วันเสาร์, ธันวาคม 12, 2558

ประเทดไตแลนเดียหลุดบ่วงถูกแบนทางด้านการบิน แต่จะถูกเฝ้าจับตาดู จากนิสัยและความประพฤติซ้ำซากน่ารังเกียจ อันปรากฏสม่ำเสมอช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา





ประเทดไตแลนเดียหลุดบ่วงถูกแบนทางด้านการบินจากอียูไปได้อย่างเฉียดฉิว

นี่ใช่ว่าจะพ้นปลักความเป็นรัฐนอกรีตชอบประพฤติน่าเกลียดไปได้ ชนิดที่นานาชาติสะกิดกันให้คอยถอยห่างระวังระแวง

“คณะกรรมการยุโรปและองค์การความปลอดภัยทางการบินยุโรป ยังจะคงเฝ้าจับตาดูพัฒนาการรักษาความปลอดภัยทางอากาศของประเทศไทยต่อไป ว่ามีการป้องกันความเสี่ยง คุ้มครองผู้เดินทางตามที่ระเบียบกำหนดไว้ แล้วคณะกรรมการก็อาจจะประกาศสายการบินใดๆ ในรายชื่อต้องห้ามได้”

(http://europa.eu/rapid/press-release_IP-15-6284_en.htm)

นั่นแสดงถึงท่าทีขาดความเชื่อมั่น หรือแม้แต่ไม่ไว้วางใจ ที่อาจเป็นผลกระทบจากนิสัยและความประพฤติซ้ำซากน่ารังเกียจ อันปรากฏสม่ำเสมอช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ในสายตาชุมชนพัฒนาแล้วนานาชาติก็ได้

ด้วยมีการปฏิบัติที่ขัดต่อปฏิญญาสากลอยู่เป็นปกติวิสัย โดยจับกุมบุคคลไปควบคุมตัวโดยไม่มีการบันทึกรายงานแจ้งข้อหาดำเนินคดี ไม่เว้นแต่ละวัน

การกักกันกลุ่มนักศึกษาประชาชน ที่จัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปหัวหินหมายตรวจสอบการคอรัปชั่นโครงการราชภักดิ์ เป็นเวลาเกือบวัน นั่นสาธารณะได้รับทราบเพราะเป็นกลุ่มใหญ่ อยู่ในการเฝ้ามองของสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศอย่างเกาะติด




ส่วนที่ไม่เป็นข่าวอึกทึกก็ยังมีไม่ขาดสาย เช่นการที่นายฉัตรมงคล วัลลีย์ หรือ บอส นักศึกษาวัย ๒๑ ปีกลุ่มกิจกรรมนั่งรถไฟไปราชภักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารไปนำตัวจากบ้านตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๗ ธันวาคม ทำให้ทนายอานนท์ นำภา แถลงข่าวโวยวายเพราะเกรงว่าจะถูก ‘อุ้มหาย’

ทหารนำตัวบอสกลับไปส่งที่บ้านย่านบางมดเอาเมื่อสามวันให้หลัง อ้างว่าแค่ “พาไปกินข้าว” เท่านั้น เนื่องจากมีทหารยศนายพันลงไปพื้นที่ก็เลยนำตัวนายฉัตรมงคลไปคุย

(http://www.bangkokpost.com/…/army-arrests-teen-activist-ove… และhttp://hilight.kapook.com/view/130245)

อีกรายที่ ‘อุ้ม’ ไปหลายวันแล้ว น่าจะยังไม่ถึงกับ ‘หาย’ แต่หาไม่เจอเพราะทหารไม่ยอมบอกว่าเอาตัวไปเก็บที่ไหน




นายฐนกร ศิริไพบูลย์ พนักงานบริษัทเอกชนย่านสมุทรปราการ ถูกควบคุมตัวไปจากที่ทำงานตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม หลังจากนายทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช. แจ้งข้อหาว่ามีความผิดตาม ม. ๑๔ พรบ.คอมพิวเตอร์ ม.๑๑๒ และ ม.๑๑๖ ประมวลกฎหมายอาญา

เนื่องจากนายฐนกรนำลงข้อความทางอินเตอร์เน็ต เป็นแผนผังข้อมูลเกี่ยวกับการทุทริตในโครงการราชภักดิ์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพยายามเที่ยวตามหาสถานที่ควบคุมตัว แรกได้ข่าวว่าอยู่ที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.๑๑ ถนนนครไชยศรี ซึ่งมีผู้ต้องหาเจ็บ ตายไปแล้วหลายราย นอกจากทนายไม่พบตัวนายฐนกรแล้ว ยังได้รับแจ้งจากนายทหารคนหนึ่งว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมตามอำนาจเบ้ดเสร็จพิเศษ ม. ๔๔ ถึงรู้ที่ก็บอกไม่ได้ ประมาณนั้น

