วันจันทร์, ธันวาคม 28, 2558

วิวาทะ 'โครงการบัตรทอง' ว่าด้วย 'ชนชั้น' 'หมอ' 'เหล้า' และ 'คนจน'




ที่มา FB

Pinkaew Laungaramsri 



โดยส่วนตัวดิฉันก็ยังยืนยันว่า ความเห็นของหมอทั้งสองท่านด้านล่างนี้ สะท้อนนัยสำคัญทางชนชั้นที่มีในวาทกรรมว่าด้วยเหล้าในวงการสาธารณสุข ในความสัมพันธ์กับโครงการบัตรทองที่สำคัญ และควรแก่การถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ และเห็นแย้งต่อสเตตัสของบางท่านที่มองว่าความเห็นดังกล่าว เป็นเพียงทัศนะส่วนบุคคล





แม้ว่า โครงการบัตรทอง หรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นโครงการที่พลเมืองสามารถเข้าถึงได้ทุกคน แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า ประชากรกลุ่มหลักที่พึ่งพาโครงการสุขภาพดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางระดับล่างที่มีรายได้ต่ำกว่าคนกลุ่มอื่นๆ จะเรียกพวกเขาว่าจนหรือไม่ก็ตามที เพราะผู้ที่มีรายได้สูงขึ้นมา หรือผู้ที่มีฐานันดรอภิสิทธิ์เช่นข้าราชการ ย่อมเข้าถึง/ใช้สิทธิที่ดีกว่าของประกันสังคม ราชการ หรือหากรวยขึ้นมาหน่อย ก็มักซื้อประกันสุขภาพที่ไม่ต้องไปรอคิวอันยาวเหยียดและร้อนตับแตกในรพ.ของรัฐ สามสิบบาทจึงโครงการของชาว "รากหญ้า" ดังที่หมอสงวนได้เคยกล่าวเอาไว้




ความสำคัญของความเห็นของหมอทั้งสองคนนี้ จึงอยู่ที่ทัศนะคติที่พวกเขามีต่อเหล่าชนชั้นล่างรากหญ้า พวกที่เป็นโรคอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ กินเหล้า (หรืออุบัติเหตุของพวกแว้นท์และสก๊อยต์) ที่หมอ ซึ่งสังกัดวงการสาธารณสุข เห็นว่าเป็น"ความสิ้นเปลือง"ของบริการทางการแพทย์




อันที่จริง ทัศนะที่ว่า คนจน มักกินเหล้า และทำให้ไม่มีเงินเก็บ และดังนั้นจึงจนต่อไป หรือเกิดโรค "ที่ทำตัวเอง" ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันสอดคล้องเป็นอย่างดีกับวิธีคิดที่มีมานานของฝ่ายบริหารด้านสาธารณสุขของสสส ที่มีอีลีทหมอ ยึดหัวหาดนั่งบริหารงานอยู่มาช้านาน การรณรงค์ภายใต้ธง "จน เครียด กินเหล้า" ที่มาตั้งแต่ปี 2548 และการเลิกเหล้า เลิกจนของสสส.ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชนบทไทยทั่วประเทศ

ภายใต้ทัศนะคติแบบนี้ คนร่ำรวยที่ติดเหล้า(แพง) ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าคนชนชั้นอื่น ไม่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหา นั่นก็เพราะคนเหล่านี้ มีอำนาจซื้อมากพอที่ไม่จำเป็นต้องต้องพึ่งพาบริการภาครัฐ และดังนั้นจึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่ “สิ้นเปลือง” และไม่เคยอยู่ในเป้าหมายของการรณรงค์เรื่องเหล้าของพวกสาธารณสุข

คำว่า “เหล้า” ในความหมายของวงการสาธารณสุขไทย มันจึงมีนัยทางชนชั้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ดิฉันเคยตั้งคำถามต่อโครงการรณรงค์ให้เลิกสุรา (ทั้งที่ผลิตและบริโภค)ในพื้นที่ชนบท ของโครงการจัดการปัญหาสุราฯภายใต้ทุนสสส. ในสมัยที่มาจัดประชุมที่มหาวิทยาลัยที่ดิฉันสอนอยู่เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาว่า เหตุใดโครงการจึง target เฉพาะชาวบ้าน ในเมื่อเหล้าเป็นสิ่งที่ดื่มกันในทุกชนชั้น ไม่ปรากฎว่าได้คำตอบที่ชัดเจนจากแหล่งทุนที่มาร่วมงาน แต่หากจะให้ดิฉันคิดคำตอบเอง ก็น่าจะเป็นเพราะในทัศนะของแหล่งทุนเหล่านั้น ชาวบ้านและการดื่มสุราของพวกเขา สร้าง "โรค" ที่เป็นภาระที่ “สิ้นเปลือง” งบประมาณของฝ่ายสาธารณสุขนั่นเอง

