วันพุธ, ตุลาคม 28, 2558

อ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ สรุปปัญหาหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย รวม 11 ข้อ




ที่มา FB
Pipad Krajaejun



วันนี้ไปซื้อหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยมาแล้วในงานหนังสือ หลังจากซื้อเสร็จปรากฏว่าฟ้าคงบันดาลให้ Voice TV โทรมาสัมภาษณ์ ก็เลยต้องนั่งอ่าน หลังจากใช้เวลาอ่านราว 3 ชม. ก็รู้สึกว่าเสียดายที่ได้อ่านไป ตอนนี้ยังรู้สึกเฟรซๆ อยู่ในความทรงจำ ผมขอสรุปปัญหาหรือข้อสังเกตของหนังสือเล่มนี้ จำนวน 11 ข้อ ดังนี้ ยาวหน่อยนะครับ

1. โครงเรื่องเพื่อสร้างความชอบธรรม โครงเรื่องหรือเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นแบบประวัติศาสตร์กระแสหลัก คือ เน้นเรื่องความเป็นไทย และอำนาจของราชธานีในเขตภาคลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือ สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ เป็นหลักคือชนชั้นนำสยาม ทำให้ไม่มีพื้นที่ของรัฐอื่นที่เกิดร่วมสมัยเช่น ล้านนา ปัตตานี (ปาตานี) ล้านช้าง เป็นต้น การไม่มีรัฐก็หมายถึงสิทธิในพื้นที่ โครงเรื่องแบบนี้เองนำไปสู่ความชอบธรรมให้รัฐไทยและคนไทย/สยามมีอำนาจเหนือคนกลุ่มอื่นๆ

2. วิธีคิดพื้นฐานวางอยู่บนแนวคิดการผสมผสานกลมกลืน (assimilation) ซึ่งเป็นแนวคิดในช่วงสงครามเย็นที่ต้องการทำให้คนไม่ว่าคนกลุ่มใดก็กลายเป็น "คนไทย" ทั้งสิ้น เพราะเชื่อว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันแล้วจะไม่มีความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่นประโยคที่เขียนว่า "คนไทย" ในปัจจุบันจึงเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติผสมผสานกันมายาวนาน บ้างก็มีเชื้อชาติ มอญ ลาว เขมร อินเดีย เปอร์เซีย จีน บ้างก็มีเชื้อชาติทางตะวันตก... อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของคนไทยคือ "ภาษาไทย" (หน้า 36) ปัญหานี้ยังไม่นับรวมในเรื่องการขาดความเข้าใจในแง่ของการแบ่งระหว่างความเป็นไทยที่เกิดจากสัญชาติ (ความเป็นพลเมือง) ชาติพันธุ์ (ethnic) เชื้อชาติ (race) หรือการจินตนกรรมของชาติขึ้นมาให้รู้สึกว่าเป็น "คนไทย"

3. กลิ่นอายของหลวงวิจิตรวาทการหรือประวัติศาสตร์แบบเชื้อชาตินิยมยังไม่จางหาย ตัวอย่างเช่นข้อที่เขียนว่า "นอกจากคนไทยในประเทศไทยแล้ว ยังพบกลุ่มคนไท หรือ ไต ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่เป็นวงกว้างในเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.. ประเทศจีน... คนไททุกประเทศรวมกันมีจำนวนกว่า 100 ล้านคน" (หน้า 36) อาจโต้แย้งได้ว่ามันก็เป็นการนำเสนอข้อมูลตามจริง แต่หนังสือเล่มนี้ไม่มีพื้นที่ของคนที่พูดภาษาอื่นชาติพันธุ์อื่นสักเท่าไหร่นัก เห็นได้ชัดจากการเน้น "ถิ่นกำเนิดของคนไทย" (หน้า 38) เท่ากับว่านั่นก็คือประวัติศาสตร์แบบเชื้อชาตินิยมไทย (ชาติพันธุ์นิยมไทย) จากการสำรวจทางด้านชาติพันธุ์พบว่าในประเทศไทยมีกลุ่มคนมากถึง 72-74 ชาติพันธุ์ มีภาษาตระกูลไท, ตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลมลายู, ตระกูลจีน-พม่า และอื่นๆ อีก ภาษาไทไม่ได้ลอยอยู่โดดๆ แต่สัมพันธ์กับภาษาข้างต้นทั้งหมดครับ