ต่อมาวันที่ ๑๑ ธันวาคม ญาติของนายฐนกรได้รับแจ้งจากทหารว่าให้ไปสอบถามตำรวจที่กองกำกับการ ๒ กองปราบปราม ทนายพากันไปหาตำรวจได้คำตอบว่าคดีมีการตั้งข้อหาแล้วแต่ยังไม่มีการควบคุมตัวโดยตำรวจ

ซ้ำร้าย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เล่นตลกแหลกราญ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษสำนักข่าวประชาไท ที่เสนอข่าวการตามหาตัวผู้ต้องหาไม่เจอของทนายความ ว่าเป็นรายงานเท็จ หมิ่นประมาทเรือนจำ มทบ. ๑๑ เสียฉิบ

แม้นว่าข้อเท็จจริง นางปรารถนา ศิริไพบูลย์ แม่ของฐนกร “ไปที่ มทบ. ๑๑ เพื่อขอเข้าพบ แต่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบออกมาแจ้งว่าไม่สามารถให้เข้าพบได้ ต้องรอการสอบสวนภายใน ๗ วัน หากไม่มีความผิดใดๆ ก็จะส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่นำตัวไปส่งที่บ้าน”

(http://prachatai.org/journal/2015/12/62909)

ศูนย์ทนายความฯ จึงได้ออกแถลงการณ์ว่า การใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “ซึ่งให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน โดยปกปิดสถานที่ควบคุมตัวนั้น

เป็นการละเมิดพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามแล้วตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๕”

อีกทั้ง “การควบคุมตัวโดยพละการหรือโดยอำเภอใจ เป็นการละเมิดพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและขัดกับมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗” ด้วย

(https://tlhr2014.wordpress.com/…/thanakorn-force-to-disapp…/)

นั่นละหลักฐานตำตาของการละเมิดปฏิญญาสากลโดยผู้บังคับใช้กฎหมายและฝ่ายรักษาความสงบในประเทศไทย

แต่ว่าเจ้าหน้าที่ไทยก็ยังทำหนังหนาตาบอดตาใส ตะบันหลักเกณฑ์อำนาจเผด็จการอย่างดึงดัน ไม่มีหันรีหันขวางแม้แต่นิด




พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และเป็นหนึ่งในชุดสอบสวนคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง พูดถึงการจับกุมบุคคลในข้อหาเปิดโปงการคอรัปชั่นอุทยานราชภักดิ์ว่า

“อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายนั้นผู้ใดที่กดถูกใจ หรือร่วมแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กหรือในข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็จะต้องมีความผิดร่วมไปด้วย แม้ว่าจะยกเลิกการเป็นสมาชิกของหน้าเพจเฟซบุ๊กนั้นแล้วก็ตาม”

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1449743288)




คดีนี้ผู้ต้องหานำข้อความจากหน้าเฟชบุ๊ค ‘สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ’ มาลงซ้ำ จึงโดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ม.๑๑๒ ซึ่งในทางปฏิบัติของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายไทยมักจะพ่วงความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ไปด้วย

(คงจะเป็นเพราะโทษ ม.๑๑๒ จำคุกกรรมละ ๑๕ ปีไม่พอ ได้เพิ่มโทษตาม พรบ.คอมพิวเตอร์อีกสี่ซ้าห้าปียังดี นี่คิดอย่างดักดานนะ)

รายนี้ไม่เท่านั้น เป็นเพราะดันไปเปิดช่องให้เห็นว่าการโกงกินโดยแอบอิงเบื้องสูง มันมีสายยาวสาวไปได้ยืดเยื้อและไกล ผู้ต้องหาเลยได้รับความผิดอาญา ม.๑๑๖ เข้าไปด้วย งานนี้ถ้าคดีสิ้นสุดดั่งใจหมาย นายฐนกรคงโดนคุกเบาะๆ ถึง ๓๐ ปีละมั้ง

ทว่า ช้าก่อน มีผู้ก้าวทันโลกให้ความเห็นแย้งทั่น ผบ. ตำรวจกองอาชญากรรมไว้

จากที่ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บอกว่า “ลอกเขามาครับ”

“ผู้ที่ใช้ facebook ‘เป็น’ ย่อมทราบดีว่า

๑. สิ่งที่ท่านพาดพิงถึงนั้น (เพจสถาบันอะไรนั่นน่ะ) มันเป็น ‘กรุ๊ป’ ครับ - ไม่ใช่ ‘เพจ’

