วันพฤหัสบดี, เมษายน 30, 2558

บริหารบ้านเมืองนั้นไม่ง่าย (รู้มั้ยไม่ทราบ)


รัฐบาลประชุมวิดีทัศน์ดาวเทียมกับทีมช่วยกู้ภัยไทยในเนปาล

บริหารบ้านเมืองนั้นไม่ง่าย

โดย ชำนาญ จันทร์เรือง

นับแต่ 22 พฤษภาคม 2557 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 12 เดือนหรือ 1 ปีแล้ว นอกจากการที่ไม่มีม็อบปิดกั้นถนนทั่วบ้านทั่วเมืองเพราะขัดต่อกฎอัยการศึกต่อด้วยมาตรา 44 และการมีสวัสดิการและค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นของข้าราชการแล้ว

แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นพัฒนาการที่อยู่ในขั้นที่เป็นที่พอใจเลยก็ว่าได้ ปัญหาที่รุมเร้ามีทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาที่สั่งสมมานาน

เช่น ปัญหาการบินกับ ICAO,ปัญหาการหยุดเจรจา FTA หรือการยุติ GSP กับใบเหลืองของ EU,ปัญหาการค้ามนุษย์,ปัญหาจากการต่อต้านขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและฝ่ายสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ,ปัญหาแรงกดดันจากรัฐบาลต่างประเทศให้คืนอำนาจสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว,ปัญหาเศรษฐกิจที่มาถึงการเผาจริงหลังจากที่เผาหลอกมาระยะหนึ่ง,ปัญหาของการทุจริตคอรัปชั่นที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย,ปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญที่ “จัดการงานนอกสั่ง”เสียจนถูกวิจารณ์ว่าจะเป็นชนวนของวิกฤติรอบใหม่,ปัญหาของคนรอบตัวของผู้มีอำนาจที่ไม่กล้าจะให้ข้อมูลจริงและยังปีนเกลียวกินเกาเหลากันทุกวัน มิหนำซ้ำยังให้ข่าวสับสนขัดแย้งกันเอง,ปัญหาการใช้มาตรา 44 อย่างพร่ำเพรื่อ,ที่สำคัญที่สุดก็คือปัญหาการควบคุมอารมณ์ของตัวผู้นำเอง ฯลฯ

แล้ว (ควรที่) จะทำอย่างไร

1) หยุดโทษรัฐบาลที่ผ่านๆมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์หรือรัฐบาลที่มาจาก คมช. เพราะระยะเวลาล่วงเข้ามาจะครบปีอยู่แล้ว

2) หยุดอ้างว่าเข้ามาเพราะความจำเป็น การอ้างว่าถ้าไม่เข้ามาแล้วผู้คนจะพากันเข่นฆ่ากันเอง นั้นเป็นเพียงสมมุติฐาน เพราะผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายของทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ได้เกิดจากฝีมือของประชาชนคนธรรมดาแต่อย่างใด

ส่วนจะอ้างว่าเข้ามาตามคำเรียกร้องก็คงมาจากส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งขณะนี้เขาเหล่านั้นกำลังกลืนเลือดและกัดลิ้นตัวเองอยู่

3) หยุดการคุกคามสิทธิเสรีภาพของการแสดงออกของประชาชนและนักศึกษาคณาจารย์ โดยให้เหตุผลว่าการแสดงออกมีนัยทางการเมือง ซึ่งในทางรัฐศาสตร์แล้วทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองเกือบทั้งสิ้น แม้แต่การปฏิวัติรัฐประหารเองก็เป็นการเมืองโดยแท้

การปล่อยให้มีการแสดงออกจะเป็นการผ่อนคลายเหมือนกับการระบายของกาน้ำร้อน หากไม่รูระบายผลที่ตามมาก็ย่อมคาดหมายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแก่กาน้ำนั้น
แผนภาพเปรียบเทียบอัตราลดของเสรีภาพในการสื่อสารตามรายงานโดยองค์การฟรีดอมเฮ้าส์ พบว่าไทยลดฮวบต่ำสุดเท่าลิเบีย ตามข่าว http://news.voicetv.co.th/thailand/199068.html

4) หยุดเนื้อหาของร่างรัฐรัฐธรรมนูญที่ “เหาะเหินเกินลงกา”(จำมาจากคุณวิษณุ –เครืองาม-) หรือ “จัดการงานนอกสั่ง”(จากกฎหมายแพ่ง) แล้วเน้นเฉพาะที่เป็นประชาธิปไตยดั่งนานาอารยประเทศทั้งหลาย จะเอาแบบไหนก็เอาสักอย่าง

จะเลือกตั้งทางตรงหรือทางอ้อมอย่างไรก็ว่ามา แต่ต้องให้ยึดโยงกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ร่างมาเพียงสนองตัณหาทางวิชาการเท่านั้น

5) หยุดการใช้มาตรา 44 อย่างพร่ำเพรื่อหรือเลิกไปเลย เพราะหากมีการใช้กฎหมายที่ครอบคลุมถึงทั้งสามอำนาจอธิปไตยในบุคคลคนเดียวได้ผล เกาหลีเหนือคงเป็นมหาอำนาจไปนานแล้ว (ขอยืมคำอาจารย์กานดา –นาคน้อย- มาใช้หน่อยนะครับ)

6) หยุดทิฐิมานะในการแก้ไขปัญหา เช่น การที่จะต้องให้สลากกินแบ่งขายในราคา 80 บาทให้ได้หรือห้ามการนำหวยมารวมกันเพราะทำให้ราคาแพงขึ้น ซึ่งผมมองว่าราคาไม่ใช่ปัญหา เพราะคนซื้อก็เพราะอยากซื้ออยากรวย คนขายหากขายไม่ขาดทุนก็ยินดีขาย ประเด็นมันอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะแก้การผูกขาดหรือการเป็นเสือนอนกินของยี่ปั๊วซาปั๊วมากกว่า เมื่อได้ราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนกับกำไรเท่าไหร่แล้วราคาหน้าสลากจะเป็น 90 หรือ 100 หรือ 110 บาทไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ซื้อ

หยุดทิฐิมานะที่จะต้องทำความปรองดองให้สำเร็จซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะการปรองดองเกิดจากใจ มิใช่เกิดจากการบังคับ เมื่อใดมีใจตรงกันหรือประโยชน์พ้องต้องกันก็จะปรองดองกันเอง เพราะไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรทางการเมืองนั่นเอง ไม่เชื่อลองปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญฯฉบับที่เสนอสปช.ออกไปโดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุงเลยดูสิครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น

7) หยุดรบกวนเวลาพักผ่อนของชาวบ้านชาวช่องในคืนวันศุกร์ เพราะชาวบ้านไม่ใช่ทหารเกณฑ์ที่จะต้องให้ จ่าโม้ ยืนอบรมอยู่หน้าแถว

หากคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารโดยตรงไปยังประชาชนก็ไปใช้เวลาในช่วงเช้าวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็ได้ ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆก็เปิดให้โฟนอินเข้าไปเลย เอาให้เต็มที่ กี่ชั่วโมงก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่อย่าไปบังคับใครให้ถ่ายทอดสดก็แล้วกัน เพราะคนที่สนใจการบ้านการเมืองอย่างผมก็ต้องตามไปฟังอยู่แล้ว ส่วนคนที่ไม่ฟังมันก็ไม่ฟังอยู่ดี หากทำได้อย่างที่ผมว่าเรทติ้งก็ย่อมที่จะดีวันดีคืนอย่างแน่นอน ไม่ตกรูดอย่างเช่นทุกวันนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาทร เทวกุล อ้างเศรษฐกิจไม่ฟื้นเพราะค่าแรง ๓๐๐ บาทต่อวัน

8) หยุดอุ้มพรรคพวกที่ไร้ฝีมือเสียที การบริหารบ้านเมืองไม่ใช่การออกไปรบทัพจับศึกที่จะต้องไปด้วยกันมาด้วยกัน โละรัฐมนตรีที่โลกลืมหรือที่ไร้ฝีมือออกไปเสียบ้าง คนเข้าสู่อำนาจผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ประเทศชาติและประชาชนยังคงต้องอยู่ต่อไป ถ้ายังขืนอุ้มกันอยู่อย่างนี้ปีหน้าและปีต่อๆไปคงต้องมีพิธีผู้ใหญ่ขอขมาเด็กกันอีกเป็นแน่

การบริหารบ้านเมืองนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีแต่ความรู้อย่างเดียวแต่ไม่มีศิลป์ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องเอานักวิชาการอภิมหาปราชญ์ไปบริหารบ้านเมืองกันหมด มีศิลป์อย่างเดียวแต่ไม่มีศาสตร์ก็ทำไม่ได้ ถึงทำได้ก็พังมาแล้วตัวอย่างมีให้เห็นชัดๆว่ามีศิลปะในการบริหารงานที่ขึ้นชื่อในหลายๆโครงการแต่ก็ต้องตกเก้าอี้เพราะไม่เข้าใจศาสตร์ของการใช้อำนาจ

อ้าว ถ้าไม่มีทั้งศาสตร์และศิลป์แต่มีปืนล่ะ  ก็ได้นะ แต่ได้ชั่วครั้งชั่วคราว

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยและการเมืองโลกสอนเราไว้แล้วว่า การใช้ปืนบริหารบ้านเมืองโดยไม่มีทั้งศาสตร์และศิลป์นั้นจบลงอย่างน่าสยดสยองเพียงใด

---------------
หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 29 เมษายน 2558

เอาเรื่องการบ้าน (แถววัดไทย แอล.เอ.) มาเล่าบ้าง


(ภาพจากหนังสือพิมพ์เสรีชัย)

คราวนี้ขอเอาเรื่องการบ้านมาเล่าบ้างสักครั้ง ไม่ทราบมี เพื่อนไทยที่นี่กี่ท่านอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ว่าถึงจะไม่มากก็ไม่เป็นไร หากใส่ใจเกี่ยวกับพุทธศาสนจักรฝ่ายเถรวาท ก็รับฟัง และแสดงข้อคิดเห็นกันได้

หลายท่านคงทราบดีว่ามีวัดพุทธแบบไทยกระจัดกระจายอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก เฉพาะในพื้นที่มณฑลลอส แองเจลีสแห่งเดียวก็มีอยู่ราว ๔๐ วัดเข้าไปแล้ว จนถึงกับมีสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาเป็นปึกแผ่น และจะมีการประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ ๓๙ ขึ้นที่วัดไทยนครลอส แองเจลีส ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๔ มิถุนายน ศกนี้ ที่ผู้เขียนได้ข่าวว่าจะมีการจัดกิจกรรมเสริมกันเป็นงานใหญ่ให้ครึกโครม ผิดกับการประชุมเช่นนี้ที่เคยมีมา

ซ้ำแอบไปทราบเป็นเลาๆ ว่ากลุ่มผู้ปาวารณาตัวเข้าร่วมลงแรงช่วยส่งเสริมงานนี้ มีเจตนาจะกอบกู้-ชูเชิดชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของวัดไทยลอส แองเจลีสให้กลับมารุ่งโรจน์ดั่งเคยพุ่งกระฉูดเมื่อช่วงยี่สิบปีก่อนหน้านี้

วัดไทยลอส แองเจลีส จัดเป็นวัดที่ก่อร่างสร้างตัวด้วยลำแข้งตนเองจนมั่นคง และกลายเป็นวัด พี่ใหญ่ ของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา นอกเหนือจากที่เป็นศาสนสถานโดดเด่น ศูนย์รวมสำหรับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทใน The Greater Los Angeles แล้ว ยังมีบทบาทเข้มแข็งในการเผยแพร่ภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย ทั้งในทางเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาและมรดกทางเชื้อชาติทั่วไป ทั้งต่อคนไทย คนเอเซียนจากอุษาคเนย์ พร้อมกับคนอเมริกันโดยรวม ด้วยการดำเนินการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์และโรงเรียนวัดไทยภาคฤดูร้อนอย่างได้ผลดียิ่ง ผลิตเด็กไทยอเมริกันที่ช่ำชองศิลปวัฒนธรรมไทยมาแล้วหลายรุ่น

กิจกรรมอย่างหนึ่งที่กล่าวได้ว่าทำให้วัดไทยลอส แองเจลีสเติบโตเป็นเด่นก็คือ การเปิดตลาดนัดให้มีการออกร้านค้าขายสินค้าและอาหารในวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นที่นิยมของผู้คนหลากหลาย ก่อให้เกิดรายได้ส่วนสำคัญแก่วัด นอกเหนือจากทางการบริจาค (ทำบุญ) จากพุทธศาสนิกชน เมื่อมีคนจำนวนมากถือเป็นกิจวัตรไปเที่ยววัดไทยแอล.เอ. ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่น้อร์ธฮอลลีหวูดต่อกับซัน แวลลี่ย์ ทางตอนเหนือของมณฑลลอส แองเจลีส กันทุกสุดสัปดาห์

อันการติดตลาดนัดหย่อมประจำเสาร์-อาทิตย์เช่นนี้เป็นความนิยมของคนอเมริกันอยู่แล้ว ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (ทั้งเหนือและใต้) ชุมชนต่างๆ มักมีตลาดนัดของตนเอง (ส่วนมากเรียกว่า Farmers’ Market) กันทุกสุดสัปดาห์ หากแต่ร้านค้าที่ไปตั้งเต๊นท์เช่าบู๊ธ โดยเฉพาะผู้จัดย่อมต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบในการปกปักรักษาเรื่องสาธารณสุข การจราจร และความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับขยะมูลฝอย

เมื่อราว ๘ ปีที่แล้ว ตลาดนัดวัดไทยแอล.เอ.วันเสาร์-อาทิตย์ต้องปิดตัวลง หลังจากถูกผู้อยู่อาศัยรายรอบวัดร้องเรียนต่อทางการท้องที่ ว่าก่อให้เกิดขยะมูลฝอยเกลื่อนอยู่ตามสนามหญ้าหน้าบ้านของผู้อยู่อาศัยแถบนั้น บ่อยครั้งผู้คนที่ไปเที่ยวตลาดนัดจะนำอาหารออกไปนั่งรับประทานกันบนสนามหน้าบ้านแล้วปล่อยขยะทิ้งไว้ บางครั้งบางคนถือวิสาสะเหมือนงานวัดในประเทศไทย เอาง่ายเข้าว่าปลดเปลื้องปัสสาวะใส่พุ่มไม้หน้าบ้านเขา

ได้มีการจัดประชุมทำความเข้าใจ (Hearings) กับเจ้าหน้าที่ทางการบริหารท้องถิ่น ผู้อยู่อาศัยในท้องที่ และตัวแทนวัดไทยหลายครั้ง จนเป็นที่กระจ่างว่าการจัดตลาดนัดวัดไทยจักต้องควบคุมมิให้เกิดการละเมิดรบกวนดังกล่าวขึ้นได้เป็นอันขาด นอกเหนือจากนั้นยังต้องเข้มงวดกวดขันด้านการขยายเสียง ไม่ดังเกินไป ให้อยู่แต่ขอบข่ายภายในบริเวณ และตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด ประการสำคัญปัญหาที่จอดรถ ซึ่งทางวัดจัดการแก้ไขทุกครั้งที่มีกิจกรรมในลักษณะเฟสติวัล ด้วยการไปเช่าที่อาคารจอดรถขนาดใหญ่ของโรงพยาบาลใกล้เคียง ห่างเพียงไม่กี่ไมล์ แล้วให้มีรถตู้ ชัตเติ้ลรับส่งคนระหว่างวัดกับสถานที่จอดรถ

หลังจากหยุดยั้งการจัดตลาดนัดเสาร์-อาทิตย์ไปพักใหญ่ ก็มีความคิดที่จะรื้อฟื้นตลาดนัดกันขึ้นมาอีก เพื่อที่พุทธศาสนิกชนและคนทั่วไปนิยมไปวัดในวันสุดสัปดาห์กันเหมือนดั่งเคย และทางวัดก็จะมีรายได้เสริมเข้ามาช่วยสนับสนับสนุนการดำเนินงานอย่างมั่นคงเช่นก่อน หลังจากที่ผ่านมาหลายปีคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าทางการนครมีคำสั่งห้ามวัดไทยติดตลาดนัดอย่างถาวร ทำให้ตลอดมาคณะกรรมการอำนวยการของวัดมักปฏิเสธอย่างแข็งขันต่อเสียงเรียกร้องนั้น

จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้วคณะกรรมการอำนวยการได้จัดซื้ออสังหาริมทรัพย์บริเวณหัวมุมถนนร้อสโก้ตัดกับโคลด์วอเตอร์แคนเนี่ยน ซึ่งเคยเป็นปั๊มน้ำมันติดกับบริเวณวัด เปิดให้ภูมิทัศน์ของวัดดูกว้างขวางเป็นเด่น และมีเนื้อที่สำหรับจอดรถมากพอสำหรับการมีกิจกรรมสำคัญ (Events) ตามระเบียบของทางการ

หากแต่การซื้อทรัพย์สินชิ้นนี้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของวัดเพิ่มเข้าไป จากหนี้ค้างจ่ายอีกประมาณ ๑ ล้านดอลลาร์ ที่ทางวัดเขียนเป็นเอกสารสัญญาชำระหนี้ (Promissory Note) ให้ไว้กับเจ้าของที่ โดยมีค่าดอกเบี้ยผูกพันต้องจ่ายเพิ่มให้แก่เจ้าของที่เป็นรายเดือนละ ๕ พันเหรียญสหรัฐ

การนี้ทำให้พระราชธรรมวิเทศ (หลวงพ่อใหญ่ ปัจจุบันสมณศักดิ์ พระเทพมงคลวิเทศ) ดำเนินการติดต่อกับวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) เพื่อขอความช่วยเหลือหมายใจจะนำปัจจัยมาจ่ายคืนหนี้ให้หมด ไม่ต้องจ่ายเพิ่มดอกเบี้ยรายเดือนอีกต่อไป “โดยเห็นว่าการที่ได้เข้าไปเป็นสาขาวัดพระเชตุพนจะมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ในขณะที่วัดไทยกำลังมีหนี้สิน”
(นายชวพจน์ ถุงสุวรรณ เลขานุการคณะกรรมการอำนวยการ เขียนเล่าไว้ในหนังสือพิมพ์เสรีชัยฉบับวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๘ http://www.sereechai.com/index.php/2013-05-10-02-33-15/3290-2015-04-10-09-46-39)

หลวงพ่อใหญ่ เจ้าอาวาสวัดไทยแอล.เอ. ได้ทำการติดต่ออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจนกระทั่งวัดโพธิ์ตอบตกลงเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ คณะกรรมการอำนวยการจึงได้กำหนดพิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมประจำปีของคณะกรรมการอำนวยการซึ่งมีขึ้นที่อาคารหลวงเตี่ย วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ โดยมีกรรมการอำนวยการ หรือบอร์ด ๘ คน (จากทั้งหมด ๑๐ คน) เข้าร่วมประชุม

ผลการประชุมปรากฏว่ากรรมการบอร์ดส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการให้วัดไทยแอล.เอ.เข้าไปเป็นสาขาของวัดโพธิ์ กรรมการท่านหนึ่งอภิปรายว่า “คำว่า สาขา เป็นคำแรง หากเราเป็นสาขาเราต้องทำทุกอย่างตามที่สำนักงานใหญ่บอกมา วัดไทยเราสร้างมากว่า ๔๐ ปี มีเอกลักษณ์ของตัวเอง น่าที่จะเปลี่ยนคำพูดให้เหมาะสมดีกว่า เช่นเปลี่ยนจากคำว่า สาขาเป็นวัดพี่วัดน้องหรืออยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดพระเชตุพนเป็นต้น

“ที่ประชุมได้ลงมติ ๗ ต่อ ๐ ให้ ชลอ’ เรื่องนี้จนกว่าจะได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพิจารณาในโอกาสต่อไป” นายชวพจน์เขียนเล่า

หากแต่ข่าวที่ถูกส่งไปยังหนังสือพิมพ์ไทยในท้องที่อ้างนายไพสันต์ พรหมน้อย อดีตบรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ เอเชี่ยนแปซิฟิค ซึ่งเพิ่งย้ายกลับไปอยู่ประเทศไทย กลายเป็นความว่า “วัดไทยแอลเอร้าวหนักถึงขั้นยกวัดให้คนนอก(หนังสือพิมพ์สยามทาวน์ยูเอส http://www.siamtownus.com/New-1503000032-1.aspx ) บ้าง “สาธุชนแอลเอช็อค!-หลวงพ่อใหญ่ยกวัดไทยให้วัดโพธิ์” (หนังสือพิมพ์สยามมีเดีย http://siammedia.org/news/losangeles/20150313_01.php ) บ้าง

