วันศุกร์, สิงหาคม 07, 2558

อธิป จิตตฤกษ์ : กฎหมายลิขสิทธิ์ที่บังคับใช้ ณ ปัจจุบัน


ภาพจาก ครอบครัวข่าว

ที่มา ประชาไท
Thu, 2015-08-06

อธิป จิตตฤกษ์

เนื่องจากมีผู้ถามผู้เขียนมามากถึงการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้เขียนขอแจ้งให้ทราบสั้นๆ ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับเดิมของปี พ.ศ. 2537 ยังบังคับใช้อยู่แทบทั้งหมด กฏหมายลิขสิทธิ์ฉบับที่ประกาศเพิ่มในปีนี้ 2 ฉบับ (ที่เริ่มบังคับใช้หมดแล้ว) ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาจากฉบับเดิมทั้งสิ้น การยกเลิกเนื้อหาพร้อมบัญญัติใหม่มีน้อยมากและที่มีน่าจะพูดได้ว่าเป็นการแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เพิ่มเติมเข้าไปเท่านั้น

การเพิ่มเติมเนื้อหาของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 2 (ตอนแรกผู้เขียนหาฉบับแรกอยู่นาน แต่มิตรสหายนักกฎหมายท่านหนึ่งแจ้งมาว่า ฉบับแรกคือกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับปี พ.ศ. 2537 ผู้เขียนจึงยุติการหา) เนื้อหาหลักคือเพิ่มเติม "การบริการสิทธิดิจิทัล" (Digital Right Management หรือ DRM) ซึ่งในทางปฏิบัติ ในทางกฎหมายการบริหารสิทธินี้จะแยกเป็นสองส่วน คือการห้าม "แทรกแซงระบบป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์" (Circumvention of copyright protection systems) และการห้ามลดทอน "ความเที่ยงแท้ของข้อมูลในการบริหารลิขสิทธิ์" (Integrity of copyright management information) ซึ่งในภาษาของกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยจะใช้คำว่า "มาตรการทางเทคโนโลยี" และ "ข้อมูลการบริหารสิทธิ" เพื่อสร้างข้อกำหนดในประเด็นเหล่านี้

ทั้งนี้ข้อกำหนดมาตรฐานกฎหมายลิขสิทธิ์เหล่านี้ในระดับนานาชาติมีต้นตอมาจากสนธิสัญญาลิขสิทธิ์ขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) ในปี 1996 (พ.ศ. 2539) และเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2002 [1] ซึ่งมีชาติเกือบ 100 ชาติลงเป็นคู่สัญญา (แต่ไม่มีไทยในนั้น [2])

ส่วนการเพิ่มเติมเนื้อหาของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 3 เนื้อหาหลักคือการสร้างความชัดเจนว่าการบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่สามารถใช้ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์มาอ้างได้ ซึ่งพูดภาษาชาวบ้านคือ ก่อนหน้านี้การอัดภาพยนตร์ที่ดูในโรงไปดูที่บ้านเป็นกิจกรรมที่ไม่มีความชัดเจนว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ (เช่นเดียวกับกิจกรรมอีกจำนวนมหาศาล ที่เราจะไม่รู้เลยว่ามันผิดหรือไม่ผิดจนกว่าศาลจะตีความ) แต่กฎหมายฉบับนี้ออกมาฟันธงว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอน พร้อมกำหนดโทษ

การเพิ่มเติมเนื้อหาอีกส่วนของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 3 คือการเพิ่มเติมข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับการดัดแปลงเนื้อหาอันมีลิขสิทธิ์เพื่อให้ผู้พิการด้านต่างๆ สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก [3]

น่าจะกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่ควรจะทราบมีเพียงเท่านี้ ซึ่งที่น่าสังเกตคือข้อกำหนดหลักๆ ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ก็ยังล้วนอยู่ครบและก็ยังคงความคลุมเครือเช่นเดิม ซึ่งความคลุมเครือนี้ก็คงจะมีแต่ศาลเท่านั้นที่จะตอบได้ชัดเจนว่าสิ่งใดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเหตุก็เป็นเพราะความผิดในกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งที่ต้องตีความทั้งสิ้น

