วันศุกร์, กันยายน 04, 2558

"คำ ผกา" วิเคราะห์ วิพากษ์ ระบบการศึกษาไทย จากกรณี "ครูตบกะโหลกนักเรียน" (มีคลิปเต็ม)





รอง ผอ. ร.ร. เสิงสาง ตบนักเรียน (คลิปเต็ม)
...

"คำ ผกา" วิเคราะห์ วิพากษ์ ระบบการศึกษาไทย จากกรณี "ครูตบกะโหลกนักเรียน"



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2558

ครูคือคน โดย คำ ผกา

มติชนสุดสัปดาห์ 28 ส.ค. - 3 ก.ย. 2558

ผลการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน ปี 2549 สมัชชาเด็กและเยาวชน จ.อุดรธานี พบว่า ครูกว่าร้อยละ 77.3 ลงโทษด้วยการตี ร้อยละ 68.9 ใช้วิธีการตะคอกใส่ ร้อยละ 54.1 พูดสบประมาท ประชดประชัน และมีนักเรียนร้อยละ 8 ถูกครูทำโทษโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งหากปล่อยไว้ อาจเป็นการบ่มเพาะการใช้ความรุนแรงในผู้เรียนได้

สาเหตุที่ครูใช้ความรุนแรง ปัญหาอารมณ์จิตใจ ขาดทักษะการแก้ปัญหา อำนาจนิยม

ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก วิเคราะห์สาเหตุที่ครูทำโทษด้วยความรุนแรง มี 2 สาเหตุ

สาเหตุแรก ครูผิดปกติด้านจิตใจและอารมณ์เมื่อเกิดความเครียดอาจระบายอารมณ์กับเด็กด้วยการตี หรือต่อว่า

สาเหตุที่สอง ครูขาดทักษะการจัดการปัญหาเด็ก ครูจำนวนมากยังเชื่อว่าการลงโทษด้วยการตีเป็นวิธีที่ได้ผล

นอกจากนี้ มีความคิดเห็นจากผู้ที่ทำงานด้านเด็ก มองว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มีโครงสร้างแบบอำนาจนิยม ส่งผลให้ครูจำนวนมากมีพฤติกรรมใช้อำนาจกับเด็ก ประกอบกับการเรียนการสอนเป็นการสื่อสารทางเดียว จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ครูขาดทักษะการฟัง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าใจผู้เรียน

จากบทความ "หยุดปัญหาใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา"

http://www.kriengsak.com/node/271

สารภาพว่าไม่กล้าเปิดดูคลิปครูตบหัวนักเรียน ไม่ใช่เพราะขวัญอ่อน แต่ไม่อยากเอาตัวเองไปเห็นสถานการณ์ที่น่าขยะแขยงเช่นนั้น

และยิ่งน่าขยะแขยงมากขึ้นเมื่อครูท่านนั้นบ่นรำพึงรำพันน้อยอกน้อยใจว่าตนทำไปเพราะ "สำนึกหน้าที่ของความเป็นครู"

แน่นอนเราไม่ใช่คนที่ใฝ่ฝันหมกมุ่นอยู่ในโลกอุดมคติที่โรงเรียนจะต้องเป็นสถานที่อันปราศจากซึ่งการใช้อำนาจหรือลำดับชั้นต่ำสูง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงอย่างไร โรงเรียนก็คือเครื่องมือหนึ่งของ "รัฐ" ในการกล่อมเกลาพลเมือง สร้าง "คน" ในสเป๊กที่รัฐปรารถนา แน่นอนว่า แต่ละรัฐก็มีสเป๊กเป็นของตนเอง

"พลเมือง" ในสเป๊กของสวีเดน กับพลเมืองในสเป๊กของเกาหลีเหนือ คงจะเป็นคนละสเป๊กกันแน่ๆ ดังนั้น ไม่มากก็น้อย โรงเรียนมันย่อมเป็นแหล่งปลูกฝังอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งอยู่นั่นเอง