หนังสือพิมพ์สยามมีเดียนั้นอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายเกริกชัย ซอโสตถิกุล รองประธานกรรมการอำนวยการฝ่ายประเทศไทย ว่า “พี่ชายผมบริจาคที่ดินแห่งนี้ (เพื่อสร้างวัดไทย) ให้เป็นสาธารณกุศลให้ประชาชนไทยในสหรัฐฯเป็นเจ้าของ ไม่ได้มอบให้ผู้หนึ่งผู้ใด หลวงพ่อเจ้าอาวาสเข้าใจผิดคิดว่านำวัดไทยไปยกให้วัดโพธิ์โดยพลการ หลวงพ่อเจ้าอาวาสต้องไปแก้ไขเอาเอง เพราะไม่มีผลตามกฏหมายแต่อย่างใด

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังได้เพิ่มเติมเนื้อข่าวด้วยว่า “ฝั่งผู้นำชุมชนไทยหลายองค์กรในแอลเอและคณะกรรมการอำนวยการวัดไทยแอลเอ เตรียมทำหนังสือลงชื่อคัดค้านหลวงพ่อใหญ่ พระเทพมงคลวิเทศ...เนื่องจากหลวงพ่อใหญ่ในฐานะเจ้าอาวาสไม่ได้เป็นเจ้าของวัดแต่เพียงผู้เดียว วัดเป็นของชุมชนไทยที่ต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการอำนวยการ"

ส่วนหนังสือพิมพ์สยามทาวน์ก็ได้ทำการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่ขอสงวนนามสองท่าน ซึ่ง “แสดงความเห็น... คล้ายกันว่า การยกวัดไทย แอลเอ ให้อยู่ในความดูแลของวัดพระเชตุพนฯ ดังกล่าว มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจของ หลวงพ่อใหญ่เจ้าอาวาส ต่อคณะกรรมการบริหารวัดฯ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่หลายครั้ง”

แหล่งข่าวหนึ่งในสองที่ดูเหมือนจะเป็นชายกล่าวว่า “แล้วก็เรื่องที่ท่านจะเปิดตลาดอาหารใหม่ บอร์ดเขาก็บอกว่ามันไม่ง่ายแบบนั้น ท่านตั้งทีม มอบหน้าหน้าที่เสร็จหมดแล้ว จะเปิดให้ได้ บอกว่าถ้ามีปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไป อะไรแบบนั้น พอทำไม่ได้อย่างใจ ท่านก็เลยบอกให้วัดโพธิ์ส่งบอร์ดชุดใหม่มาบริหารวัดไทยซะเลย... คงคิดว่าทำได้ง่ายๆ”

แหล่งข่าวสงวนนามของสยามทาวน์อีกท่าน เชื่อว่าเพศหญิง เพราะให้ความเห็นว่า ยอมรับนะคะว่าทุกวันนี้ วัดไทยไม่คึกคักเหมือนตะก่อนแล้ว จัดงานอะไรคนก็น้อย คนที่เคยมาวัดไทยบางคนเขาไปโน้น...วัดป่าฯ วัดสุทธาวาส ถ้ามีงานพร้อมกันนี้ เสร็จวัดป่าหมด ขับรถไกลเขาก็ยอม แล้วนี่วัดไทยฯ กำลังจะมีงานใหญ่ (เป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา) ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไง เธอไม่ทับถม แต่อย่างนี้น่าจะไม่ใช่ชม

ปูพื้นมายาว แท้จริงแล้วต้องการบอกว่า การเคลื่อนไหวคัดค้าน หลวงพ่อใหญ่ ดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายต้องการรณรงค์ ปลดเจ้าอาวาสออกจากประธานบอร์ด และ/หรือ ผลพลอยได้ทำให้ท่าน หลุด จากตำแหน่งเจ้าอาวาสไปด้วย

ความเช่นนี้ได้แพร่ขยายออกไปโดยไวในหมู่คนไทยที่ใกล้ชิดและผูกพันกับ วัด เกิดสงคราม ใบปลิวโจมตีกันระลอกใหญ่ ส่วนหนึ่งรุดหน้ากว่าที่หนังสือพิมพ์แนะ ถึงขั้นเรียกร้องให้บอร์ดปลดเจ้าอาวาส แต่ส่วนใหญ่ออกมาปกป้องพระ กลับเห็นว่าฆราวาสในกรรมการบอร์ด ก้าวล้ำเจ้าอาวาสมากไป

อีกทั้งมีนัยยะมากไปกว่านั้นว่า ไฉน กรรมการอำนวยการที่อยู่ในประเทศไทย อันเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นญาติและเคยร่วมมือใกล้ชิดกับนายพูนศักดิ์ ซอโสตถิกุล ผู้ซึ่งยกที่ดินให้ก่อตั้งวัดไทยฯ เมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้ว จึงต้องเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดในทางปฏิบัติ ตัดสินกิจกรรม นิติการ และทิศทางของวัดอยู่ร่ำไป ทั้งที่ในเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาวัดไทยดำเนินงานอย่างชนิดที่เรียกได้ว่า ยืนอยู่บนลำแข้งตนเอง หรือมี sustainability โดยตลอด

จะมีบางครั้งที่เกิดความคิดบรรเจิด ต้องการให้วัดไทยฯ อยู่ภายใต้อุปถัมป์ของทางประเทศไทยให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วัด แต่ความคิดนั้นต้องยกเลิกไปเนื่องจากมีการเรียกร้องตอบแทนกลับจากวัดสูงมากเสียจนไม่อาจสู้ราคาได้ แต่การดำเนินงานโดยพลการของหลวงพ่อใหญ่คราวนี้กลับตรงข้าม การขอรับฉายา สาขาหมายถึงว่าทางวัดจะได้รับ ปัจจัย ช่วยเหลือตามมาด้วย แต่ว่าการขอรับความอุปถัมป์ครั้งก่อน วัดจะต้องจ่ายปัจจัยไปแลก

ดังนี้ ที่มีการเปิดประเด็นเรื่องการเป็นสาขาวัดโพธิ์ ไว้ในหนังสือพิมพ์ว่า “อย่างนี้ย่ำยี่หัวใจคนไทยในแอล.เอ.มากเกินไป” กลายเป็นย่ำยีเพราะมี conspiracy มุ่งหมายโค่นหัวหน้าสงฆ์ที่พวกเขารักต่างหาก

จึงได้เกิดการประชุมแบบเปิดกว้าง ‘Town hall meeting’ ขึ้นหลายครั้ง ศาสนิกชนไทยจำนวนมากแห่กันไปแสดงความคิดเห็นกันขนานใหญ่ กลับกลายเป็นการวิพากษ์บอร์ดเสียมากกว่าตำหนิสงฆ์ จนกระทั่งมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อสนับสนุนให้นายบุญเลิศ บุญศุขะ ได้รับการแต่งตั้งกลับเข้าไปเป็นกรรมการบอร์ดที่ขาดอยู่ จากการลาออกของนายสุรพล เมฆพงษ์สาทร เมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้

