วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 15, 2558

“คนเดือนตุลา” มาวันนี้ ลืมอุดมการณ์ หรืออย่างไร จึงเปลี่ยนใจ มารับใช้ เผด็จการ



10 “คนเดือนตุลา” หนุนรัฐประหาร

BY ASAJEREE
ON OCTOBER 14, 2015

เหตุการณ์เดือนตุลาย้อนกลับมาสู่ห้วงความทรงจำของใครหลายๆคนอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่านช่วงเวลานี้มาก่อนคงเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะลืมเรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกบดบังในเงามืด

ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ต่างก็เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมาก โดยเหตุการณ์แรก 14 ตุลา หรือ วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ถนอม กิตติขจร นำไปสู่การใช้กำลังของรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก




ภายหลังจากเหตุการณ์ 14ตุลา และ 6ตุลา ก็มีนักศึกษาจำนวนมากที่ต้องระเห็ดระเหินเร่ร่อนหนีการจับกุมจากรัฐ หรือบางส่วนก็ตัดสินใจหลบหนีไปเองเนื่องจากทนสภาพสังคมในขณะนั้นไม่ไหว เข้าป่า และจับอาวุธต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

หลายคนถูกจับกุมอยู่ในเรือนจำบางขวาง ส่วนมากเป็นนักศึกษา นักกิจกรรม นักคิด นักเขียน ปัญญาชน ที่คิดนอกกรอบอุดมการณ์ของรัฐ

เวลาผ่านไปกว่า 40 บุคคลที่เคยผ่านช่วงเวลาการต่อสู้เหล่านี้ได้เติบโตขึ้น เป็นปัญญาชนแถวหน้าของประเทศ บางคนยังคงต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตนเอง และบางคนก็ยอมก้มหัวรับใช้อำนาจนอกระบบ

คนที่ยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอดเสมอมานั้นไม่น่าแปลกใจ แต่ที่น่าแปลกกว่าคือคนที่ออกตัวอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนการกระทำรัฐประหาร หรือเข้าร่วมสังคกรรมกับคณะที่ทำรัฐประหาร มาดูกันว่า 10 บุคคล เดือนตุลา ที่น่าสนใจเหล่านี้ เป็นใครกันบ้าง

1. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์




ในเหตุการณ์วันมหาวิปโยค หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ มีบทบาทเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ซึ่งร่วมในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และขอให้รัฐบาลในขณะนั้นลาออกด้วย โดยเป็นผู้อ่านประกาศขอให้รัฐบาลปล่อยตัว 13 ขบถรัฐธรรมนูญและเรียกร้องรัฐธรรมนูญภายในเที่ยงของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แต่เมื่อถึงเวลาแล้วรัฐบาลก็หาได้กระทำไม่ การเดินขบวนจึงเกิดขึ้นที่ถนนราชดำเนินยาวไปจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า

ปัจจุบันสมบัติ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในด้านการเมือง สมบัติ เป็นแกนนำของกลุ่ม กปปส และ เป็นประธานและคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในสปช. อีกด้วย

2. เอนก เหล่าธรรมทัศน์



ปัจจุบัน เอนกเป็น เป็นคณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ ม.รังสิต และร่วมกับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) และคณะกรรมการปรองดอง โดยยังเป็นคนพยายามผลักดันกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติอีกด้วย

3. อมร อมรรัตนานนท์



ถือเป็นหนึ่งในคนเดือนตุลา ที่มีบทบาทสำคัญ โดยก่อนหน้านั้นเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนในปี พ.ศ. 2519 และนำนักเรียนขาสั้นเข้าร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลา จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเป็นเวลา 3 วัน ก่อนที่จะหนีเข้าป่า เฉกเช่นนักศึกษาคนเดือนตุลาอื่นๆ ในยุคนั้น โดยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เขตงานสุราษฎร์ธานี ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ยังได้เข้าร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขับไล่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร

ปัจจุบัน อมร อมรรัตนานนท์ เปลี่ยนชื่อเป็น รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี บทบาทด้านการเมือง ได้เข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นแกนนำในการบุกยึดทำเนียบ และบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังเป็นแกนนำ คปท ร่วมกับพุทธอิสระ มีท่าทีสนับสนุนรัฐประหารที่ชัดเจนคนหนึ่ง

4. วิทยากร เชียงกูล





แม้จะไม่ได้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2516-2519 แต่ก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเชิงความคิดแก่นักศึกษาในยุคดังเกล่า เพราะเป็นผู้เขียนบทกลอน “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” เมื่อ พ.ศ. 2511 ซึ่งมีท่อนติดปากว่า “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา ความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว” บทกลอนนี้ได้กลายเป็นข้อเขียนหนึ่งในหลายชิ้น ที่มีอิทธพลต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้น ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 และ เหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519

ปัจจุบัน วิทยากรดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์และคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เคยแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร 
(http://www.naewna.com/politic/82151) และยังเป็น กรรมการ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) อีกด้วย

