วันเสาร์, มกราคม 30, 2559

คำสัตย์เลือกตั้ง คอลัมน์ ใบตองแห้ง




ที่มา ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

ใบตองแห้ง

ขอปรบมือดังๆ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ลั่น "วาจาสัตย์" ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน เดือนกรกฎาคมปี 60 ต้องมีเลือกตั้ง ไม่มีคำว่าอยู่ต่อ

ว่าที่จริงก็เสียดาย อยากให้อยู่นานๆ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ น่าจะล่าชื่อประชาชนซัก 10-20 ล้าน ออดอ้อนลุงตู่อยู่จนถึงอวสาน แต่พอลั่นวาจาอย่างนี้ คงไม่มีใครกล้าเรียกร้องให้ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" เพราะท่านเคยลั่นปากไว้ คาถาประจำใจคือพูดความจริง พูดตรง กับใจ ไม่ใช้ของแบรนด์เนม (แค่มีเบนซ์กับนาฬิกา Patek)

วาจาสัตย์ลุงตู่จึงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตัดข้อครหา คสช.จะคว่ำร่างเสียเองเพื่ออยู่นาน เพราะคว่ำไม่คว่ำ ก็เลือกตั้ง ก.ค.60 อยู่ดี

ผู้คัดค้านทั้งหลายจึงควรเลิกครหาเสียที แต่หันมายึดคำพูดท่านเป็นสัจจะ ไม่ว่าจะเกิดอะไร ต่อให้ฟ้าถล่มดินทลาย ชายชาติทหาร (ที่ห้ามถามมีไว้ทำไม) ก็จะให้เลือกตั้ง ต่อให้ต้องไปเอารัฐธรรมนูญมาจากดาวอังคาร ท่านก็จะไม่อยู่ต่อ

ซึ่งอันที่จริงก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เพราะดูตามโรดแม็ป 6-4-6-4 ต่อให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็เลือกตั้งทัน 6 เดือนที่เตรียมไว้ร่างกฎหมายลูกก็เปลี่ยนมาร่างใหม่หรือปัดฝุ่นของเก่า แก้กฎหมายลูกเอามาใช้เฉพาะหน้า เพียงแต่ไม่สามารถทำประชามติ ซึ่งยิ่งมีความชอบธรรมน้อยลง แต่คงพอใช้ "ลงจากหลังเสือ" ถ้าเขียนให้ใช้ชั่วคราวแล้วค่อยแก้ใหม่ ไม่ใช่เขียนมัดไว้ทุกอย่าง

คำพูดท่านหัวหน้า คสช.ด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะตัดความกังวลของประชาชนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะมีการเลือกตั้งไหม มีเมื่อไหร่ ครั้งนี้ท่านพูดชัดเจน ประชาชนก็ตัดสินใจง่าย เอาไม่เอา ก็ลงมติไป ยังไงก็เลือกตั้งอยู่ดี

ปี 50 ไม่แฟร์เท่านี้นะครับ เพราะกรรมาธิการตะล่อมว่าถ้าไม่รับร่าง ไม่รู้จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ไม่รู้ คมช.จะขุดฉบับไหนมาใช้ "รับไปก่อน แก้ทีหลัง แก้ง่ายนิดเดียว" (คำพูดใครเอ่ย ต่อไปจะเป็นข้อสอบประวัติศาสตร์ไทย)

ตอนนั้นคนกำลังเบื่อหน่ายรัฐบาล ขิงแก่ อยากเลือกตั้งแทบแย่ บางคนจึงรับไปก่อน แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนกัน เพราะประชาชนพอใจผลงาน 99.5% ขืนเอาคะแนนนิยมมาตัดสินใจ เผลอๆ คนรักลุงตู่จะโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญล้นหลาม ท่านพูดอย่างนี้ก็ทำให้คนต้องตัดใจ ถ้ารักลุงตู่ ก็โหวตรับร่างส่งท่านกลับบ้านอย่างปลอดภัย

อ้าวพูดอย่างนี้คนไม่รับก็ซวยสิ ไม่ใช่ๆ เหตุผลในการลงประชามติมีหลากหลาย คนที่รับไม่รับเพราะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างตรงไปตรงมาก็มีมากมาย การทำประชามติให้แฟร์จึงต้องตัดเงื่อนไขจูงใจ ให้คนโหวตในเนื้อหา ถ้าให้ดีต้องบอกว่าไม่ผ่านแล้วทำอย่างไร จะร่างใหม่หรือขุดฉบับไหนใช้ เด็กทำข้อสอบยังมี ก.ข.ให้เลือก แต่นี่เหมือนพ่อครัวแก่ๆ ยกผัดกะเพราเค็มปี๋มาให้ ถามว่ากินไม่กิน ถ้าไม่กินก็ยังไม่รู้ปู่จะให้กินไก่ย่างหรือว่ายำตีนไก่

ฉะนั้นการอุบไว้ก่อน ไม่บอกว่าไม่ผ่านจะทำอย่างไร (เพราะอยากให้ผ่าน) จึงเหมือนเจ้ามือเปิดให้แทงเดิมพัน 2 ชั้น ถ้ารอบแรกเจ้ามือกิน ก็จบกัน แต่ถ้ารอบแรกเจ้ามือแพ้ ก็ยังแจกไพ่เองกินเองอีกรอบอยู่ดี

นี่ยังไม่พูดถึงโอกาสดีเบตในประชามติ ซึ่งปี 50 ยังใจกว้างให้รณรงค์ไม่รับร่าง ชาวบ้านได้ดูถ่ายทอดสด จรัญ ภักดีธนากุล Vs นิธิ เอียวศรีวงศ์ แต่ครั้งนี้ท่านพูดว่า ใครทำให้ไม่ผ่านต้องไปพูดกับคนนั้น ท่านตั้งใจให้ผ่านเพื่อประเทศไทยและทุกคน ฟังแล้วยังงง จะมีประชามติทำไม

กระนั้นก็เอาละ เมื่อท่านให้สัจจะไม่อยู่ต่อ ก็เป็นนิมิตหมายอันดี สังคมจะได้ปักหมุด เดินหน้าตามสูตร 6-4-6-4 ระหว่างนี้ก็ช่วยกันทวงคำตอบอีก 2 ประการ คือถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านทำอย่างไร กับการทำประชามติ จะเปิดกว้างให้รณรงค์คัดค้านแค่ไหน

ถ้าประชามติไม่แฟร์ รัฐธรรมนูญก็ยิ่งไม่ชอบธรรมและสังคมยิ่งปั่นป่วน ถ้าแพ้ประชามติ วิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.ปชป.ก็พูดชัดว่าจะ "ถูกรุม" แต่เปลี่ยนใจไม่ได้แล้วนะครับ ยังไงก็ต้องไปให้ถึง เลือกตั้ง ก.ค.60 จะแก้ร่างอย่างไรก็ทำกันไป แต่จะล้มโต๊ะร่างใหม่ทำกับปู่มีชัยแบบบวรศักดิ์ไม่ได้อีกแล้ว ไม่เหลือเวลา