ทว่า สิ่งที่ต่างออกไปคือระดับความเข้มข้นของการใช้อำนาจที่มีแนวโน้มจะเป็น เผด็จการอำนาจนิยม หรือจะเป็นแนว เสรีนิยมประชาธิปไตย ก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐนั้นถือเอาอุดมการณ์ชุดใดเป็นอุดมการณ์หลักของรัฐ

ให้ตายเถอะ สำหรับประเทศไทย ฉันไม่คิดว่าเราจะอยู่ในระนาบเดียวกันกับประเทศเผด็จการอำนาจนิยมทั้งหลาย จึงไม่ได้คาดหวังจะเห็นภาพอันป่าเถื่อนเกิดขึ้นในโรงเรียนเช่นนี้

แต่ผิดคาด เมื่อลอง กูเกิล คีย์เวิร์ดของคำว่า "ครู ความรุนแรง นักเรียน" ปรากฏว่า เจอข่าวครูทำร้ายร่างกายนักเรียนเยอะกว่าที่คิดเอาไว้มาก

เช่น เคสปี 2555 ที่น้องเต้ กะเทยวัย 14 ปี โดนครูทุบหลัง ต่อยหน้า อีกทั้งลงโทษให้เจ็บปวดทางใจด้วยวิธีการต่างๆ นานา จนน้องเต้คิดฆ่าตัวตาย

หรือหลายกรณีที่ครูลงโทษนักเรียนจนเกินกว่าเหตุ แล้วพ่อแม่ต้องฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็เยอะ

ใครจะคิดว่า เมืองไทยเมืองพุทธ ที่มีโต๊ะหมู่บูชาวางกันให้พรึบไปทุกโรงเรียน

โรงเรียนที่บังคับนักเรียนยืนเข้าแถวสวดมนต์

โรงเรียนที่บังคับให้นักเรียนแต่งตัว แต่งเครื่องแบบ ประกวดมารยาท สารพัดสารเพความดีงามทั้งหลายที่เชื่อมั่นศรัทธากันจะเป็นแหล่งเดียวกันกับที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นกับเด็กอย่างหนักที่สุด

แถมยังมีความชอบธรรมทางวัฒนธรรมมารองรับ เช่น อ้างว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ที่ลงโทษไปขนาดนี้ก็เพราะรัก

คนไทยจำนวนไม่น้อยยังสนับสนุนการลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงหรือการใช้กำลังว่า "ถ้าไปโรงเรียนแล้วครูสั่งครูสอนอะไรไม่ได้จะส่งไปโรงเรียนทำไม"

อันที่จริงในทางกฎหมายประเทศไทยก็ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนนักศึกษาปี พ.ศ.2548 ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ลงโทษนักเรียน นักศึกษาด้วยความรุนแรง ความโกรธ ความพยาบาท หากทำเช่นนั้นมีความผิดทั้งทางวินัย ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพครู และผิดกฎหมายอาชญากรรมทำร้ายร่างกาย

นอกจากนี้ ยังเชื่อได้ว่า วิชาศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ที่ฝึกวิชาชีพแห่งความเป็นครูสมัยใหม่มีความก้าวหน้าในเรื่องจิตวิทยาเด็ก และการลงโทษเด็กนั้นวิวัฒนาการไปสู่การลงโทษที่ไม่ใช่การลงโทษทางกาย ทางใจ ไม่ใช่การลงโทษด้วยการด่าทอ เสียบประจาน บอยคอต - การปลูกฝังให้นักเรียนเคารพในกติกา และต้องยอมสูญเสียอะไรบางอย่างเมื่อเขาละเมิดกติกานั้นๆ น่าจะเป็นการ "ลงโทษ" ที่เหมาะสมมากกว่าการด่าทอ ทุบตี

สังคมที่มีความเคารพในสิทธิและเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างเสมอหน้ากันไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะเป็นมนุษย์ที่อายุเท่าไหร่ก็ตาม กระบวนการสร้างกฎเกณฑ์ในโรงเรียนย่อมเป็นกระบวนการเดียวกันกับกระบวนการประชาธิปไตย นั่นคือเน้นการมีส่วนร่วมในการออกกฎ มีกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจการใช้กฎผ่านสภานักเรียน

