางให้สงสัย, ซักถาม, ทักท้วงถกเถียง

แต่ใครทำอย่างนั้นจะถูกมองด้วยสายตาและอารมณ์ไม่พอใจ ยิ่งนักเรียนนักศึกษาคิดต่าง ครูอาจารย์ยิ่งออกอาการฉุนเฉียวถึงขั้นด่าทอก็มี

[ไม่ต่างจากผู้มีอำนาจเกรี้ยวกราดนักข่าวที่ซักถามเรื่องไม่ถูกใจ]

สถาบันการศึกษาไทยเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น ล้วนมีต้นทางจากลัทธิทหาร ผ่านประเพณีไหว้ครู

ไหว้ครูเป็นมรดกของลัทธิทหาร

ไหว้ครูตัวเป็นๆปัจจุบัน เป็นประเพณีประดิษฐ์คิดสร้างใหม่ที่มากับลัทธิทหารเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อให้นักเรียนอยู่ในโอวาทของครู (ทำนองเดียวกับเถรวาทไทย)

ดูจากบทไหว้ครู (ปรับปรุงใหม่ราว พ.ศ. 2485-2488) ที่รู้จักทั่วไปในหมู่ครูและนักเรียนว่าบท “ปาเจรา-ข้าขอประณตน้อมสักการ”

[บทไหว้ครูเคยมีมาก่อนแล้ว ในปีสุดท้ายแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง พ.ศ. 2453 แต่ไม่เป็นที่นิยม]

ไหว้ครูที่ตายไปแล้ว

ไหว้ครู ตามความเชื่อดั้งเดิมคือไหว้ผี

เพราะเป็นพิธีกรรมที่นักเรียนและครูปัจจุบัน ร่วมกันไหว้ครูที่เป็นนามธรรม หรือครูที่ตาย(เป็นผี)ไปแล้ว เช่น ไหว้ครูช่าง, ไหว้ครูดนตรีไทย, ไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย ฯลฯ

[พิธีกรรมอย่างนี้สืบเนื่องจากพิธีเลี้ยงผีบรรพชนปีละครั้งในหน้าแล้ง แล้วมีเข้าทรงเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ผีครก, ผีสาก, ผีสุ่ม, ผีนางด้ง ฯลฯ]

ไม่ไหว้ครูที่มีชีวิตอยู่ เพราะยังเกี่ยวข้องผลประโยชน์ เช่น รับตำแหน่งจากรัฐบาลเผด็จการ, ประจบเจ้านายเพื่อเอาเปรียบเบียดเบียนคนอื่น,

และคอร์รัปชั่นหลายลักษณะเป็นที่รู้ทั่วกันขณะนี้ เช่น กรณีฉ้อฉลในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ฯลฯ

นอกจากนั้นครูตัวเป็นๆยังมีอำนาจให้คุณให้โทษคนอื่น โดยเฉพาะนักเรียน จึงไม่ควรใช้อำนาจผ่านประเพณีไหว้ครู

ใครจะเคารพครูบาอาจารย์ของตนเป็นเรื่องส่วนบุคคลแท้ๆ พวกมือถือสากปากถือศีลกรุณาอย่าพยายามลากไปปนเป็นเรื่องส่วนรวมทั้งสังคม

ลัทธิทหาร

ลัทธิทหารในช่วง จอมพล ป. สมัยแรก ส่งผลถึงสมัยนี้ ตามที่ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบาย มีดังนี้

“ประเทศไทยของ จอมพล ป. วัฒนธรรมทหารได้แทรกเข้ามาในชีวิตผู้คนมากเสียจนกลืนเอาพลเรือนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเสียไม่น้อย เช่น จับนักเรียนแต่งเครื่องแบบ, โกนหัว, เป็นลูกเสือ, เป็นยุวชนทหาร, ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันทั้งประเทศ, ฟังคำสั่งของผู้นำเหมือนที่ต้องเชื่อฟังกฎหมายหรือคำสั่งของนายทัพ, ชีวิตสาธารณะและชีวิตส่วนตัวถูกกำกับควบคุม อย่างที่ทหารต้องตื่นตามเสียงแตร, “กินฉาก” และแต่งเครื่องแบบเมื่อออกจากกรมกอง (นุ่งซิ่น, สวมหมวก, ไม่กินหมาก, พูดไทยกรุงเทพฯ แบบใหม่, และจูบเมีย, กินช้อนส้อม ฯลฯ)”

[ความเป็นมาและเป็นไปของลัทธิทหาร (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 26 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2558 หน้า 30]

“ลัทธิทหารก็ถึงกาลอวสานในประเทศไทยเมื่อหลัง 14 ตุลาคม เป็นต้นมา แม้ว่ากองทัพเข้ามายึดอำนาจทางการเมืองอีกเป็นครั้งคราว แต่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ไม่อำนวยให้ลัทธิทหารคืนชีพ”

แต่ก็มีความพยายามคืนชีพลัทธิทหาร