บริการสาธารณสุข วิชาชีพแพทย์ และทัศนะคติทางชนชั้น จึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริง และเป็นสิ่งที่ควรจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนกลุ่มใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะคนจน

ส่วนที่ว่าหมอที่มีทัศนะเปิดกว้างนั้นก็มีอยู่ ไม่ควรเหมารวม นั้นก็จริง ดิฉันก็คิดเช่นนั้น ทุกวันนี้ ก็ยังใช้คู่มือวิถีชุมชนของหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ สอนวิชาการทำงานภาคสนามอยู่ทุกปี และเข้าใจว่า งานที่หมอโกมาตรทำที่สำนักวิจัยสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ส่วนหนึ่ง ก็เพราะต้องการปฏิรูปหรือวิพากษ์ความคิดที่มีฐานมาจากการไม่เข้าใจชาวบ้านของวิชาชีพแพทย์กระแสหลักด้วยเช่นกัน

แต่ดิฉันไม่คิดว่างานและทัศนะคติแบบหมอโกมาตร จะมีอิทธิพลสักเท่าไหร่ต่อหมอในกระแสหลักปัจจุบัน

และนั่นเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

....

ความเห็นเพิ่มเติมจาก Atukkit Sawangsuk


ส่วนทัศนะของหมอพวกนี้ ขอพูดเพิ่มจาก อ.ปิ่นแก้ว Pinkaew Laungaramsri อีกบางข้อ

ข้อแรก คนกินเหล้าสูบบุหรี่เสียภาษีสูงมากนะครับ คิดดูว่าแค่ 2% ยังเป็นเงิน 4 พันกว่าล้านให้ สสส.ถลุงสบาย ถ้าบอกว่า "ร่วมจ่าย" ก็เป็นคนที่ร่วมจ่ายสูงสุดอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐไม่ได้เอาเงินภาษีนี้มาใช้กับการรักษาพยาบาลโดยตรง


ข้อสอง ในภาพรวมมันคือทัศนะคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี(สลิ่ม)ทุกอาชีพ ว่ากูเป็นคนจ่ายภาษี ทำไมรัฐต้องเอาเงินภาษีกูไปช่วยคนจน เครียด กินเหล้า โง่ ขี้เกียจ ขายเสียง ฯลฯ

มีคนอธิบายเรื่องคนจนก็เสียภาษีทางอ้อม แต่พวกนี้ไม่เข้าใจหรอก ประเด็นคือเราอยู่ในสังคมเหลื่อมล้ำสูงมาก ทุนนิยมทั่วไปก็เหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมอยู่แล้วแต่สังคมไทยยิ่งเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมกว่ามาก ในเรื่องโอกาส ความเสมอภาค การเข้าถึงบริการของรัฐ ระหว่างคนรวยคนจน ระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งรัฐไทยให้กับฝ่ายแรกมากกว่ามาโดยตลอด

ดูง่ายๆ แค่โอกาสทางการศึกษาระหว่างเมืองกับชนบท ลูกคนจนในชนบทไทย ที่เข้าเรียน ร.ร.บ้านหนองอีแหนบ กับลูกคนชั้นกลางในเมืองที่ได้เข้า ร.ร.สาธิต เข้าสวนกุหลาบเตรียมอุดม จนได้เรียนหมอเรียนวิศวะ ถามว่ารัฐจ่ายให้ใครมากกว่ากัน โดยยังไม่พูดถึงสาธารณูปโภคความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ

สังคมทุนนิยมถือว่าคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี มีรายได้สูงกว่าจากโอกาสที่สูงกว่า ในกลไกที่เหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม จึงต้องจ่ายภาษีคืนรัฐมากกว่า เพื่อคืนความเป็นธรรม แต่สังคมไทยนี่แม่-ทุเรศกว่า เหลื่อมล้ำสูงกว่าทุนนิยมฝรั่งตั้งเยอะ กลับมองว่าตัวเองถูกเก็บภาษีไม่ยุติธรรม

ข้อสาม เราอย่าไปว่าหมอพวกนี้ไม่มีเมตตาธรรม อ๊ะอ๊ะ เขาอาจมีเมตตานะ ถ้าอยู่ในระบบอนุเคราะห์ คนไข้ยากจนเป็นพิษสุราเรื้อรังไปอ้อนวอนขอความเมตตา เขาอาจรักษาให้ฟรี แต่ 30 บาทมันไปทำลายความเมตตาไง มันทำให้คนไข้ตาดำกลายเป็น "ประชาชนผู้มีสิทธิถ้วนหน้า" แล้วทำให้หมอกลายเป็น "เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่บริการประชาชน" ข้อนี้แหละที่ทนไม่ด๊ายทนไม่ด้าย