4. รู้แต่รูปแบบแต่ไม่รู้เหตุของการเปลี่ยนแปลง ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น มองเผินๆ อาจไม่มีอะไร ก็เป็นสิ่งที่นักโบราณคดีทำกันเป็นจารีตคืออธิบายว่าในแต่ละสมัยมีมนุษย์แบบใด มีเครื่องมือเครื่องใช้อะไร อยู่อย่างไร แต่คำถามสำคัญที่ต้องอธิบายด้วยคือ ทำไมสังคมจึงมีการเปลี่ยนผ่านจากสมัยหนึ่งไปสู่สมัยหนึ่ง เช่น ทำไมมนุษย์ต้องปลูกข้าวทำการเกษตร

5. รัฐที่ปราศจากเสียง ในช่วงสมัยรัฐโบราณ มีปัญหาที่เห็นได้ชัด 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือในเนื้อหามีการพูดถึงเรื่องของรัฐทวารวดี เจนละ ศรีวิชัย และหริภุญชัย ปัญหาคือ "เจนละ" เป็นคำที่จีนใช้เรียกกัมพูชา (กานป๋อจื้อ) ทำไมจึงได้เลือกใช้คำว่าเจนละ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์เขมรสมัยเมืองพระนคร เรื่องที่สอง รัฐโบราณพวกนี้มีภาษาของตนเองเช่น ทวารวดีกับหริภุญชัยใช้ภาษามอญโบราณ (ปัจจุบันคนที่พูดภาษานี้คือชาวญัฮกุร) เจนละพูดภาษาเขมร (ขแมร์) ศรีวิชัยพูดภาษามลายู เรื่องที่สาม ประเด็นบางอย่างรับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่คนที่เล่นประวัติศาสตร์โบราณว่าบางเรื่องสำคัญมาก เช่น ศรีวิชัยเสื่อมถอยอำนาจเพราะจีนเปลี่ยนรูปแบบการค้า (ข้อเสนอของ O.W.Wolters) แต่กลับไม่ได้เขียนถึง ซึ่งอาจเป็นเพราะความเร่งรีบในการทำงานก็เป็นไปได้

6. เนื้อหาหลักยังเป็นประวัติศาสตร์ภายใต้ทฤษฎีมหาบุรุษ (Great man theory) ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมสถาบันกษัตริย์และลัทธิทหารอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงทำให้โครงเรื่องเน้นไปที่ผู้นำเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่นสมัยสุโขทัยเน้นที่พ่อขุนรามคำแหง สมัยอยุธยาเน้นที่พระนเรศวร และพระนารายณ์ สมัยธนบุรีเน้นพระเจ้าตากสิน สมัยรัตนโกสินทร์เน้นทุกรัชกาลจึงทำให้เนื้อหาในช่วงเวลานี้มีมากที่สุด อาจเรียกได้ว่าเป็นการสรุปย่อพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดีๆ นี่เอง อนึ่ง นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปเชื่อว่าการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของมหาบุรุษนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากซึ่งบริบท (context) หมายความว่าเหตุการณ์แวดล้อมและตัวละครอื่นๆ เช่นประชาชน ย่อมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญคู่ขนานกันไป นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ช่วงอยุธยาตอนปลายก็ยังอธิบายแบบเดิมๆ ผ่านพงศาวดารสมัยอยุธยาที่ถูกชำระสมัยรัตนโกสินทร์จึงทำให้มองว่าบ้านเมืองล่มสลายเพราะกษัตริย์อ่อนแอ ปัญหาคือคนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นมองว่าครั้งบ้านเมืองยังดีและเป็นยุครุ่งเรืองนั้นก็คือสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่สำคัญอีกประเด็นด้วยคือ ในช่วงสมัยที่กล่าวมานี้ผมเข้าใจว่านักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปยอมรับด้วยว่า สุโขทัย และอยุธยา ไม่ใช่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะรัฐแบบนี้เพิ่งเริ่มต้นสมัยรัชกาลที่ 5 คือเป็นรัฐที่มีอำนาจที่ศูนย์กลางเพียงแห่งเดียว

7. ยังคงมีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์แบบนองเลือด คือยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยสงครามระหว่างรัฐ (ประเทศ) เช่นเรื่องการทำสงครามกับพม่า ซึ่งให้น้ำหนักมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา โดยเฉพาะสมัยสมเด็จพระนเรศวร กล่าวได้ว่าคือหนังสือไทยรบพม่าผสมกับพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรที่สมเด็จฯ กรมดำรงราชานุภาพเคยทรงพระนิพนธ์ การจัดวางความสัมพันธ์แบบนี้ภายใต้ช่วงเวลาที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนย่อมส่งผลกระทบต่อจินตนาการของคนไทยที่มีต่อพม่าและประเทศอื่นๆ ไม่มากก็น้อย ถึงหนังสือจะพยายามเน้นเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นแต่ก็ไปเน้นเฉพาะในยุคสุโขทัย เพราะยังมองสุโขทัยเป็นรัฐในอุดมคติเช่นเคย

8. ประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อท่องจำมากกว่าอธิบายเชิงเหตุผล ตัวอย่างเช่นมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจด้วยคือต้องเข้าใจว่าประวัติศาสตร์นั้นไม่เคยเล่าอะไรหมดหรือขาดความสมเหตุสมผลในตัวเอง บ้างก็ถูกทำให้คลุมเครือ ดังนั้น ในช่วงปลายสมัยพระเจ้าตากถึงจะเขียนไว้ชัดว่า "พระยาสรรค์คิดกบฏจับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปควบคุมไว้... สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ... ทรงปราบกบฏพระยาสรรค์ และทรงสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วเสด็จปราบดาภิเษก..." (หน้า108) การเรียนประวัติศาสตร์ที่ดีนั้นต้องตั้งคำถาม คำถามคือทำไมต้องสำเร็จโทษ เรื่องนี้มีอธิบายไว้ในงานประวัติศาสตร์หลายชิ้นที่สำคัญคืองานของนิธิ เอียวศรีวงศ์

9. วาทกรรมประชาธิปไตยแบบประวัติศาสตร์ชาติยังคงปรากฏให้เห็นเช่น "(ร.6) ทรงแสดงพระราชวินิจฉันว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย พระองค์ทรงตั้งเมืองจำลองชื่อ "ดุสิตธานี" ขึ้นในบริเวณพระราชวังพญาไท..." (หน้า 156) หรือในสมัย ร.7 "...ทรงยอมรับการเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง" (หน้า 159) ในประเด็นเรื่องดุสิตธานี และเรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นมีข้อถกเถียงมากมาย ลองหาอ่านกันดูนะครับ แล้วจะเข้าใจว่าเมืองตุ๊กตานั้นเป็นอย่างไร

10. หลัง 2475 ภายใต้ยุคสมัยของคณะราษฎรและหลังจากนั้นคือ ยุคของความขัดแย้ง ความไม่สงบ และอำนาจนิยม พล็อตเรื่องแบบนี้ย่อมทำให้ภาพของยุคสมัยดังกล่าวขับเน้นให้กลุ่มอำนาจที่สืบทอดตามจารีตคือผู้พิทักษ์ความรุ่งเรืองของชาติไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่น่าชื่นชมอยู่บ้างก็คือความพยายามในการอธิบายประวัติศาสตร์นับจากเหตุการณ์ตุลา 16 ลงมาจนถึงปัจจุบัน อย่างน้อยก็ไม่เชยเสียทีเดียว

11. เป็นประวัติศาสตร์ที่มาจากมุมเดียวและผู้ถืออำนาจ เรื่องนี้คงไม่ได้แตกต่างไปจากข้อคิดเห็นของ อ.สุเนตร ชุตินทรานนท์ ลองอ่านตามลิงก์นี้ครับhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1445906782 คือเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยคนจากหน่วยงานรัฐ จึงย่อมปราศจากความเป็นอิสระ และการนำเสนอหลากหลายมุมมองโดยเฉพาะเนื้อหาช่วงการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง หรือการเมืองหลังปี 2549 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังไม่กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน แต่เพื่อให้ยุติธรรมด้านหนึ่งด้วยก็คืออีกฝ่ายก็ต้องยอมรับว่าก็มีการใช้ความรุนแรงเช่นกัน

เขียนมายืดยาว คงยาวที่สุดในประวัติศาสตร์การเขียนบนเฟซบุ้คของผมละ บางคนอาจมองว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นอดีตที่ผ่านเลยไปแล้ว คงไม่สำคัญ แต่ประวัติศาสตร์นั้นคือเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสร้างความทรงจำที่มีต่ออดีต มันจึงย่อมส่งผลต่ออนาคตไม่มากก็น้อย ความจริงแล้ว หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นหนึ่งในการสร้างลัทธิภักดีที่ล้อกันไปกับคนในสังคมกลุ่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นทุกคนคงมีคำตอบอยู่ในใจ สุดท้าย ตราบใดที่ประวัติศาสตร์ของชาติยังเขียนขึ้นจากคนกลุ่มเดียว เราจะเรียกว่าประวัติศาสตร์ของชาติได้อย่างไร หรือมันก็เรียกได้เพราะมันก็เป็นอย่างนี้มาตลอดทุกยุคทุกสมัย