ผู้ละเมิดกฎต้องปฏิบัติตามกติกาที่กำหนด ตกลงกันเอาไว้

เช่น อาจถูกระงับให้ทำกิจกรรมบางอย่าง หรือต้องเพิ่มกิจกรรมบางอย่างเข้าไปในชีวิต แต่ทั้งนี้ในกระบวนการตัดสินโทษฐานการละเมิดกติกา ไม่ใช่การ "ลงทัณฑ์" หรือการทำให้เจ็บตัว เจ็บใจ สูญเสียศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในตนเอง

สังคมสมัยใหม่จึงใส่ใจกับสิทธิของมนุษย์ที่เราเรียกเขาว่าเด็กด้วย

แต่แม้จะมีการเรียนการสอนในทางทฤษฎีเช่นนี้ในการฝึกหัดครูของเมืองไทย แต่ทำไมเรายังได้ยินข่าวหรือรับรู้เรื่องของการลงโทษเด็กที่เป็นไปในทางที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กนักเรียนเสมอมา

เช่น บังคับนักเรียนที่มาโรงเรียนสายให้คลานเข้าประตูโรงเรียน เป็นต้น

จะว่าไปก็ไม่น่าประหลาดใจอะไร เพราะเคยได้ยินว่ามาว่า การปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่ในบางมหาวิทยาลัย ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมเพื่อ "ละลายพฤติกรรม" ที่พ่วงเอากระบวนการลดทอนศักดิ์ศรีของผู้อ่อนอาวุโสกว่า อีกทั้งยังเฝ้าปลูกฝังแต่เรื่องของอำนาจของผู้ใหญ่ การรู้จักที่ต่ำที่สูง สำคัญกว่าความรู้ความสามารถของคนเป็นครูบาอาจารย์ สถาบันการศึกษาของไทย เน้นความเคารพนบนอบผู้ใหญ่ การปฏิบัติกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย การมีสัมมาคารวะ การกตัญญู รู้คุณ ความเสียสละ สามัคคี ไม่แตกแถว ไม่ดื้อ ไม่ซน

ดังที่เขียนบ่นไปจนคอมพิวเตอร์พังไปหลายเครื่อง ระบบโรงเรียนไทย ต่อให้ครูเลิกใช้ไม้เรียวอันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและการใช้ความรุนแรง อีกทั้งยังตอกย้ำค่านิยมว่า "ครู" คือ "อาญาสิทธิ์" ที่นักเรียนต้องเคารพ เชื่อฟัง (เผลอๆ ตามโรงเรียนต่างจังหวัด นักเรียนยังมีหน้าที่รับใช้ครูเหมือนทหารเกณฑ์ต้องรับใช้นายพลด้วย) อย่างไม่มีเงื่อนไข

อำนาจไหลผ่าน เสื้อผ้า ร่างกาย ทุกตารางนิ้วขนาดนี้ ระบบการศึกษาไทยกลับไม่สามารถสร้างคนที่สามารถแต่งตัวได้ถูกต้องตามกาลเทศะอย่างงดงามได้เมื่อเขาหรือเธอเติบโตขึ้น

หญิงและชายไทยโดยมากจึงเอาชุดเดินชายหาดมาเดินห้าง เอาชุดกลางวันมาใส่กลางคืน เอาชุดกลางคืนมาใส่กลางวัน เอาชุดเดินห้างไปเที่ยวทะเล ฯลฯ

