วันอาทิตย์, ธันวาคม 27, 2558

หนังสือแห่งปี 2015 : บันทึกคนคุก ใครเผาศาลากลางอุบลฯ




รีวิวหนังสือ: บันทึกคนคุก ใครเผาศาลากลางอุบลฯ


Thu, 2015-12-24
แยมส้ม
ที่มา ประชาไท

โดยไม่ต้องมีสถาบันอะไรรองรับ ฉันยกให้หนังสือ "บันทึกคนคุก: ใครเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี" เล่มนี้เป็นหนังสือแห่งปี 2015

หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่คล้าย หนังสือนักศึกษายุคหลัง 6 ตุลา คือเป็นบันทึกความทรงจำและเหตุการณ์จากมุมมองของเหยื่อ

ผู้เขียนคือ จ.ส.อ. สมจิตร สุทธิพันธ์ ใช้นามปากกาว่า "ผู้พัน" เป็นทหาร early retired และเป็นหนึ่งในอดีตนักโทษคดีเผาศาลากลางอุบล เขาติดคุกฟรีอยู่ประมาณ 15 เดือนก่อนที่จะได้รับอิสรภาพเพราะศาลอุทธรณ์สั่งยกฟ้องเมื่อเดือนสิงหาคม 2554

ในการตัดสินชั้นฎีกาที่ผ่านมา เขาอยู่ในรายชื่อผู้ที่ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี แต่เพราะติดเกินระยะเวลาไปแล้ว จึงไม่ต้องกลับเข้าไปอยู่ในคุกอีก ขณะที่อีก 12 คนถูกพิพากษาให้ได้รับโทษหนักตั้งแต่จำคุกตลอดชีวิต, จำคุก 33 ปี 4 เดือน, และน้อยสุดคือ 2 ปี

อยากเล่าถึงหนังสือเล่มนี้เพราะมันไม่ได้มีวางขายทั่วไป และคงมีน้อยคนที่จะไปหามาอ่าน

บันทึกเล่มนี้แบ่งคร่าวๆ เป็นสามส่วน

ส่วนแรก เป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น รวมถึงบริบทแวดล้อมและสาเหตุที่ทำให้เขาออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกันคนเสื้อแดงในจังหวัดอุบลและทั่วประเทศ ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเหตุผลง่ายๆ ตรงไปตรงมา คือการได้มาซึ่งอำนาจอย่างไม่ชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และความยุติธรรมสองมาตรฐานตามที่พวกเขาประสบพบเห็น เป็นเหตุผลที่แม้บัดนี้ผู้ที่รังเกียจคนเสื้อแดงก็ปิดหูปิดตาไม่ต้องการได้ยิน

ส่วนที่น่าสนใจและเป็นข้อคัดง้างต่อวาทกรรมและข้อกล่าวหา "เผาบ้านเผาเมือง" คือ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ทหาร ตำรวจ อปพร ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุประมาณ 200-300 คน ซึ่งถือว่ามีอาวุธและกำลังพลเหนือกว่าฝ่ายผู้ชุมนุมหลายเท่าหายไปไหนหมดตอนที่ผู้ชุมนุมกรูกันเข้าไปในศาลากลาง (ก่อนหน้านั้นมีผู้ชุมนุมถูกยิง 5 คน) เป็นไปได้ไหมว่าเป็นความตั้งใจของฝ่ายทหารให้มีการเผาเกิดขึ้นโดยกลุ่มคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้มาชุมนุม นอกจากนี้ไฟยังเริ่มไหม้จากชั้นสอง เป็นไปได้หรือที่ทหาร ตำรวจ อปพร จำนวนมากขนาดนี้จะปล่อยให้ผู้ชุมนุมเดินขึ้นไปถึงชั้นสองเพื่อเผาอาคารได้อย่างง่ายดาย