การเลือกให้นายบุญเลิศผู้ซึ่งอยู่อาศัยในแอล.เอ. อย่างถาวร ทั้งยังเป็นที่ยอมรับนับถือว่า เคยอาสาสมัครปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือวัดประดุจดังมรรคนายกเป็นเวลานับสิบๆ ปี ตั้งแต่ยังไม่มีการสร้างพระอุโบสถ เข้าไปเป็นบอร์ดครั้งนี้ด้วยความมุ่งหมายให้เกิดสมดุลทัดทาน พวกเมืองไทยในคณะกรรมการบอร์ด ๑๐ คน ที่มักจะลงคะแนนเสียงเป็นบล็อคไปในทางเดียวกันแทบทุกครั้งไป อันประกอบด้วย นายเกริกชัย ซอโสตถิกุล นายสุรพล เมฆพงษ์สาทร (ที่การลาออกเป็นผลที่สุดแล้ว) นายเกียรติ ประชาศรัยสรเดช นายพัลลภ บัวสุวรรณ และนายสง่า งาดี

(หมายเหตุ เนื่องจากระเบียบกำกับการดำเนินงานองค์กรไม่ค้ากำไร (By Law) ของวัดไทยกำหนดให้อำนาจ คณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการคนใหม่แทนที่กรรมการที่พ้นสภาพ ซึ่งพ้นได้ด้วยการลาออกสถานเดียว แม้ผ่านอายุขัยก็ไม่พ้น ขณะนี้จึงมีการรณรงค์ให้สนับสนุนนายบุญเลิศได้รับการแต่งตั้ง โดยส่งอีเมล ให้ชื่อ ที่อยู่ แสดงความจำนงไปยัง changewatthai@hotmail.com ด้วย)

พร้อมทั้งมีการผนึกกำลังกันที่จะจัดให้มีกิจกรรมเสริม เพื่อชักชวนสาธุชนเข้าไปมีส่วนร่วมอนุโมทนาและเฉลิมฉลอง ในระหว่างการประชุมสมัชชาสงฆ์ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน ให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจของเหล่าชนที่ผูกพันต่อวัดเป็นจำนวนมาก อย่างพร้อมเพรียงอีกครั้ง “ให้คึกคักเหมือนตะก่อน”  ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ต้องแยกวัดนั้นวัดนี้ ไม่ต้องมีพวกฉันพวกเธอ
(ภาพจากหนังสือพิมพ์สยามทาวน์ยูเอส)

พัฒนาการล่าสุดเท่าที่สัมผัสได้ในอาทิตย์นี้ เห็นมีข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางฉบับแล้วว่า คณะกรรมการบริหารของวัดลงมติเปิดตลาดนัดอาหารอีกครั้ง หลังจากที่หยุดไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๐

และได้รับไฟเขียวจากทางซิตี้เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะเปิดบริการอาหารไทยในราคาและคุณภาพมาตรฐาน โดยจะเริ่มเปิดตั้งแต่วันเสาร์-อาทิตย์ที่ -๑๐ พฤษภาคม ศกนี้ เป็นต้นไป”
อนุโมทนา สาธุ

ฤๅ การประมงไทยจะเข้าตาจน (เพราะแก้ป้ญหาแบบทหาร เอาอำนาจไปแก้... หรือ EU เค้าจะคุยกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่เลือกโดยประชาชนเท่านั้น?!?)




ฤๅการประมงไทยจะเข้าตาจน

ผมถูกขอร้องจากสื่อมวลชนหลายสำนักให้แสดงความคิดเห็นกรณีประเทศไทยถูกใบเหลือง ซึ่งเป็นการเตือนครั้งสุดท้ายจากสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งไทยส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไป อียู มูลค่าประมาณปีละ 40,000 ล้านบาท เรื่องดังกล่าวนี้อยู่ในบริบทของ IUU หรือเรียกเต็มๆว่า "Illegal Unreported and Unregulated fishing" (การทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดรายงาน และไร้การควบคุม)

ในฐานะที่ประเทศไทยอยู่ในแนวหน้าของการประมงโลก การส่งออกสินค้าประมงมีมูลค่ามากมายถึง 200,000 ล้านบาท/ปี จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องถูกจับตา ถูกตรวจสอบ และแม้แต่ถูกกลั่นแกล้งจากผู้นำเข้าและคู่แข่งขัน

ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาเลเซียประกาศว่า สินค้าประมงจากไทยจะต้องบรรจุในลังพลาสติกของมาเลเซียเท่านั้น โดยอ้างมูลเหตุทางสุขลักษณะ เราไม่ต่อสู้เรื่องลัง แต่เราขอว่าให้เขาออกมาตรฐานลังเพราะเราสามารถผลิตลังได้เอง สิบปีต่อมามาเลเซียบังคับให้ไทยขออนุญาตเดินเรือผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเขา การขู่รุนแรงมากถึงขั้นมีการยิงกันตาย แต่ในที่สุดเราก็เจรจาว่า ขอเป็นแจ้งเพื่อทราบทางวิทยุ (Notification) แทนการขออนุญาตก็แล้วกัน

25 ปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาไม่ยอมซื้อกุ้งทะเลจากไทย โดยกล่าวหาว่า การจับกุ้งทำให้เต่าทะเลตาย ในการนี้ได้บังคับให้ไทย ใช้เครื่องมือ TED (Turtle Excluder Device)ผลิตโดยสหรัฐอเมริกา เราต่อสู้โดยการขอผลิตเครื่องมือ TED เองในมาตรฐานของสหรัฐฯพร้อมกับพิสูจน์ว่า เต่าที่สหรัฐหวงแหนเป็นหนักหนานั้น ไม่เคยว่ายน้ำมาถึงประเทศไทย

หมดเรื่องเต่าทะเล ก็มาเจอกับ NGO ที่กล่าวว่าประเทศไทยทำลายป่าชายเลนที่ใช้เลี้ยงกุ้งส่งออก คราวนี้ไปร้อง UN จนเกิดเป็นเวที Tribunal คือการไต่สวนสามฝ่าย คือ ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง (ไทย) และคนกลางคือผู้เชี่ยวชาญจาก UN ผมก็ไปเถียงกับเขา ที่สุดเรารับปากจะดูแลควบคุมการเลี้ยงกุ้งให้ไม่ไปทำลายธรรมชาติ เริ่มมีการเลี้ยงกุ้งในบ่อแทนในป่าชายเลน พร้อมๆกับประกาศโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นวาระแห่งชาติ