อํานาจนั้นไหลผ่านเครื่องแบบ ถุงเท้า รองเท้า ชุดพละ ชุดลูกเสือ ผ้าพันคอสีต่างๆ ทรงผม ติ่งหู ยาวถักเปีย โบสีขาว น้ำเงิน เท่านั้น - เขียนถึงตอนนี้ก็นึกถึงข่าวเก่ามากข่าวหนึ่ง นั่นคือ ข่าวครูเล็มผมเด็กแล้วไปตัดโดนติ่งหูเข้า! จากนั้นอำนาจก็ทำงานผ่านการเข้าแถวเคารพธงชาติ แต่กลับไม่มีวัฒนธรรมการเข้าแถวที่คนทั้งโลกเขาเรียกว่าเข้าคิว

อำนาจยังไหลผ่านสารพัดพิธีกรรมในโรงเรียน กราบพ่อ กราบแม่ กราบครู

มีชีวิตอยู่กับการท่องอาขยานที่ถูกปรับให้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย บ้างก็เรียกว่าค่านิยมต่างๆ นานา จากนั้นก็ใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งของการเรียนหมดไปกับการร้องเพลงปลุกใจ เพลงหล่อหลอมรวมใจให้คิดได้เป็นหนึ่งเดียว ไม่คิดต่าง ไม่ตั้งคำถาม ตั้งมั่นในคุณธรรมและตั้งหน้าตั้งเป็นพลเมืองดีตามเพลงที่ร้องทุกเช้าเย็น เขาบอกว่า เมืองไทยดีเลิศก็ร้องว่าดีเลิศตามเขาไป ยิ่งร้องดัง ยิ่งยิ้มกว้าง ยิ่งทำหน้าเป็นเด็กดี มีความสุขเท่าไหร่ก็ยิ่งได้ดี มีคนจับเอามาเข้าแถวร้องออกทีวีอีก

เราจึงอยู่ในประเทศที่คนแสดงออกซึ่งความรักชาติบ้านเมืองด้วยการตะโกนร้องเพลงดังๆ บ้าง

ด้วยการใส่เสื้อสกรีนตัวหนังสือประกาศว่าตัวเองเป็นคนดีของชาติบ้าง

ด้วยการไปด่าคนอื่นว่าไม่รักชาติบ้าง ตะโกนเสร็จ ใส่เสื้อเสร็จ หรือด่าคนอื่นเสร็จก็สบายใจ ว่าได้ทำอะไรให้ชาติแล้ว

จากนั้นชาติที่ตนเองอยู่อาศัยนี้ในสภาพการณ์จริงล้าหลัง ด้อยพัฒนา ยากจน อย่างไรก็ไม่สำคัญ จะทำอย่างไรให้ชาติอันสังกัดโลกที่สามนี้ขยับไปอยู่ใกล้ๆ โลกที่หนึ่งได้บ้างก็ไม่สำคัญอีกนั่นแหละ

เราจะอยู่กันแบบนี้ ใครจะทำไม? (ปฏิรูปไปเรื่อยๆ เดี๋ยวดีเอง)

ระบบการศึกษาทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียนของเราหล่อหลอมกันมาแบบนี้ พอเขาวัดระดับคุณภาพการศึกษากันทีก็ร้อง กรี๊ดๆๆๆๆ ตายแล้วๆๆๆ ทำไมคุณภาพการศึกษาของเราต่ำ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ก็ต่ำ กรี๊ด อีกรอบ เราต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาค่ะ จากนั้น บรรดานักการศึกษาแบบไทยๆ ก็จะพากันออกแบบ แบบประเมินผลสารพัดสารพันออกมาให้เปลืองกระดาษและทำให้โลกร้อนมากๆ โดยเชื่อว่า ไอ้กระบวนการเหล่านี้แหละ เรียกว่า ปฏิรูปการศึกษา

จากนั้นเราก็จะบ่นๆ กันเป็นพิธีว่า เด็กไทยไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าตั้งคำถามในห้องเรียน

พอถามความคิดเห็นร้อยละแปดสิบก็จะพากันก้มหน้า ไม่สบตาครู - ทั้งหมดนี้คนที่จะรอดจากการศึกษาแบบสร้างคนมา "เชื่อฟัง" เช่นนี้ก็จะเป็นบรรดาลูกเต้าคนที่มีสตางค์ส่งลูกเรียนอินเตอร์ เรียนโรงเรียนทางเลือก หรือส่งไปให้พ้นจากประเทศไทยแลนด์ไปอยู่ประเทศโลกที่หนึ่งเสีย

