วันศุกร์, พฤศจิกายน 13, 2558

เชื้อชาติกับศาสนา :คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก

ชำนาญ จันทร์เรือง

แทบทุกครั้งที่ไทยเรามีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ข้อเรียกร้องร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจะถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงอยู่เสมอ แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีที่แปลกกว่าครั้งอื่น

เพราะมีการหยิบยกและโจมตีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า" หรือ"ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้ออกไปอยู่ที่อื่น" ฯลฯ

ทำให้เราต้องมาพิจารณาว่าจริงๆแล้วเป็นคนไทยต้องเป็นพุทธ หรือเป็นพุทธจึงจะเป็นคนไทย คนศาสนาอื่นหรือไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ มิใช่คนไทยกระนั้นหรือ

ในส่วนตัวผมเองแล้วผมเฉยๆกับการที่จะให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะผมเห็นว่าความเจริญรุ่งเรืองหรือความเป็นอยู่ของผมคงไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง เว้นเสียแต่ว่าจะมีการออกกฎหมายที่มากระทบความเป็นอยู่ของผู้คนโดยอาศัยกฎเกณฑ์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้คนจนเกินควรหรือเกินกว่าที่จะรับได้

ความขัดแย้งหรือศึกสงครามที่เกิดขึ้นในโลกนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันล้วนมีสาเหตุมาจากสามสาเหตุใหญ่ๆ ซึ่งก็คือสาหตุจากการเมือง ศาสนา และเชื้อชาติ

หากความขัดแย้งหรือศึกสงครามนั้นมาจากสาเหตุจากทางการเมืองล้วนๆ ค่อนข้างจะแก้ไขได้ง่าย หากไม่ชนะด้วยกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์หรือกำลังพลที่เหนือกว่า ก็จะจบจบลงด้วยการเจรจา หากต่างฝ่ายต่างรู้ว่าขืนสู้รบกันต่อไปก็รังแต่เสียหายด้วยกันทั้งคู่

แต่เมื่อใดความขัดแย้งหรือศึกสงครามมาจากสาเหตุทางเชื้อชาติหรือศาสนาแล้ว การแก้ไขก็ยากขึ้นและใช้เวลานาน เช่นสงครามครูเสดระหว่าคริสต์และอิสลาม ต้องใช้เวลากว่าสามร้อยปีจึงจะสงบลงได้ หรือศึกสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส หรือไทยกับพม่า (ถ้าจะเรียกให้ถูกก็คืออยุธยากับหงสาวดี เพราะตอนนั้นยังไม่มีรัฐไทยกับรัฐพม่า)

แต่หากความขัดแย้งหรือศึกสงครามนั้นมาจากทั้งเชื้อชาติและศาสนาแล้วยากที่แก้ไขได้โดยง่าย เช่น กรณีชาวพุทธพม่ากับชาวโรฮิงญาในยะไข่


และใกล้ตัวที่น่ากลัวที่สุดหากเกิดขึ้นก็คือ การที่มีพระสงฆ์บางรูปออกมาเรียกร้องให้แก้แแค้นชาวมุสลิมหากมีชาวพุทธถูกสังหาร ด้วยการเผามัสยิดแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกนี้มีรัฐอยู่สองรูปแบบ คือรัฐศาสนาที่ปกครองด้วยกฎเกณฑ์ทางศาสนา กับรัฐฆราวาสหรือที่เรียกอีกอย่างว่ารัฐโลกวิสัย ที่แยกศาสนาออกจากรัฐ 

ซึ่งรัฐที่แยกศาสนาออกจากรัฐนี้ล้วนแล้วที่มีประวัติศาสตร์หรือบทเรียนจากในอดีต ที่ศาสนาจักรมีอำนาจเหนืออาณาจักร ทำให้การบริหารบ้านเมืองเป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่น ในยุโรปถูกครอบงำจากวาติกันเป็นต้น ซึ่งหลายรัฐในปัจจุบัน เช่น ฝรั่งเศสไม่ให้มีการนำสัญลักษณ์ใดๆ ที่บ่งชี้ถึงศาสนา ไปติดหรือประดับร่างกายในโรงเรียนหรือสถานที่ราชการ ฯลฯ

สำหรับรัฐไทยเรานั้นจัดอยู่ในประเภทที่สองคือรัฐโลกวิสัย เพราะให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้คนในการนับถือศาสนา และแยกศาสนาออกจากการเมือง เช่น การจำกัดสิทธินักพรตนักบวชไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง จนแม้กระทั่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญถาวรทุกฉบับว่าไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง ฯลฯ ศาสนิกชนแต่ละศาสนาต่างอยู่ร่วมกันมาช้านาน บางที่แม้แต่กำแพงวัดกับมัสยิดยังใช้ร่วมกันเลย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐไทยเราจะเป็นรัฐโลกวิสัยหรือรัฐฆราวาส แต่ก็มีหลายครั้งที่ดูแปลกๆที่รัฐไทยกระทำขัดแย้งกับหลักการดังกล่าว เช่น การออกกฏเกณฑ์ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ ฯลฯ ทั้งที่บางศาสนาก็ไม่ได้ห้ามศาสนิกของตนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น คริสต์ศาสนิกชน เป็นต้น 

แต่ต้องมารับผลแห่งข้อห้ามนั้น จึงทำให้ดูเหมือนกับเป็นการเลือกปฏิบัติทางศาสนา หรือออกกฎเกณฑ์ที่ไม่คำนึงถึงศาสนาอื่น

ผมไม่อยากเห็นไทยเราเป็นเหมือนซูดานที่ลงโทษประหารชีวิตคุณมาเรียมที่ถูกกล่าวหาว่าเปลี่ยนศาสนา ทั้งๆ ที่พ่อและแม่ของเธอนับถือศาสนาที่ต่างกัน และแน่นอนว่าผมไม่อยากเห็นไทยเราเป็นเหมือนพม่าที่เป็นเมืองพุทธ และประชาชนขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่ใจบุญอันดับต้นๆของโลก แต่กลับมีพระสงฆ์ที่คลั่งศาสนาสุดกู่นำชาวพุทธไปเผาบ้านชาวมุสลิมที่ยะไข่ 

จนทำให้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นอกเหนือจากความยากจนที่ผลักให้ชาวโรฮิงญาอยู่ไม่ได้ ต้องอพยพเป็นมนุษย์เรือ และหลายพันชีวิตต้องกลายเป็นศพฝังร่างอยู่กลางทะเล หรือแม้แต่ต้องถูกขุดหลุมฝังอยู่ตามชายแดนไทยมาเลย์เซียเป็นร้อยๆศพ

คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก จะคิดทำการสิ่งใดควรที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราไม่อยากให้คนอื่นทำกับเราอย่างไร เราก็ไม่ควรไปทำกับเขาเช่นนั้น ใช่ไหมครับ
________


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2558