การอ้างการอนุรักษ์นั้น หากมองผิวเผินก็จะรู้สึกว่าดี แต่แท้ที่จริงแล้วจะแฝงมาด้วยการกีดกันทางการค้าเสมอ หรือที่เรียกว่า Non Trariff Barriers : NTB เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยขณะนี้ก็เช่นกัน EU อิงกระแสอนุรักษ์และกระแสธรรมาภิบาล แต่ลึกๆแล้วผมคิดว่า เป็นการค้าแน่นอน ดังนั้นการที่กระทรวงการต่างประเทศไปโวยวายเรียกทูตเขามาต่อว่าต่อขาน หาว่าเลือกปฏิบัติ จะยิ่งทำให้เรื่องไปกันใหญ่ เพราะเท่ากับไปเปิดประเด็นการเมือง ซึ่งจริงๆแล้วการเมืองไทยขณะนี้คือรัฐบาลทหารซึ่งโลกเขาไม่ยอมรับ

ผมฟังท่านนายกพูดว่า เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว และไม่แน่ใจว่าจะแก้ไขทันภายใน6เดือนหรือไม่ ซึ่งผมก็คล้อยตาม แต่พล.อ.ประวิตร ออกมาโผงผางว่า ทำแล้วทุกอย่างต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน จะส่งทหารไปคุมทุกท่าเรือ ต้องประชุม ต้องรายงาน และให้มีชุดเฉพาะกิจ เอาเลยครับผมเชียร์ แต่ผมว่า เรื่องนี้ มันไม่ใช่จับทหารเข้าแถว ขวาหันซ้ายหันนะครับ มันเป็นเรื่องทางวิชาการและกลยุทธ์

ท่านต้องส่งรัฐมนตรีไปต่อรองขอเวลาเพิ่มเติม เพราะ 6 เดือนน่ะมันไม่พอหรอก (เรื่องแรงงานท่านอดีตรัฐมนตรีสุรพงษ์ไปขอร้องรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐให้คงระดับ Tier2 อยู่ถึง2ปี) ท่านต้องมอบอำนาจให้กรมประมงเป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ใช่กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม หรือแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศ ขอเรียนว่า ในอดีตท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย รวมถึงท่านบรรหาร ศิลปอาชา ล้วนมอบหมายกรมประมงทั้งสิ้น (คือผมนี่ละครับ) กระทรวงและกรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันสนับสนุนและทุกอย่างก็ผ่านมาด้วยดีดังที่เห็นอยู่ และที่สำคัญที่สุด ชาวประมงทุกภาคส่วนจะต้องเอาด้วย ชาวประมงจะต้องยอมกินยาขมเพื่อความอยู่รอดในอนาคต ในขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมประมง (เศรษฐี) ต้องให้การสนับสนุนให้เต็มที่ ไม่ใช่ถือโอกาสบีบอีกทอดหนึ่ง

เชื่อผมเถอะครับเรื่องนี้แก้ไขได้ แต่อย่าแก้แบบทหาร อย่าเอาอำนาจไปแก้ อย่าเอากฎหมายที่ชาติบ้านเมืองอื่นเขาไม่มี ไม่ยอมรับ ไปแก้ มีอยู่ปัญหาเดียวที่ผมวิตกหนักหนา ก็คือ ยังไงๆก็ต้องมีการหารือและรับปากรับคำในระดับรัฐมนตรี แต่เราเป็นรัฐบาลที่ EU เขาไม่ยอมคุยด้วยนี่สิครับ คนไทย ชาวประมงไทยก็ซวยสิครับ EU เค้าจะคุยกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่เลือกโดยประชาชนเท่านั้น "ท่านเข้าใจไหมครับ"

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี


ฟังชัด ๆ จากปาก หม่อมอุ๋ย ทำไม ศก.ไทย ไม่คึกคัก บิ๊กตู่ต้องทำใจ ( ชมคลิป)




ที่มา มติชนออนไลน์
29 เมษายน พ.ศ. 2558

ในงานประชุมสามัญประจำปีของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยยังคงชะลอตัวทั้งจากภาวะการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงในตลาดโลกกว่าร้อยละ 50 รวมถึงการที่รัฐบาลเร่งจัดการเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งมีขนาดถึง 1 ใน 5 ทั้งการปราบปรามยาเสพติด และการจัดระเบียบต่างๆ ทำให้ความคึกคักในการใช้จ่ายลดลง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจ ยังชะลอตัวไปอีกประมาณ 2 ปี

อย่างไรก็ตาม หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร ระบุว่า การลงทุนของภาคเอกชน กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนชะลอการลงทุนไว้เนื่องจากความไม่มั่นใจในปัญหาการเมือง นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่เบิกจ่ายได้มากขึ้น จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไทย



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558
ศัลยา ประชาชาติ

มติชนสุดสัปดาห์ 24-30 เมษายน 2558

สถานการณ์ปัญหาด้านการบิน อันเนื่องมาจากประเทศไทยไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยในเกณฑ์ที่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนด กลายเป็นข่าวร้ายในยามที่ประเทศกำลังหวังพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในขณะนี้

แม้ว่ากรมการบินพลเรือนของไทย (บพ.) และกระทรวงคมนาคมจะเร่งดำเนินการจัดทำแผนแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern : SSC) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อย่างเร่งด่วน

แต่ด้วยกระบวนการขั้นตอนของการทำงานทำให้ไทยไม่สามารถดำเนินงานได้ตามกรอบเวลาที่ไอซีเอโอขีดเส้นได้

"พล.อ.อ.ประจินจั่นตอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่า มีแนวโน้มว่าแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วน (Corrective Action Plan) ที่ บพ. กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขนั้นอาจไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาครบทุกรายการของไอซีเอโอ เพราะกระบวนการทำแผนนั้นต้องใช้เวลาถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งช้ากว่าเดดไลน์ที่ทางไอซีเอโอกำหนดให้แล้วเสร็จภายในต้นดือนมิถุนายนนี้

ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าเมื่อถึงเวลานั้นปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงแต่สายการบินเช่าเหมาลำหรือชาร์เตอร์ไฟลต์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ สายการบินพรีเมี่ยมและให้บริการเที่ยวบินประจำก็อาจเจอแจ๊กพ็อตด้วยเช่นกัน

นี่คือสิ่งสำคัญที่บรรดาผู้ประกอบทั้งสายการบินและธุรกิจท่องเที่ยวมีความกังวล

โดยเฉพาะในช่วงตารางบินฤดูหนาว ซึ่งปกติทุกสายการบินจะทำการขออนุมัติเส้นทางบินใหม่กันในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี

จากสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลายและมีแนวโน้มที่จะเป็น"ลบ"มากขึ้นทุกขณะ บรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจึงมีคำถามตามมาว่า หากไทยไม่สามารถปลดล็อกปัญหานี้ได้ทันเวลา รัฐบาลมีแผนรองรับอย่างไร เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องดิ้นรนหาทางช่วยตัวเองอีกแรงหนึ่ง