เพราะอย่างน้อยที่สุดวลีที่มักจะเป็นตัวชี้ขาดว่าการกระทำจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ในหลายกรณีอย่าง “ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติและไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร” (ตามมาตรา 32) ก็ดูจะชวนให้ตีความได้หลากหลาย ซึ่งก็คงจะไม่ยากอะไรนักที่จะเข้าใจว่าคำว่า “เกินสมควร” สำหรับคนที่มีพื้นเพต่างกันสามารถต่างกันได้เพียงใดในกรณีอื่นๆ และในกรณีนี้มันก็ไม่ผิดกันนัก และภายใต้ความเห็นต่างกันในความหมายของตัวบทนี้ก็คงจะมีแต่ศาลที่จะสามารถตีความฟันธงและส่งผลทางกฎหมายได้จริงๆ หรือพูดให้สั้นที่สุดก็คือ การเชื่อในนักฟันธงทั้งหลายว่าอะไรถูกหรือผิดกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นล้วนมีความเสี่ยง เพราะสุดท้ายศาลก็อาจไม่ได้เห็นด้วยกับเหล่านักฟันธงเหล่านั้นก็ได้

ซึ่งนี่ก็คงจะเป็นปัญหาของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เปิดช่องในการตีความมากจนพลเมืองผู้อยู่ใต้กฎหมายไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าสิ่งที่ตนทำนั้นละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ อย่างไรก็ดี นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวบทกฎหมายไม่สำคัญ เพราะถึงจะเปิดพื้นที่ให้ตีความมาก แต่การตีความมันก็จะเกินตัวบทไปไม่ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ผู้เขียนจึงได้แนบกฎหมายลิขสิทธิ์เวอร์ชั่นล่าสุดที่ผนวกกฎหมายฉบับเก่าและใหม่เข้าด้วยกันแล้วมาด้วย ณ ที่นี้เพื่อความสะดวกของผู้ต้องการเห็นหน้าตาจริงๆ ของกฎหมายฉบับปัจจุบันหากได้รับการแก้ไขตามที่กำหนดมา (จริงๆ ผู้เขียนทำไว้อ่านเอง เพราะการที่ต้องพลิกกฎหมาย 3 ฉบับไปมาทำให้ผู้เขียนเวียนหัว แต่คิดว่าทำมาแล้วก็ควรจะเผยแพร่ ไม่ควรจะเก็บไว้เอง เพราะแค่ที่เป็นอยู่คนก็งุนงงกับกฎหมายใหม่มามากแล้ว)
oooo


ลิ้งค์บทความ และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่ลง ในประชาไท

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ [แก้ไขตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ๒๕๕๘ ฉบับที่ ๒ และ ๒]


อ้างอิง:
ดูข้อมูลเบื้องต้นของสนธิสัญญาได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/WIPO_Copyright_Treaty
ดูรายนามรัฐที่เป็นคู่สัญญาได้ที่ http://www.wipo.int/treaties/en/ShowResults.jsp?lang=en&treaty_id=16
ที่น่าสนใจคือข้อยกเว้นนี้ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานนานาชาติด้วยซ้ำ ความพยายามในระดับนานาชาติที่ชัดเจนในการสร้างมาตรฐานข้อยกเว้นนี้ปรากฏในข้อตกลงที่ลงนามในโมร็อกโกในปี 2013 ซึ่งข้อตกลงนี้ก็ครอบคลุมแค่การดัดแปลงให้ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงได้เท่านั้น และก็ยังไม่ได้เริ่มบังคับใช้ในบรรดารัฐคู่สัญญาด้วยซ้ำ ดูรายละเอียดได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Marrakesh_VIP_Treaty

ooo

ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ เขียนโดย อธิป จิตตฤกษ์ 
หาอ่านได้ที่ ประชาไท