๒. การแอดคนเข้ากรุ๊ปสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องให้เจ้าตัวอนุญาต/ยินยอม

๓. การ ‘กดไลค์’, ‘กดแชร์’, ‘คอมเมนท์’ ไม่ได้หมายถึงเห็นด้วยหรือชื่นชอบเสมอไป

๔. หลายคนกด ‪#‎ไลค์‬ เพจที่ตัวเองไม่ชอบ/เกลียดขี้หน้า เพื่อติดตามดูว่าวันๆ มันทำอะไร (จะได้เอามาด่า), หลายคน ‪#‎แชร์‬ สิ่งที่ตัวเองไม่ชอบมาเพื่อตำหนิ/ประจาน, หลายคน ‪#‎คอมเมนท์‬ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย

๕. การมีอำนาจชี้ว่าอะไรเป็นความผิดทางอาญา ในสิ่งที่ตัวเองก็ใช้ ‘ไม่เป็น’ ไม่ได้ ‘เข้าใจ’ มันอย่างถ่องแท้ - นั้นอันตรายอย่างยิ่ง และเป็นความเขลาอย่างยิ่งครับ”

ไม่เท่านั้นทนายสิทธิมนุษยชน อานนท์ นำภา มีข้อคิดในความน่าจะเป็นของอาการตะหานนิสัยเสีย

“เหตุผลเดียวที่เผด็จการทหารพยายามตั้งข้อหาตาม ม.๑๑๖ กับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง ก็เพื่อลากให้คดีหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง อันจะทำให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร...

การฟ้องหมิ่นประมาทที่ผู้เสียหายเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ได้เพิ่งมีในสมัยนี้ แต่มีมาเกือบทุกยุคทุกสมัย ซึ่งผู้เสียหายเอง พนักงานสอบหรือพนักงานอัยการ ก็ไม่เคยตั้งข้อหาว่าเป็นความผิดต่อความมั่นคงตาม ม.๑๑๖ ทั้งสิ้น

คงเป็นเพียงการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทั้งนี้ก็เพราะกฎหมายมองว่าการหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีนั้นมิใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแต่ประการใด และในหลายคดีก็วินิจฉัยว่านายกเป็นบุคคลสาธารณะ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยซ้ำ”

ทนายอานนท์ยกตัวอย่าง “มาย้อนดูคดีที่มีการฟ้องประชาชนว่าหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีที่เด่นๆมีคดีอะไรบ้าง

๑) คดีฟ้องแก๊งสามเกลอแห่งช่องทีวีบลูสกายส์หมิ่นประมาทยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีโฟซีซั่น
๒) คดีฟ้องจตุพร พรมพันธ์ แกนนำ นปช. หมิ่นประมาทอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีสั่งสลายการชุมนุมเสื้อแดง
๓) คดีฟ้องสนธิ ลิ้มทอง หมิ่นประมาททักษิณ ชินวัตร กรณ๊ปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ปี ๒๕๔๙
๔) คดีฟ้อง ส.ศิวรักษ์ กรณีหมิ่นประมาท พล.อ.สุจินดา คราประยูร
๕) คดีฟ้อง ร.ต.อ.เฉลิม กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ,ไทยโพสต์ ร่วมกันหมิ่นประมาทนายชวน หลีกภัย...

แต่ในยุคที่เผด็จการทหารครองอำนาจตอนนี้ กลับมีการตั้งข้อหาตาม ม.๑๑๖ กับการหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างน้อยสองคดี คือ

๑) คดีฟ้องคุณรินดา หมิ่นประมาทโดยการกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีการโอนเงินไปประเทศสิงคโป
๒) คดีฟ้องคุณฐนกร หมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์

การจงใจใช้กฎหมายโดยผิดเจตนารมณ์ในทั้งสองคดีก็เพื่อจะลากให้คดีเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงตามมาตรา ๑๑๖ เพื่อที่จะได้ขึ้นศาลทหาร เพื่อให้ทหารซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเผด็จการทหารตัดสินคดี เท่านั้นเอง
นี่เป็นเรื่องที่ต้องประนามทหารตำรวจที่เกี่ยวข้อทั้งหมดที่จงใจบิดเบือนกฎหมาย ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการคนที่เห็นต่างทางการเมืองกับเผด็จการทหาร”

คงต้องฟ้องโลกเรื่องสันดอน คสช. ละสิ ด้วยคำของทนายอานนท์...ตามนั้น

“หยุดใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดหัวคน !!!
หยุดนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร !!”