โดยเฉพาะสายการบินต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นด่านแรก

ไม่เฉพาะผู้ประกอบการภาคเอกชนเท่านั้นที่ลุ้นระทึกแต่"บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เองก็ยังแสดงท่าทีหวั่นไหวต่อกรณีนี้ไม่น้อยเช่นกัน

ขณะที่ "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวนี้ว่า เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง กระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้คุยกับภาคเอกชนให้มองหาทางเลือกใหม่ๆ ไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในภาพรวมมีปัญหา

ด้าน "ศุภฤกษ์ ศูรางกูร" กรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า ถ้าเดือนมิถุนายนนี้ ไทยยังแก้ปัญหาไม่ได้ ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อการจองแพ็กเกจทัวร์ที่ใช้เที่ยวบินประจำของสายการบินสัญชาติไทย

ที่สำคัญ จะทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาทของไทยในปีนี้สะเทือนแน่นอน โดยเฉพาะตลาดทัวร์อินบาวนด์ (นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย) ที่ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ถึง 1.4 ล้านล้านบาท

ความกังวลดังกล่าวทำให้บริษัททัวร์ต่างๆได้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้สายการบินสัญชาติไทยมากขึ้นพร้อมทั้งหันไปใช้บริการสายการบินต่างชาติด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาและได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

"ภาพลักษณ์ของธุรกิจการบินของไทยตอนนี้ได้รับผลกระทบหนักมากโอเปอเรเตอร์ทัวร์ในต่างประเทศก็ไม่มั่นใจคุณภาพทำให้เปลี่ยนไปใช้สายการบินสัญชาติอื่นแทนสายการบินของไทยแล้ว" นายกสมาคมทีทีเอเอ ย้ำ

สอดคล้องกับความเห็นของ "ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร" ที่ปรึกษานายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ที่มองว่า ขณะนี้ประเด็นปัญหาดังกล่าวไม่ได้กระทบแค่ตลาดเอาต์บาวนด์ (คนไทยเที่ยวต่างประเทศ) เท่านั้น แต่มีแนวโน้มกระทบตลาดอินบาวนด์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ด้วย

"ตอนนี้สายการบินสัญชาติไทยก็กำลังร่วมมือกับ บพ. เร่งแก้ปัญหาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่องค์การการบินพลเรือนของแต่ละประเทศและบริษัททัวร์แล้ว"

"อิทธิฤทธิ์กิ่งเล็ก"ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. ประเมินว่า หากแก้ไขปัญหาไม่ทันจะส่งผลกระทบลามถึงเที่ยวบินประจำของสายการบินสัญชาติไทย 3 สายการบินหลักๆ ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส และไทยแอร์เอเชีย ที่ทำการตลาดขายตั๋วบินตลาดต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง

"คาดว่า 3-4 สายการบินสัญชาติไทยที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศจะได้รับผลกระทบราว 10-20% เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกังวลใจ ไม่กล้าใช้บริการ และหันไปจองสายการบินสัญชาติอื่นแทน"

ขณะที่ฟากผู้ประกอบการสายการบินเองแม้จะเอาใจช่วยและสนับสนุนการทำงานของบพ. และกระทรวงคมนาคมอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้มั่นใจถึงขนาดที่จะฝากอนาคตไว้ที่ บพ. เพียงทางเดียวอีกต่อไป

"ชัยรัตน์ แสงจันทร์" กรรมการผู้จัดการ สายการบินเจ็ทเอเซีย แอร์เวย์ บอกว่า ขณะนี้สายการบินต่างๆ ไม่ได้รอความหวังจากฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว สายการบินทุกแห่งต่างกลับมาดูเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยของตัวเองควบคู่ไปด้วย เพราะเชื่อว่าหากสายการบินมีมาตรฐานก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ

"เรายังมีความหวังเพราะมาตรฐานของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันอย่างกรณีที่ผ่านมากรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่นหรือ JCAB ก็ยังอะลุ่มอล่วย ขณะที่กรมการบินพลเรือนของจีนก็ไม่ค่อยกังวลกับเกณฑ์ของไอซีเอโอมากนัก สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ ทุกสายการบินต้องทำให้ตัวเองมีมาตรฐาน" ชัยรัตน์กล่าวย้ำ

หากไทยแก้ไขปัญหาไม่ทันกรอบเวลาของไอซีเอโอ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างมหาศาล

จึงเป็นที่มาของความเคลื่อนไหวของบรรดาสายการบินต่างๆ ที่นอกจากจะกลับไปทบทวนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของตัวเองแล้วยังต้องเตรียมประสานงานกับคู่ค้าในแต่ละประเทศเพื่อให้คู่ค้าเกิดความมั่นใจและยังเชื่อมั่นในมาตรฐานการบินของประเทศไทยและยังใช้บริการต่อไป

มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญวงการการบินระบุว่าถึงที่สุดแล้วประเด็นปัญหาหลักที่ทำให้ไอซีเอโอเข้ามาตรวจเข้มมาตรฐานการบินของไทย เกิดจากกรณีที่ บพ. ไทยออกใบอนุญาตประกอบการบินให้กับผู้ประกอบการสายการบินของไทยเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้นทางแก้ปัญหาที่น่าจะตรงจุดนั่นคือ ต้องการให้กรมการบินพลเรือน ระงับการอนุญาตให้ปฏิบัติการบินแบบพิเศษ และให้มาเริ่มกระบวนการพิจารณาตรวจสอบ เพื่อออกใบรับรองใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง

แนวทางดังกล่าวสายการบินที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นสายการบินขนาดเล็กที่ให้บริการแบบเช่าเหมาลำหรือชาร์เตอร์ไฟลต์และสายการบินโลว์คอสต์เป็นหลัก

ขณะที่สายการบินที่ให้บริการแบบพรีเมี่ยมอย่างการบินไทยคงไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากองค์กรต่างๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือ EASA, องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) องค์การความปลอดภัยการบินพลเรือนของออสเตรเลีย (CASA) รวมถึงหน่วยงานความปลอดภัยของประเทศต่างๆ ในเอเชียอีกจำนวนหนึ่งด้วย

สิ่งที่พอจะทำได้ในตอนนี้คือ ภาวนาของให้กระทรวงคมนาคมและ บพ. ของไทยให้ทำแผนปลดล็อกได้ทันกำหนดเวลา

หรืออย่างน้อยๆ ทำให้ "ไอซีเอโอ" เห็นถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา และใช้มาตรการอะลุ่มอล่วยกับสายการบินสัญชาติไทย เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวของไทยเดินหน้าต่อไปได้นั่นเอง

ooo

หนักหนา สาหัส เศรษฐกิจ การเมือง บนบ่า′คสช.′



ที่มา มติชนออนไลน์

เหมือนกับการให้ "ใบเหลือง" จากสหภาพยุโรปจะเป็นเรื่องในทาง"เศรษฐกิจ" เพราะมีมูลฐานมาจากอุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมประมงแปรรูป

แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเรื่อง"การเมือง"