ส่วนที่สอง เขาบันทึกคำให้การของโจทก์และจำเลย 21 คนอย่างละเอียด ที่สำคัญคือการชี้ให้เห็นว่าไม่มีโจทก์คนไหนเลยใน 80 กว่าคนที่ระบุได้ว่าจำเลยคนไหนเป็นผู้เผาศาลากลาง หลักฐานที่ศาลใช้ในการตัดสินจึงมีเพียงภาพถ่ายที่มืดไม่ชัดเจน เป็นภาพคนที่อยู่ในและรอบศาลากลาง บางคนไม่มีกระทั่งภาพถ่ายด้วยซ้ำ

หากใครยังจำได้ คดีนี้มีการจับผิดตัว คือจับนายธนูศิลป์ ธนูทอง ซึ่งวันที่เกิดเหตุกำลังปลูกมันอยู่ที่สวนซึ่งห่างจากศาลากลางประมาณ 100 กิโลเมตร

คำให้การของจำเลยนั้นเป็นส่วนที่น่าอ่าน เพราะทำให้เห็นว่าชาวบ้านที่ต้องตกเป็น "แพะ" นั้นเป็นใครมาจากไหนกันบ้าง และพวกเขายืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างไร นอกจากดีเจต้อยที่พอเป็นที่รู้จักแล้ว ที่เหลือแทบไม่เคยมีใครเคยได้ยินชื่อ อรอนงค์ บรรพชาติ เป็นเจ้าของสวนพันธุ์ไม้ที่เลี้ยงสุนัขจรจัดไว้เกือบ 100 ตัว,ปัทมา มูลนิล อายุ 20 กว่า อาชีพค้าขาย, ธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ อายุ 20 กว่า เป็นเด็กเสิร์ฟร้านแจ่วฮ้อน, ชัชวาลย์ ศรีจันดา เป็นลูกจ้างร้านตั้งซำกัง, สนอง เกตุสุวรรณ์ เป็นผู้ช่วยนายท่ารถ, สมศักดิ์ ประสานทรัพย์ อาชีพรับเหมาก่อสร้าง, คนเหล่านี้ล่าสุดถูกตัดสินจำคุก 33 ปี 4 เดือน

โทษของพวกเขาหนักราวกับว่าเป็นผู้บงการเผา เป็นคนเผาจริงๆ หรือเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนอื่นๆ แต่เปล่าเลยไม่มีหลักฐานอะไรเลยชี้ว่าเป็นอย่างนั้น ที่น่าเชื่อมากกว่าคือ พวกเขาได้รับโทษหนักในฐานะ "แพะ" ที่ถูกเชือดเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้เกิดแก่ประชาชนที่เห็นต่างจากระบอบอำนาจเก่าเท่านั้นเอง

ส่วนที่สาม ผู้พันบันทึกชีวิตตามที่เขาพบเห็นในช่วงเวลาที่ติดคุก ก่อนปิดท้ายด้วยการเล่าถึงความรู้สึกในวันที่ได้รับอิสรภาพเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 แน่นอนว่าตอนที่เขาเขียนนั้น เขายังไม่รู้ว่าอีกราว 3 ปีต่อมา จะเกิดรัฐประหารที่นำพาประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ และเป็นเหตุให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยคดีนี้ถึงขั้นรุนแรงป่าเถื่อน

"อย่าแสวงหาความยุติธรรมทั้งในสงคราม ในความรัก และในขณะที่คนกำลังบ้าอำนาจ" ผู้พันเขียนไว้อย่างนั้นในหน้าแรกๆ ของหนังสือ

จริงอยู่ คงจริงอย่างที่ผู้พันว่า ทว่าหลังจากคนที่อยู่ในอำนาจตอนนี้ถูกขับไล่พ้นจากอำนาจแล้ว คงไม่สายไปที่เราจะแสวงหาความยุติธรรมให้กับจำเลยคดีนี้ ไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมให้กับพวกเขา แต่ต้องลงโทษคนที่นำกระบวนการยุติธรรมไปรับใช้อำนาจฉ้อฉลด้วย ถึงตอนนั้นหนังสือเล่มนี้คงทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่กว่านี้

จนกว่าวันนั้นจะมาถึง


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ด่วน! ฎีกาพลิกคดีเผาศาลากลางอุบล จำคุกตลอดชีวิต 'ดีเจต้อย' และอีกหลายราย