5. สุรชัย จันทิมาธร




หรือเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ หงา คาราวาน เป็นนักกิจกรรมและนักดนตรีมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลาคม หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา สุรชัยและพรรคพวกบางส่วนได้หลบหนีเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเฉกเช่นนักศึกษาและปัญญาชนคนอื่น ๆ โดยสุรชัยทำหน้าที่คอยให้ความบันเทิง ร้องเพลง โดยมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายพันตา”

ในปัจจุบัน สุรชัยยังคงเป็นนักดนตรีและนักเขียนอยู่ โดยเขามีแนวคิดในการสนับสนุนรัฐประหารที่ชัดเจนหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดด้วย

6. วิทยา แก้วภราดัย




ขณะเรียนปี 4 นายวิทยาเป็นหนึ่งในนิสิตที่เข้าร่วมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ขาในเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 2 เดือน และต้องพักฟื้นที่บ้านอีก 7-8 เดือนจึงสามารถเดินได้เป็นปกติ และกลับเข้าเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาในที่สุด นายวิทยาประกอบอาชีพเป็นทนายความก่อนเข้าสู่วงการเมือง และเมื่อเข้าสู่วงการเมืองแล้วยังเป็นหนึ่งในทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์

ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 นายวิทยาเป็นหนึ่งใน 9 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค และเข้าเป็นหนึ่งในแกนนำกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) โดยมีบทบาทเป็นแกนนำผู้ชุมนุมเมื่อเข้ายึดกระทรวงการคลังและเป็นแกนนำของเวทีชุมนุมที่แยกศาลาแดงและสวนลุมพินี

ซึ่งในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จากการชุมนุมในครั้งนั้น ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย โดยนายวิทยาเป็นผู้ต้องหาหมายเลขที่ 6

หลังเหตุการณ์นี้ นายวิทยาได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุเข้าจำพรรษาที่วัดธารน้ำไหล จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับแกนนำและแนวร่วมคนอื่น และปัจจุบัน เป็นกรรมการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ซึ่งเพิ่งเข้ารายงานตัว เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตัวแทนกลุ่มการเมือง กปปส เมื่อไม่นานมานี้

7. พิภพ ธงไชย




มีบทบาทในการเคลื่อนไหวการเมืองสมัยนั้น คือ เป็น 1 ใน 100 ผู้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเป็นกรรมการองค์กรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (ปช.ปช.) กับ นายธีรยุทธ บุญมี และร่วมเดินขบวนรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ต่อต้านฐานทัพอเมริกา ต่อต้านสงครามเวียดนาม และต่อต้านเผด็จการทหาร จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อ พ.ศ. 2516

ธีรยุทธ เป็นอดีตแกนนำพันธมิตรฯ และเป็นแกนนำ กปปส โดยมีท่าทีสนับสนุนรัฐประหารที่ชัดเจน

8. ธีรยุทธ บุญมี




ธีรยุทธ บุญมี เข้าเป็นสมาชิกศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และได้เป็นเลขาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2515 ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ธีรยุทธ บุญมี เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อขอรัฐธรรมนูญคืนจากรัฐบาลเผด็จการซึ่งนำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และในช่วงปี 2519 ธีรยุทธยังได้ไปใช้ชีวิตในป่าแถบจังหวัดน่านอีกด้วย

ธีรยุทธ เป็นแกนนำพันธมิตร และสนับสนุน กปปส เขาได้แสดงออกถึงการสนับสนุนรัฐประหารอย่างชัดแจ้งในหลายๆครั้งตั้งแต่ 19กันยา

9. คำนูณ สิทธิสมาน




มีบทบาทเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ในปี พ.ศ. 2518

คำนูณมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลา และเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้ทำงานหนังสือพิมพ์แนวการเมืองหลายฉบับในช่วงเวลานี้ เช่น สู่อนาคต, ไทยนิกร, จัตุรัส เป็นต้น

คำนูณ สิทธิสมาน เคยเป็นโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ร่าง รธน ล่าสุดจะถูกปัดตกไป และเป็น สปช มีแนวคิดสนับสนุนการรัฐประหารและพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา อย่างชัดเจน

10. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์




ถึงแม้จะไม่ใช่คนเดือนตุลาโดยตรง แต่เนาวรัตน์ก็มีอิทธิพลกับคนเดือนตุลาในฐานะกวีที่เขียนกลอนแสดงความรู้สึกที่อึดอัดในช่วง14ตุลา รวมถึงการยกย่องการต่อสู้ของคนเดือนตุลาในบทกวีอันเลื่องชื่อ “และแล้วการเคลื่อนไหวก็ปรากฎ” ของเขา

ปัจจุบัน เนาวรัตน์เขียนกลอนที่สนับสนุน กปปส และรัฐประหารอย่างชัดเจน อีกทั้งเป็นสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช) ด้วย เนาวรัตน์ยังกล่าวอีกว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่”

ooo

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก ขบวนการประชาธิปไตยใหม่