เพราะว่าแม้รัฐบาลจะส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เดินทางไปยังหลายประเทศในยุโรปเพื่อทำความเข้าใจ

แต่ก็ไม่มี "การเจรจา"

เพราะว่าท่าทีของสหภาพยุโรปมีความเด่นชัดและแน่วแน่ตั้งแต่ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้ว

นั่นก็คือ ยุติ "ธุรกรรม" ทุกอย่าง

เงื่อนไขมีประการเดียวเท่านั้น จนกว่าจะมีการคืนประชาธิปไตย จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลพลเรือน

"เลือกตั้ง" เท่านั้นทุกอย่างจึงจะ "เริ่มต้น"

หมายความว่า การเจรจาในเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ค้างๆ อยู่ก็ให้ค้างต่อไป ส่งผลให้ข้อตกลงในเรื่องสิทธิพิเศษในทางศุลกากร (GSP) หมดสิ้นไปโดยอัตโนมัติ

นี่คือ "เศรษฐกิจ" อันกลายเป็น "การเมือง"

อย่าได้แปลกใจหากแม้จะมีข้อเสนอให้ "เลื่อน" การเลือกตั้งไม่ว่าจะจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ว่าจะจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

จึงไม่มีเสียง "ขานรับ"

ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทั้งๆ ที่เคยมีสัญญาณมาจากเทือกเขาหิมาลัย

"ฤาษีเกวาลัน" ส่งผ่าน "โหรานุโหน"

เพราะไม่เพียงแต่สหภาพยุโรปจะยืนยันในเรื่อง "การเลือกตั้ง" ในเรื่องคืน"ประชาธิปไตย" โดยเร็ว

หากสหรัฐอเมริกาก็ยืนกระต่ายขาเดียว

กระบวนการรุกไล่ในทางการเมืองอาจไม่เด่นชัด แต่กระบวนการกดดันในทางเศรษฐกิจนั้นนับวันยิ่งมีความเข้มข้น

ขอให้ดู ICAO ขอให้ดู EU

แม้ว่าใบเหลืองของ EU จะให้เวลาอีก 6 เดือน แต่ใบเหลืองของสหรัฐอเมริกาในเรื่องประมงในเรื่องการค้ามนุษย์ก็ไปจ่อรอ "ใบแดง" ด้วยความระทึกในดวงใจเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเส้นตายของ ICAO ในเดือนมิถุนายน

ทุกเรื่องล้วนชวนให้ "หวาดเสียว" ทั้งสิ้น

การยืนยันใน "โรดแมป" จึงเท่ากับเป็นคำตอบเบื้องต้น นั่นก็คือ ความพยายามให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในต้นปี 2559

แต่การเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญ "36 มหาปราชญ์" ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี

เสียงเตือนจากรอบทิศทางโดยเฉพาะจากนักเลือกตั้งอย่าง นายชัย ชิดชอบ จากพรรคการเมืองอันถือว่าเป็นพวกเดียวกันอย่างพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่งกว่าเสียงทักของ "จิ้งจก" แน่นอน

เพราะรูปแบบการสืบทอดอำนาจโดยผ่าน 11 องค์กรที่ "36 มหาปราชญ์" ตระเตรียมเอาไว้ไม่น่าจะเป็นบำเหน็จรางวัล แต่น่าจะเป็น "ทุกขลาภ" มากกว่า

นั่นก็คือ เท่ากับเป็น "ระเบิด" ที่รอการส่งเสียง

คนที่เดือดร้อนมิใช่ประเทศชาติ มิใช่ประชาชนอันเป็นเหยื่อสังเวยให้กับการทดลองวิชาของประดา "36 มหาปราชญ์" เท่านั้น หากแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เท่ากับอยู่บนตะแลงแกง

รอการ "ย่างสด" ทางการเมืองสถานเดียว

ในทางต่างประเทศ คสช.ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจากมหาอำนาจ ภายในประเทศยังต้องบริหารจัดการกับ "รัฐธรรมนูญ"

หากทำไม่ดีก็มีโอกาส "เปรี้ยง" เกลี้ยงทั้งยวง

มองสถานการณ์เบื้องหน้าประชาชนไทยต้องเอาใจช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างเต็มเปี่ยม

ปัญหาที่ดาหน้าเข้ามาหนักหนาสาหัสเป็นลำดับ ตั้งแต่เรื่องทางเศรษฐกิจกระทั่งเรื่องทางการเมืองล้วนทับถมลงไปอย่างหนักอึ้ง ทดสอบความอดทน แข็งแกร่ง

ทดสอบศักย์การบริหาร ทดสอบศักย์การนำ

(มติชนรายวัน 29 เมษายน 2558)

ooo

Thailand Unexpectedly Cuts Rate After Growth Forecast Cut



by Suttinee Yuvejwattana
Bloomberg

Thailand’s central bank unexpectedly cut its benchmark interest rate for a second straight meeting, roiling markets already digesting a reduction in the 2015 economic growth forecast.

The Bank of Thailand lowered its one-day bond repurchase rate by a quarter of a percentage point to 1.5 percent on Wednesday, a move predicted by only two of 20 economists in a Bloomberg survey. The baht slid as much as 0.6 percent, and the benchmark SET index fell as much as 1.2 percent, heading to its lowest close since March 31.

The central bank is using a “strong dose of medicine” because exports may contract, hurting private investment and consumption, which can’t be offset by a rebound in tourism and government spending, Assistant Governor Mathee Supapongse said. The finance ministry earlier lowered its forecast for gross domestic product growth this year to 3.7 percent from an earlier estimate of 3.9 percent.

“This cut will not be the magic medicine to heal the Thai economy, which has very weak growth, but at least it will help bolster some confidence among consumers and businesses,” said Arthid Nanthawithaya, chief executive of Siam Commercial Bank Pcl. “The rate cut will help weaken the baht and support our exports.”
Outflows Rules

Monetary policy committee members voted five-to-two in favor of today’s decision, and the central bank said it sees lower-than-estimated inflation and higher risks from the baht’s strength on exports. It said it will hold a briefing on Thursday to issue more rules to accommodate outflows as part of an existing plan. It gave no other details.

The economy expanded at its weakest pace in three years in 2014 and has struggled to recover, with exports falling for a third month in March and consumer confidence dropping to a nine-month low. The finance ministry today lowered the 2015 export growth forecast to 0.2 percent from 1.4 percent.

“Thai exports face limitations this year because of the uncertainty in the global economic recovery, especially with China’s slowdown,” Krisada Chinavicharana, head of fiscal policy at the finance ministry, said before the decision. “We expect the economy to pick up in the second half because of government spending.”

Thai consumer prices fell for a third month in March. The last time Thailand experienced deflation in 2009, the benchmark rate was at 1.25 percent.

The Thai central bank joined at least 30 global peers in providing monetary stimulus this year after it unexpectedly cut borrowing costs last month. The government’s official forecaster, the National Economic and Social Development Board, last week reiterated its February estimate for the economy to grow 3.5 percent to 4.5 percent this year if exports recover.