น่าเวทนาชะตากรรมคนส่วนใหญ่ของประเทศ (ซึ่งยากจน) ลูกเต้าคนเหล่านี้ไม่มีทางเลือก จำต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน "ระบบไทย" เช่นนี้หมด เรียนจบไปก็ไปเป็นลูกน้อง เป็นแรงงาน เป็นเสมียน เป็นพนักงานให้บรรดาลูกคนรวยที่ส่งลูกไปฉลาดจากเมืองนอกอีกที

ภาพครูตบกะโหลกนักเรียนที่เป็นแกนนำนักเรียนอื่นๆ ออกมาประท้วงเรื่องความโปร่งใสในเรื่องงบประมาณการใช้เงินของโรงเรียนจึงเป็นภาพสะท้อนโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมของสังคมไทยได้ดีที่สุด

ครูเชื่อว่า ตนเองมีอำนาจเหนือร่างกายและจิตใจของนักเรียน

ครูเชื่อว่า ตนเองคือผู้มีบุญคุณต่อนักเรียน

ครูเชื่อว่า ตนเองเป็นเจ้าของชีวิตของนักเรียนในพื้นที่ที่เรียกว่าโรงเรียน

ครูเชื่อว่า ตนเองมีอาญาสิทธิ์บางประการที่จะ ตี ด่า ประจาน หรือไต่ไม้บรรทัดไปตามแนวท้ายทอยของนักเรียนเพื่อตรวจความยาวของเส้นผม โดยไม่จำเป็นต้องเคารพพวกเขาในฐานะมนุษย์

ครูแบบไทยๆ ไม่เคยเห็นว่านักเรียนมีความเป็นมนุษย์เท่าๆ กับตัวของครูเองที่ครูต้องให้เกียรติและเคารพพวกเขาด้วยเช่นกัน

ครูมักคิดว่าตนเองสามารถแสดงความเมตตาของเด็กนักเรียนด้วยการเรียกเขาว่าเป็นลูกเป็นหลานประหนึ่งว่าเขาเป็นเด็กเล็กๆ ซึ่งมันคือการกดไม่ให้เด็กได้ลุกขึ้นมาเป็นมนุษย์อีกนั่นแหละ เพราะครูจะใช้อำนาจผ่านความ "เมตตา" และประคองให้เด็กเป็นเด็กตัวเล็กๆ "ของ" ครูเรื่อยไป แทนที่จะให้เด็กสามารถยืนคุยและสบตาครูอย่างองอาจ

ดังนั้น นักเรียนจึงต้องเชื่อฟัง สำนึกในบุญคุณ เคารพ ยกย่อง เกรงกลัว รัก ผู้เป็นครูอย่างไม่มีเงื่อนไข

นักเรียนแบบไทยจึงไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่งที่จะสามารถลุกขึ้นมาท้าทาย ตั้งคำถาม ถกเถียง ซักค้าน หรือวิพากษ์วิจารณ์คนที่เป็นครูได้ในฐานะที่เป็นมนุษย์ขี้เหม็นเหมือนๆ กัน

ถ้าครูไม่จองจำนักเรียนไว้ด้วยความกลัว

ครูอีกประเภทก็จองจำนักเรียนไว้ด้วยความรักความเอ็นดู

แต่สิ่งที่สังคมซึ่งบรรลุแล้วในนิติภาวะ เราไม่ได้ต้องการให้คนสัมพันธ์กันด้วยความเอ็นดู แต่เราต้องการให้คนสัมพันธ์กันบนฐานของการเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันต่างหาก

กลับไปฝืนใจดูคลิปครูตบหัวเด็กดีไหม? เพื่อจะเข้าใจว่า เวลาที่คนเห็นคนไม่เท่ากัน มันเป็นอย่างไร?